บอกต่อ : ต้นไม้ผลในสภาวะถูกน้ำท่วมขัง และแนวทางแก้ไข

ไปค้นเจอข้อมูลเก่าสมัยน้ำท่วมปี 38 ของอาจารย์ ดร.รวี เสรฐภักดี จาก http://www.ku.ac.th/flood/chap2.html จึงขออนญาตเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้ง

     ในช่วงระหว่างปี 2538 และต่อเนื่องมาจนถึงปี 2539 นี้ ภาคการเกษตรของประเทศไทยได้ประสบกับภาวะน้ำท่วมขังพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง และเป็นบริเวณกว้างในทุกภาค ผลกระทบนี้ได้ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่เกษตรโดยตรง และต่อเนื่องถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมของทั้งประเทศ การลงทุนในภาคการเกษตรโดยเฉพาะด้านของการทำสวนไม้ผลนั้น จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก และยังใช้ระยะเวลาหลายปีก่อนที่จะถึงจุดเสมอตัว (breakeven point) หรือจุดสมดุล ความจริงแล้วปัญหาของอุทกภัยที่มีต่อสวนไม้ผลได้เกิดขึ้นแล้วในอดีตไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมของปี 2533 ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่ย่านรังสิต (เขตจังหวัดปทุมธานี นครนายก อยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพมหานคร) อันเป็นแหล่งผลิตส้มเขียวหวานที่สำคัญของประเทศ ชาวสวนได้สูญเสียต้นไม้ ทรัพย์สินต่าง ๆ ไปอย่างมากมาย แม้ว่าอุทกภัยในช่วงปีดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวงค่อนข้างจำกัด แต่ก็ได้ผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียของภาคการเกษตรในช่วงปี 2538 และที่กำลังประสบอยู่ในปัจจุบันนี้ มีพื้นที่กว้างขวางกว่ากันอย่างมาก

     ดังนั้นจึงได้จัดทำเอกสารฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องได้ศึกษาเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังประสบ อยู่ในปัจจุบัน และใช้สำหรับวางแผนเพื่อเตรียมป้องกันปัญหาของสภาพน้ำท่วมขังที่อันอาจเกิด ขึ้นได้อีกในอนาคต ให้ได้ประสิทธิผลสูงที่สุดสำหรับชาวสวนไม้ผลและประเทศสืบไป เอกสารนี้จักได้แนะนำให้ทราบถึงธรรมชาติการเจริญเติบโตของต้นไม้ผล รวมทั้งอาการของต้นไม้ที่แสดงออก หรือตอบสนองเมื่ออยู่ในสภาพของน้ำท่วมขัง ตลอดจนถึงแนวทางการแก้ไขเป็นลำดับต่อเนื่องเพื่อที่จะได้เข้าใจถึงปัญหานี้ ได้ดียิ่งขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนยอดแลระบบรากของต้นไม้ผล

