มรณกรรมที่งดงาม

หมวดหมู่ของบล็อก: 
Keywords: 

ช่วงที่ไปปฏิบัติธรรมมาคำถามแรกๆเลยที่เวลาพูดคุยกัน และผมมักจะถูกถามมากที่สุดคือ "มาปฏิบัติธรรมทำไม" ผมจะตอบกลับไปว่า "ซื้อตั๋วรถตายไปชาติหน้า" คุณชัยพงษ์ กิตตินราดร เจ้าของผลงาน Mind's Eye หนังสือรวมภาพถ่ายขาวดำที่ลงสีด้วยมือทั้งเล่ม ท่านเป็นตัวอย่างของการขึ้นขบวนรถตายในแบบที่เรียกได้ว่า "มรณกรรมที่งดงาม"


นับแต่รู้ว่าตนเองป่วยด้วยโรคมะเร็งในโพรงจมูก คุณชัยพงษ์ได้เตรียมจิตใจเพื่อรับกับความตายมาโดยตลอด แม้ว่าการรักษาในช่วงแรกในสายตาของพวกเราและผู้ที่พบเห็น จะรู้สึกว่าอาการของเขาดีขึ้น ในขณะที่คุณพงษ์บอกเสมอมาว่า อาการของเขาแย่ลงทุกวัน เขาอ่อนแรงลงเรื่อยๆ
ตลอดเวลาของการรักษาตัว คุณพงษ์ไม่เคยได้นอนติดต่อกันเกินกว่า 1 ชั่วโมงเลย ทุกคืนเขาจะหลับได้ในแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ชั่วโมง แล้วจะนั่งต่อไปอีกชั่วโมงกว่า แล้วจึงงีบหลับต่อได้ แม้ในช่วงกลางวันก็เป็นเช่นเดียวกัน เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ตลอดเวลาช่วงแห่งความทุกข์ทรมาน เขาไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะปลุกดิฉันในกลางดึก คงรับความเจ็บปวดของตนเองอย่างโดดเดี่ยวและอดทน ไม่เคยทำหน้านิ่วคิ้วขมวดแสดงความเจ็บป่วย เพียงแต่พูดด้วยหน้าและสายตายิ้มๆว่า เจ็บ ปวด อ่อนแรงมาก กล้ามเนื้อฉีก วันหนึ่งที่โรงพยาบาล ดิฉันถามเขาว่า เขาอยากจะรับมอร์ฟีนหรือไม่ เขาถามดิฉันว่า เขาจะเจ็บปวดอีกมากเพียงใด ดิฉันเคยรู้มาก่อนว่าความเจ็บปวดในระยะสุดท้ายนั้นจะรุนแรงอย่างที่สุด แต่ความทุกข์ทรมานที่เขาได้รับตลอดเวลาระหว่างรักษาตัวนั้นทำให้ดิฉันบอกเขาไปว่า คงจะไม่ทรมานเท่ากับที่คุณเคยประสบมาก่อน และประกอบกับเขาไม่ต้องการมีสติฟั่นเฟือนเลื่อนลอย เขาจึงปฏิเสธการรับมอร์ฟีน ยอมเผชิญหน้ากับความตายและกำหนดช่วงสุดท้ายของชีวิตด้วยตนเอง


คืนวันที่ 14 กันยายน เวลาประมาณ 3 ทุ่ม เขาบอกดิฉันให้นิมนต์หลวงพ่อมา ดิฉันถามเขาว่ามาเพื่ออะไร เขาบอกว่าเพื่อเสริมบารมี ดิฉันถามต่อไปว่า แล้วต้องการหลวงพ่อสายใด เขาหยุดคิดสักพัก เมื่อดิฉันถามว่าต้องการพระสวดมนต์ให้พร พระช่วยต่ออายุหรือพระปฏิบัติ คุณพงษ์บอกว่าต้องการพระปฏิบัติ
เช้าวันที่ 15 กันยายน ขณะที่ดิฉันอยู่นอกห้องพัก เพื่อนได้วิ่งมาบอกว่า รีบเข้าไปในห้องเร็ว คุณพงษ์พยายามจะดึงสายฉีดยาที่เพิ่มความดันออก เมื่อดิฉันเข้าไปถึง ถามเขาว่ากำลังจะทำอะไร เขาตอบดิฉันซึ่งดิฉันรู้ว่า เขาตอบด้วยความเกรงใจ คุณพงษ์บอกว่า ขอทดลองเอาสายออก ดิฉันตอบเขาไปในทันทีว่า ทำไมไม่ถอดเข็มเลย (การถอดเข็มออกแล้ว จะไม่สามารถหาเส้นเพื่อแทงเข็มใหม่ได้ เพราะเส้นจมไปหมดแล้ว) คุณพงษ์ตอบทันทีว่า ดี ดีแล้ว รอมานานแล้วยื้อยุดกันอยู่ได้ ดิฉันถามต่อไปอีกว่า แล้วยังต้องการสายอ๊อกซิเจนอีกไหม เขาบอกว่าไม่ต้องการ


