ตัวอร่อยดี ... ขี้เลิศกว่า ?

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    ลงใต้  ครานี้มีห้วงเวลาหนึ่ง ฝนหนักติดต่อกัน 3 – 4 วัน มี Impeller  มาปรากฏอยู่เบื้องหน้า ... จะ ... จะ

    อดีตสัญญา วิ่งวูบเข้ามา เขย่าสมองหน่วยความจำ ของข้าพเจ้า อย่างจัง ...

       สิ่งที่จะเห็นต่อไปนี้ ใครจะเรียกขานกันอย่างไร ไม่ขัดของครับ ... แต่ข้าพเจ้ารู้จักเขามา ตั้งแต่อ้อน แต่ออก ว่า ...

 

 

 

 

    ... “ปลาหุด” 

    ก็ที่เห็นในกะละมังนี้แหละครับ

 

 

 

 

 

 

 

    เอ้า .... ดึงภาพเข้ามาดูใกล้ ๆ ...

 

 

 

 

    ปาดท้อง ! ... (หวาดเสียวไหม? ...) ต้องขออภัยที่ไม่ได้เบลอภาพ ... ด้วยเจตนาให้เห็นไส้ ที่บ้านข้าพเจ้า เรียกว่า “ขี้ปลาหุด”

    ย้ำ ... “ขี้ปลา” ... นะขอรับ มิใช่ “ไตปลา”

 

 

 

 

 

 

    อันว่า “ตัวปลาหุด” ที่ปรากฏต่อสายตาของท่าน ข้างบนนั้น เขาขายกัน กิโลกรัมละ 300 บาท – 400 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด และ เพศ

    ส่วน “ขี้ปลาหุด” ที่หมักเกลือจนได้ที่แล้ว ... บรรจุลงกระปุกพลาสติก ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร สูง 6 เซนติเมตร ... ท่านลองทายเล่น ๆ ซีครับ ว่า

       “เขาขายกัน กระปุกละ กี่สตางค์ ?”

            เอ้า ... ตอบเสร็จรึยัง ...?

    เฉลย ละนะ ....

        “กระปุกละ 30,000 ย้ำด้วยการเขียนเป็นตัวอักษรว่า (สามหมื่นถ้วน) .... แต่หน่วย เป็น “สตางค์” ... คราบ ... ฮุ ๆ ๆ ๆ ....

         ก็ 300 บาท ครับ ... ราคานี้ ผู้ซื้อแย่งกันอย่างกะแจกฟรี ! .... ก็แกงแล้ว ใครได้ลิ้ม ชิม ลอง .... เป็นต้องขอซ้ำ

    งานในชุมชน ไม่ว่า งานแต่ง งานตาย ... หากมีรายการอาหาร “แกงขี้ปลาหุด” .... ก็จะเห็นภาพการเอาข้าวสุกลงคลุกในรอยแกงก้นหม้อ ทุกงาน Confirm ครับ

    สำหรับตัวปลาหุด เข้ารายการอาหารได้หลาย ๆ รายการ ... ที่ นิยมมากคือ หลังจากล้าง ควักไส้ออกแล้ว ... ห้ามขอดเกล็ด เพราะเป็นส่วนที่เหล่านักชิม ใน TV ตักใส่ปาก ... แล้วต้อง ทำตาประหลับ ประเหลือก ... คราง ... ฮื้อ อ อ อ.... แล้วสาธยาย ตามสไตล์ และรัดดวงของแต่ละคน .... และก็ไม่ต้องล้างซ้ำ แต่...

    ตั้งน้ำ ... ทุบ ขมิ้น หอม กระเทียม ตะไคร้ ... จะโยน หรือจะประคองใส่ลงไปก็ได้ .... ตามด้วยเกลือ ... รอน้ำเดือดพล่าน ... หย่อนปลาตามลงไป หากมีใบมะกรูด ฉีกใส่ลงไปด้วยก็หอมดี ... ไม่มีแกล้งเฉยซะ ก็ไม่เสียหายอะไร

    รอสุก จะเอาไปไหน ก็สุดแท้เหอะ .... แต่ขอบอกว่า อันว่า “ต้มปลาหุด” มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ... ช่วยเจริญอาหาร ดีนักแล ... แต่รำคาญตรงก้างเยอะหน่อยครับ

        คำเตือน ... “ใครหุงข้าวไว้น้อย ๆ ไม่ควรทาน”

     เอาครับ ... เพื่อท่านที่ไม่เคยเห็น “ปลาหุด” จะได้รู้จัก และเห็นภาพชัด ๆ ของปลาหุด เลยเอา ปลาหุดในอิริยาบถ อื่น ๆ มาให้ดู อีกสัก สอง สาม ภาพ

     ภาพข้างล่างนี้ ... อวดหัว ลักษณะจมูก และ สีสัน

           อันว่า ส่วนหัวนี่ ... แกงแล้วแย่ง กันแหละ

 

 

 

 

 

 

       ภาพนี้ ... อวดหน้าท้องขาวผ่อง

        แก้มอวบแดง ... และปากอิ่ม...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    เอ้า ... ดูกันในอิริยาบถ เอียงองค์ บ้าง .... 