     ในธรรมชาติหากพิจารณาแล้ว ต้นไม้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ ส่วนที่อยู่เหนือผิวดิน ซึ่งประกอบไปด้วย ลำต้น กิ่ง ใบ ดอก ผล และเมล็ด และ ส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน อันได้แก่ ระบบรากทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งรากแก้ว รากแขนง และรากขนอ่อน สิ่งที่ต้องการย้ำในที่นี้คือ ทั้ง 2 ส่วนนี้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างแนบแน่น ซึ่งก็หมายความว่า ทั้ง 2 ส่วนนี้จะต้องเกาะติดกันไปตลอดเวลา เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดได้รับผลกระทบอีกส่วนก็ย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อทำการตัดเอากิ่งออกไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นการไปลดพื้นที่ในการสร้างอาหาร (ต้นไม้สร้างอาหารจากการสังเคราะห์แสงจากส่วนที่มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ที่ใบ) ปริมาณอาหารที่สร้างได้จึงลดน้อยลง ระบบรากไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ต้องอาศัยจากส่วนของใบส่งอาหารที่สร้างได้มาเลี้ยง ดังนั้น รากส่วนหนึ่งก็จะตายไปหรือลดการเจริญเติบโตลงเนื่องจากปริมาณอาหารลดน้อยลง ในทางกลับกัน ส่วนใบนั้นต้องการน้ำและแร่ธาตุ ซึ่งส่งมาจากการหาอาหารของระบบรากที่อยู่ใต้ดิน หากระบบรากที่ได้รับผลกระทบ เช่น ถูกตัดรากออกไปบางส่วน หรือรากใหญ่ถูกตัดขาดออกไป จึงทำให้การดูดดึงปริมาณน้ำและแร่ธาตุลดลง และไม่เพียงพอต่อใบทั้งหมดที่มีอยู่ ในบางส่วนอาจเหี่ยวเฉาหรือหลุดร่วงไป หากในช่วงนี้มีดอกหรือผลอ่อนก็มักจะหลุดร่วงไปด้วย อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของทั้งส่วนยอดและระบบรากนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันในเวลาเดียว ทั้งนี้ ทั้งส่วนยอดและรากต่างก็ต้องการใช้อาหารที่สังเคราะห์ได้จากใบที่เพสลาด (ใบที่โตเต็มที่) เท่านั้น ต้นไม้ไม่สามารถสร้างอาหารขึ้นมาได้ทันสำหรับส่วนทั้งสองในเวลาเดียวกัน ดังนั้นในสภาพธรรมชาติ หากเมื่อใดมีการผลิยอดอ่อน ระบบรากจะชะลอการเจริญเติบโตลงจนกว่า ใบอ่อนนั้นจะคลี่เต็มที่ และเข้าสู่ระยะใบเพสลาดแล้ว จึงจะมีอาหารเหลือส่งมาเลี้ยงยังส่วนรากเพื่อที่สร้างรากใหม่ขึ้นมา โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสลับกันตลอดช่วงของการเจริญเติบโตในรอบปี ซึ่งในหลักการดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างส่วนที่ทำหน้าที่สร้างอาหาร (source) ซึ่งในต้นไม้คือใบที่เพสลาดและได้รับแสงอย่างพอเพียงกับส่วนที่ทำหน้าที่ใช้อาหาร (sink) คือใบอ่อน การออกดอก ผลอ่อน ผลแก่ ใบที่หมดอายุ ใบที่อยู่ในที่ร่มได้รับแสงไม่เพียงพอและส่วนราก โดยที่ในต้นไม้จะมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ส่วนนี้ (source-sink interrelationship) ตลอดเวลา

สภาวะของต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขัง

ต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังจะแสดงอาการตอบสนองทางสรีรวิทยาที่คล้ายคลึงกัน อาการเหล่านี้อาจเป็นเครื่องชี้บ่งความสามารถอยู่รอดในสภาพดังกล่าวได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ต่างก็เป็นผลกระทบต่อต้นไม้ และก่อให้เกิดความเสียหายไม่มากก็น้อยตามแต่ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ชนิดของไม้ผล ความแข็งแรงของต้นไม้ สภาพของน้ำที่ท่วมขัง (น้ำนิ่ง น้ำไหล หรือน้ำเน่า) ชนิดของดินที่ปลูก แสงแดด อุณหภูมิ ลม ฯลฯ สำหรับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับต้นไม้ผลในสภาพที่ถูกน้ำท่วมขัง อาจจำแนกเป็นหัวข้อได้ดังต่อไปนี้
1. ระบบรากขาดออกซิเจน ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ระบบรากนั้นมีการเจริญเติบโตและเป็นสิ่งมีชีวิต จึงจำเป็นต้องการอากาศโดยเฉพาะออกซิเจนสำหรับการหายใจในการที่จะสร้างพลังงานขึ้นมา เพื่อใช้ดูดน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ที่อยู่เหนือพื้นดิน เมื่อเกิดสภาวะน้ำท่วมขังขึ้น น้ำจะแทรกซึมเข้าไปตามช่องว่างของอากาศที่มีอยู่ในดิน และเข้าแทนที่ช่องว่างเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว ในสภาพธรรมชาตินั้น ช่องว่างเหล่านี้มีอยู่ค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ต้องการออกซิเจนเช่นกัน จึงทำให้ส่วนของระบบรากนั้น ขาด แคลนก๊าซออกซิเจนอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ในธรรมชาติรากต้นไม้อาจเปลี่ยนกลไกไปใช้ระบบการหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic respiration) หรือที่เรียกว่าเป็นการหมัก (fermentation) ขึ้นแทน แต่พลังงานที่ได้จากวิธีการหายใจแบบนี้มีอยู่ต่ำมาก นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดสารที่เป็นผลพลอยได้ซึ่งเป็นพิษกับต้นไม้ เช่น เอทธานอล (ethanol) และกรดแลคติก (lactic acid) อีกด้วย พืชจึงไม่สามารถที่จะอยู่ในสภาพนี้ได้นานพอ ดังนั้น ความอยู่รอดของต้นไม้ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะของการขาดออกซิเจนนี้ เป็นสิ่งสำคัญ