หลังจากถอดเข็มออกได้เพียงครึ่งชั่วโมง เขาก็ไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีก พูดจาในลำคอฟังไม่ได้ศัพท์แต่สติยังดีเยี่ยม ทุกครั้งที่ดิฉันนำเขากล่าวคำว่า นะ โม พุท ธา ยะ ใจสว่าง ใจสะอาด ใจสงบ คุณพงษ์จะรวมรวมพลัง และพูดตามได้อย่างชัดเจน ปลายเท้าเริ่มเย็นและเขียวขึ้นมาเรื่อยๆ ดิฉันคาดว่าเขาคงจะจากไปในคืนวันที่ 15 หรือไม่ก็เช้าวันที่ 16


ในระหว่างวันที่ 15 นั้น ดิฉันได้นำทางทางจิตให้เขาตลอดเวลา มีอยู่ช่วงหนึ่งดิฉันได้อ่านข้อความบางตอนจากหนังสือของอุบาสกเปลี่ยน รักแซ่ ซึ่งเป็นบทสนทนากับท่าน ก. เขาสวนหลวง อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตของอุบาสกเปลี่ยน คุณพงษ์ซึ่งดูเหมือนจะควบคุมร่างกายตนเองไม่ได้ แต่ยังคงมีสติดีเยี่ยม ได้บอกดิฉันด้วยเสียงดังฟังชัดว่า เริ่มต้นใหม่ ตั้งแต่หน้าแรก พออ่านไปได้ครึ่งเล่ม คุณพงษ์ก็บอกว่า พอแล้ว เข้าใจหมดแล้ว


14 วันในโรงพยาบาลเป็นเวลาที่เขาเตรียมจิตใจให้พร้อมกับการจากไป ความสนใจของเขามุ่งไปในการปฏิบัติธรรมอย่างเดียวเพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือย่างน้อยคือบรรลุโสดาบัน ทำไมดิฉันจึงกล้าพูดเช่นนี้ เพราะดิฉันสัมผัสได้ถึงความห่วงกังวลของเขาเพียงอย่างเดียวที่เหลือในชีวิต มีอยู่หลายครั้งที่อยู่ที่บ้าน เขาเคยบอกว่า เขาคิดว่าเขาน่าจะบรรลุโสดาบันแล้ว ดิฉันได้แต่บอกว่า ใช่หรือไม่เป็นสิ่งที่เขารู้ได้เพียงคนเดียว


ค่ำคืนของวันที่ 14 กันยายน เขาขอให้ดิฉันและทุกคนอยู่ในความเงียบ ไม่ต้องการแม้เสียงสวดมนต์ เขาบอกว่าจะพยายามปฏิบัติเพื่อให้บรรลุโสดาบัน ดิฉันย้อนถามเขาไปว่า ที่ผ่านมายังไม่บรรลุหรือ เขาบอกว่าที่ผ่านมายังไม่ใช่ โอ! สติและสมาธิดีเยี่ยมเพียงนี้ รับรู้ถึงสิ่งที่ละเอียดที่สุดในจิตใจด้วยความเที่ยงธรรม แม้ในยามที่ร่างกายอ่อนแรงเต็มที แต่กลับมีหัวใจที่กล้าแกร่งจริงๆ ดวงตานั้นเจิดจรัสขึ้นทุกวันๆ นับแต่รู้ตัวว่าตนเองป่วย ตาดำเป็นประกาย ไม่มีร่องรอยของต้อลมที่เคยมี มีแต่ความใส แม้ในยามที่หมอมาส่องดูดวงตาเพื่อยืนยันการเสียชีวิต ดวงตาทั้งคู่ก็ยังคงใสแจ๋ว เพียงแต่ไม่ตอบสนองเท่านั้น


