คุย(ไม่)เฟื่องเรื่องสมุนไพร: "สมุนไพร-ลูกน้องป่า"

หมวดหมู่ของบล็อก: 

คุย(ไม่)เฟื่องเรื่องสมุนไพร:"สมุนไพร-ลูกน้องป่า"


   ... เข้าบ้านสวนมาเลยปี ที่ผ่านมาคุยสัพเพเหระแล้วแต่ว่าจังหวะโอกาสจะเอื้อให้ แล้ววันนี้ขอชวนคุยเรื่องสมุนไพร เอาเป็นว่าคุยกันเบา ๆ สมอง  ที่เลือกคุยก็เนื่องด้วยว่าอยากขอเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชิญชวนมาสนใจสมุนไพรกัน ซึ่งส่วนตัวเองแล้วหากนับว่ารู้ก็น้อยมาก โดยฉพาะต้นสมุนไพรจริง ๆ ซึ่งที่รู้มาก็ได้แต่เปิดอ่านตำรากันบ้าง ถามไถ่ จด ๆ จำ ๆ และที่สำคัญคือคำครูบาอาจารย์ท่านพร่ำสอนมา และกอปรกับห่างเหินไปนับว่านานทีเดียวพลอยให้ความทรงจำก็ลางเลือนไปด้วย


   ที่น่าสนใจมากในช่วงนี้คือ มี สมช.หลายท่าน ตั้งประเด็นและทั้งยังนำตัวอย่างสมุนไพรหลายหลากมานำเสนอ พลอยให้เกิดความคิดเห็นที่จะกระตือรือร้นหยิบจับเรื่องของสมุนไพรอีกครั้ง มาเป็นประเด็นต่อเนื่อง ทั้งเล่า ขอแบ่งปัน-แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องสมุนไพร ... ที่ขาดไม่ได้คือขอเชิญชวนหลาย ๆ ท่านที่ปลูกต้นไม้จนเป็นป่ากลาย ๆ ซึ่งยิ่งนับว่าเป็นโอกาสอย่างดีที่จะบำรุงรักษาเผ่าพันธุ์ต้นไม้ที่เป็นยาให้ยืนยาวคู่บ้านเมืองต่อไป


   ตามความเข้าใจแล้ว สมุนไพร นั้น หมายถึง ต้นเล็กต้นน้อยในป่าใหญ่ (สมุน หมายถึง ลูกน้อง, ไพร หมายถึง ป่า ดังนั้น สมุนไพร จึงเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่า อาศัยว่าต้องใช้ร่มของไม้ใหญ่เพื่อให้อยู่รอดได้ และระยะเวลาในการสะสมตัวยาให้ต้นไม้เหล่านี้ก็ยาวนาน มีสิงสาราสัตว์ คอยปกป้องดูแลป่าด้วยจึงไม่ค่อยถูกผู้คนเข้าไปตัดทำลาย) ดังนั้นเมื่อนำมาเป็นตัวยาประกอบเข้าเป็นตำรับก็ทำให้ได้ยาที่มีคุณภาพ ประกอบกับการที่อยู่ในป่าก็ยังไม่เจอสารเคมีอย่างพืชเศรษฐกิจ จึงยิ่งเหมาะควรที่จะนำมาเป็นตัวยารักษา


   เมื่อไปค้นอ่านเจอบางตำราก็ว่าสมุนไพรจะรวมถึงไม้ใหญ่ในป่าด้วย พอเห็นเข้าก็ขัดแย้งกับคำว่า สมุนไพร ที่หมายไปถึงลูกน้องป่า ... ก็เลยลองติดตามเรื่องเกี่ยวกับ ยาไทย ๆ ในวิชาเภสัชกรรมโบราณ พูดถึง “ตัวยา” หรือเภสัชวัตถุ ว่าคือ วัตถุนานาชนิดที่นำมาปรุงยาแก้โรคแก้ไข้ ซึ่งแบ่งเป็น พืชวัตถุ สัตว์วัตถุ และธาตุวัตถุ โดยหลักการจำแนกที่ว่า พืชวัตถุ ได้แก่ พืชพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้เถา-เครือ ไม้ลงหัว ผักและหญ้า ยิ่งอ่านก็ยิ่งเข้าใจมั่นใจมากขึ้นได้ว่า สมุนไพรหรือลูกน้องป่าน่าจะถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของ"พืชวัตถุ"นั่นเอง ส่วนต่าง ๆ (ใบ ดอก ราก เปลือก แก่น ฯลฯ)ของต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่มีตัวยา ก็เป็นส่วนของ"พืชวัตถุ"ที่จะนำมาประกอบปรุงเป็นตำรับยา


... ถ้าเรามาช่วยกันเติมต้นไม้เล็ก ๆ ทั้งไม้เถา-เครือ ไม้ลงหัว ผักและหญ้า ให้เป็นลูกสมุนของ”ป่า”ในบ้าน หรือว่าได้ขยายอาณาเขตสู่ป่าใหญ่ วันข้างหน้าจักได้นำมาเป็น “พืชวัตถุ” ที่จะนำไปปรุงเป็นตำรับยารักษาโรคแก้ไข้ มอบไว้ให้แก่ลูกหลานและอนุชนรุ่นหลัง ... และเพื่อมุ่งสู่เส้นทางเดินเข้าสู่ความพอเพียงที่พึ่งตัวเองได้ในปัจจัยสี่อย่างเต็มสมบูรณ์ทั้ง อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และ “ยารักษาโรค” โดยเฉพาะอย่างยิ่งลางบอกเหตุในยุคที่ข้าวเริ่มยากหมากเริ่มแพง ข่าวภัยพิบัติรอบตัวมีให้อ่านกันทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเศรษฐกิจ  เราก็มี"ยา"ที่ไม่ต้องเสียดุลเศรษฐกิจให้ต่างชาติออกนอกประเทศจนมากเกินไป...มาเริ่มต้นกันเถอะ ...


 

ความเห็น

ต้องขอขอบคุณมากเลยค่ะ คุณจันทร์ปราง จริง ๆ ด้วยสิคะ การเรียนรู้ร่วมกัน ไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน ก็ไม่เหนื่อยมาก และเหมือนมีเพื่อนบุกน้ำลุยไฟด้วยกัน ขอบคุณมากอีกครั้งนะคะ

มีนิทานเรื่องนึง เล่าย่อๆๆนะคะ ลูกศิษย์ที่เรียนวิชาหมอสมุนไพร

ไปถามอาจารย์ว่า เมื่อไหร่จะเรียนจบสักที

อาจารย์บอกว่าให้เข้าป่าไปหาต้นไม้มาสามชนิดที่ใช้เป็นยาไม่ได้มา

ถ้าหาได้ครบจะเรียนจบ ผ่านไปเจ็ดวัน ลูกศิษย์ กลับมาบอกอาจาร์ยว่า

สงสัยตนคงจะเรียนไม่จบแน่ๆๆ เพราะยังหาไม่ได้เลยสักต้น

อาจารย์เลยบอกลูกศิษย์ว่า..บัดนี้เจ้าได้เรียนจบแล้ว...

ขอบคุณเรื่องเล่าดี ๆ ดีมากด้วยค่ะ อ่านอีกรอบก็อมยิ้มไปด้วย ... ทุกอย่างเป็นยาไปหมดนะคะ

ศิษย์คนนั้นคือ บรมครูชีวกโกมารภัจจ์ ค่ะ

e-mail. puangpech_@hotmail.com

 

ขอบคุณมากค่ะ กับคำเฉลยนี้

ขอบคุณสำหรับข้อมูลคะ ถ้าเรายังไม่มีเยอะเราก็สะสมแบบค่อยเป็นค่อยไปก็เีเหมือนดีกันนะคะ :cheer3:

    

 