จากคำศัพท์ที่ใช้ข้างต้นนี้คือคำว่า น้ำท่วมขัง อาจจำแนกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกันคือคำว่า น้ำท่วม (flooding) ซึ่งหมายถึงสภาพของระดับน้ำที่ไหลบ่ามาตามผิวดินและซึมลงสู่ใต้ดินโดยที่ สามารถสังเกตได้จากระดับน้ำนั้นปรากฏอยู่สูงจากผิวดิน ส่วนคำว่า น้ำขัง (waterlogging) หมายถึงส่วนของดินที่ระบบรากเจริญเติบโตอยู่นั้นอิ่มตัวด้วยน้ำตลอดเวลา ไม่สามารถระบายออกได้ ซึ่งอาจเกิดเนื่องมาจากระดับน้ำใต้ดิน (water table) สูงหรือตื้น โครงสร้างดินมีลักษณะเหนียว ทำให้มีการระบายน้ำที่เลว ซึ่งลักษณะนี้หากไม่สังเกตให้ดีจะไม่สามารถตรวจพบสาเหตุได้ เนื่องจากไม่ปรากฏมีน้ำอยู่เหนือผิวดิน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ลักษณะต่างก็ก่อให้เกิดผลเสียคล้ายคลึงกัน คือระบบรากขาดแคลนออกซิเจน สำหรับลักษณะของต้นไม้ที่มีอาการของน้ำขังนั้นอาจพบต้นไม้ไม่ค่อยมีการเจริญเติบโตหรือช้ามาก หรือมีอาการใบเหลือง
3. อาการทิ้งใบ ดอก และผล ระบบรากต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังนี้จะก่อให้เกิด สภาวะเครียด (stress) ขึ้น ความเครียดนี้จะส่งผลให้ต้นไม้มีการกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนเอทธิลีน (ethylene) ในปริมาณที่สูงกว่าปกติอย่างมาก ผลที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนคือ การทิ้งส่วนสืบพันธุ์ (ในที่นี้คือ ดอกและผล) ก่อน โดยอาการหลุดร่วงนี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว และรุนแรงจนหมดหรือเกือบหมดต้น สำหรับการทิ้งใบนั้นมักพบในส่วนใบที่มีอายุมากกว่าใบที่อ่อนกว่า โดยสังเกตได้จากใบที่อยู่ทางส่วนล่างของกิ่งกระจายไปทุกบริเวณของต้น ส่วนต้นที่อ่อนแออาจเนื่องมาจากชาวสวนปล่อยให้ต้นมีการติดผลอย่างมาก หรือต้นถูกโรคและแมลงเข้าทำลายมาก่อนหน้านี้ จะพบอาการทิ้งใบอย่างรุนแรงทั่วทั้งต้น เช่น มะนาว ส้มเขียวหวาน ทุเรียน หรือกระท้อน อย่างไรก็ตาม ไม้ผลบางอย่างอาจไม่แสดงอาการทิ้งใบ แต่จะยืนต้นตายทั้งที่มีใบอยู่เต็มต้น เช่น มะม่วง
