วิศวกร? หรือ วิศวเกษตร? ตอนที่ 3 เป้าหมายมีไว้พุ่งชน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ตอนที่ 3 เป้าหมายมีไว้พุ่งชน


การที่ผมมีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทญี่ปุ่นถือเป็นประสบการณ์หนึ่งของชีวิตที่ดีมากๆ เพราะที่นั่นผมมีผู้บังคับบัญชาที่ดีและมีนายญี่ปุ่นที่เป็นแบบอย่างที่ดีในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของแนวความคิดและทัศนคติเชิงบวก ซึ่งผมคิดว่าประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับระหว่างที่ทำงานอยู่ที่นั่น น่าจะนำมาปรับใช้กับการทำการเกษตรได้ไม่มากก็น้อย แต่ทว่าในส่วนของประสบการณ์แย่ๆ ก็มีอยู่บ้างแต่ผมเลือกที่จะไม่กล่าวถึง แต่จะจำไว้เป็นบทเรียนของชีวิต ในตอนที่สามนี้ผมขอยกตัวอย่าง 2 เรื่องสำคัญๆ ที่ผมได้รับการปลูกฝังมาตลอดระหว่างที่ทำงานให้กับบริษัท ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการทำเกษตรได้ ดังต่อไปนี้


เรื่องแรก คือ ทัศนคติเชิงบวก (Positive Thinking) เรื่องของทัศนคติผมถูกปลูกฝังตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทเลยก็ว่าได้ โดย คำๆ นี้เริ่มเข้ามาในสมองผมตอนที่ผมเข้ามาสัมภาษณ์งาน ทั้งการทำข้อสอบเพื่อประเมินแนวคิดโดยรวม อีกทั้งการตั้งคำถามขณะสอบสัมภาษณ์ หลังจากที่ผมเข้ามาทำงานที่บริษัทได้สักระยะ ผมถามผู้จัดการที่รับผมเข้าทำงานว่า “ทำไมผู้จัดการรับผมเข้าทำงานครับ? ผมไม่ได้เรียนมาด้านนี้นะครับ?” ในตอนนั้นผมก็รู้สึกแปลกใจที่ได้รับโอกาส เพราะจริงๆ แล้วผมจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมการเกษตร แต่ตำแหน่งงานที่บริษัทรับผมเข้าทำงาน คือ งานด้านอุตสาหการ สวนคำตอบที่ผมได้รับ คือ “เพราะคุณเป็นคนที่มีทัศนคติดี และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสอนคุณไม่ได้! ส่วนเรื่องความรู้ในงานนั้นผมสามารถสอนเพิ่มเติมให้คุณได้!”


ในช่วงแรกของผมกับการต้องแบกรับโปรเจ็คของบริษัท แต่ละโปรเจ็คเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยทำมาก่อนประมาณว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ผมรับโปรเจ็คที่ไม่ซ้ำกันเลย และก่อนจะเริ่มแต่ละโปรเจ็คนายญี่ปุ่นมักจะถามเสมอๆ ว่า “คุณทำได้ไหม?” ช่วงแรกๆ ผมมักจะตอบว่า “ไม่แน่ใจครับคงต้องลองก่อน!” นายญี่ปุ่นก็จะสอนเสมอๆ ว่า “อย่าบอกว่าไม่แน่ใจ เพราะฟังดูแล้วไม่น่าจะสำเร็จ” มันเป็นคำตอบของคนที่ไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง และท่านสอนเสมอๆ ว่า ผมทำได้ครับ ผมจะทำให้ดีที่สุด! ส่วนดีที่สุดของเราทำได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น โดยในแต่ละครั้งตัวงานที่ทำ จะเป็นตัวเค้นความสามารถของเราออกมาเอง ที่เหลือเป็นหน้าที่ของผู้จัดการ ที่จะคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำเพิ่มเติม ผู้จัดการมักจะบอกว่า ถ้าคุณเก่ง ผมก็สบาย และถ้าลูกน้องคุณเก่ง คุณก็จะสบาย ช่วงแรกก็ไม่เข้าใจแต่พอนานวันเข้าก็เริ่มเข้าใจและเห็นจริงตามนั้น


