ชีวิตคือการเดินทาง ตอน มีรักที่ราชบุรี

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ราชบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่อ้อยหวานคุ้นเคย ขณะเดียวกันก็แปลกหน้าสุดๆ ที่คุ้นเคยก็เป็นเพราะ ตอนเด็กๆ อ้อยหวานมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพ ต้องนั่งรถไฟกรุงเทพ –นครศรี ปีละหลายหน เมื่อก่อนโน้นรถไฟจากกรุงเทพจะถึงราชบุรีก็ค่ำๆ ทันเวลาได้กินข้าวต้มโจ๊กที่ราชบุรี แต่ไม่เคยแวะเที่ยวหรือเยียบแผ่นดินราชบุรีเลย คราวนี้มาตามหารักจึงได้แวะ แล้วอ้อยหวานก็ได้พบรักมากมายก่ายกองที่ ราชบุรี

 

จากกรุงเทพเรา อ้อยหวานและคุณผู้ชายพากันออกจากที่พักกันแต่เช้าตีห้าครึ่ง โบกรถตุ๊ก ขนจักรยานพับได้ 2 คันมุ่งหน้าสู่สถานีรถไฟธนบุรี เพราะตารางเวลากำหนดไว้ว่ารถไฟไปราชบุรีจะออกจากสถานีธนบุรี 7.30 น. แล้วเราก็รู้ว่ามันเปล่าประโยขน์จริงๆ

 

รฟท ยังคงรักษาคุณภาพดั้งเดิม ไว้อย่างเหนียวแน่น 50 ปีเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นอย่างนั้น คือการไม่ตรงต่อเวลา ตารางเวลากำหนดไว้เช่นไร ไม่เกียวกับฉัน เวลาออกรถคือเวลาสบายๆ ถึงเวลาออกคุณก็รู้เอง ไม่รู้ว่ามีตารางเวลาไว้ทำไม ลงอยู่ในเวปไซด์ทั้งไทย- อังกฤษ คนรอทั้งฝรั่งทั้งไทยรอจนซีด คราวนี้รฟท แถมเวลาให้แค่ 2 ชั่วโมงเอ๊ง ตอนอ้อยหวานเที่ยวอยู่ที่ญี่ปุ่นดูข่าวท่านนายกเกี้ยว รฟญ คือรถไฟญี่ปุ่นให้มาลงทุนในประเทศไทย อย่าลืมเอาความตรงต่อเวลามาด้วยนะคะ ที่ญี่ปุ่นรถออกสายแค่ 5 นาที เขาขอโทษแล้ว ขอโทษอีก เขาถือว่าเป็นความผิดใหญ่หลวง

 

มาเลท มาสาย เยี่ยงไร รัก(และข้าวเที่ยง) ก็ยังคงรออยู่ที่ราชบุรี ขอบคุณน้องตุ๊กคนสวยกับผู้ดูแลรูปหล่อ น้องอิ๋ว น้องอลิส น้องต๋อง น้องสุนทร น้องริโอ้ และพี่สาวที่น่ารัก ขอบคุณทุกคนที่พากันลางาน ลากลูกจูงหลาน มาพบเจอกัน

 

เมื่อท้องอิ่มแล้วก็ถึงเวลาของหวาน เราไปเก็บผลไม้สดจากต้น ณ.ไร่ริมราง ซึ่งอุดมสมบูรณ์เพราะ รักที่น้องตุ๊กและผู้ดูแลไร่ริมรางตัวจริงทุ่มเทให้

 

อ้อยหวานและคุณผู้ชายต้องใจกับมะละกอซึ่งมีอยู่หลายต้น ทุกต้นมีลูกเกาะเต็มคอแน่นไปหมด

 

ลูกฟิกหรือมะเดื่อฝรั่งก็กำลังน่ากิน น้องตุ๊กเก็บมาหนึ่งลูกยื่นให้พี่อ้อยหวาน แต่ไม่ทันได้ถ่ายรูป เพราะสมองสั่งมือให้ยื่นลูกฟิกเข้าปากในทันทีทันใด หวานอร่อย ขอบคุณจ้า

 

คนชมสวนก็ชมไป หันกลับมาอีกที เสร็จไปหนึ่งลูก มีสาวสวยหน้าหวานจัดการปอกและหั่น อ้อยหวานก็วิ่งรี่เข้าใส่อย่างไม่เกรงใจ เพราะมะละกอเป็นผลไม้ในดวงใจ สดจากต้นอย่างนี้หวานอร่อยจริงๆ

 

เจ้าของสวนเผลอ กล้วยหินก็หล่นตุ๊บมาทั้งเครือ

 

อ้อยหวานชอบรูปนี้ นางแบบน่ารัก

 

ประชันความหล่อ

 

กินเสร็จก็ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก อาจจะมีคนสงสัยว่าทำไมต้องย่อตัวกันจัง ฝรั่งไม่ได้ตัวเตี้ยหรอกนะ แต่สาวๆ กำลังฝากเนื้อฝากตัวกัน

 

หลังจากท้องอิ่มแล้ว พวกเรายกพวกไปหากาแฟกินกันที่โรงงานไชโป้ว แม่ฮุ้น พร้อมแวะชมโรงงานด้วย

 

ราชบุรีนอกจากจะมีรักแล้ว ที่ตำบลเจ็ดเสมียนยังมีโรงงานไชโป้ว แม่ฮุ้น ด้วย ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ทายสิกองนั้นมีหัวผักกาดกี่หัว!!!