ขอบคุณค่ะ ดีเลย ได้เป็นกำลังใจกันปลูกสะสมกันไปอย่างต่อเนื่องเลยนะคะ

เป็นแนวคิดที่ดีครับ ผมก็เป็นอักคนหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่งของสมุนไพรครับ  ตอนนี้ผมก็กำลังมาสร้างสวนสมุนไพรเล็กๆ และกำลังศึกษาทางด้านสมุนไพรครับ (ถ้าได้ศึกษาทางด้านแพทย์แผนไทยควบคู่กันไปน่าจะดีมากเลยครับ)


 

ขอบคุณมากในข้อคิดเห็นที่แบ่งปันค่ะคุณอดุลย์ ต้องถือว่าเป็นข่าวดีมาก ๆ ที่ได้รู้จัก สมช.ผู้มีแนวคิด-ลงมือรวบรวมปลูกสมุนไพรไว้แล้ว เห็นด้วยกับคุณอดุลย์ว่าหากได้เรียนเรื่องการแพทย์แผนไทยควบคู่ไปด้วยก็จะดีทีเดียว ถือว่าเป็นการรู้ทั้งแผนที่ลายแทงและลงมือปฏิบัติสู่ขุมทรัพย์ทางภูมิปัญญาไทย ๆ เลยนะคะ คุณอดุลย์


อยากขออนุญาตตั้งข้อสังเกตการใช้สมุนไพรไทยว่า หากนำสมุนไพรหลาย ๆ ตัว มาใช้รวมเข้ากับพืชวัตถุตัวอื่น สัตว์วัตถุ หรือว่าธาตุวัตถุ อื่น ๆ เพื่อปรุงเป็นตำรับยา ก็น่าจะเป็นข้อดีมากและตรงกับการรักษาแบบไทยที่ปรุงยาเป็นตำรับ(คำว่าตำรับเลยมีอิทธิพลกับอาหารที่กินกันทุกวันเลยนะคะ คงจะมองกันว่าอาหารก็คือยา และยาก็คืออาหาร)... ดีใจค่ะ ที่เมืองไทยมีท่านผู้ริเริ่มนำเรื่องสมุนไพรมาใช้ และเป็นจุดเริ่มให้สนใจยาไทยกันมากขึ้น แต่อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ น่าจะมีความเข้าใจที่ยังไม่ลงตัวอยู่ด้วยนะคะ จึงได้มีการนำสมุนไพรไปใช้คล้าย ๆ หลักการรักษาของตะวันตก(ซึ่งลงลึกในเรื่องการวิเคราะห์และรักษาในแนวลึก เช่น ระดับเซลล์ หรือการฆ่าเชื้อโรค อะไรทำนองนี้ เป็นต้น) ซึ่งเป็นเรื่องต่างจากการรักษาไทย อินเดีย จีน ที่เป็นการรักษาแบบตะวันออก(ตามความเข้าใจแล้ว ทางตะวันออกมองภาพการรักษาในเรื่องขององค์รวม ดิน น้ำ ลม ไฟ)


ต้องเรียนว่าส่วนตัวเองกำลังสนใจทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นน่ะค่ะ และเท่าที่ทราบทางกระทรวงสาธารณสุขของไทย มีสถาบันการแพทย์แผนไทยซึ่งน่าจะมีการจัดอบรมการแพทย์แผนไทยเป็นระยะ แต่หากว่า อยู่ในถิ่นที่มีหมอพื้นบ้านท่านที่เป็นผู้ชำนาญในการปฏิบัติและได้เรียนรู้การแพทย์ไทยหรือเดิมเรียกว่าการแพทย์แผนโบราณนี้ถือว่าโชคดีเป็นอย่างยิ่ง วิชาที่ท่านได้มาจากประสบการณ์ที่ท่านรับถ่ายทอดมาและสั่งสมมาตลอดอายุขัยของท่านเลยนะคะ


ต้องขออภัยหากว่าการตอบนี้จะเยิ่นเย้อพลอยทำให้ยากแก่การเข้าใจไป


ขอขอบคุณคุณอดุลย์อีกครั้งค่ะ


 

ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลดีๆครับ สนับสนุนครับ


หน้า