เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง

หมวดหมู่ของบล็อก: 

หากใครได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ "ลุงฉลวย แก้วคง" ผู้เฒ่าเกษตรกร แห่งอำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ สิ่งแรกที่ได้รับน่าจะเป็นความรู้ด้านพุทธกรรม และความแตกฉานในกายานุสติปัฏฐาน นั่นคือการเจริญสมาธิพิจารณาลมหายใจเข้าออก จนถึงขั้นพิจารณาร่างกายในความเป็นธาตุและความเป็นซาก อันเป็นเส้นทางสายธรรมเพื่อนำสู่นิพพานความรอบรู้และเข้าถึงธรรมะระดับนี้ เนื่องเพราะลุงฉลวยเคยบวชเรียนมาก่อน แม้จะบวชเอาตอนอายุร่วม 40 ปีมีภรรยาและลูกแล้วก็ตาม ลุงฉลวยก็สามารถปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงลึกซึ้ง แต่ไม่ได้เข้าสู่ด้านวิปัสสนากรรมฐานเต็มตัว เพราะความห่วงลูกห่วงเมียทำให้ตัดสินใจสึกจากเพศสมณะ ทว่าธรรมมิได้มีอยู่แต่ในผ้าเหลืองเท่านั้น ยังคงไหลเวียนอยู่ในจิตวิญญาณเสมอ กระทั่งสามารถนำมาใช้ในทางเกษตรกรรมได้อย่างแยบยล

จากการนั่งวิปัสสนากรรมฐานแยกธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เห็นความมีอยู่และดับสูญ ทำให้ลุงฉลวยเกิดปัญญาเข้าถึงความจริงแท้แห่งชีวิต พิจารณาว่าตัวเองเป็นใครมาจากไหน มนุษย์เกิดมาจากไหน แล้วสรุปได้ว่ามนุษย์เราเกิดมาจากธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นรูป เกิดจากแม่ทั้งห้า คือแม่พระธรณี แม่พระคงคา แม่พระพาย แม่พระเพลิง และแม่พระโพสพ แม่ทั้งห้าอยู่ในกายมนุษย์เรานี่เอง เกษตรกรรมก็เช่นกัน เรือกสวนไร่นาต้องประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันเป็นรูป รูปมนุษย์มีได้จากสภาพแวดล้อม มาจากอาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม อากาศที่เราหายใจ สิ่งแวดล้อมคือบรรพบุรุษ การทำลายสิ่งแวดล้อมคือการทำลายบรรพบุรุษผู้สร้างชีวิต ทั้งยังเห็นไปถึงทุกข์สุขของชีวิต ทุกข์ของชาวนาชาวสวนที่เพาะปลูกด้วยความวิตกกังวล วิตกว่าแมลงจะมากินพืชบ้าง พืชผลจะไม่ดีบ้าง ราคาผลผลิตปีนี้จะตกต่ำบ้าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ลุงฉลวยคิดถึงการทำเกษตรอย่างไรที่ไม่ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ อย่างเกษตรกรในระบบของเกษตรพาณิชย์ กำลังว่ายวนกันอยู่ จึงนำหลักธรรมะและการแยกธาตุในร่างกายมาปรับใช้ในการเกษตร นั่นคือการรู้จักรู้แจ้งในชีวิต แล้วจึงรู้จักเกษตรกรรม จะทำให้ไม่หลงทางไปกับเกษตรกระแสหลัก