     ไม่ใช่บิดขี้เกียจนะนี่ ... ฮึ ๆ ๆ ๆ...

 

 

 

 

 

 

 

     หลายท่านคงสงสัยว่า ... “จับมาได้ไง?”

       วิสัชนา ให้คลายสงสัยว่า ... ชาวบ้านเขาดักด้วยเครื่องมือที่ บ้านข้าพเจ้าเรียกว่า “เล่” ...

    แต่วิธีสร้าง และการจับปลาด้วย “เล่”  คงไม่อาจนำเสนอได้ในบล็อกนี้ ... เพราะนี่ ก็ยาวจนเอียนแล้วครับ

         ... วาระนี้ ขอแค่นี้ นะขอรับ ... 

             สวัสดี ครับ

ความเห็น

เกิดมาก็เพิ่งเีคยเห็นนี่ล่ะ  ปลาหุด  ได้ความรู้ใหม่อีกแล้ว

ส่วนมากมีอยู่แถวจังหวัดไหนเหรอคะ  เผื่อได้มีโอกาศลงใต้  จะไปตามหาปลาหุดบ้าง

   ที่อื่นไม่ทราบครับ แต่ที่เคยเจอ คือ

      บริเวณต้นน้ำ ที่มีแก่งหิน ....ใน จ.สุราษฎร์ฯ เช่น นาสาร คีรีรัฐนิคม และ นครศรีฯ ที่ นบพิตำ

อาจมีท่านที่มีข้อมูลมากกว่านี้ นะครับ

ไม่เคยรู้เลยว่า ขี้ปลาหุด หรอยขนาดนี้ :confused: คราวหน้าได้มาต้องเก็บขี้แล้ว

"ความสุขของชีวิตในวันนี้ คือทำตามวิถีพอเพียงของพ่อ"

   ใส่เกลือให้พอดี ... หากมีตัวเมืยมาด้วย ... รีดไข่ปนลงไปด้วย จะเพิ่มความอร่อยให้ไม่เบา

คิดว่าลุงพะโล้พิมพ์ผิด "ปลาหุด" หรือเป็น "ปลาหด" :uhuhuh: สรรหาของกินจริงๆ พี่น้องผองไทย หนูก็เพิ่งได้รู้จัก" ปลาหุด" จากลุงนี่แหละค่ะ มันเติบโต และอาศัยอยู่แถบไหนของไทยหรือค่ะ? (แอบสงสัย) เผื่อว่าจะได้มีโอกาสไปลองลิ่มชิมบ้าง ให้เป็นบุญปากเน๊อะ! ราคาแพงยิ่งกว่าเนื้อหมูสันในอีก

    บริเวณต้นน้ำ ที่มีแก่งหิน ....ใน จ.สุราษฎร์ฯ เช่น นาสาร คีรีรัฐนิคม และ นครศรีฯ ที่ นบพิตำ ครับ

    ฮึ ๆ ๆ ... ปลาที่แพงกว่า "ปลาหุด" ก็มีนะ !

     ตัวเมีย มีไข่ในท้อง กิโลกรัมละ 400 บาท ถึง ครึ่งพันบาทเชียวละ ... "หมู" ตกท่อไปเลยละ

    อยากรู้ ละซี .... เขาเรียกขานกันว่า .... เอ่น ... เอ้น ....

       "ปลามูแกะ" ครับ

บรรยายได้สมบูรณ์แบบมาก ยังไม่เคยชิมเลยค่ะ เป็นขี้ที่มีมูลค่าเพิ่มจริงๆ

ความพอเพียงจะทำให้ชีวิตมีความสุขแบบยั่งยืน

   จะเรียกว่า "อาหารพื้นถิ่น" ก็น่าจะได้นะครับ ... เลยไม่มีให้ชิมอย่าง Menu ทั่ว ๆ ไป

     ที่แพง เพราะคงมีดีกว่า "ขี้เกียจ" กระมัง ฮึ ๆ ๆ  ....

เดี๋ยวกลับมาอ่านใหม่ค่ะตอนนี้ขอบอกวาคิดถึงคุณลุงนะคะ  ไม่ได้เห็นบล็อกคุณลุงมานานแล้ว สบายดีหรือเปล่าคะ

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

   ขอบคุณมาก ๆ ครับ

      ก็คิดถึง หลาน ๆ ทุกคนเช่นกันแหละ

    สบายตามอัตภาพครับ ... ทุข ... สุข อยู่ที่เราปรุงเองครับ ฮึ ๆ ๆ ...

หน้า