ป้าเล็กเล่าเรื่อง

หมวดหมู่ของบล็อก: 

     เมื่อคืนป้าเล็กเข้าบ้านสวนได้ปุ๊บก็กะว่าจะเข้าไปแสดงความคิดเห็นตามบล็อกที่ได้อ่าน  ได้ความรู้  แต่ป้าเล็กก็เข้าไม่ได้ เพราะล็อกอินไม่ได้(หรือทำไม่เป็น..)  ป้าเล็กก็ได้แต่อ่าน ๆๆๆ   ไปหลายบล็อก สิ่งที่อยากบอกคือ ป้าเล็กนั่งขำอยู่คนเดียว อ่านผลไม้ปักษ์ใต้  ลูกไอ้นั่น  ลูกไอ้นี่  นึกถึงเพลงน้องไพ  ป้าเล็กอยู่อุบลแต่ป้าเล็กเกิดที่  ท่าหลา  เมืองคอน  พออายุ 11 ปี  ก็ย้ายตามพ่อแม่ ไปอยู่ประจวบ (พ่อแม่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรอกนะ  แต่ไปทำไร่ที่ประจวบ เพราะย่าเรียกกลับ บ้านพ่ออยู่เพชรบุรี   ก็ขายสวนยางที่นครไป) ยังพูดใต้ได้ชัดเจนค่ะ แต่หลายๆคำไม่ได้ใช้น่ะพอได้ยิน ได้อ่านก็จะขำ มีความสุขมาก(มีคนอื่นเป็นบ้างไม๊  หรือเราเป็นคนเดียว)ตอนเด็กๆ  ก็ได้ไปเก็บ ลูกกอมาคั่วกิน  เก็บเม็ดยาร่วง(มะม่วงหิมพาน) มาเผาแล้วตอย(ทุบเบา ๆ ให้แตก)กินกันสนุกมาก ป้าเล็กชอบต้นไม้ที่ได้เห็นตอนเด็กๆ รู้สึกมีค่ามาก วันก่อนน้องชายไปนครไปที่บ้านพังหรัน( อ.นพพิตำ) บอกว่าให้เอาบอนช้างลาก(เคยเห็นกันไหม)มาให้จะเอามาแต่งสวน(ตามใจคนปลูก)  ที่บ้านมีแต่บอนดำ(ใหญ่พอดู)  มาดูรูปกันนะ

     ขอเขามา  พอบอกยายใส่กระถางให้เลย  ตอนนั้นต้นเล็กนิดเดียว (ถ้าอ่านบล็อกป้าเล็กจะรู้สึกว่าต้นไม้ที่บ้านส่วนใหญ่ได้ฟรีมา  เพราะอันที่ซื้อมันตายเกือบหมดค่ะ) บอนดำ(กระดาษดำ)ต้นนี้อยู่ข้างโรงรถค่ะ ช่วยบังแสงเข้าห้องนอนได้ระดับหนึ่งค่ะ  ป้าเล็กชอบต้นไม้แปลกๆ ทั้งกินได้  กินไม่ได้  ต้นเล็ก  ต้นใหญ่  อยากปลูกไปหมด  วันก่อนไปประจวบ เลยไปเขาพ่อตาหินช้าง ได้ซื้อหน่อกล้วยกินดิบ(เล็บมือนาง)มา 3 หน่อ  มังคุด 3 ต้น  แบ่งป้าข้างบ้านอย่างละต้น ( เขาให้เรามาเยอะแล้ว) ตอนนี้ก็ปลูกแล้วค่ะ  ที่บ้าน มีเนื้อที่  74 ตารางวา  แต่ปลูกได้เยอะค่ะ ชอบเพื่อนบ้านสวนมากๆ  แต่ละคนมีมุมมองที่น่าสนใจมาก ได้ความรู้  มีความสุขค่ะ 

ความเห็น

หวังว่าคงถูกใจป้าเล็ก

น้องปุย น้องสาวของสาวไพ

ขอบคุณสำหรับเพลงไม่ได้ฟังนาน  นั่งหัวคนเดียวค่ะ คุณโสธร จะเอาไปเปิดฟังในรถค่ะ

สวัสดีค่ะป้าเล็ก....แอนค่ะคนท่าศาลาเหมือนกัน....ดีใจจังเจอคนบ้านเดียวกันด้วย :)

....ความสุขอย่างแท้จริง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง....

