ตามติดภาระกิจกำจัดมด & ปลวก 2 + หมัด & หนู

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สัปดาห์ที่แล้วติดตามเรื่องปลวกปรากฎว่าหลังจากใช้เชื้อรา Metarhizium ไป 2 ครั้งก็ยังมี activity ของปลวกอยู่ใกล้ๆ กับตำแหน่งที่ขุดเดิม  (แต่ตรงจุดที่ขุดเดิมไม่พบปลวกแล้วนะครับ) ส่วนมดยังเจออยู่ทั่วไป เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากผมเป็นเกษตรกรมือใหม่ และช่วงนี้ฝนตกค่อนข้างเยอะมากที่สวน  น้ำฝนอาจจะพัดพาสปอร์เชื้อราไปเยอะ  กอปรกับขนาดจอมปลวกค่อนข้างใหญ่มาก  เท่าที่ทราบมีโอกาสที่รังอาจจะลึกลงไปใต้ติดได้อีก 5-6 เมตร  ขนาดที่ใหญ่นี่เองอาจจะทำให้การกระจายตัวของเชื้อราค่อนข้างช้าไม่ทันใจวัยรุ่น (รุ่นไหนไม่รู้)   แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไรแน่ๆ  ก็เลยขอแบบชัวร์ๆ ด้วยการกลับไปใช้ยาขนาน 1 คือไส้เดือนฝอยควบคู่กับเชื้อรา Metarhizium กันดีกว่า 

เนื่องจากเรียนรู้มาแล้วว่ามาขยายจำนวนไส้เดือนฝอยเองจะเหม็นพอสมควร (น่าจะเป็นเพราะไม่มีอุปกรณ์ช่วยฆ่าเชื้อที่ดีพอ) อาจจะเสี่ยงต่อการโดน ผบ.ทบ. (ผู้บัญชาการที่บ้าน) บ่นได้  เลยตัดสินใจไปช๊อปเอาดีกว่า  โดยโทรศัพท์ไปที่ 02 579-9586 เพื่อตรวจสอบว่ามีไส้เดือนฝอยขายแน่ๆ จะได้ไม่เสียเที่ยว (ครั้งแรกที่ไปเขาไม่มีของต้องรออีก 2 วัน)  แล้วก็เดินทางไปซื้อที่ตึกสิทธพร กรมวิชาการเกษตร ใน ม.เกษตรฯ บางเขน  ราคา 40 บาทต่อซอง ซื้อมา 2 ซอง

แต่ไป ม.เกษตรทั้งทีจะให้เสียเที่ยวไปซื้อของอย่างเดียวได้อย่างไร  สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ผบ.ทบ. ของผมโดยกัดโดยเห็บ หรือหมัดหลายจุดในบริเวณกระต๊อบ  เดาว่าน่าจะเกิดจากการที่ไม่มีคนอยู่ประจำ พวกหนูน่าจะมาป้วนเปี้ยนบ่อยๆ เลยมีหมัดเยอะมาก  จะต้องแก้โดย (1) ใช้ Bayticol ผสมน้ำราดบริเวณกระต๊อบ เพื่อฆ่าหมัดที่อยู่บริเวณนั้น (ซื้อมาจากร้านขายปุ๋ย ขายยา ทั่วไปราคาขนาด 10 ml ประมาณ 140 บาท นำมาผสมน้ำได้ 15 ลิตร)  (2) ต้องลดจำนวนพาหะ  เนื่องจากหมัดเป็นปาราสิตที่ต้องอยู่คู่กับสัตว์  และจะค่อยๆตายไปเองถ้าไม่มีสัตว์ให้มันดูเลือด  ดังนั้นจึงต้องกำจัดหนู  แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องใช้วิธีอินทรีย์ที่ปลอดภัยต่อน้องสุนัข และสัตว์อื่น  จึงต้องออกตามหา โปรโตซัวกำจัดหนู ...  มันอยู่ที่ไหนสักแห่งใน ม.เกษตรนี่ล่ะ

