เดินทาง...สายบุญ กับพนิดา 2

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ประวัติวัดหนองบัว
วัดหนองบัวเป็นวัดที่เก่าแก่ประจำหมู่บ้านหนองบัว ต. ป่าคา อ. ท่าวังผา จ. น่าน....จากคำบอกเล่าไว้เดิมวัดหนองบัวตั้งอยู่ที่ริมหนองบัว(หนองน้ำประจำหมู่บ้าน) ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งวัดปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร ปัจจุบันไม่มีซากโบราณสถานเหลืออยู่เลย ต่อมาได้มีการย้ายวัดมาที่ปัจจุบันนี้ วัดหนองบัวสันนิษฐานว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2405 โดยการนำของครูบาหลวงสุนันต๊ะ ร่วมกับชาวบ้านหนองบัวสร้างขึ้น จึงทำให้วิหารหนองบัวแห่งนี้ เป็นสถาปัตยกรรมไทยล้านนาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งหาดูได้ยากมากในสมัยนี้ และพระวิหารหนองบัวแห่งนี้ยังมีจิตรกรรมฝาผนังแบบโบณาณที่สวยงามอีกด้วย ประวัติวัดหนองบัวและประวัติจิตรกรรมไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ การสืบประวัติจะต้องอาศัยข้อมูลจากสองทางด้วยกันคือ สืบจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่และสืบจากการสังเกตจากรายละเอียดที่แสดงไว้ในภาพเขียน

การสืบประวัติจากคำบอกเล่า ท่านพระครูมานิตย์บุญการ หรือ ครูบาปัญญา ผู้เป็นชาวบ้านหนองบัวโดยกำเนิดถือว่าเป็นผู้รู้ท่านหนึ่งได้เล่าไว้ว่านายเทพผู้เป็นบิดาของท่านได้เป็นทหารของเจ้าอนันต๊ะยศ เจ้าผู้ครองนครน่านในขณะนั้น( เจ้าอนันต๊ะยศ ครองเมืองน่านเมื่อ พ.ศ.2395 –2434 )ต่อมานายเทพได้ติดตามทัพไปรบที่เมืองพวนซึ่งเป็นเมืองในแคว้นหลวงพระบาง หลังจัดการศึกเรียบร้อยแล้วจึงยกทัพกลับเมืองน่าน นายเทพได้นำช่างเขียนลาวพวนชื่อว่า ทิดบัวผัน มาเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหนองบัวแห่งนี้ โดยมีพระภิกษุวัดหนองบัวชื่อ แสนพิจิตร และนายเทพเป็นผู้ช่วยเขียนเสร็จ 

การสืบประวัติจากรายละเอียดของจิตรกรรม ภาพเรือกลไฟและรูปทหารชาวฝรั่งที่ผนังด้านทิศเหนือเป็นสิ่งที่สามารถ นำมาประเมินอายุของจิตรกรรมได้ ตามประวัติของเรือกลไฟว่าเรือกลไฟมีแหล่งกำเนิดในยุโรปและอเมริกา ในประเทศไทยมีหลักฐานในจดหมายเหตุหลายแห่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีเรือกลไฟใช้ตั้งแต่ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงสันนิษฐานว่าช่างเขียนคงเห็นและนำแบบมาเขียนไว้ และยังมีรูปปืนยาวแบบฝรั่งคือมีดาบติดปลายปืนด้วย เดิมคนไทยรู้จักใช้ปืนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รูปแบบปืนมีปลายกระบอกยาวแต่ไม่ปรากฏว่ามีดาบปลายปืน ปืนที่ตัดดาบปลายปืนเป็นแบบฝรั่งที่นำมาใช้แพร่หลายในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ถึง รัชการที่ 5 เป็นต้นมา จึงประเมินอายุจิตรกรรมว่าคงอยู่ในราวสมัย รัชการที่ 4 ถึง รัชการที่ 5

หลายๆรูปที่ผู้วาดได้สะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงที่นุ่งผ้าซิ่นลายน้ำไหลหรือผ้าซิ่นตีนจกที่สวยงาม ภาพวาดที่นี่นับได้ว่ามีคุณค่าทางศิลปะ และความสมบูรณ์ของภาพของวัดหนองบัวยังใกล้เคียงกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดภูมินทร์ในเมืองน่าน และยังมีการสันิษฐานถึงการวาดภาพนี้ด้วยว่า เป็นการวาดก่อนการวาดที่วัดภูมิทร์ หรือเป็นภาพวาดที่มีอายุมากกว่าภาพวาดภายในวัดภูมินทร์เสียด้วย