ท่านมหาสิทธิชัย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์วราราม ได้มาพบคุณพงษ์ในคืนวันที่ 15 กันยายน ท่านพูดว่า ท่านเคยส่งวิญญาณของผู้ใกล้ตายหลายคน ยังไม่เคยพบจิตใจใครแข็งแกร่งเท่าคุณพงษ์มาก่อนเลย ท่านบอกคุณพงษ์ว่า ใจเย็นๆ ยังไม่ถึงเวลา ไม่ต้องเร่งรีบ เมื่อท่านสวดมนต์ให้พรเสร็จ ดิฉันกล่าวคำว่า สาธุ คุณพงษ์ก็กล่าวตามทันที และยังบอกอีกว่าเขายังมีปัญหาที่การขับถ่าย หลังจากที่ท่านกลับไปประมาณ 3 ทุ่ม คุณพงษ์ก็ลืมตาตื่นขึ้น พร้อมกับพูดว่าผ่านประสบการณ์เฉียดตาย ความร้อนในตัวเริ่มกลับมา แล้วขอให้พวกเราช่วยยกตัวเขาให้ยืนขึ้น ทันทีที่ยืน เขาก็ขับถ่ายออกมาจนหมดเป็นครั้งสุดท้าย หลายคนมาลาเขากลับบ้าน เขายังแซวว่าคนนี้พูดดัง คนนั้นพูดค่อย บางคนมาถามว่าจำเขาได้ไหม คุณพงษ์ตอบทันทีว่าจำได้ ทำไมจะจำไม่ได้ล่ะ


หลังจากที่ทุกคนลาจาก ไปในคืนวันที่ 15 กันยายน ดิฉันยังคงนั่งข้างเตียงเขา ถามเขาว่ายังเจ็บอีกไหม คำพูดสุดท้ายที่คุยกับดิฉันคือ ไม่เจ็บแล้ว คุณพงษ์หลับสนิทหลังเที่ยงคืน พวกเราวางใจและคิดว่า เขาคงผ่านประสบการณ์เฉียดตายมาจริงๆ หมายความว่าเวลานี้รอดแล้ว


เช้าวันที่ 16 กันยายน คุณพงษ์ยังคงหลับต่อไป ดิฉันขอให้พยาบาลวัดแรงดันและระดับอ๊อกซิเจนในร่างกาย ทุกอย่างดูอยู่ในภาวะปกติแม้จะไม่มีเครื่องมือช่วยก็ตาม จนถึงเวลาประมาณบ่ายสองโมง หลังจากป้อนน้ำ ป้อนนมให้ ในความเงียบสงัดนั้นมีแต่เสียงแอร์ ดิฉันเริ่มเปิดซีดีเสียงสวดมนต์คาถาชินบัญชร 9 จบ และต่อท้ายด้วย บทสวดยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทันทีที่คาถาชินบัญชรเริ่มสวดชุดที่ 2 ดิฉันก็หลับสนิท หัวฟุบอยู่บนข้างเตียง ในขณะที่มือข้างหนึ่งได้จับข้อศอกซ้ายของคุณพงษ์ไว้ เมื่อลืมตาตื่นขึ้น ไม่มีเสียงเทปแล้ว คุณพงษ์หันหน้ามาทางดิฉัน ตาปิดสนิท ไม่หายใจ เขาเพิ่งจากไปก่อนดิฉันจะตื่นเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น เขาไม่ต้องการให้ดิฉันตื่นตกใจต่อการได้เห็นการจาก เพราะเช้าวันที่ 16 ดิฉันยังพูดกับคุณปุ๋ยซึ่งมาเยี่ยมเวลาเช้าว่า คุณพงษ์ผ่านจุดอันตรายแล้ว แล้วยังพูดแซวเล่นกับคุณพงษ์ซึ่งยังหลับอยู่ว่า เมื่อวานเราทำใจแล้ว อย่าทำให้ตกใจนะ เขาเพิ่งจากไปจริงๆ เนื้อตัวยังอุ่น เหงื่อยังออกที่ฝ่ามือ มีเพียงปากและปลายจมูกเท่านั้นที่เย็น
กระดูกของคุณพงษ์เป็นสีขาว บางชิ้นใส และมีสีส้มคล้ายฟองอากาศแทรกอยู่ ดิฉันและลูกได้ไปคืนอัฐิธาตุของเขาทั้งหมดกลับสู่ท้องทะเล ณ หาดบ้านกรูด ประจวบคีรีขันธ์ หน้าพระประธานองค์ใหญ่ชื่อว่า พระกิติภักดีประกาศ พระวิหารภักดีประกาศ