 การผลิตหัวใช้โป้วเค็ม,หัวใช้โป้วหวาน ของประเทศไทยทุกวันนี้แหล่งผลิตที่จะมีปริมาตรมากทีสุด คือที่ ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี วัตถุดิบที่ใช้มีอยู่แค่ 2 อย่างคือ หัวไช้เท้า หรือหัวผักกาดสด (จากพรมแดน จ.นครสวรรค์ กับ จ.กำแพงเพชร ในตอนนี้บริเวณด้านเขาชนกัน ของ จ.นครสวรรค์ ถือว่าเป็นแหล่งปลูกผักกาดส่งโรงดองที่มีคุณภาพแหล่งใหญ่ เพราะผักกาดชอบพื้นที่ที่เป็นดินปนทราย ตามป่าเขาที่มีอากาศเย็น มีน้ำค้างแรงๆ รวมทั้งยังมีพื้นที่อื่น อีกเช่น จ.อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ) กับเกลือสมุทร (จาก จ.เพชรบุรี)

หัวผักกาดจะเริ่มเพาะปลูกในช่วง ปลายฝน-ต้นหนาว คือสังเกตุดูว่า หมดฝนใหม่ๆแล้วดินยังมีความชื้นอยู่ ก็ไถ-หว่าน กันได้เลย รอจนอายุผักได้ 45-48 วัน ก็สามารถส่งโรงงานได้

ขั้นตอนการผลิตหัวไชโป้วเค็ม

1. เมื่อหัวผักกาดสดมาถึงโรงงาน สิ่งแรกคือลงแช่น้ำเกลือที่บ่อเกลือ น้ำเกลือที่ใช้แช่นั้น ยิ่งเค็มมาก ยิ่งดี เหมือนเป็นการ น็อคเอ็มไซม์ของผักในครั้งแรก เลย รวมทั้งเป็นการล้างทำความสะอาดไปในตัว ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน ยิ่งแช่ไว้นาน ผักกาดก็จะดูดซับความเค็มไว้ได้มาก แต่ถ้านานเกิน ผักจะอิ่มน้ำแล้วจมอยู่กับตะกอนดินที่ก้นบ่อ

2. นำผักกาดที่ล้างสะอาดแล้วขึ้นมาใส่เกลือเป็นการให้ความเค็มเพิ่มเติมเป็นขั้นที่สอง ขั้นตอนนี้สำคัญมาก การใส่เกลือต้องมากพอและทั่วถึง ในขั้นตอนนี้ผักกาดที่ยังมีความชื้นมากก็จะกินเกลือแล้วคายน้ำออกมามากที่สุด ขั้นตอนนี้ใช้เวลาหมักไม่เกิน 1 วัน เพราะถ้าความเค็มหมดไปแล้วแต่ยังหมักอยู่ ผักกาดอาจจะมีรสเปรี้ยวได้

3. ขั้นตอนนี้เหมือนกับข้อ 2. คือถ่ายเทผักแล้วใส่เกลือให้ทั่ว ดูให้เหมาะสมเพียงพอ คือผักก็จะมีความชื้นน้อยลง แล้วก็กินเกลือน้อยลงไปเรื่อยๆแต่ก็ต้องไม่ขาดเกลือ ระยะเวลาในการหมักก็ให้นานขึ้น คือประมาณ 2 วัน และ 3 วัน ถึงสี่วัน ในการหมักครั้งต่อไป

 

4. เมื่อทำการหมักได้ประมาณ 4 รอบแล้ว ผักกาดก็จะเริ่มเป็นผักกาดเค็มเต็มตัว คือเปลี่ยนจาก หัวใข้เท้ามาเป็นหัวไชโป้ว ผักกาดจะแห้งและมีกลิ่นหอม ขั้นตอนนี้ก็เป็นการเก็บเข้ายุ้งฉาง

 

รอการคัดสรร นำมาผลิตเป็นหัวไชโป้วเค็มหรือหวาน ที่มีชื่อเสียงของชาวเจ็ดเสมียน กันต่อไป

 

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์หัวไชโป้วเค็มหรือหวานของโรงงานไชโป้ว แม่ฮุ้น

 

และนางแบบ พรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์หัวไชโป้วเค็มหรือหวานของโรงงานไชโป้ว แม่ฮุ้น

 

ราชบุรีมีสถานที่ให้ชมมากมาย แต่เวลาของเรามีจำกัด มีจักรยานสองคันที่อยากออกจากรถน้องต๋องและน้องอลิสมาเจอโลกภายนอก เราลาจากกันที่วัดบางกุ้ง ขอบคุณน้องๆ ทุกคนกับการต้อนรับที่แสนจะประทับใจ ขอบคุณบ้านสวนพอเพียงที่ทำให้เราได้รู้จักกัน

 

โปรดติดตามอ้อยหวานเล่าเรื่องชีวิตคือการเดินทาง ในตอนต่อไป

อ่านชีวิตคือการเดินทาง ตอนแรกๆ ได้ที่นี่่ค่ะ

ชีวิตคือการเดินทาง

ชีวิตคือการเดินทาง ตอน ทำไมต้องท่องเที่ยว

ชีวิตคือการเดินทาง ตอน ฉันรักสวนลุม

 

ขอให้เพื่อนๆมีแต่ความสุข

 

ขอบคุณค่ะ

 

อ้อยหวาน

 

ความเห็น

เห็นแล้วก็พลอยปลื้มอมยิ้มตามไปด้วยค่ะคุณอ้อยหวานกับมิตรภาพดีๆและวิวสวยๆ

หน้า