4. การสร้างรูเปิด รูเปิด (lenticel formation) นี้ โดยปกติจะพบในส่วนของเปลือก ลำต้นที่มีอายุมากเพื่อใช้สำหรับในการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างภายในและภายนอก ลำต้นได้ตลอดเวลา อย่างถาวรโดยปราศจากกลไกการควบคุมของปากใบ (stomata) ในสภาวะของต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขังนั้น ระบบรากของต้นไม้ได้รับผลกระทบโดยอยู่ในสภาพที่ขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง การอยู่รอดของต้นไม้นอกจากกลไกอื่นแล้ว ในทางหนึ่งได้แก่ความสามารถในการที่จะนำอากาศหรือออกซิเจนให้ไปสู่ส่วนของ ระบบรากให้ได้เร็วที่สุด บริเวณส่วนที่จะพบมีการสร้างรูเปิดนี้มักอยู่ ณ ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือผิวน้ำที่ท่วมขังขึ้นมาเพียงเล็กน้อย อันเป็นส่วนที่ใกล้ที่สุด จะนำอากาศไปสู่ระบบราก หากต้นไม้สามารถที่จะสร้างรูเปิดนี้ได้เร็ว ก็จะมีโอกาสอยู่รอดได้สูงกว่า นอกจากนี้ ส่วนของเนื้อเยื่อภายในลำต้นที่เชื่อมต่อกับส่วนราก ต้นไม้ยังได้มีการจัดสร้างหรือขยายให้เป็นช่องขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการส่งผ่านอากาศไปตามช่องว่างนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาแทรกซึมผ่านเซลล์ลงไป ต้นไม้ที่ปรับตัวเร็วจะพบว่ามีความสามารถสร้างส่วนของรูเปิดนี้ภายในระยะ เวลาเพียง 12-24 ชั่วโมงภายหลังจากถูกน้ำท่วมขัง
5. อาการตอบสนองอื่น ๆ ทางสรีรวิทยาที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช ต้นไม้เมื่อประสบกับสภาวะน้ำท่วมขังจะส่งผลให้ระบบรากมีอาการขาดออกซิเจนค่อนข้างรุนแรงหรือกระทันหัน รากไม่สามารถหายใจได้ จึงดูดน้ำและแร่ธาตุส่งไปเลี้ยงส่วนใบได้ในวงจำกัด เมื่อใบได้รับน้ำน้อยลง การที่ใบจะยังรักษาสภาพของตนเองให้คงอยู่ได้นั้น จำเป็นจะต้องลดการคายน้ำเพื่อมิให้ใบเหี่ยวตายได้ กลไกดังกล่าวจึงอยู่ที่ส่วนของเซลล์ปากใบที่จะทำหน้าที่นี้ โดยวิธีการลดขนาดของปากใบลงหรือการปิดส่วนปากใบนี้ ทำให้การคายน้ำลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปิดปากใบจะสามารถช่วยลดการสูญเสียน้ำได้เป็นอย่างดียิ่ง แต่ผลกระทบที่มีต่อการสังเคราะห์แสงย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อปากใบปิดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซจะถูกจำกัด ทำให้ปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ในกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารของต้นไม้ก็ถูกปิดกั้นลงด้วย อัตราการสังเคราะห์แสงจึงลดต่ำลง ส่งผลให้อาหารที่สร้างได้ก็ลดลง และตามมาด้วยการเจริญเติบโตของต้นไม้ผลก็ชะลอหรือชะงักงันด้วย