เมื่อแจ้งใจในหลักคิด ลุงฉลวยก็ลงมือปฏิบัติจริง โดยขั้นแรกปรับพื้นที่ทำเกษตรของตนเอง โดยเอาแม่พระธรณีเป็นพื้น ขุดสระให้แม่พระคงคาล้อมรอบเป็นฐาณ แม่โพสพอยู่ตรงกลางเป็นหลัก แล้วปลูกเรือนเป็นแหล่ง คือพื้นฐาณหลักแหล่ง ส่วนลมกับไฟมีอยู่ในสภาพแวดล้อมรายรอบตัวตามช่องว่างระหว่างพืชผล ต้นไม้คือธาตุลมที่พัดวนเวียน เบาบ้างแรงบ้าง ส่วนธาตุไฟคือแสงสว่างความอบอุ่น ต่อมาเริ่มลงรายละเอียดของธาตุต่างๆ ด้วยแนวคิดที่ว่าดินจะเป็นธาตุดินได้ต้องมีพืช 21 ชนิด จึงหาต้นไม้ที่ขึ้นบนดิน มาปลูกเสริมให้ธาตุดินสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นกล้วย อ้อย สัปปะรด ผักสวนครัวประดามีและสมุนไพรต่างๆ ให้ครบ 21 ชนิด ไม่ใช่ //21 ต้น ธาตุน้ำจะสมบูรณ์ได้ก็ต้องประกอบด้วยสัตว์น้ำ 12 ชนิด ส่วนลมกับไฟนั้นไม่ต้องหา มีมาเอง เกิดเป็นแนวทางการทำเกษตรที่ลุงฉลวยเรียกว่าประมงนาสวน มีปลาในสระคือประมง มีข้าวในนาและสวนพืชผลไม้ แล้วปลูกไผ่เป็นแนวรั้วกั้นลมแต่ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงธาตุอย่างหยาบเท่านั้น ถ้าให้ละเอียดขึ้นไปอีกธาตุดินต้องประกอบไปด้วยพืช 1,221 ชนิด ธาตุน้ำต้องมีสัตว์น้ำ 1,012 ชนิด ธาตุลม 108 ชนิด และธาตุไฟ 104 ชนิด

การทำเกษตรที่ลุงฉลวยอธิบายด้วยหลักธรรม ไม่ต่างจากแนวคิดการทำเกษตรผสมผสาน เสริมดินให้เป็นธาตุดินด้วยการปลูกพืชหลายอย่าง นั่นคือหลักความหลากหลายทางธรรมชาติ ที่พืชพันธุ์หลากหลายชนิดจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในพื้นดิน ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ เกื้อหนุนกันและกันจนไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารกำจัดแมลง เลี้ยงสัตว์น้ำในสระทำให้มีแหล่งอาหารของตัวเอง เกิดความมั่นคงทางอาหาร สามารถพึ่งพิงตัวเอง ทั้งยังคงสภาพแวดล้อมที่ดีไว้ได้สูดดมธาตุลมบริสุทธิ์ครั้นเสริมธาตุต่างๆจนสมบูรณ์แล้ว ขั้นสูงของพุทธเกษตรคือการไปถึงนิพพานสมบัติ ดังที่ลุงฉลวยกล่าวให้ฟังช้าๆว่า “เมื่อประมงนาสวนสมบูรณ์แล้วเท่ากับเราคือมนุษย์สมบัติ เพราะเราคือสมบัติพร้อมของความเป็นมนุษย์ มีไผ่เป็นรั้ว มีข้าวปลาพืชผักเป็นอาหาร นี่คือสมบัติที่จำเป็นของมนุษย์ไม่ใช่เงินทองหรือเพชรนิลจินดา มีความพอเพียงแล้วก็เหมือนได้สวรรค์สมบัติ เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่เงินทอง ความสุขของชีวิตอยู่ที่ไม่มีหนี้สิน สุขอยู่ที่มีข้าว มีอาหารพอกิน มีบ้านอยู่ในสภาพที่ดี แค่นี้ก็เหมือนเสวยสุขอยู่บนสรวงสวรรค์ มีทิวไผ่เป็นกำแพงแก้ว สระน้ำเปรียบเหมือนสระโบกขรณี ไม้ผลบนคูคันดินคืออุทยาน กระท่อมน้อยก็คือวิมานดีๆนี่เอง ภรรยาคู่ชีวิตคือเทพธิดาเมื่อมีความสุขสงบไม่ต้องดิ้นรน ก็เหมาะกับการบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม สงบกาย วาจา จนบรรลุถึงขั้นสงบจิต เกิดสมาธิมั่นคงปัญญามั่งคั่ง เป็นนิพพานสมบัติที่ไม่ต้องอยู่วัดก็สามารถบรรลุได้”ทุกวันนี้ลุงฉลวย แก้วคง บอกว่าเกษียณแล้ว ใช้ชีวิตตามลำพังกับภรรยาคู่ชีวิต มีลูกๆช่วยกันส่งเสียดูแลพ่อแม่ ลูกชายคนสุดท้อง มาปลูกข้าวให้กินทุกปี ด้วยความจำกัดของสังขารทำให้ไม่ได้ลงมือทำสวนเช่นแต่ก่อน แต่ยังดูแลอยู่ทุกวันและลงมือปลูกเสริมบ้างเล็กๆน้อยๆเหนื่อยก้หยุดพักไม่ฝืนสังขาร ชีวิตประจำวันจะวางทุกอย่างไว้ตรงเวลาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ตื่น อาบน้ำ กินข้าว นอนให้ตรงเวลา ด้วยค้นพบนิพพานในแนวทางเกาตรเช่นนี้ ลุงฉลวยจึงอยากฝากความหวังถึงคนอื่นๆว่า “อยากชักชวนให้เกษตรกรหันมาทำพุทธกรรมหรือประมงนาสวนกันมากๆ ได้อาศัยเก็บผลผลิตกิน ได้อาศัยร่มเงาไว้ปฏิบัติธรรม พุทธเกษตรคือการอนุรักษ์สภาพแวดล้อม ทำแล้วแผ่นดินจะเขียวชอุ่ม ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำแล้วจะเข้าถึงมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เกิดความสุขสงบอันหาที่เปรียบมิได้”