 จิตรกรรมแห่งนี้ กลุ่มสีที่ใช้ หนักไปทาง สีดำ  สีแดงชาด  สีน้ำตาลดินแดง สีคราม มีปิดทองคำเปลว   และสีขาวมักใช้กับสีผิวตัวบุคคล

 หลังจากไหว้พระประธานในวิหาร ก็เดินชมในวิหาร ที่งดงามทั้งสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนัง

แบบที่ว่าถ่ายภาพอยู่นานก็ไม่จุใจและคงต้องหาโอกาส กลับมาอีกครั้งได้ภาพเพียงบางส่วน บางภาพ บางส่วนมาให้ดูค่ะ

 

ด้านหลังพระวิหาร ทางวัดได้จัดให้มีการสร้างบ้านของชาวไทลื้อไว้ให้เยี่่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ที่อยู่ภายในบริเวณวัด โดยด้านบนจะจัดแสดงความเป็นอยู่ต่างๆทั้งด้านในห้องนอน และเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินของชาวไทลื้อด้านบนนี้ยังได้จำหน่ายผ้าทอไทลือ และของที่ระลึกอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนด้านล่างใต้ถุนบ้านจะเป็นการทอผ้า กลุ่มผู้หญิงในหมู่บ้านหนองบัวได้ทอผ้ากันที่นี่ถัดออกไปข้างๆจะมีกลุ่มที่ทำอาหารขายมีการสาธิตการทอผ้า ทำข้าวเกรียบ และขายของที่ระลึก การแสดงซีซอ ของพ่ออุ๊ยให้ชมด้วยนะค่ะ

ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆ

การอพยพ

เดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน ประมาณศตวรษที่ 12 จึงเกิดมีวีรบุรุษชาวไทลื้อชื่อ เจ้าเจื๋องหาญ ได้รวบรวมหัวเมืองต่าง ๆ ในสิบสองปันนาปัจจุบันตั้งเป็นอาณาจักรแจ่ลื้อ (เซอลี่) โดยได้ตั้งศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ที่หอคำเชียงรุ่ง นาน 790 ปี ต่อมาถึงสมัยเจ้าอิ่นเมือง ครองราชต่อมาในปี ค.ศ.1579-1583(พ.ศ. 2122-2126) ได้แบ่งเขตการปกครองเป็นสิบสองหัวเมือง แต่ละหัวเมืองให้มีที่ทำนา 1,000 หาบข้าว (เชื้อพันธุ์ข้าว) ต่อมาหนึ่งที่/หนึ่งหัวเมือง จึงเป็นที่มาจนถึงปัจจุบันเมืองสิบสองปันนาได้แบ่งเขตการปกครองเอาไว้ในอดีตดังนี้ (ที่มาของคำว่า สิบสองปันนา หรือ สิบสองเจ้าไต)

ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก 32 หัวเมือง เช่

ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตรวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน

วัดหนองบัว งดงาม  สงบ เรียบง่าย และผู้คนที่ มีน้ำใจไมตรี กับวิถีชีวิตที่พยายามดำรงรักษาคุณค่าเดิมๆไว้ ส่วนหนึ่งของน่าน ที่ได้ไปแล้วประทับใจ และตั้งใจว่า จะหาโอกาสกลับไปเยือนอีก

ยังไม่เข้าเมืองเลยค่ะ...พนิดาพาชมความงามตั้งแต่รุ่งอรุ่ณดูพระอาทิตย์ขึ้น แวะชมภาพจิตกรรมฝาผนัง จนเพลินเลยค่ะชักจะหิวแล้วขอตัวไปตามหาข้าวซอยก่อนนะค่ะ

คอยติดตามเรื่องราวการเดินทาง...สายบุญกับพนิดา ต่อในบล็อกหน้านะค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.MooHin.com > น่าน > วัดหนองบัว จ.น่าน

 

ความเห็น

สวัสดีค่ะ คุณพนิดา - อนุโมทนาบุญด้วยนะคะ Laughing

ชีวิตที่เรียบง่ายกับความพอใจในสิ่งที่มี

หน้า