ออกตามหา ถามยาม 4 ตึก 4 คน  ไม่มีใครรู้จักเลยสุดท้ายเจอยามคนพอจะรู้ว่ามันน่าจะอยู่ที่ตึกเศรษฐกิจ  จึงออกตามหา "ตึกเศรษฐกิจ" จนพบ  เดินเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ด้านวิชาการ  แว๊.... ไม่มีใครรู้จักเลยว่ามีโปรโตซัวที่ว่านี้  จนปัญญาเลยต้องถามใหม่ว่าตึกที่เลี้ยงงูนะครับ... อ้อ..เจ้าหน้าที่รีบบอกทางได้ทันที (เพิ่งรู้ว่าถามคำถามผิด 555) แถมอาคารที่เลี้ยงงูก็ไม่ได้อยู่ตึกเศรษฐกิจซะหน่อย  เป็นอาคารเล็กๆ ฝั่งตรงข้ามกับตึกเศรษฐกิจต่างหาก  หมดเวลาไปร่วมครึ่งชั่วโมงกับการตามหาอาคารลึกลับแห่งนี้  และเป็นที่ประหลาดใจมากที่เจ้าหน้าที่ในกรมวิชาการเกษตรจำนวนมากไม่รู้เรื่องโปรโตซัวชนิดนี้ที่ใช้กำจัดหนู (ท่าทางตัวเราจะ ส. ใส่เกือก ไปหน่อยที่รู้ว่ามีโปรโตซัวแบบนี้ขาย)

เมื่อเดินทางมาถึงตึกก็ยังไม่เจองู เจอแต่พี่คนหนึ่งยืนทำความสะอาดกรงหนูจำนวนมากอยู่  พอถามถึงโปรโตซัวพี่เขาก็พาเข้าไปในห้องลึกลับภายในตึกอีกที เป็นห้อง lab นั่นเอง  (ว่าแล้วเราก็ซอกแซกพอสมควรที่ตามหาจนเจอ) ว่าแล้วก็ได้โปรโตซัวมาชิ้นละ 2 บาท ห่อละ 50 ชิ้น  100 บาท  ดูซิว่าชิ้นนึงมันเล็กมาก (เมื่อเทียบกับขนาดปากกา)  เลยซื้อมา 3 ห่อ 300 บาทเลยกลัวหนูกินไม่อิ่ม Laughing


เพื่อนๆ คงสงสัยโปรโตซัวอะไรหน้าตายังกับขนม แล้วมันเกี่ยวอะไรกับงู กับหนู  แล้วปลอดภัยหรือเปล่า  เรามาทำความรู้จักโปรโตซัวชนิดนี้กันเถอะ เรื่องนี้เป็นผลงานวิจัยของ คุณยุวลักษณ์ ขอประเสริฐ นักสัตววิทยาของกรมวิชาการเกษตร โดยพบว่าโปรโตซัว Sarcocystis singaporensis ที่พบในหนูและงูเหลือมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อหนูได้รับโปรโตซัวชนิดนี้ 10 – 15 วัน จึงแสดงอาการป่วยเคลื่อนไหวช้าทำให้ถูกนก หรืองูจับกินง่ายขึ้น ต่อมาหนูจะมีอาการน้ำท่วมปอดซึ่งทำให้ระบบการหายใจล้มเหลว หรืออาจทำให้ไตวาย และตายในที่สุด 

ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างงูเหลือมกับหนูเกิดจาก เมื่องูเหลือมกินหนูติดเชื้อ โปรโตซัวจะขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศบริเวณผนังเซลล์ของลำไส้ของงู และผลิตสปอร์โรซีสต์ (sporocysts) ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการเจริญเติบโต และถูกขับถ่ายปะปนออกมากับมูลงู ระยะสปอร์โรซีสต์เท่านั้นที่ทำให้หนูป่วยและตายได้ จึงมีการนำโปรโตซัวระยะนี้ในปริมาณสูงมาใช้กำจัดหนู การผลิตสปอร์โรซีสต์ของปรสิตโปรโตซัวชนิดนี้ให้ได้จำนวนมากนั้น ต้องมีการเลี้ยงงูเหลือมและหนูติดเชื้อภายในโรงเรือน โดยพบว่างูเหลือมขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.5 เมตร สามารถผลิตสปอร์โรซีสต์ได้ไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านซีสต์ ซึ่งใช้กำจัดหนูได้ไม่น้อยกว่า 5,000 ตัว หรือใช้ปราบหนูในนาข้าวได้ประมาณ 300 ไร่