หากมีเกษตรกรหันมาแนวทางพุทธเกษตรกันมากขึ้น แม้อาจจะไม่หวังถึงนิพพานสมบัติ ขอเพียงแค่มนุษย์สมบัติก็น่าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการนำโลกอันร้อนทุรนทุรายนี้ไปสู่ความสงบเย็นลงได้บ้าง

หัวใจหลักของเกษตรกรรม คือความเคารพต่อ แม่ ทั้ง 5

“ สิ่งมีชีวิต จะเกิดมา และเจริญเติบโต ได้ ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 5 อย่าง มิใช่แค่เพียง 4 ธาตุหลัก คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่คือ แม่พระทั้ง 5 นั่นคือ แม่พระโพสพ แม่พระคงคา แม่พระพาย แม่พระเพลิง และแม่พระธรณี ” นี้เป็นคำบอกเล่าจากลุงฉลวย แก้วคง ชาวนาแห่งอำเภอไพศาลี เกษตรกรพึ่งตนเอง ตัวอย่างและได้รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะผู้สร้างสรรค์เกษตรกรรมยั่งยืน แม่พระโพสพ ให้ข้าวเรากิน แม่พระคงคาให้เรามีน้ำกิน น้ำใช้ รวมไปถึงน้ำในร่างกาย แม่พระพาย ทำให้เรามีอากาศ มีลมหายใจ ส่วนความอบอุ่น พลังงานได้มาจากแม่พระเพลิง และแม่พระธรณี ทำให้เรามีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้เพาะปลูก รวมทั้งสร้างทางให้เราเหยียบย่ำ แต่ทว่าปัจจุบันเรากำลังหลงลืม และทำร้ายแม่พระ ทั้ง 5 อย่างตั้งใจ และไม่ตั้งใจ ภาวะสภาพเกษตรกรรมหลังจากที่ได้มีการปฏิวัติเขียว เราข่มเหงน้ำใจแม่ทั้ง 5 โดยการใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน ใช้ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดศัตรูพืช เพื่อมุ่งมั่นที่จะผลิตอาหารเพื่อการค้า มากกว่าที่จะผลิตไว้กินเอง หากมีเหลือกินจึงนำไปขาย ไม่ใช่แต่เพียงแม่พระธรณีจะถูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีต่าง ๆ ที่ทำให้ดินแห้งแข็ง ขาดจุลินทรีย์ ขาดความอุดมสมบูรณ์ในดิน แต่ยังทำสภาพแวดล้อมให้เสียสมดุลของธรรมชาติ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่จุลินทรีย์ตัวเล็กที่มองไม่เห็น จนไปถึงสัตว์ขนาดใหญ่ และคน ซึ่งเป็นสัตว์ที่บริโภคสิ่งมีชีวิตด้วยกันเองมากที่สุด ต้องพึ่งพาอาศัยแม่พระทั้ง 5 ในการเจริญเติบโต ตั้งแต่เกิดจนตายไป หลักการที่จะดูแล บำรุง ทะนุถนอมแม่พระทั้ง 5 ไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นเรื่องที่บรรพบุรุษของเราทำกันมาแต่อดีต นอกเหนือไปจากพิธีกรรมตามวาระสำคัญต่าง ๆ ที่ตอกย้ำให้เรารำลึกถึงพระคุณของแม่ทั้ง 5 อาทิ งานลอยกระทง งานพิธีเมื่อจะปลูกข้าว พิธีทำขวัญข้าว และเวลาที่ข้าวตั้งท้อง เป็นต้น สิ่งที่ลุงฉลวย แนะนำในการทำเกษตร คือ ไร่นาเกษตร ต้องมี ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเป็นรูป จึงจะถูกต้องตามธรรมะ ตามธรรมชาติ จะขาดอย่างใด อย่างหนึ่งไม่ได้ อีกทั้งยังต้องมี แม่พระเพลิง แม่พระธรณี แม่พระโพสพ สามอย่างนี้ ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน และต้องหมั่นดูแลให้แม่ทั้งสามให้อยู่สมดุลกัน คือ เอาแม่ธรณีเป็นพื้น ขุดสระให้แม่คงล้อมรอบเป็นฐาน เอาแม่โพสพไว้ตรงกลางเป็นหลัก แล้วปลูกกระท่อมข้างหลักให้เป็นแหล่ง นี้คือวิธีการสร้างพื้นฐาน-หลัก-แหล่ง ที่ถูกต้อง

ธาตุน้ำต้องประกอบด้วยสัตว์น้ำอย่างน้อย 12 ชนิดจึงจะเรียกว่าธาตุน้ำเช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ดินจะต้องมีต้นไม้มากกว่า 21 ชนิด อาศัยร่วมอยู่ด้วยจึงจะเป็นธาตุดิน หลักการของลุงฉลวย สามารถนำมาตีความได้ง่ายคือ หากมีดิน แต่ไม่มีพืชคลุมดิน ดินนั้นก็ไม่กลายเป็นธาตุดินไปได้ ในสระน้ำหากไม่มีสัตว์น้ำก็เป็นธาตุน้ำไม่ได้ ส่วนธาตุลมและธาตุไฟมีอยู่รอบ ๆ ตัว ไม่ต้องหาซื้อเลย เมื่อเปรียบเทียบกับหลักวิทยาศาสตร์ ก็เหมือนดั่งเป็นการส่งเสริมให้ปลูกพืช และสัตว์ผสมผสานกันไป เพื่อรักษาระบบนิเวศให้อยู่ในภาวะสมดุล เกิดความหมุนเวียนของธาตุ สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุอากาศ และยังเป็นเครื่องมือแสดงความเคารพแม่พระทั้ง 5 และส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางอาหาร มีกิน และเมื่อเหลือกิน จึงนำไปขาย มีเงินเก็บไว้ใช้สอยอย่างอื่นได้