ถ้าคนเรามีทัศนคติที่ดีแล้ว เวลาเจอกับปัญหาเขาก็จะสามารถคิดหาทางออกได้และพร้อมที่จะเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรค ให้เป็นโอกาสในการทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้ คือ เมื่อต้องเจอกับปัญหาเขามักจะคิดหาแนวทางการป้องกันและการแก้ไข มากกว่าที่จะคิด ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของใคร และสิ่งนี้เองที่จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์กร ไม้เว้นแม้แต่เรื่องของการทำการเกษตร


 เรื่องที่สอง คือ เป้าหมาย (Target) เรื่องนี้ก็สำคัญไม่แพ้ เรื่องทัศนคติ เพราะเราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จ หากเราไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ เป้าหมายจะเป็นเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพื่อประเมินผลการปฏิบัติงาน ในงานนั้นๆ ก่อนลงมือทำโปรเจ็คต่างๆ ผู้จัดการมักจะถามผมเสมอ ว่า “โปรเจ็คนี้คุณตั้งเป้าหมายแล้วหรือยัง?” หากเป็นภาคอุตสาหกรรมก็มักจะตั้งเป็น QCDS (Quality = คุณภาพ , Cost = ต้นทุน , Delivery = การส่งมอบ , Safety =ความปลอดภัย) แต่สำหรับภาคการเกษตรอาจจะต้องมาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่แต่ละวัฒนธรรม  เพราะตัวเป้าหมายนี่แหละที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการทำงาน รวมถึงทิศทางในการทำการเกษตรผสมผสานของผมในครั้งนี้ มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่ง ที่เรามักจะได้ยินจนคุ้นหู คือ “ชีวิตที่ขาดเป้าหมายก็ไม่ต่างอะไรกับไม้หลักปักในขี้เลน!” ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้น แต่ละท่านต้องพิสูจน์เอง และตอนนี้ผมก็กำลังพิสูจน์คำพูดประโยคนี้อยู่ ต่อไปก็ต้องรอดูว่าผมจะเป็นไม้หลักปักในขี้เลน หรือ เสาคอนกรีตที่ปักในตอหม้อด้วยความมั่นคงแข็งแรง


จากที่กล่าวมาข้างต้น ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับมาทำเกษตรนั้น มีเงื่อนไขหลายอย่างที่ผมเคยเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จะเป็นอุปสรรคในการทำเกษตรในครั้งนี้ ซึ่งผมขอย้อนความ ดังนี้ “จะทำเกษตรแล้วเงินทุนละมีหรือยัง? แล้วรถที่ยังต้องผ่อนอยู่ทุกเดือนอีกละจะเอาเงินที่ไหนส่งค่างวด? ไหนจะเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ต้องส่งคืนทุกปีอีกละ?” สิ่งที่เป็นอุปสรรคเหล่านี้ทำให้ผมต้องคิดหนักอีกครั้ง เมื่อกลับมาถึงบ้าน เพราะผมก็คนธรรมดาจะให้แก้ปัญหาทั้งหมดโดยลำพังคงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ผมเริ่มจากเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ ค่างวดรถที่ต้องส่งทุกเดือน เพราะเรื่องนี้ไม่มีเวลาให้คิดนาน ถึงตอนนี้แล้วผมคงไม่มีเงินนำมาส่งค่างวดต่อได้อีก เพราะเงินเก็บก็เหลือน้อยเต็มที ดังนั้นจึงมีสองทางให้เลือก คือ หนึ่งขายเจ้าขั้วกลิ้ง (รถ Civic FD ที่เพิ่งจะซื้อมาได้ไม่นาน) แล้วเอาเงินมาลงทุนทำการเกษตร ทางที่สอง คือ ปล่อยให้บริษัทมายึดรถ แต่หลังจากที่ได้ปรึกษาพ่อและแม่แล้ว พ่อผมอาสาที่จะส่งค่างวดที่เหลือต่อให้ผม ซึ่งเดิมทีเงินที่จะต้องนำมาส่งค่างวดเจ้าขั้วกลิ้งนั้นเป็นเงินออมที่พ่อเก็บไว้ใช้เวลาจำเป็น และหากนับจนถึงวันที่ผมเขียนบทความนี้ก็เป็นเงินประมาณ  125,000 บาท แล้วครับ ซึ่งมันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ หากผมยังไม่สามารถหารายได้โดยเร็ว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การตัดสินใจทำเกษตรผสมผสานของผมในครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหวังผลตอบแทนในรูปของตัวเงินเป็นสำคัญอันดับต้นๆ แต่ไม่ใช่สำคัญที่สุด หลังจากนั้นผมก็เริ่มทำความเข้าใจกับสถานการณ์ของตัวเองและสภาพความเป็นอยู่ของคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งที่ผมเห็นและรับรู้ได้อย่างชัดเจนคือ ในตอนนี้ผมยังไม่เหมาะที่จะใช้ชีวิตแบบพอเพียง อันเนื่องมาจากผมยังเป็นคนธรรมดาสามัญ ยังมีความต้องการยังมีกิเลส อยากได้สิ่งโน้นสิ่งนี้ แต่ว่าผมก็จะพยายามควบคุมกิเลสเหล่านั้นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ภารกิจในครั้งนี้ดำเนินไปได้อย่างเรียบง่าย และอีกเหตุผล คือ ความคิดของคนในครอบครัวและคนรอบข้างที่ยังใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา หากจะเดินเข้าไปบอกให้เปลี่ยนวิถีชีวิตมาดำเนินชีวิตแบบพอเพียงเลยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผมจะต้องหาจุดที่เหมาะสมที่สุดและต้องเป็นจุดที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกๆ คนในครอบครัว  ซึ่งสำหรับผมตอนนี้จุดที่เหมาะสมที่สุดในเงื่อนไขนี้ คือ พ่อกับแม่ท่านจะช่วยส่งค่างวดรถต่อให้จนกว่าผมจะมีรายได้และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนหน้าที่ผม คือ หารายได้จากการทำการเกษตร โดยยึดทฤษฏีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ สามตัวหลักๆ ดังนี้


