เพอร์มาคัลเจอร์ #4 : เรื่องเล็กๆ ของการเก็บน้ำฝน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

วันนี้มีเวลาน้อยก็ขอเขียนเรื่องเล็กๆ ของการเก็บน้ำฝนแล้วกัน  การเก็บน้ำฝนไว้ใช้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ของคนไทยเลย  ตามหลักของเพอร์มาคัลเจอร์ถ้าเราปล่อยให้น้ำฝนที่สะอาดไหลไปโดยไม่ได้เก็บไว้ใช้งาน  เมื่อเราต้องการใช้น้ำสะอาดก็จะต้องใช้น้ำประปา  ซึ่งในขบวนการผลิตน้ำประปาก็มีการใช้พลังงานและสารเคมีใส่เข้าไปอีกในระบบกรอง และระบบส่งน้ำ  นับว่าไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเสียเลย

เพียงเพราะเราไม่เก็บน้ำฝนไว้ใช้งานทำให้มีการใช้พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่จำเป็น   เพอร์มาคัลเจอร์จึงสนับสนุนการเก็บน้ำฝนไว้ใช้งานในครัวเรือน  และรางน้ำฝนก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันดี  ปัญหาของการเก็บน้ำฝนคือหลังคาของเราไม่ได้สะอาดอยู่เสมอ  อาจจะมีขี้นก หรือฝุ่นละอองปนเปื้อน  วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือการแยกน้ำที่ไหลผ่านรางน้ำฝนในช่วงฝนตกใหม่ๆ ไว้สำหรับรดน้ำต้นไม้ หรือทิ้งไปเลย  และเริ่มเก็บน้ำฝนหลังจากฝนตกไปสักพักไว้สำหรับดื่ม หรือปรุงอาหาร   ปัญหาคือวิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปแล้ว  ไม่มีคนอยู่บ้านเป็นประจำที่สามารถมาเป็นตุ่มน้ำฝนเมื่อฝนตกไปสักพักแล้วเหมือนเมื่อก่อน  เพราะทุกคนในบ้านก็ต่างออกมาทำงาน ไปโรงเรียน หรือทำธุระอื่นนอกบ้าน  ทำให้การเก็บน้ำฝนสะอาดโดยการคอยแยกน้ำช่วงต้นทิ้งทำได้ค่อนข้างยาก (ทำได้เฉพาะวันที่มีคนอยู่บ้าน)  ส่วนของผมยิ่งแล้วใหญ่เพราะผมไปสวนเพียงสัปดาห์ละครั้ง  แถมวันที่ไปสวนก็สวดภาวนาไม่ให้ฝนตกจะได้ดูแลต้นไม้นาน  แล้วผมจะเก็บน้ำฝนสะอาดให้พอใช้ได้อย่างไร?

เมื่อเริ่มศึกษาเพอร์มาคัลเจอร์มากขึ้นทำให้ผมค้นพบตัวอย่างการแก้ปัญหานี้ โดยการทำระบบที่จะเก็บน้ำฝนหลังจากที่ฝนตกไปแล้วสักพักโดยอัตโนมัติ และไม่ต้องใช้พลังงานอะไรมาก มีอย่างน้อย 2 ตัวอย่าง

แบบแรกใช้กับถังที่มีฝาเปิดด้านบน  โดยอาศัยน้ำฝนที่ตกช่วงแรกไปในถังซึ่งต่อกับคานกระดก  เมื่อน้ำฝนเยอะพอก็จะกระดกให้น้ำฝนที่ตกช่วงหลังๆ ไหลลงไปในถังเก็บน้ำฝนแทน  แต่ถังแบบเปิดมีข้อเสียคือต้องเปิดฝาไว้ตลอดเวลาอาจจะมีฝุ่นหรือใบไม้ร่วงไปตรงฝาที่เปิดไว้ได้  ทำให้ต้องมีตาข่ายดักไว้ด้านบน  แต่ตาข่ายดังกล่าวอาจจะไม่แข็งแรงมากพอสำหรับหนู นก หรือแมลงที่อาจจะเจาะตาข่ายเข้าไปในถังได้