นักวิชาการจึงเอาอึ(มูล)ของงูเหลือมมาใส่ในเหยื่อแบบนุ่ม (ทำมาจากแป้ง) ขนาด 1 กรัม และมีเชื้อโปรโตซัวบรรจุอยู่ตรงกลางจำนวน 200,000 สปอร์โรซีสต์ต่อก้อน เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูปจะถูกนำไปวางในรูหนูหรือทางเดินของหนู หรือบริเวณที่พบร่องรอยของหนู ภายในโรงเรือนควรวางในภาชนะสำหรับใส่เหยื่อ เพื่อให้หนูรู้สึกปลอดภัยขณะที่กินเหยื่อโปรโตซัว  ซึ่งการกำจัดหนูแบบนี้มีข้อดีคือ

  • มีความเฉพาะเจาะจงสูงต่อหนูพุก (Bandicota sp.) และหนูท้องขาว (Rattus sp.)
  • มีความปลอดภัยต่อสัตว์ที่กินหนูเป็นอาหาร เช่น นกแสก เหยี่ยว งู พังพอน แมวป่า เป็นต้น
  • มีความปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ไก่ เป็นต้น
  • เหยื่อโปรโตซัวสำเร็จรูป 1 ก้อน สามารถฆ่าหนูได้ 1 ตัว
  • หนูไม่เกิดการเข็ดขยาดต่อเหยื่อชนิดนี้ เนื่องจากการตายจะเกิดภายหลังหนูได้รับเชื้อแล้ว 10 วัน
  • ไม่ทำให้เกิดพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม

สรุปแล้วที่ผมซื้อมาชิ้นละ 2 บาทมันคือขนมที่ทำจากแป้งยัดไส้ด้วยอึผสมโปรโตซัวจากในท้องของงูเหลือมนั่นเอง Laughing  เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอาแก้วน้ำแบบใช้แล้วทิ้งที่เก็บไว้ สัก 10-20 ใบไปใส่เหยื่อโปรโตซัว 2-3 ชิ้นต่อแก้ว (เพราะแก้วน้ำ หรือท่อจะทำให้หนูรู้สึกปลอดภัยเวลาเข้ามากินเหยื่อ) ไปวางที่จุดต่างๆ ในกระต๊อบ  และพื้นที่สวนข้างๆ กระต๊อบ

วันนี้เกษตรกรน้องใหม่อย่างผมก็ได้เรียนรู้เรื่องวิชากำจัดหนูแบบอินทรีย์แล้วครับ  เพื่อนๆ สนใจหาซื้อโปรโตซัวชนิดนี้โทรหาพี่ที่ lab ที่เบอร์ 02 579-5583 ต่อ 159 ได้นะครับ (ลืมถามว่าเขาบริการส่งทางไปรษณีย์ให้หรือเปล่า  แต่ที่เคยติดต่อเจ้าหน้าที่ของกรมฯ ที่กองอื่นๆ มาก็จะมีบริการจัดส่งให้นะครับ  แต่เราต้องจ่ายค่าจัดส่งเพิ่มตามจริง)  สัปดาห์ถัดไปจะติดตามผลการกำจัดหมัดมาแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบนะครับ Wink 

ขอบคุณข้อมูลเรื่องโปรตัวซัวกำจัดหนูจากจดหมายข่าวของกรมวิชาการเกษตร 

ความเห็น

ทึ่งในความพยายาม และขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ :love:

""

 

ที่งมากแบบน้องอีฟครับ โหวตๆๆ

 