การแก้ไขปัญหาของต้นไม้ในขณะที่ถูกน้ำท่วมขังอยู่

หากต้นไม้ยังไม่แสดงอาการทิ้งใบ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถจะช่วยกู้สวนได้ ให้ทำการเสริมคันดินให้แข็งแรงและเร่งรีบสูบน้ำออกจากพื้นที่สวนให้ลดลงสู่ระดับปกติให้เร็วที่สดุเท่าที่จะเร็วได้ (ข้อควรระวัง : เมื่อระดับน้ำลดแล้ว แต่ดินยังเปียกหรือหมาดอยู่ ห้ามเดินย่ำผิวดินโดยเด็ดขาด เนื่องจากดินรอบระบบรากยังอิ่มตัวด้วยน้ำ ระบบรากของต้นไม้ซึ่งได้รับความบอบช้ำมาก่อนแล้ว จะได้รับความกระทบกระเทือนมากขึ้นและต้นตายได้โดยง่าย ควรปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2 วันให้หน้าดินแห้งก่อน ในระยะนี้อาจใช้เครื่องเติมอากาศลงสู่ดินก็จะเป็นการช่วยเร่งให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น และยังเป็นการช่วยไล่น้ำที่ยังคงค้างอยู่ในดินให้ระบายออกไปเร็วมากขึ้น เนื่องจากในระยะนี้ระบบรากของต้นไม้ได้เสียหายไปเกือบหมดแล้ว โอกาสที่ต้นไม้จะสร้างรากใหม่ขึ้นมาเพื่อเลี้ยงส่วนต้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และอาจไม่ทันกับเหตุการณ์ได้ ในขณะที่ส่วนใบยังคงสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ ดังนั้นในระยะหลังน้ำลดแล้ว ให้ใช้ปุ๋ยทางใบในอัตราส่วนของ N-P-K ประมาณ 1.2-1.5:1:1 (เช่น 15-10-10 หรือ 25-20-20 หรือสูตรใกล้เคียงกัน) รวมทั้งธาตุอาหารอื่น ๆ เช่น แมกนีเซียม (Mg) สังกะสี (Zn) และธาตุอาหารย่อย ผสมกับน้ำตาลทรายขาว 1% (น้ำตาล 200 กรัมผสมกับน้ำ 20 ลิตร) และสารป้องกันกำจัดเชื้อรา (เนื่องจากใช้น้ำตาล) ทำการฉีดพ่นให้กับต้นไม้ผล 2-3 ครั้ง ห่างกันประมาณ 3 วัน/ครั้ง เพื่อฟื้นคืนสภาพต้นโดยเร็ว สิ่งซึ่งจะเป็นตัวชี้บ่งถึงความสามารถในการฟื้นตัว หรืออยู่รอดของต้นไม้นั้น คือมีการผลิใบอ่อนขึ้นมาใหม่ และสามารถอยู่จนกระทั่งใบเพสลาด อันแสดงผลว่า ระบบรากสามารถทำงานได้ตามปกติแล้ว ใบอ่อนชุดนี้จำเป็นที่จะต้องรักษาให้มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด เพื่อใช้เป็นรากฐานของการกลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติ หากมีการออกดอกและติดผลตามมา ขอให้กำจัดออกตั้งแต่ในระยะดอกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ (ขนาดดอกเล็กที่สุดที่สามารถปฏิบัติได้) เพื่อรักษาต้นแม่เอาไว้

