จัดให้ ... เมื่อเขา ... ขอมา

หมวดหมู่ของบล็อก: 

      ท่านที่ รุ่นราวคราวกัน หรือ ไม่ห่างจากข้าพเจ้ามากนัก คงจะย้อนอดีตภาพของทารกวัยกระเตาะ กระแตะ ที่เกาะคอนแขน ซึ่งยื่นปลายข้างหนึ่งออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ แล้วเตาะแตะ วนไปรอบ ๆ ...

      ครับ ! ... ข้าพเจ้ากำลังพูดถึง อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน ของทารก เมื่อสมัย 50 – 60 ปีที่ล่วงแล้ว

       เจ้าอุปกรณ์ที่ว่านี้ ภาษาพื้นถิ่น แถบบ้านข้าพเจ้า เรียกว่า “บอกเวียน” แปลเป็นภาษาไทยกลางว่า  “กระแตเวียน”คนสมัยปัจจุบัน ไม่ว่า จะเป็นคนเมือง หรือชนบท ... “น้อยนัก” ที่ จะเคยได้ยิน ... ดังนั้น จึงป่วยการที่จะพูดถึงการเคยเห็น

       ปัจจุบัน หากมีใครเอ่ยถึงอุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน ของทารก ... รถล้อเลื่อนคัน เล็ก ๆ มีช่องนั่งลักษณะเป็นถุง เจาะชองให้สอดขาทารก ออกไป ตะกายพื้น ... คือ ... มโนภาพ ที่ผุดขึ้นในห้วงความจำ  ของผู้ได้ยิน แทน ภาพกระแตเวียน

      เจ้ารถที่ว่านี้ ราคาค่างวด ไม่แพงนัก สวย ไม่ตกยุค จึงไม่อายที่จะอวดใคร ๆ ที่สำคัญ ... ไม่ต้องนั่งทำให้เมื่อย และเสียเวลา ... ซึ่งต่างขั้วกับ กระแตเวียน อยู่อักโข

       ถึงตอนนี้ คงมีคำถามจากผู้อ่านบางท่าน แล้วซินะ ว่า ...

           ‘แล้วเอามาเขียนทำไม ?’

              อืมมม... นั่นนะซี ... ข้าพเจ้าก็ “งง” ! ....

       แต่ ไหน ๆ เล่าแล้ว ก็ขอเล่าให้จบดีกว่า ... ไม่งั้นเดี๋ยวจะปวดหัวซีกเดียว ฮึ ๆ ๆ ...

               เรื่อง ของเรื่อง คือ ...

       ข้าพเจ้า ลง สุราษฎร์ ฯ ครั้งที่ผ่านมานี้ ด้วย ภารกิจหลัก ที่เล่าไว้ใน “เจ้านี่ รอดมาได้ เพราะ เจ้านั่น” (คลิ๊กดูได้ตรงนี้)

       วันหนึ่ง ... ขณะข้าพเจ้าเทคานใกล้เสร็จ ... บุตรสาวของเพื่อน ซึ่งตั้งบ้านถัดหลังสวนข้าพเจ้าไป อุ้มบุตรวัยหัดเตาะแตะ เข้ามาหา

          “ยุง ๆ ... ทำปอกเวียง ไฮ้ หน่ามอิง อังตะ” ... เธอเอ่ยปากบอกเป็นภาษาไทยถิ่นใต้ อย่างคนสนิทสนม ... ด้วยการพยายามเลียนเสียงพูดทารก  แปลเป็นภาษาไทยกลางได้ว่า ... “ลุง ... ทำ ‘บอกเวียน’ ให้น้ำอิงหัดเดินสักอันเหอะ

       “น้ำอิง” ที่เธอเอ่ยถึง คือชื่อบุตรสาวที่เธออุ้มอยู่นั่นเอง

       “ได้” ข้าพเจ้ารับปากสั้น ๆ โดยยังไม่ละจากงาน  แต่ ... พยักพเยิด กับทารกในอ้อมอกมารดา

       “ว่าง แล้วตาจะทำให้นะ” ... พูดกะทารก ทั้ง ๆ ที่ตระหนักว่า เจ้าหนูยังฟังความไม่รู้ ... แต่เป็นการสื่อแก่มารดาโดยนัย ...

          หลังรับปากผ่านไป 4 วัน ... งานสร้าง กระแตเวียน จึงเริ่ม ....

 

 

 

   กระบอกไม้ไผ่ ที่เหลือจาก การสานตะแกรง ก็ถูกนำมาใช้ เป็น “กระบอกหมุน”  แทนการทิ้งเป็นอาหารปลวก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   กิ่ง “ลองกอง” จากการตัดแต่ง ... ผู้ผ่านรอบคัดเลือก ...  จากกองไม้ที่เตรียมให้มุดเข้าเตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร ดุ้นนี้ ...

   แต่งโฉม ให้เป็น นางงาม ! ... เฮ่ย ! ... ไม่ใช่

    ให้เป็น “ก้านคอนมือจับ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  จากเวที ... อ๊ะ ๆ ๆ ... ผิดอีกแล้ว ...

    จากกองเดียวกัน ... เลือกมากำหนดหน้าที่ เป็น “หลักหมุดแกน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

   ส่วนประกอบ “ทั้งสาม” ผ่าน Course อบรม บ่มนิสัย ....

    พร้อมสรรพ ... เตรียม ! ....

        ประกอบร่าง ... 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  “กระบอกหมุน” & “ก้านคอนมือจับ”  ถูกคลุมถุงชน ... อ๊ะ ๆ ...

    ถูกประกอบเข้าด้วยกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     “หลักหมุดแกน” ถูกปัก แล้วตอก ลงบนอุระ พระแม่ธรณิน !

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  แล้ว ... ทั้งหมด ... ทั้งสิ้น

    ก็มาร่วมสามัคคี ... ทำหน้าที่สู่จุดประสงค์เดียวกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

    รวมเรียก สิ่ง ๆ นั้น ว่า “กระบอกเวียน” (กระแตเวียน)

     “ทารก” ที่ฝึกเดินด้วย กระแตเวียน นอกจากได้ทักษะการเดินแล้ว จะได้ฝึกทักษะการทรงตัว โดยอ้อมกอบด้วยอีกโสดหนึ่ง

          สิ่งของ และ ภูมิปัญญา ก็อาจยังทรงคุณค่า ... ถึงแม้จะเก่า !

    ดูเล็ก ๆ เนาะ ... แต่ ... ยังประโยชน์ สมตัว ... คำนึงแล้ว หันมาสำรวจตัวเอง ...

      แล้ว ... ตัวขนาดเรา ล่ะ ... “ยังประโยชน์สมตัว รึเปล่า”

 

ความเห็น

แค่บทความดี ๆ ที่เขียนให้พวกเราได้อ่าน ได้คิดก็ เกินตัว แล้วค่ะ ขอบคุณที่ช่วยให้รำลึกนะคะ หัดเดินมากับกระแตเวียนเช่นเดียวกันค่ะ

สวัสดีค่ะ ลุงปาโล  ว๊าว ... สุดยอดเลยค่ะ ทิพย์เกิดมายังไม่่เคยเห็นมาก่อนเลยค่ะ ลุงปาโลนี่ฝีมือระดับขั้นเทพเลยนะคะ  ขอบคุณลุงปาโลมากค่ะ ที่นำภูมืปัญญาดีๆๆมาบอกเล่าให้ได้รู้อีกอย่างหนึ่งแล้วที่น่าสนใจมากๆLaughing

ชีวิตที่เรียบง่ายกับความพอใจในสิ่งที่มี

ผมว่า(ว่าเฉยๆนะครับ)ลุงน่าจะเอาภาพที่เด็กกำลังใช้บอกเวียนหัดเดินมาลงเพืี่่อให้คนรุ่นเก่าได้ทบทวนคนรุ่นใหม่ได้แลนะครับ วันก่อนคุณอ้อยหวานเอารูปอุปกรณ์การฝึกเด็กให้เดินอีกแบบมาลงผมไม่เคยเห็นผมนึกถึงบอกเวียนนึกว่าถ้าพบจะถ่ายรูปมาลงและอธิบายให้เพื่อนๆฟังแต่ยังไม่พบ พอลุงพาลูมาเขียนบล๊อกนี่จึงคิดว่าลุงพาลูน่าจะมีรูปตอนเด็กใช้มาลงให้เพื่อนๆได้ดู

  หลบไป (กลับไป) เที่ยวนี้ ... จะจัดให้ถ้าไม่ลืม ...

      ก็คนแก่ ... มักจะขี้ลืมครับ

ทำให้คนรุ่นใหม่ไดรู้จักบอกเวียนครับ คนแต่แรกช่างคิดแต่คนในอยู่ไม่ช่วยกันคิดต่อ ผมว่าดีไม่ดีเกิดนวัตกรรมใหม่ขึ้นอีกมาก ตอนนี้เริ่มจะกลับไปหาของเก่ามาปัดฝุ่นแล้วใส่เทคโนโลยีเข้าไป ฝากลุงพาลูช่วยเอาของเก่าแต่แรกมาให้ชมบ่อยๆนะครับ บางทียังมีอีกหลายอย่างที่คนรุ่นหลังยังไม่เคยเห็น เช่นที่จูงให้เด็กหัดเดินของคุณอ้อยหวานที่นครฯผมก็เพิ่งเคยเห็นครับ  ขอบคุณครับ

ตอนลูกสาวยังเล็กพ่อเขาทำบอกเวียนให้ลูกหัดเดินหน้าบ้าน  ตอนนี้ลูกสาวจะสามสิบแล้วค่ะ  ขอบคุณลุงมากที่ช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยค่ะ

ขอบคุณลุงพาโลมากค่ะ ลุงทราบไหมว่านี่เรียกอะไร ถ่ายที่นครศรีบ้านเกิดอ้อยค่ะ

 

ไม่รู้จักมาก่อน แถวบ้านผมไม่เห็นมี ขอบคุณครับลุงที่เอาภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนมาถ่ายทอดให้ลูกหลานได้รู้จัก

เพิ่งเคยได้และเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก นัทขอยกมือสนับสนุนร้องขอเหมือนคุณอินเนียร์ด้วยอีกคนค่ะ เพื่อจะได้มองเห็นภาพ ตอนนี้นัทเดาไม่ค่อยออกว่าเด็กหัดเดินจากเครื่องมือนี้ยังไง...ขอคุณมากๆสำหรับความรู้ดีๆที่ลูกหลานไทยมากมายไม่เคยรู้จักค่ะ

ชื่นชมค่ะ--ขอบคุณมากนะคะ

หน้า