เป้าหมายที่หนึ่ง ต้องเป็นงานที่ทำแล้วก่อให้เกิดความสุขจากการได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และ เพื่อนๆ ก่อนหน้านี้ผมสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้น้อยมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดในการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนไทย แต่ปัจจุบันนี้ผมว่าหลายต่อหลายคนลืมมันไปแล้ว หรือ บางคนทำได้ดีที่สุดเพียงปีละสองครั้ง คือ เทศกาลปีใหม่และเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งเราลองถามตัวเองดูนะครับว่า ในหนึ่งปีมี 365 วัน เราได้ให้เวลากับบุคคลที่สำคัญที่สุดอย่างพ่อกับแม่ปีละกี่วัน? ก่อนหน้านี้ ผมจะมีโอกาสอยู่พร้อมหน้าพ่อแม่พี่น้อง ปีหนึ่งก็ไม่เกิน 15 วัน นั่นคือ ช่วงหยุดปีใหม่ประมาณ 7 วัน และ ช่วงหยุดสงกรานต์อีกประมาณ 7 วัน หรือคิดเป็น 0.04% แต่เวลาที่นึกถามตัวเองว่า “ชั่วชีวิตเราที่เกิดมาใครสำคัญและมีพระคุณกับเรามากที่สุด?” ร้อยทั้งร้อยจะตอบว่า “พ่อและแม่” หนึ่งในนั้นก็มีผมรวมอยู่ด้วย แต่มาถึงตอนนี้ผมว่า คำพูดกับการกระทำมันไปด้วยกันไม่ได้เลย พ่อและแม่ คือ คนที่สำคัญที่สุดแต่เรากลับใช้เวลาอยู่กับท่านเพียง 15 วัน จาก 365 วัน หรือถ้าจะให้เปรียบเทียบ ผมว่าจำนวนวันที่อยู่กับพ่อและแม่ของหลายๆ ท่าน อาจจะน้อยกว่า จำนวนวัน ที่เรานัดกับเพื่อน เพื่อจะพากันไปเที่ยวหรือเสเพลกัน เสียด้วยซ้ำ ถ้าพ่อและแม่ คือ บุคคลที่สำคัญที่สุด เราก็ควรจะให้ความสำคัญและให้เวลากับท่านให้มากที่สุดสิ! ใช้ไหมครับ?


ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เนื้อหาในหนังสือช่วงหนึ่งได้มีการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “ถ้าสมมติว่าพรุ่งนี้คุณจะต้องตาย ช่วงเวลาที่เหลือก่อนตายคุณอยากอยู่กับใครมากที่สุด” คำตอบของแต่ละคนอาจจะต่างกันเพราะคนที่สำคัญของคนเราแต่ละคนย่อมแตกต่างกันตามแต่ช่วงอายุ สำหรับผมแล้ว คนที่ผมอยากอยู่ด้วยที่สุด คือ พ่อและแม่ มาถึงตอนนี้ผมไม่ต้องรอจนเหลือวันสุดท้ายของชีวิตแล้วครับ เพราะผมได้เลือกที่จะใช้ชีวิตที่เหลือของผมโดยมีพ่อกับแม่อยู่ข้างๆ และคอยเป็นกำลังใจได้แบบเต็ม 100% เลยก็ว่าได้


ถึงตอนนี้หลายต่อหลายท่านอาจจะนึกอิจฉาผมบ้างแล้ว เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน เพราะคนเราแต่ละคนล้วนมีภาระหน้าที่ ที่แตกต่างกัน บางท่านก็โชคดี บางท่านก็ยังรอโอกาสเหมาะๆ และอีกหลายท่านที่ยังต้องติดอยู่กับวัฎจักรของคำว่า “ลูกจ้าง” ซึ่งผมก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน ณ ตอนนี้ ผมอยากจะบอกกับทุกๆ ท่านว่า “เมื่อท่านอ่านบทความนี้จบแล้วอย่าได้ลืมที่จะโทรหาคนสำคัญของท่าน และหากสิทธิ์ในการลาพักร้อนยังเหลืออยู่บ้าง ก็ใช้สิทธิ์นั้นให้คุ้มค่า ลากลับไปเยี่ยม พ่อและแม่ หรือพาคนที่เรารักไปเที่ยวพักผ่อนบ้างก็ดีนะครับ ให้ความสำคัญกับคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต ในขณะที่ยังมีโอกาสนะครับ!


เป้าหมายที่สอง กิจกรรมที่ทำต้องสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้ใกล้เคียงหรือเท่ากับเงินเดือนในขณะที่ผมทำงานให้กับบริษัท


เงินไม่ใช้เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด (ไม่สำคัญที่สุด กับ ไม่สำคัญไม่เหมือนกันนะครับ!)หวังว่าทุกท่านคงจำประโยคนี้ได้นะครับ เพราะอย่างไรเสียคนเราก็ยังต้องใช้เงินในการครองชีพ ไม่ยกเว้นแม้กระทั้งตัวผม “แล้วต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ?” คำถามนี้ถามง่ายๆ แต่ตอบยากมากๆ เพราะเงินนี่แหละครับที่จะเป็นตัววัดความพอเพียงในตัวคนๆ นั้น บางคนมักน้อยก็ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย บางคนมักมากไม่รู้จักพอก็ต้องดินรนขวนขวายไม่มีโอกาสได้พบกับคำว่า “ความสุข” แต่สำหรับมุมมองผมในตอนนี้ผมว่า ความพอเพียงในแบบของผม คือ “ต้องไม่มีหนี้สินติดตัว ต้องสามารถตอบสนองความต้องการเบื้องต้นในการดูแลและให้ความสุขกับทุกคนในครอบครัวและคนที่เรารัก ตลอดจนต้องสามารถแบ่งปันกลับคืนสู่สังคมตามสมควรเมื่อมีโอกาส” โดยสิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นเร็วที่สุดเท่าที่ผมจะสามารถทำได้