ช่างบังเอิญอยู่บ้านเดียวกับน้องไพ
ทางเข้าบ้านลำบากเนาะ อิโหลกโขลกเขลก ทั้งแย่ทั้งฝัด

ผมชอบเหมือนป้าเล็กเลย ชอบปลูกต้นไม้ ที่อดีตเคยเห็น เคยกิน เคยปีนเล่น ผมอาจปลูกต้นไม้ที่หลายคนคาดไม่ถึง เช่น หมามุ่ย เอ๊ะปลูกไว้ทำไม ก็เด็กๆเคยเห็น เคยคันกับมันมาหลายครั้ง แต่หลายคนก็ไม่รู้ว่า หมามุ่ยบางพันไม่คันอย่างที่คิด บางต้นเคยเก็บกินในวัยเด็ก อย่างเช่น ชำมะเรียงป่า ผมก็หามาปลูก จากต้นเดียว ตอนนี้มีเต็มไปหมด และมีอีกหลายต้นที่อยากหามาปลูก เช่น มะพูด ฝรั่งพื้นบ้านที่ไส้แดง แห้วพื้นบ้าน หรือแห้วไทย ชนิดหลังนี้ตอนสมัยเรียนประถม เวลาพักเที่ยงเคยไปขุดหลังโรงเรียน เรียนชั้นประถมก็นานมาแล้ว เคยกลับไปแถวๆโรงเรียนเก่ากะว่าจะหาขุดมาปลูกอนุรักษ์ไว้ ปรากฎว่าพื้นที่โรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปหมด ไม่เหลือแห้วให้ขุดเลย ไม่รู้ว่าที่ไหนยังมีอยู่บ้าง พูดถึงชื่อเสียงเรื่องชอบต้นไม้นี่ สมาชิกที่ทำงานผมรู้ดี ก็เลยได้อานิสงค์จากสิ่งนี้ ใครมีต้นไม้อะไรที่ดีๆ หรือคิดว่าผมไม่มี ก็จะเอามาให้ สบายไป เชื่อหรือไม่ว่า ผมมีต้นไม้ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในโลกกับเขาด้วย ต้นที่ว่าคือ ต้นเบาบับ(Baobab) เป็นต้นไม้แบบเดียวกับต้นไม้ขวด(Bottle tree)ที่ปลูกอยู่หน้างานพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ ที่ต้นใหญ่ 3-4 ต้น นั่นแหล่ะ แต่เสียดายได้ข่าวว่าต้นไม้พวกนั้นตายไปหมดแล้ว สำหรับต้นที่ผมมียังเล็กอยู่สูงแค่ฟุตเดียว เป็นต้นที่นำเมล็ดมาจากประเทศเคนยา ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ทำงานกรุณาให้มา

ยินดีค่ะน้องแอน  มาแชร์ประสบการณ์กันนะ 

ขอบคุณ คุณสุรพล  นึกว่าป้าเล็กคิดแปลกคนเดียว  บางทีมีคนมองเหมือนกับว่า  แค่เนี๊ยะ.. มีความสุขแล้ว  สนใจต้นไม้ที่คนอื่น ไม่น่าจะชื่นชอบ

แต่เขาเหล่านั้น  หาให้เราได้นะ  ก็ไอ้ต้นบอนช้างลากเนี่ะ  น้องชายบอกว่า  น้าสาวเข้าไปเอามาให้ค่ะ  ตอนนี้ยังไม่เห็นหน้าตาเลย  บอกให้เอาไปพักไว้กรุงเทพก่อน  ค่อยไปเอา

สวัสดีปีใหม่ทุกๆคนครับ

ผมนายจารึกเงียบหายไปจากจอพักใหญ่ แต่ก็อ่านความเคลื่อนไหวอยู่ตลอด ผมอ่านป้าเล็กเล่าเรื่องแล้วได้บรรยากาศจริง ๆ แต่มีอยู่คำหนึ่งจะขอเปลี่ยนคำจาก เก็บเม็ดยาร่วง(มะม่วงหิมพาน) มาเผาแล้วตอย(ทุบเบา ๆ ให้แตก)กินกันสนุกมาก เป็น เก็บเม็ดยาร่วง(มะม่วงหิมพาน) มาคั่วโดยใช้ปุ้นร้าย ๆ หรือปิ๊ปน้ำมันก๊าดผ่าซีก  แล้วตอย(ทุบเบา ๆ ให้แตก)กินกันสนุกมาก   ซู๊ดหยอดพี่น้องเหอ

 ป้าเล็กไปรถน้ำต้นไม้มา  มาเจอความคิดเห็นของคุณ นานจารึก อ่าน..แล้ว..นึก..ขำกลิ้ง  แล้วนั่งหัวอยู่คนเดียว  ปุ้นร้ายๆ  ตอนนั้นป้าเล็กใช้โคมลู่(.....)ที่เขาใช้ใส่ข้าวให้หมาค่ะ

เมื่อกี้ป้าเล็กไปรดน้ำต้นไม้ แต่ตอนนี้ผมมาทำงานที่บริษัท (ผมเป็นลูกจ้างเขา) ( และแว๊ปเข้ามาบ้านสวนพอเพียง) ความสุขต่างกันเยอะจริง ๆ

หน้า