เกษตรแบบพระโสดาบัน

ลุงฉลวยกล่าวว่า พระโสดาบัน เป็นผู้รอบรู้ มีความคิดรอบคอบ รู้เห็นว่าสิ่ง มีชีวิตมีเกิด เจ็บ ตาย มีได้มีเสีย ดังนั้นการทำเกษตรก็เช่นกันจะปลูกพืช ก็ปลูกเผื่อได้เผื่อเสียคือ หากได้แผ่นดินไว้ครอบครองแล้ว ควรขุดสระเอาน้ำล้อมไว้ เผื่อแผ่นดินจะเสียจากนั้นทำนาข้าวไว้เผื่อจะได้ แล้วเอาปลาใส่สระเข้าไว้เผื่อนาข้าวจะเสีย ปลูกไม้ไผ่เข้าไว้เผื่อจะได้แล้วปลูกมะพร้าวเผื่อไม้ไผ่จะเสีย แล้วก็ปลูกมะม่วงเข้าไว้เผื่อจะได้ ปลูกน้อยหน่าไว้ด้วยเผื่อกล้วยจะเสีย ปลูกตะไคร้ไว้ เผื่อกระเพราจะเสีย ปลูกสร้างกระท่อมเอาไว้ เผื่อจะได้ แล้วปลูกเรือนเข้าไว้เผื่อกระท่อมจะเสีย

ทำเกษตรแบบพระโสดาบันนี้ ป้องกันแมลง ป้องกันเพลี้ย อีกทั้งยังป้องกันนายทุนด้วย กันนายทุนหมายถึงไม่ให้นายทุนเข้ามาปล่อยเงินกู้ หรือให้เชื่อวัสดุ อุปกรณ์การเกษตร เพราะเราทำเกษตร มันมี “ ได้ ” มี “ เสีย ” และก็มี “ ได้ ” อยู่ดี

อย่างกันหนอน กันแมลงนี่ก็คือ สมมติว่าหนอนมันกินไม้ไผ่ เราก็กินมะพร้าว หนอนกินมะพร้าว เรากินมะม่วง หนอนกินน้อยหน่าเรากินมะละกอ หนอนกินข้าวเรากินปลา ทำเกษตรแบบพระโสดาบันนี้ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หรือปุ๋ยเคมี ใช้แต่ปุ๋ยธรรมชาติ ทำอย่างนี้ชาวไร่ชาวนาก็อยู่ได้ และโลกนี้ก็น่าอยู่อาศัย ” เรือกสวนไร่นา ก็คือ ร่างกายของคน

ลุงฉลวยเปรียบเทียบเรือกสวนไร่นา ได้กับร่างกายของคน ที่ต้องอาศัยดิน น้ำ ลม ไฟ และอาหาร จึงจะเป็นร่างกายที่สมบูรณ์ พุทธเกษตรกรรมก็เช่นเดียวกันต้องประกอบด้วยธาตุดินน้ำ ลม ไฟ และแม่พระโพสพ ดังนั้นลักษณะรูปร่างแปลงนาของลุงฉลวย จึงคล้าย ๆ กับร่างกายของมนุษย์นั่นเอง จากพื้นที่ทั้งหมด 6 ไร่ รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในขุดสระน้ำ 6 สระในตำแหน่งที่ท่านเรียกว่า รักแร้ (2) นม(2) หัวใจ (1) อวัยวะเพศ (1) สระทั้งหมดเลี้ยงปลากินพืชหลายชนิด ตรงกลางของพื้นที่ หรือตำแหน่งท้อง ขุดปรับเป็นที่นาขนาด 1 ไร่ 1 งาน ท่านปลูกแนวไม้ไผ่ 2 แถว ไว้รอบพื้นที่เป็นทิวไผ่หนาแน่น สำหรับกันลม และให้ความร่มรื่น ส่วนบนคันดินปลูกมะม่วง กล้วย มะพร้าว ชมพู่ เชอรี่ และไม้ผลอื่น ๆ กระจายเต็มพื้นที่