ในเบื้องต้นผมก็ไม่รู้หรอกครับว่าผมต้องหาเงินมากเท่าไหร่ถึงจะพอ แต่ที่ผมรู้แน่ๆ อย่างหนึ่งคือ ก่อนหน้าที่ผมยังรับเงินเดือนจากการทำงานบริษัท  ผมสามารถที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ในระดับหนึ่ง และสามารถที่จะเหลือเก็บออมบ้างในบางเดือน  ผมเลยตั้งใจว่า อย่างน้อยๆ แล้ว ผมคงต้องพยายามสร้างรายได้จากการทำการเกษตรแบบผสมผสานให้มีรายได้ใกล้เคียงหรือเท่ากับตอนที่ผมรับค่าแรงจากบริษัท ส่วนเป็นตัวเงินเท่าไหร่นั้นผมขอไม่กล่าวถึงนะครับ แต่รับรองว่าไม่สูงมาก จนเกินความสามารถของเกษตรกรที่ขยันทำงานทั่วๆ ไปจะหาได้ในแต่ละเดือนแน่นอนครับ และหลังจากที่ผมกำหนดเป้าหมายสำหรับการสร้างรายได้ในแบบของลูกวิศวเกษตรแล้ว สิ่งต่อไปที่สำคัญมากๆ ก็คือ ต้องกำหนดวิธีการที่จะได้มาซึ่งรายได้ โดยผมก็เดินตามแบบอย่างของเกษตรกรตัวอย่างหลายๆ ท่าน คือ วางแผนการปลูกพืชที่สามารถสร้างรายได้แบบ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี โดยจะพยายามวางแผนการปลูก โดยการใช้พื้นที่ที่ยังว่างอยู่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผมมีพื้นที่สำหรับทำเกษตรผสมผสานในครั้งนี้เป็นพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สวนยางเกือบทั้งหมด เพราะฉะนั้นรายได้หลักของผมจึงมาจากการกรีดยางพารา ซึ่งผมกับแม่จะกรีดยางเอง จำนวน 345 ต้น ส่วน ยางที่เหลืออีกประมาณ 700 ต้น เป็นการจ้างกรีด ผมวางแผนไว้ว่าถ้าผมกรีดจนชำนาญแล้ว ปีหน้าคงกรีดเองทั้งหมด ถึงตอนนี้ หลังจากที่ผมได้ลงมือปลูกผักสวนครัวต่างๆ ในพื้นที่รอบๆ บริเวณบ้าน ผมก็พอจะมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายผักสวนครัวแล้ว ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน และเงินที่ได้รับจากการขายต้นไม้ที่เพาะเองและงานรับจ้างต่างๆ ก็เป็นเงินอีกประมาณ 1,000 บาท หากนับรวมกับรายได้จากการกรีดยางพาราแล้ว ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่พอกับภาระหนี้สิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมุ่งเน้น เรื่องการเสริมรายได้จากการทำเกษตร โดยเน้นเรื่องการปลูกพืชร่วมยางเป็นหลัก ณ ตอนนี้ก็เริ่มไปบางส่วนแล้ว และสิ่งที่สำคัญที่จะเป็นตัวตรวจสอบหารูรั่วทางการเงินของเราก็คือ บันทึกรายรับรายจ่าย ซึ่งเป็นตัวที่ผมนำมานั่งทบทวนทุกวัน เพื่อดูแนวโน้มรายรับรายจ่าย ก่อนหน้านี้ผมก็บันทึกมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำงานบริษัท โดยเมื่อผมมานั่งดูข้อมูลย้อนหลัง ผมพบว่า รายจ่ายที่ไม่จำเป็นและมีทุกเดือนซึ่งสามารถตัดออกได้ทันที คือ รายจ่ายจากการดื่มเหล้าดื่มเบียร์ และผมว่าหลายๆ ท่านก็น่าจะมีรายจ่ายตัวนี้อยู่ไม่มากก็น้อย ตั้งแต่วันแรกที่ผมลงมือทำเกษตร ผมได้ให้คำมั่นกับตัวเองว่า ผมจะไม่แตะของมึนเมาพวกนี้อีก ตราบใดที่ผมยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ถ้าจะให้เลิกเด็ดขาดเลยก็ดูจะทำร้ายจิตใจเกินไป ลด!-->ละ!-->เลิก! ครับ ตอนนี้อยู่ในขั้นของการ ละ! ส่วนจะเลิกหรือไม่เลิกคงต้องตัดสินใจกันอีกที แต่ยังไงก็คงไม่กลับไปหัวลาน้ำเหมือนเมื่อก่อนแน่นอนครับ!


สำหรับวิธีการสร้างรายได้เสริม จากการทำการเกษตรผสมผสานนั้น ผมขอเล่าในตอนต่อๆ ไปนะครับ เพราะขณะนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้น ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร แต่ก็ยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ครับ แต่ก็มีหลายครั้งที่ต้องปรับแผนให้เหมาะกับงาน ด้วยปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย


เป้าหมายตัวที่สาม ต้องนำประสบการณ์และความรู้ที่มี มาพัฒนาการทำการเกษตรเพื่อให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์มากที่สุดเท่าที่คนธรรมดาอย่างผมพอจะทำได้


ในสวนของเป้าหมายตัวที่สามนี้ผมแยกย่อยเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องทำ คือ