การแก้ไขปัญหาส่วนไม้ผลที่ต้องปล่อยให้มีน้ำท่วมขัง

เนื่องจากมีสวนไม้ผลบางพื้นที่เมื่อถูกน้ำท่วมขังแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะทำการเสริมคันดินได้ จำเป็นจะต้องปล่อยให้มีน้ำท่วมขังอยู่จนกว่าน้ำจะลด ในสภาวการณ์เช่นนี้ หากปล่อยไว้คงไม่มีโอกาสรักษาต้นไม้ผลอันมีค่าได้ ทางหนึ่งที่จะสามารถใช้เป็นเครื่องประทังไปได้นั้นคือ อาศัยหลักการเช่นเดียวกับการปลูกพืชในน้ำยา ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้เครื่องอัดอากาศให้ออกซิเจนละลายในน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ส่วนรากสามารถหายใจได้ การช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในสภาพสวนไม้ผลจริง อาจทำได้โดยการพ่นอากาศลงในน้ำหรือใช้เครื่องยนต์ที่มีกังหันน้ำหรือตีน้ำ ให้น้ำที่ท่วมขังมีการเคลื่อนไหวถ่ายเทหรือหมุนเวียน ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้ละลายในน้ำที่ท่วมขังอยู่ได้มากขึ้น และรากต้นไม้สามารถนำไปใช้ได้จนกว่าน้ำลด ภายหลังจากน้ำลดแล้วก็ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีที่ใช้กู้สวนได้

ความหมายของต้นไม้ผลในสภาวะที่ถูกน้ำท่วมขัง

ความสามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมขังของไม้ผลขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจสรุปและแบ่งแยกเป็นเรื่องได้ดังนี้
1. ชนิดของไม้ผล จากการทดลองที่ได้ศึกษามาในไม้ผลบางชนิดอาจสรุปได้เป็น 3 กลุ่ม
    1) อ่อนแออย่างมาก ต้นไม้ผลอาจตายภายหลังจากน้ำท่วมขังเพียง 24 ชั่วโมง ได้แก่ มะละกอ จำปาดะ
    2) อ่อนแอ ต้นไม้ผลอาจทนอยู่ได้ระหว่าง 3-5 วัน เช่น กล้วย ส้มเขียวหวาน ทุเรียน มะม่วงกะล่อน มะนาว ขนุน
    3) ทนทานได้เล็กน้อย ต้นไม้ผลอาจสามารถทนอยู่ได้ระหว่าง 7-15 วัน เช่น ชมพู่ พุทรา ละมุด มะขาม มะพร้าว
หมายเหตุ
การจัดแบ่งกลุ่มตามข้างบนนี้ บางสวนได้จากงานทดลอง บางส่วนนั้นได้จากข้อสังเกต และประสบการณ์ของผู้เขียนยังไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัวหรือเด่นชัดที่จะชี้ได้อย่างชัดเจน จึงยังมีความแปรปรวนที่สูงมาก นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ยังเป็นตัวแปรและมีปฏิกิริยาร่วมได้เป็นอย่างมาก
2. สภาพของน้ำที่ท่วมขัง สภาพของน้ำท่วมขังหากเป็นน้ำไหล ต้นไม้ผลมีโอกาสได้รับออกซิเจนที่ละลายมา ทำให้ระบบรากสามารถนำไปใช้ได้ หากน้ำที่ท่วมขังเป็นน้ำนิ่งและเน่า ก็จะช่วยลดความอยู่รอดของต้นไม้ให้สั้นลงได้มากขึ้น