แบบที่สองจะใช้กับถังปิด (คล้ายๆ ถังเก็บน้ำที่มีขายในปัจจุบัน) และใช้ท่อน้ำเข้าทำเป็นรูปตัวยู (U) เพื่อกันสัตว์/แมลงไม่ให้เข้าถังผ่านทางท่อขาเข้า  แต่เนื่องจากเป็นถังปิดทำให้น้ำฝนที่มากเกินไปไม่สามารถล้นผ่านฝาด้านด้านบนได้  จึงอาจจะต้องมีท่อระบายน้ำล้นของถังเก็บน้ำซึ่งก็ควรที่จะมีท่อรูปตัวยู เพื่อป้องกันสัตว์/แมลงเข้าทางท่อน้ำล้น  กลไกตามภาพข้างบนจะทำให้น้ำฝนช่วงแรกไหลลงถังเก็บน้ำสกปรก และน้ำฝนช่วงหลังไหลลงกรวยที่ต่อกับท่อน้ำเข้ารูปตัวยู

ทั้งสองแบบจะมีการเจาะรูที่ถังน้ำเพื่อรีเซทระบบให้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิมก่อนฝนตก  โดยขนาดของรูจะเป็นการปรับระยะเวลาที่ระบบจะรีเซท

นอกจากนั้นถ้ามีต้นไม้ใหญ่อยู่ใกล้บ้านก็ควรจะมีที่กันไม่ให้ใบไม้ไปอุดทางน้ำในระบบรางน้ำฝน  โดยอาจจะสามารถทำได้หลายแบบดังนี้

เท่านี้เราก็จะสามารถสร้างระบบช่วยเก็บน้ำฝนที่สะอาดเอาไว้บริโภคในบ้าน  โดยไม่ต้องมีคนคอยเฝ้าเวลาฝนตกอีกต่อไป  ผมยังคงมีความเชื่อในพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย  ผมเชื่อว่าจะมีเพื่อนสมาชิกที่สามารถค้นคิดวิธีการอื่นที่จะช่วยเก็บน้ำฝนหลังจากที่ฝนตกไปสักพักโดยอัตโนมัติ  ขอให้สนุกสนานกับการคิดนะครับ :bye:

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com

หรืออ่าน blog เรื่องนี้เพิ่มเติมที่ http://my-experimental-farm.blogspot.com/2013/12/blog-post_16.html

ความเห็น

ข้อมูลดีจังคุณธีร์ มีภาพประกอบชัดเจน..บ้านพี่ใช้แบบบ้านๆ รองน้ำฝนไว้รดต้นไม้ค่ะฝนมาปุ๊บก็เต็มตุ่ม เต็มถังค่ะ...ไม่ได้ไว้สำหรับดื่มค่ะ.. และน้ำที่ล้างระเบียงขั้น2 ก็ไม่ทิ้ง ก็นำถังไปวางไว้ที่ท่อน้ำอีก ไว้รดต้นไม้เช่นกันค่ะ..เป็นไงล่ะ ใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด การประปาส่งบิลเก็บเงินบ้านพี่เค้าคงแปลกใจ หน้าร้อน หน้าฝนบ้านนี้ก็ใช้น้ำไม่เปลือง ยิ่งน้ำท่วมสนามหญ้าไม่มี ไม่้ต้องรดน้ำ ยิ่งใช้น้ำน้อยลงอีก..ดูซิว่าจะต้องจ่ายค่าน้ำประปามากน้อยเพียงใด...แล้วจะมาบอกกล่าวค่ะ

เยี่ยมจริง ๆ ครับพี่ที่บ้านใช้วิธีเก็บใส่โอ่งแดงนะครับ และอาศัยแรงดันน้ำจากโอ่งเพื่อใช้น้ำที่เก็บในโอ่งแดงในระบบน้ำทั้งบ้านโดยวางโอ่งให้สูงจากพื้น 1.5 เมตร แทนน้ำประปาให้มีน้ำไหลตลอด 24 ชัวโมง (ที่หมู่บ้านน้ำจะไหลวันละ 2 ชั่วโมง เช้ากับเย็น) หน้าฝนสบายไม่ต้องเสียค่าน้ำประปาเลยพี่ โหวต ๆ เดี๋ยวบุ๊คมาร์คไว้ก่อนมาอ่านอีกสัก 2-3 รอบ งง ๆ อยู่ตอนนี้ 55555:sweating::sweating:

 

ที่บ้านก็ยังรองน้ำฝนใว้กินอยู่ครับ ยังไม่มีน้ำปะปาใช้ถ้าจะใช้ทำอย่างอื่นก็ใช้น้ำบาดาล

หน้า