ชีวิตที่เพียงพอ ย่อมมาจากชีวิตที่พอเพียง

เป็นวิธีใหม่ที่ดีค่ะ แต่ว่าบ้านที่อยู่ไกลจากที่จะหาซื้อของนี้ได้ขอแนะนำว่าใช้ปูนขาวได้ค่ะ ประสบการณ์ตรงจากธนนันท์ หมาที่เลี้ยงไว้มีหมัดออกลูกออกหลานเต็มไปหมด ฉีดยาจนไม่รู้จะฉีดอย่างไรมีเด็กเล็กด้วย ก็เอาปูนขาวฆ่าเชื้อนี่ล่ะค่ะโรยไปรอบ ๆ บริเวณบ้าน สวน โรยกว้าง ๆ หน่อยป่าหญ้าด้วยชอบไต่ไปหลบ เดินไปกระโดดเกาะขาดำปื้ด วันเดียวหายเกลี้ยงจนบัดนี้ 5 ปีแล้วไม่เห็นอีกเลย หนูก็ชอบมากัดทึ้งจุกปิดฝาถุงเห็ดเพื่อจะกินเม็ดข้าวฟ่าง ฉีดยาก็แล้วไม่กลัว แฟนเอาปูนขาวหว่านป้องกันไรมากินเชื้อเห็ด ได้ผลหนูไม่กล้ามาทึ้งจุกเห็ดเลยค่ะ

ขอบคุณครับ  เพิ่งทราบน่ะครับว่า ตัวไรก็มากินเห็ดเหมือนกัน  ความรู้ใหม่ :admire2:

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

วิธีของผมก็เอามาจากสมาชิกของเราคือนำ้หมักชีวภาพใช้มะกรูด(มะกรูด 3 กก. กากน้ำตาล 1 กก.)หมัก1 เดือน เติมน้ำอีก 10 ลิตร หมักต่อ 2 เดือน รวม 3 เดือน เวลาอาบน้ำสุนัขนำน้ำหมักที่ได้ผสมน้ำ
ปรากฎว่าหมัดหล่นมาเพียบ ก็เลยแนะนำให้เพื่อนบ้านใช้ต่อ  เคยไปซื้อที่ตลาด ขวดละ 60 บาท คุ้มค่ากว่ากันเยอะต่อไปจะหมักขายให้เพื่อนบ้านขวดละ 10 บาท (ค่ากากน้ำตาลครับ)

เอ... อย่างนี้สูตรมะกรูดของคุณสมศักดิ์ก็ใช้แทน Bayticol ได้ซิน่ะครับ  รอบนี้ซื้อ Bayticol มาเพราะสัตวแพทย์เขาบอกว่ามันปลอดภัยกับสุนัข  สามารถผสมอาบได้เหมือนกัน  ฉีดตามพื้นเพื่อทำความสะอาดก็ได้ (น่าจะคล้ายๆ พวกเดทตอลน้ำ) 

เรื่องสูตรสมุนไพรไล่หมัดรู้สึกจะเคยเห็นคนพูดถึงตระไคร้หอมด้วยนะครับ  เอาไว้รอบหน้าผมจะลองสูตรสมุนไพรดู  แต่ก็แอบหวังนิดๆ ว่า ถ้าหนูลดจำนวนลงบ้างปัญหาหมัดก็จะลดลงตามไปนะครับ

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

ข้อมูลดีมาก ๆ ครับพี่..ยาว วิชาการเยอะมาก ๆ ครับ ที่พี่เขียนมาผมไม่รู้จักเลยพี่เชื้อรา... และไส้เดือนฝอย  แถวบ้านผมมีแต่ไส้เดือนตัวใหญ่ ๆ นะครับ..เทคโนโลยีกับผมนะไม่ค่อยสัมพันธ์กันเท่าไรครับ โหวต ๆ

 

เทคโนโลยีอารายกันน้องศิษฐ์  แค่ช้อป จ่าย ใช้ ง๊าย..ง่าย  ไม่ต้องรู้เรื่องอารายเลย  ง่ายกว่าทำระบบน้ำของน้องศิษฐ์ซะอีก แต่แอบไม่พอเพียงเพราะต้องพึ่งกรมวิชาการเกษตรอยู่เรื่อย :shy:

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

ได้อ่านบล็อกและคอมเม้นท์ต่าง ๆ ได้ความรู้เยอะเลยค่ะขอบคุณทุกคนที่แสดงความคิดเห็นดี ๆ นะคะ  โหวตค่ะ

มีความสุขกับการที่ได้ให้มากกว่าการที่ได้รับ

:embarrassed: :embarrassed:

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

หน้า