คุณค่าของผลผลิต

ลุงฉลวยปลูกข้าวพื้นเมืองในพื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน โดยไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี และยาเคมีใด ๆ ได้ข้าวปีละ 110-120 ถังต่อไร่ (880-960 กิโลกรัม) จึงพอเลี้ยง คนได้ประมาณ 5 คนต่อปี ในสมัยที่ท่านยังเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเพื่อส่งให้ลูกเรียนหนังสือ สามารถขายปลาได้ปีละ 50,000-60,000 บาท ขายกล้วยได้ 40,000-50,000 บาท และมีรายได้จากตัดไม้ไผ่ขาย 10,000 บาทต่อปี เงินที่ได้จากการขายนั้น ท่านนำไปใช้ในการขุดสระ ปลูกต้นไม้ ท่านบอกว่าได้ดอกเบี้ยมากกว่าธนาคาร และโจรปล้นไปไม่ได้

ในความหมายของท่าน คุณค่าของระบบเกษตรกรรมและผลิตผลทางการเกษตรไม่ได้วัดจากเงินที่ได้มาอย่างเดียว แต่อยู่ที่การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ท่านเล่าว่า มีเพื่อนบ้านต่อว่าท่าน ว่าขายไม้ไผ่แพงเกินไป ท่านอธิบายกลับไปว่า ไม้ไผ่ลำละ 25 บาท ไม่แพงหรอก ทีเอ็งไปซื้อเหล้า ไม่เห็นต่อเลย ไม้ไผ่ลำละ 25 บาท แกใช้ให้คุ้มซิ เมื่อใช้นาบข้าวแล้ว ก็เอาไปทำไม้หาบข้าว ขนข้าวเสร็จเอาไม้ไผ่ทอนให้สั้นเป็นไม้ปิ้งไก่ ที่เหลือทำไม้เสียบลูกชิ้น ชิ้นเล็กทำไม้จิ้มฟัน เศษบาง ๆ เอาไปทำที่รองกรงไก่ ส่วนที่เหลือใช้ทำปุ๋ยหมักได้

 

(เสียชีวิตด้วยโรคชราเมื่อต้นปี 2549 มานี้ หลังงานสื่อสารกับธรรมชาติไม่กี่เดือน)
เกษตรกรได้นำนิมิตรการทำพุทธเกษตรจากการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานมาใช้ในการทำเกษตรจริงๆ

credit:  sathai.org

ความเห็น

หายากจริงๆครับเกษตรกรแบบนี้จะมีสักกี่คน ทั้งอำเภอผมยังไม่เห็นมีสักคนเลย

ข้าวปลาเป็นอาหารหลัก ๑ใน๔ปัจจัยที่จำเป็นของมนุษย์ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค การใช้ชีวิตเข้าใจและปฏิบัติตามนี้ได้ก็จะมีความสุข

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

เขเข้าใจแต่อยากที่จะปฏิบัติ  เพราะคำว่ากิเลสตัวเดียวเลย

คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก

ขอบคุณครับที่นำบทความและเรื่องราวดีๆมาถ่ายทอดให้ได้อ่าน ข้อความแม้จะยาวแต่ผมก็อ่านทุกตัวอักษร และเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการดำเนินชีวิตครับ

ไม่มีโรค มีปัจจัย 4 ครบถ้วน ก็เป็นลาภอันประเสริฐแล้วค่ะ

ความพอเพียงจะทำให้ชีวิตมีความสุขแบบยั่งยืน

ขอบคุณมากค่ะ... ลุงเค้าก็มีความเป็นอยู่สุขสบาย นะคะ (ทำธาตุทั้ง4ให้มีรูปร่างที่สำผัส และใช้ประโยชน์ได้)

ไร่สุโขทัยนี้ดีก็จะพยายามทำให้ได้เหมือนกันครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข