ตรีธาตุ ตรีโทษ และตรีทูต

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ตรีธาตุ ตรีโทษ และ ตรีทูต


  วันนี้มีคำที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของร่างกายและสุขภาวะมาคุยบอกเล่ากัน เป็นคำที่ได้จากตำราเก่า ๆ ที่รื้อปัดฝุ่นมาอ่านทำความเข้าใจอีกครั้ง ความว่า  โบราณถือว่า วาตะ (วาตะ เทียบเท่ากับลม เช่น อะไรที่พองโตได้น่าจะนับได้ว่าเป็น “ลม” ความหมายที่ลึกลงไปกว่านั้น คือ คำว่า “วา” จะหมายถึงการเคลื่อนไหว คำว่าวาโย วายุ หรือวาตะ จะมีความหมายสูงกว่าลมธรรมดา) ปิตตะ (เทียบเท่ากับสิ่งที่ให้ความร้อน หรือความอบอุ่นแก่ร่างกาย การย่อยอาหาร ความคิด สติปัญญา ฯลฯ) ศเลษมะหรือเสมหะ (ศเลษมะ เทียบเท่ากับสิ่งส่วนให้ร่างกายนุ่มนวลละมุน เกิดกำลังวังชา อดทน เข้มแข็ง มีลักษณะเหนียวอ่อน ชุ่มชื่น เกิดเป็นน้ำลาย น้ำไขข้อ เยื่อเมือก เยื่อมูก น้ำเหลือง มีผลให้ชุ่ม ลื่น หากแปลตามคำก็จะ หมายถึง สิ่งยึดเหนี่ยว หรือผูกพันค้ำจุนสิ่งทั้งหลายให้เข้ากัน) ทั้งสามอย่างนี้เป็นทรัพย์ที่สำคัญที่สุด เรียกทั้งสามอย่างนี้ว่า "ตรีธาตุ" เมื่อตรีธาตุสมดุลกัน ร่างกายจะแข็งแรงเป็นปกติ แต่หากว่าอย่างใดมากหรือน้อย หรือพร่อง ไม่ปรกติ ไม่สบาย จะเรียกตรีธาตุที่ไม่สมดุลนี้ว่าเป็น "ตรีโทษ" ตรีโทษมีทั้งระยะเป็นอย่างอ่อน อย่างกลาง และถึงตายได้ แล้วแต่ว่าจะโทษมากหรือน้อย แต่แล้วก็มีการเรียก "ตรีโทษ"เพี้ยนกันไปว่าเป็น”ตรีทูต”และให้ความหมายไปถึงระยะจะตาย นี้ก็เป็นอีกเรื่องราวที่เราได้ยินบางผู้คนเรียกคนไข้หนักใกล้ตายว่าเข้าขั้นตรีทูต


   หลังอ่านบันทึกนี้ หวังว่าเพื่อน สมช.บ้านสวนฯ คงพอได้ประโยชน์บ้าง อย่างน้อยหากใครสักคนพูดเรื่องตรีทูต ก็ได้เข้าใจแหล่งที่มาของคำนี้ได้ ...  ข้อมูลที่ได้นี้ถอดมาจากความเข้าใจในการอ่านหนังสืออายุรเวทศึกษา(แพทย์แผนโบราณ)หน้า ๘๒-๘๓ (โรงพิมพ์พร้อมจักรการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๑๖)


หมายเหตุ


   ...คำข้างต้นมีความเกี่ยวเนื่องกับร่างกายและหมอไทย  และมีภาษาทั้งบาลีและสันสกฤตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งเป็นข้อดีทำให้ความหมายของคำไม่ผิดเพี้ยนไป (ต้องขอออกตัวว่าผู้เขียนบันทึกในบล็อกนี้ก็รู้จักคำบาลีสันสกฤตเป็นเพียงบางคำและรู้น้อยมาก)และในการกำกับความหมายของคำ ปิตตะ วาตะ ศเลษมะ(เสมหะ) ก็เป็นการกำกับที่เปรียบเทียบกับการแพทย์ปัจจุบันหรือทางวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย


      ****ขอกราบขอขอบพระคุณ ครูบาอาจารย์และท่านผู้รวบรวมและเขียนหนังสืออายุรเวทศึกษา(วิชาแพทย์แผนโบราณ) ท่าน ขุนนิทเทสสุขกิจ (นิทเทส (ถมรัตน์) พุ่มชูศรี) ผู้เป็นแพทย์ประกาศนียบัตรชุด พ.ศ. ๒๔๖๕ ศิริราชพยาบาล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งประสิทธิ์ประสาทวิชาผ่านทางหนังสือที่ท่านรวบรวมเรียบเรียงเขียนไว้


 