มรณกรรมที่งดงาม คัดบางส่วนมาจากเว็บ bwfoto.net คลิ๊กลิ้งค์เพื่ออ่านฉบับเต็ม

ความเห็น

ต้องอ่านซ้ำอีกรอบคะ คุณลุงพี


ช่วยให้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น  ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณ สำหรับ เรื่องราวดีๆ ครับ ลุงพี

เป็นแรงใจให้หนูมากเลย  หนูเองก็หวังอย่างยิ่งว่า จะผ่านช่วงสุดท้ายของชีวิตได้โดยสงบ  และพยายามระลึกว่า วันเวลานั้นใกล้มาก ไม่ไกล และไม่นาน ไม่ประมาท

 

ที่นำเรื่องราวดีๆ มาให้อ่าน พออ่านแล้วได้เตือนสติตัวเองด้วยว่าเรายังใช้ชีวิตประมาทยิ่งนัก ต้องรีบๆปรับปรุงซะแล้วSmile

สุดมือสอย ก็ปล่อยมันไป^^ ธรรมะ จากท่าน ว.วชิรเมธี

ทุกวันทุกเวลาไม่มีใครที่หนีพ้น เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็ว แต่ก่อนที่จะตายก็ขอตายอย่างมีศึกดิ์ศรีค่ะ ตายไปร่างกายไม่มีแต่จิตวิญญาณยังอยุ่ค่ะ ตายแล้วยังมีคนยกย่อง ดีกว่าตายแล้วยังมีแต่คนด่าสาปแช่ง  ขอบคุณค่ะคุณลุงพี

ทุกวินาทีมีค่า ถ้าเรามีความหวังเราจะไม่เคยพ่ายแพ้

แม่ข้าวเหม่าเป็นคนช่างอ่าน อ่านทุกสิ่งอย่าง แฟชั่น นวกรรม นวนิยายกำลังภายใน ปรัชญา แต่ที่ไม่เคยสนใจมาก่อนเลยคือ หนังสือธรรมมะ เมื่อสักสามปีที่ผ่านมามีบทความสั้น ๆ ในหนังสือผู้หญิงฉบับหนึ่ง คนเขียนใช้นามว่า "ว.วชิรเมธี" เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของแม่กับลูกอ่านแล้วประทับใจและตอบคำถามที่ตัวเองค้างคาใจมาตลอดชีวิต ตั้งแต่นั้นมาก็ตลุยอ่านหนังสือแนวพุทธปรัชญามาตลอด ยิ่งอ่านยิ่งเสียดายว่าเราไปทำอะไรอยู่ ทำไมเราถึงไม่รู้จักใส่ใจในของดีที่มีอยู่ในมือ ตั้งใจว่าต่อจากนี้ไปนี่แหละคือสิ่งที่จะยึดเหนี่ยว และนำทางชีวิต "พุทธศาสนา"

ขอขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จะได้ทำให้ผู้อ่านไม่ประมาท  และลืมตน

อึ้งค่ะ พูดไม่ออก บอกไม่ถูก

รู้สึกเหมือนมีใครจุดแสงไฟไว้กลางหัว

ขอบคุณจากใจเลยค่ะลุงพี

ลูกอิสานกันดารแท้ แต่บ่อเหี่ยวทางน้ำใจเด้อ
หากแหม่นใหลหลั่งรินปานฝนแต่เมืองฟ้า
มาเด้อพวกพี่น้อง สานสัมพันธ์ให้มันแก่น
ให้ยืนยาวแนบแน่นพอปานปั้นก้อนข้าวเหนียว เด้อพี่น้อง

จริง ๆ แล้วความตายนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด... เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยในอนาคตว่า เราจะตายเมื่อไหร่ เวลาไหน? ตายแบบไหน?? จะมีใครมาส่งซากไร้วิญญาณของเราบ้าง? และเราจะสามารถกำหนดลีลาท่าทางการตายได้อย่างไร?  และจะฌาปนฯ แบบไหน? อืมม์ ไม่มีใครซักเท่าไหร่ สนใจและเขียนพินัยกรรมในเรื่องนี้เอาไว้มากนัก นอกจากคนที่รวย ๆ ๆ ๆ แล้วไม่ได้ทำอะไร แต่กลุ้มอกกลุ้มใจกับมรดกที่มากมาย เลยต้องทำเอาไว้ (ทั้งที่ไม่เต็มใจจะทำก่อนตาย)!!!  แต่ไม่ได้สำเหนียกอย่างลึกซึ้งกับกิจกรรมดังกล่าว...