  1. พยายาม เป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชนในการทำเกษตรผสมผสาน ถึงตอนนี้ก็ถือว่าเริ่มแล้วครับ เพราะหลังจากที่ลงแรงมาประมาณ 5 เดือน ก็เริ่มมีญาติๆ เริ่มเอาเราเป็นแบบอย่างบ้างแล้ว โดยเฉพาะแม่เฒ่า (คุณยาย) ซึ่งก่อนหน้านี้จะปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด แต่ตอนนี้ก็เริ่มปรับเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสานบ้างแล้วและดูท่าทางแล้ว ท่านจะเก่งกว่าผมเสียอีก หลายต่อหลายครั้งที่ท่านเป็นคนให้คำแนะนำผมเสียด้วยซ้ำ ว่าอะไรปลูกร่วมกับอะไรได้ หรือพื้นที่ตรงไหนเหมาะกับการปลูกพืชกลุ่มไหน เป็นต้น

  2. พยายาม เป็นแบบอย่างให้กับคนในชุมชนในการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ สำหรับหัวข้อนี้สำหรับผมแล้วเป็นสิ่งที่ยากมากๆ เพราะตลอดชั่วชีวิตของคนในละแวกนี้ รวมถึงพ่อกับแม่ผมล้วนแต่ทำเกษตรโดยใช้สารเคมีมาโดยตลอด การที่ผมจะมาบอกให้เปลี่ยนมาทำเกษตรแบบปลอดสารพิษนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่สำหรับผมแล้วไม่ง่ายไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้  ผมจึงเริ่มจากการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน โดยเริ่มจาก การกำหนดเขตปลอดสารพิษก่อน คือ พื้นที่บริเวณรอบๆ บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผมปลูกผักสวนครัว และพ่อกับแม่ก็เห็นด้วย เพราะจะได้เป็นพื้นที่สำหรับทดลองทำเกษตรปลอดสารพิษ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่ก็พยายามใช้สารพิษให้น้อยที่สุด โดยจะใช้ก็ต่อเมื่อเกิดการระบาดของโรคหรือแมลงอย่างรุนแรงเท่านั้น ตั้งแต่เริ่มทำเกษตรมาประมาณ 5 เดือน ก็ใช้สารเคมีเพียงหนึ่งครั้ง คือ ตอนที่เพลี้ยลง เพราะมันไม่ได้ลงเฉพาะแปลงเกษตรที่บ้านผม แต่มันลงทั่วทั้งหมู่บ้าน ถึงตอนนี้ก็เริ่มเห็นความแตกต่างของดินที่อยู่ในพื้นที่ปลอดสารพิษบ้างแล้ว โดยสิ่งแรกที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ คือ ปริมาณไส้เดือนในดินมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณโคนกล้วย สำหรับหัวข้อนี้ก็คงต้องพยายามต่อไป

  3. นำความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบเครื่องมือเครื่องจักรมาปรับใช้กับการออกแบบอุปกรณ์การเกษตร เรื่องนี้เป็นงานที่ผมค่อนข้างถนัดเพราะผมทำงานด้านนี้มาโดยตรง จะต่างกันก็เพียงแต่เปลี่ยนจากเครื่องมือเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมมาเป็นภาคการเกษตร โดยจะเน้นหลักการที่ว่า “พยายามใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นหลัก” ส่วนหัวข้อเรื่องที่ผมจะปรับปรุงพัฒนานั้นตอนนี้ขออุบไว้ก่อน เพราะยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ สำเร็จเมื่อไหร่จะนำมาเล่าให้ฟังทันที

จากทัศนคติบวกและการกำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานนี้เองที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมไม่กลัวกับเรื่องที่จะต้องผันชีวิตมาทำเกษตร เพราะผมเชื่อว่า ผมต้องทำได้! และ อีกอย่าง คือ ผมมีพื้นฐานด้านการเกษตร มีพ่อแม่ญาติพี่น้องเป็นชาวไร่ชาวสวน และสิ่งสำคัญ คือ ผมเรียนจบวิศวกรรมการเกษตรมาโดยตรง ถึงแม้จะเป็นสาขาวิชา วิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ ก็ตาม ซึ่งมันเป็นจุดแข็งของตัวผม และด้วยทัศนคติที่ดีและลักษณะการคิดที่เป็นระบบซึ่งถูกปลูกฝังมาตลอด 5 ปี ทำให้ผมกล้าที่จะทำเกษตรผสมผสาน เช่นเดียวกับที่ผมเคยบอกกับบริษัทว่า “ผมทำได้ครับ และผมจะทำให้ดีที่สุด” แต่ต่างกันตรงที่ครั้งนี้ผมพูดเพื่อบอกกับตัวผมเอง เราต้องทำได้และเราจะต้องทำให้ดีที่สุด!