3. สภาพความสมบูรณ์ของต้นไม้ ต้นไม้ผลที่ไม่มีการติดผล หรือได้รับการดูแลรักษาจากเกษตรกรเป็นอย่างดี จะมีอาหารสะสมอยู่มาก แม้ประสบกับสภาวะน้ำท่วมขังก็ยังทนอยู่ได้นานกว่า หากเป็นต้นไม้ที่มีการให้ผลผลิตที่สูงมากมาก่อน หรือมีการติดผลในระยะใกล้เก็บเกี่ยว อาหารสะสมภายในต้นจะเหลือน้อยลง สภาพต้นจะอ่อนแออย่างมากและตายได้โดยง่าย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในปี 2533 สวนส้มในย่านรังสิตในสวนที่ 1 ภายหลังจากน้ำท่วมขังได้เพียง 4 วัน เกิดอาการใบร่วงในทุกต้นจนหมดต้นโดยเริ่มร่วงตั้งแต่วันที่ 3 ในขณะที่อีกสวนหนึ่งสามารถกู้สวนได้ภายหลังจากน้ำท่วมไปแล้ว 6 วัน ไม่ปรากฎอาการต้นตายเลย (ยกเว้น 1 ต้นที่ดินถูกเหยียบย้ำขณะที่เปียกแฉะ) ต้นไม้ผลที่อยู่ในระยะผลิใบอ่อนโดยเฉพาะในระยะในพวงจะมีสภาพที่อ่อนแออย่างมาก ส่วนต้นที่ผลิเป็นยอดอ่อนก่อนใบคลี่ส่วนยอดอ่อนมักตายหมด สำหรับต้นที่ไม่มีใบอ่อนเลยจะทนทานมากที่สุด ปรากฎการณ์นี้ได้จากประสบการณ์ในลิ้นจี่พันธุ์ค่อมที่ประสบภัยสภาวะน้ำท่วมที่พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ช่วงระหว่างตุลาคม-พฤศจิกายน 2539 ที่ผ่านมานี้
4. อายุหรือขนาดต้นไม้ผล ต้นไม้ที่มีขนาดเล็กกว่าย่อมมีระบบรากที่เล็กกว่า ความทนทานจึงสู้ต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่าหรืออายุมากกว่าไม่ได้
5. ระดับความสูงของน้ำที่ท่วมขัง หากระดับน้ำที่ท่วมขังนั้นสูงมาก จนท่วมกิ่งและใบหรือพุ่มต้นแล้ว โอกาสที่จะอยู่รอดจะน้อยมาก ในขณะเดียวกัน ถ้าระดับน้ำอยู่เพียงแค่เหนือดิน โอกาสที่ระบบรากจะได้รับออกซิเจนจะง่ายกว่า และใกล้กว่าในสภาพน้ำลึก
6. ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่ท่วมขัง ความอ่อนแอของต้นไม้จะมีมากขึ้น หากได้รับการท่วมขังระยะเวลาสั้น ๆ แต่ถูกท่วมซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เช่น ต้นไม้ต้นหนึ่ง หากถูกท่วมขังต่อเนื่อง อาจสามารถทนได้นานกว่า 10 วัน แต่ต้นเดียวกันหากถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลา 5 วันแล้วระบายน้ำออกไป 15 วัน โดยเกิดน้ำท่วมขังซ้ำอีกครั้งเป็นระยะเวลา 3 วัน ต้นไม้นี้จะอ่อนแอกว่า เนื่องจากภายหลังจากถูน้ำท่วมในครั้งแรกแล้วยังอยู่ในระหว่างการฟื้นคืนชีพซึ่งยังไม่เต็มที่แล้วถูกซ้ำอีก
7. อุณหภูมิ หากมีอากาศร้อนจัด จะเพิ่มความรุนแรงของความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมขังของต้นไม้มากยิ่งขึ้น
8. ลม ในขณะที่ต้นไม้ผลถูกน้ำท่วมขังอยู่และมีลมพัดจัด ส่งผลให้ระบบรากคลอนและต้นโยก ต้นไม้จึงมีโอกาสตายได้ง่ายขึ้น


ข้อเตือน ต้นไม้ผลที่อยู่ในสภาวะของน้ำท่วมขัง ไม่ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นหรือยาว ก็ย่อมเป็นผลเสียหายต่อต้นไม้ผลทั้งสิ้น พืชแต่ละชนิดหรือแม้ว่าเป็นชนิดเดียวกันหรือพันธุ์เดียวกันก็ตาม ความสามารถทนต่อสภาพถูกน้ำท่วมขังก็ย่อมแตกต่างกันออกไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายหลากชนิดด้วยกัน อีกทั้งยังมีปฏิกิริยาร่วมระหว่างปัจจัยเหล่านั้นด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆครับพี่


ขอบคุณมากมายค่ะ มีประโยชน์สำหรับมนมากๆ

แรงกาย+แรงใจ ลงมือทำในวันนี้ เพื่อชีวิตที่พอเพียง

คุณธีร์ ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ Bookmark ไว้แล้วจ้า....