ความเห็น

ตอนแรกที่อ่านก็ งง นิดๆๆ นะคะ เพราะคิด ว่า ร่างกาย ต้อง ดิน น้ำ ลม ไฟ 

แต่พออ่านคอมเม้นท์ เลยได้ทำความเข้าใจ โจคล้ายๆจะเคยอ่านมาจากที่ใดที่หนึ่งมาว่า

ดิน ในส่วนของร่างกาย คือ มวลกระดูกค่ะ

ถ้าจำไม่ผิดนะคะ

ต้องขอขอบคุณความเห็นที่ให้มาค่ะ คุณโจ ... นั้นนะคะ ทีแรกก็ว่างง ๆ ว่าอะไร ส่วนใหญ่จะได้ยินเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ แต่พอลงถึงเรื่องของการรักษามีคำที่ปรากฏไม่คุ้นเคยอีกหลายคำ ต้องขอบคุณอีกเรื่องที่จุดประกายให้กลับไปค้นหาคำว่า "มวลกระดูก" ในแผนปัจจุบัน เลยได้ทบทวนและทำความเข้าใจมากขึ้น ที่ได้อ่านจาก ข้อมูลเรื่อง "รู้จักแคลเซีมอย่างเป็นประโยชน์สูงสุด" กล่าวถึง มวลกระดูกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า 


มวลกระดูก" หมายถึง ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกที่ประกอบไปด้วย โครงสร้างหลักและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เข้ามาเสริมจึงมีทั้งมิติของความหนา ความใหญ่ มิใช่ความสูง(ยาว) อย่างเดียว สุขภาพกระดูกที่ดีจะหมายถึงความหนาแน่น ซึ่งตรงข้าม กับความพรุน ความเปราะบาง หรือความกร่อน มากกว่าจะมุ่งหมายถึง ความสูง (ความยาว)"


เลยถือโอกาสนี้มาเรียนรู้ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ต่ออีกหน่อยนึง หลังทำความเข้าใจแล้วก็ได้ข้อสรุป ว่า มวลกระดูกนั้นเป็นค่าตัวเลขที่สะท้อนสุขภาวะของกระดูกในร่างกาย หากว่าเป็นตัวเนื้อแท่งกระดูก อันนี้อ่านเจอว่าเป็นส่วนหนึ่งของธาตุดินในจำนวนธาตุดินที่มีทั้งหมด ๒๐ อย่าง (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง)


 ข้อสังเกตจากที่คุณโจอ่านบล็อกนี้ทำให้ได้ส่วนตัวเองได้เรียนรู้ไปด้วย ขอขอบคุณคุณโจมากค่ะ


 

ตอนแรกที่อ่านก็ งง นิดๆๆ นะคะ เพราะคิด ว่า ร่างกาย ต้อง ดิน น้ำ ลม ไฟ 

แต่พออ่านคอมเม้นท์ เลยได้ทำความเข้าใจ โจคล้ายๆจะเคยอ่านมาจากที่ใดที่หนึ่งมาว่า

ดิน ในส่วนของร่างกาย คือ มวลกระดูกค่ะ

ถ้าจำไม่ผิดนะคะ

จากความเห็นนี้ต้องขอขอบคุณมากค่ะ คุณโจ

เป็นความรู้ใหม่ค่ะพี่  ตรี แปลว่า สาม (สามธาตุ)  อ่านแล้วพอเข้่าใจ ขอบคุณค่ะ

ขอขอบคุณความเห็นที่ให้มาค่ะ น้องยุพิน ต้องถือว่าเป็นการตอบกลับที่ทำให้มีกำลังใจในการรื้อฟื้นเรื่องราวที่เคยเรียนรู้และผ่านหูผ่านตามาก่อน ภาษาในหนังสือเป็นภาษาที่ส่วนตัวเองอ่านโดยใช้เวลาในการทำความเข้าใจสักหน่อย เนื่องจากเป็นภาษาวิชาการที่เขียนไว้น่าจะปี พ.ศ.๒๔๙๖ และยังเป็นภาษาการแพทย์ แต่เมื่ออ่านก็ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น จึงถอดความเข้าใจจากการอ่านมาบอกเล่าสู่กันฟังในยุคปัจจุบัน ดีใจว่าอ่านแล้วพอจะเข้าใจได้ ... หวังว่าในระยะยาวที่มีผู้สนใจเรื่องสุขภาพอย่างไทย ๆ ได้พอนำไปเป็นแนวทางในการสืบค้น ตลอดจนหาหนังสือเหล่านี้ไว้อ่าน เรียนรู้ และช่วยให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ ทรมาน มีสุขภาพดีขึ้นด้วยนะค่ะ

:admire: :admire2:

กินอยู่อย่างพอเพียง ไม่ขี้อิจฉา ชอบสันโดษ รักธรรมชาติ

หน้า