จากเป้าหมายที่ผมตั้งไว้ข้างต้น ผมก็นำมากำหนดเป็นแผนการดำเนินงานหลัก โดยผมวางแผนไว้ว่างานทุกอย่างควรจะสำเร็จก่อนสิ้นปี 2555 ซึ่งก็มีเวลาประมาณ 2 ปี ถึงตอนนี้เป้าหมายก็มีแล้วจะเหลือก็แต่ “พุ่งชน!” ซึ่งทำง่ายมาก ก็แค่ “ใส่เกียร์เดินหน้าลุย” ในเมื่อเป้าหมายมันชัดขนาดนี้แล้วจะให้นั่งนิ่งๆ ก็คงจะไม่สำเร็จ และในระหว่างที่ผมกำลังพยายามวิ่งเข้าชนเป้าหมาย ผมมักจะได้ยินประโยคหนึ่งที่ได้ยินจนชินหูแทบทุกวัน คือ “มันบ้าไปแล้ว!  ;  คนเคยทำงานสบายๆ จะให้มาทำงานแบบนี้ไปไม่รอดหรอก!”  แต่ผมก็ไม่เก็บมาใส่ใจเพราะ “ผมคงบ้าไปแล้วจริงๆ” และผมคิดเสมอว่าคำพูดเหล่านี้เป็นเสมือน “ใบท่อม” ให้ผมยิ่งอดทนและพยายามให้มากยิ่งขึ้น” และเมื่อไหร่ที่คนรอบข้างเข้าใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้น เขาจะเข้ามาร่วมเดินทางไปกับเรา โดยเฉพาะคนในครอบครัว ตอนนี้มาร่วมบ้าไปกับผมกันหมดแล้วโดยเฉพาะแม่ ตอนนี้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายแปรรูปผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ก่อนนำส่งขายให้กับแม่ค้าไปเสียแล้ว!


ขอให้จำไว้เสมอว่า เป้าหมายจะเป็นตัวกำหนดวิถีการดำเนินชีวิต ถ้าเป้าหมายไม่ชัด หรือมีเป้าหมายแต่ไม่ได้ลงมือทำ  ชีวิตก็หาได้พบกับความสำเร็จไม่!”


                ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ “สภาพปัจจุบัน”  คือ ควรเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง และเข้าใจสภาพแวดล้อม เพื่อที่จะได้นำมาร่วมพิจารณาในการตั้งเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าจะตั้งเป้าหมายให้สูงๆ แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่อยู่รอบตัวแล้วไม่เอื้ออำนวยก็ไม่ได้ เช่น เงินก็ไม่มี แถมที่ดินก็ไม่มีอีก แต่วางเป้าหมายว่าจะทำการเกษตร มันก็คงจะสำเร็จได้ยาก ดังนั้น ลองสำรวจสภาพปัจจุบันของตัวเราดูนะครับว่า “ณ เวลานี้เราคือใคร? มีหน้าที่อะไร? และจะทำสิ่งนั้นๆ เพื่ออะไร? หรือ ทำเพื่อใคร?” แล้วลองถามตัวเองดูว่า “ถึงตอนนี้คุณมีเป้าหมายในการทำสิ่งเหล่านั้นแล้วหรือยัง”  โดยสิ่งที่คุณทำอยู่ในขณะนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำเกษตรก็ได้  สุดท้ายผมขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ และขอให้คุณจงทำสิ่งเหล่านั้นให้ดีที่สุดนะครับ!