     ความตาย..อยู่กับเราทุกคนตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมฯ  ความตาย เป็นสิ่งท้ายสุดของชีวิต หรือบทละคอนโรงใหญ่ที่ไม่มีใครนึกถึงมีใครบ้างที่จะเตรียมตัวก่อนตาย... ไม่มากมายเท่าไหร่ มีแต่เพียงนักบวชบางท่านที่ ปลด ปลง กับสังขารของตัวเอง ซึ่งนับวันจะเฒ่าชะแร แก่ชรา ลงไปทุกที!! เพราะหนีไม่พ้น และเลี่ยงเสียมิได้...

     ฉะนั้น เราทุกคน หันหน้ามาหาความตายกันดีกว่า มาเรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวก่อนตายกันดีกว่า.. มาดูเหตุ ดูผล ดูกุศลที่ทำกันดีกว่า .. ว่ามาก น้อย เพียงพอสำหรับการสร้างคุณค่าในตัวเองไว้เบื้องหลังหรือยัง?.. เมื่อเราตายน่ะ มีใครบ้างที่จะคิดถึง นึกถึงเราทุกเหตุการณ์ ทุกเรื่องราว และบ่อยครั้งบ้าง? เรา.. สร้างความประทับใจใด ๆ ไว้ในหมู่ชนหรือสังคมบ้าง?  เราเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงใจก่อนตายมากมายแค่ไหน?..

     อาตมาว่าเรามาคิดเล่น ๆ แต่ลองเริ่มทำกันจริงจังซะทีนะ จะดีไม่น้อย...


http://www.waluka.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=25

จริง ๆ แล้วความตายนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด... เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยในอนาคตว่า เราจะตายเมื่อไหร่ เวลาไหน? ตายแบบไหน?? จะมีใครมาส่งซากไร้วิญญาณของเราบ้าง? และเราจะสามารถกำหนดลีลาท่าทางการตายได้อย่างไร?  และจะฌาปนฯ แบบไหน? อืมม์ ไม่มีใครซักเท่าไหร่ สนใจและเขียนพินัยกรรมในเรื่องนี้เอาไว้มากนัก นอกจากคนที่รวย ๆ ๆ ๆ แล้วไม่ได้ทำอะไร แต่กลุ้มอกกลุ้มใจกับมรดกที่มากมาย เลยต้องทำเอาไว้ (ทั้งที่ไม่เต็มใจจะทำก่อนตาย)!!!  แต่ไม่ได้สำเหนียกอย่างลึกซึ้งกับกิจกรรมดังกล่าว...

     ความตาย..อยู่กับเราทุกคนตลอดเวลา ทุกอิริยาบถ ทุกกิจกรรมฯ  ความตาย เป็นสิ่งท้ายสุดของชีวิต หรือบทละคอนโรงใหญ่ที่ไม่มีใครนึกถึงมีใครบ้างที่จะเตรียมตัวก่อนตาย... ไม่มากมายเท่าไหร่ มีแต่เพียงนักบวชบางท่านที่ ปลด ปลง กับสังขารของตัวเอง ซึ่งนับวันจะเฒ่าชะแร แก่ชรา ลงไปทุกที!! เพราะหนีไม่พ้น และเลี่ยงเสียมิได้...

     ฉะนั้น เราทุกคน หันหน้ามาหาความตายกันดีกว่า มาเรียนรู้เรื่องการเตรียมตัวก่อนตายกันดีกว่า.. มาดูเหตุ ดูผล ดูกุศลที่ทำกันดีกว่า .. ว่ามาก น้อย เพียงพอสำหรับการสร้างคุณค่าในตัวเองไว้เบื้องหลังหรือยัง?.. เมื่อเราตายน่ะ มีใครบ้างที่จะคิดถึง นึกถึงเราทุกเหตุการณ์ ทุกเรื่องราว และบ่อยครั้งบ้าง? เรา.. สร้างความประทับใจใด ๆ ไว้ในหมู่ชนหรือสังคมบ้าง?  เราเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงใจก่อนตายมากมายแค่ไหน?..

     อาตมาว่าเรามาคิดเล่น ๆ แต่ลองเริ่มทำกันจริงจังซะทีนะ จะดีไม่น้อย...


http://www.waluka.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=25

หน้า