ความเดิมตอนที่ 1 http://www.bansuanporpeang.com/node/5981 


ความเดิมตอนที่ 2 http://www.bansuanporpeang.com/node/6292


 

ความเห็น

ต้องขอโทษด้วยนะครับที่เนื้อหาตอนนี้ยาวไปหน่อย


นั้นเป็นเพราะผมคิดว่ามันเป็นตอนที่สำคัญที่สุด


หวังว่าคงไม่เบื่อที่จะติดตามอ่านจนจบนะครับ


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

ความคิดดีมาก  มุมมองกว้าง   สำหรับป้าเล็ก   คิดเสมอ  ตอนทำงานก็ตักตวง  เอาความรู้  ประสบการณ์  งานที่ทำได้  ได้ตังค์  ไม่ยาก  ทำๆๆ  แล้วก็เตรียมตัวสำหรับการมาปลูกพืชผักกินเอง     ลดรายจ่าย  รายได้ก็หาเสริมบ้าง  แต่คงไม่มุ่งมั่น  ที่จะหาตังค์  เพราะตังค์  คิดไว้ว่าต้องมาจากการเตรียมตัว  ขณะนี้  เตรียมตัวได้  เกือบปีแล้ว  ขอนับวัน  สมัครเวบ  เป็นวันแรก   ขอเวลา  5ปี   สำหรับการออกมาใช้  ชีวิตที่เรียบง่าย  

ตอนที่ทำงานบริษัทผมมักจะบอกน้องๆ ในทีมเสมอครับว่า


"งานที่เราทำนั้น บริษัทได้งานได้กำไร ส่วนเราได้เงินเดือนและประสบการณ์"


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

อ่านแล้ว ได้ประโยชน์มาก ๆ เลย ถึงจะยาว แต่สาระมันมาก จริง ๆ สำหรับคน ๆ หนึ่ง ที่อยากจะผันตัวเองไปเป็นเกษตรเต็มตัว แต่ก็อย่างว่าละค่ะ  ด้วยภาระที่เรามี นั่นคือตัวปัญหาที่เราต้องตัดสินใจ  จริง ๆ ก็ตั้งใจจะกลับไปทำเกษตรที่บ้านแล้วเหมือนกัน โดยจะเริ่มจากการเพาะเห็ด แต่ด้วยว่าระยะเป็นเวลาของฝน การทำก็จะลำบาก ต้องรออีกซักระยะหนึ่ง พร้อมกับเก็บเงินทุนซักก้อน เมื่อนั้น พี่ก็จะมีคู่แค่ด้วย นะ  ฝากด้วยเป็นลูกศิษย์ด้วยคนจ้า

ขอบคุณมากครับที่อ่านจนจบ


ส่วนเรื่องทำเกษตรสำหรับผมคิดว่า ไม่ต้องรีบร้อนครับ พร้อมเมื่อไหร่ค่อยลงมือทำ


ช่วงนี้ก็ศึกษาข้อมูลไปก่อนครับ


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

ไม่นานพี่จะมีคู่แข่ง อิอิ

สงสัยผมคงต้อมซ้อมให้หนักขึ้นซะแล้ว


5555


ดีเลยครับจะได้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

ขอเวลาอีกหน่อย จะออกไปเป็นนายตัวเองค่ะ

"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"

ผมขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจนะครับพี่แดง อุบล


R-Boo

มหาสมุทรยิ่งใหญ่ได้ด้วยอยู่ต่ำกว่าแม่น้ำสายเล็กๆ!

เนื้อหายาวค่ะ แต่ถ้าจะเสียเวลาอ่านสักนาทีแล้วได้รู้เรื่องที่เป็นประโยชน์และรู้ว่ามีคนคนหนึ่งที่กำลังพยายามและพิสูจน์ว่าทฤษฏีเกษตรพอเพียงนั้นจะนำทางเขาไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร จะเป็นไรไปละค่ะ  คุณ R-Boo ค่ะหลายคนที่เป็นสมาชิกบ้านสวนแห่งนี้ได้พิสูจน์และทำให้พวกเราได้เห็นว่ามันเป็นไปได้ค่ะ อย่างคุณโสทร พี่แดงกับอ้ายเวทย์ ลุงพูน หรืออีกหลายต่อหลายท่านที่เข้ามาแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ที่บางทีคนในเมืองอย่างแม่ข้าวเหม่าอาจจะได้แค่ฝันเท่านั้น แต่เรื่องราวเหล่านี้แหละค่ะที่จะเป็นจุดสร้างฝัน ขยายความคิด ตัดสินใจด้วยความกล้า และลงมือทำให้ได้ในสักวัน เอาใจช่วยน่ะค่ะ

หน้า