ทำสบู่ไว้ใช้เอง

หมวดหมู่ของบล็อก: 

หลังจากที่ไปอบรมการทำน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ หนแรกๆ ก็รู้ว่ามีการอบรมการทำสบู่อีก ก็เลยเข้ารับการอบรม ก่อนหน้านี้ สมัยเรียนปี 1 วิชาอนินทรีย์เคมี จำได้ติดตามาจนบัดนี้ว่า ตอนทำแลบ เคยทำสบู่ และน้ำนมแมว ตอนนั้นนึกถึง กลอนของสุนทรภู่บทหนึ่งที่ว่า

อันความรู้ให้กระจ่างเพียงอย่างเดียว  แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล


หลังจากผ่านการอบรมมาแล้วทั้งสองเรื่อง ก็ทำน้ำมันมะพร้าวก่อน จนบางครั้งบางคราวมีน้ำมันเหลือก็เอามาทำสบู่ แรกๆก็ใช้สูตรน้ำมันมะพร้าวอย่างเดียว ได้สบู่ออกมาก้อนแข็ง ฟองมาก ละเอียด

ตอนอบรมทำสบู่ เขาก็มีสูตรให้ผสมน้ำมันหลายชนิด เพื่อจะได้คุณสมบัติของสบู่แตกต่างกันไป ผมก็พยายามทำสบู่จากน้ำมันผสม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สู้ใช้น้ำมันมะพร้าวอย่างเดียวไม่ได้ ก็เลยทำแต่สบู่น้ำมันมะพร้าวมาเรื่อยๆ ก็ทำใช้เป็นส่วนใหญ่ แจกมั่งเวลาเจอพรรคพวก แต่ว่ายังไม่เคยทำขาย ถึงทำได้ดีแล้ว ก็ยังไม่ทำขายอยู่ดี

การทำสบู่จากน้ำมัน เป็นการทำปฏิกริยาระหว่าง น้ำมัน กับ ด่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ โซดาไฟ หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ ใครที่กลัวโซดาไฟ (เช่นเจ๊โส) ก็ไม่ต้องกล้ว เพราะสบู่ก้อนที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปก็ทำมาจากส่วนผสมสองอย่างนี้ด้วย

ขบวนการนี้เรียกว่า Saponification (ลองเอาคำนี้ไปถามอากู๋ ก็จะรู้เรื่องอย่างละเอียด และหากเอาไปถาม Youtube ทั้งภาพ ทั้งเสียง การทำสบู่แบบต่างๆ ก็จะออกมาให้ดู หรือถ้าเข้า pantip.com ก็จะเจอบทความจากคนที่ทำแล้วเอามาโชว์ให้ดูแบบ พวกเราปลูกต้นไม้แล้วเอามาแสดงใน บล๊อก)

น้ำมันที่นำมาทำสบู่ได้ ก็เป็นน้ำมันที่บริโภคได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นน้ำมันเครื่องรถ ไม่สามารถนำมาทำได้ น้ำมันแต่ละชนิดจะทำปฏิกริยากับด่างได้พอดีๆ ในปริมาณด่างที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องรู้เรื่องนี้อีกเรื่อง คือเรื่อง Saponification Number ก็ขอยกตารางจากเวบ 

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=agrinat&month=07-2007&date=19&group=3&gblog=1

มาให้ดู

ตารางค่า Saponification หรือปริมาณของด่าง (NaOH) ที่ทำปฏิกิริยาพอดีกับไขมันชนิดต่างๆ น้ำมัน หนัก 1 กรัม ใช้โซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) กรัม
ไขมันวัว 0.1292
ไขมันหมู 0.1276
น้ำมันมะพร้าว 0.1692
น้ำมันปาล์ม 0.1306
น้ำมันมะกอก 0.1246
น้ำมันงา 0.1266
น้ำมันรำข้าว 0.1233
น้ำมันเมล็ดทานตะวัน 0.1256
น้ำมันถั่วเหลือง 0.1246
น้ำมันข้าวโพด 0.126
น้ำมันละหุ่ง 0.1183
ขี้ผึ้ง 0.0617

ค่าของน้ำมันมะพร้าว = 0.1692 ประมาณเอาว่า 0.17 หมายความว่า ถ้าใช้น้ำมันมะพร้าว 1 กรัม ต้องใช้โซดาไฟ 0. 17 กรัม ปกติถาดที่ผมทำจะใส่ได้ประมาณ 500 กรัม ผมต้องใช้ด่าง 500 x 0.17 = 85 กรัม

อีกอย่างคือ น้ำ ใช้ละลายด่าง ปริมาณน้ำ ที่ใช้ประมาณ 36 % ของน้ำมัน = 500 x 36 % = 180 กรัม

ตาชั่ง ใช้ตาชั่งแบบนี้ก็พอได้ครับ

น้ำมันมะพร้าว ทำเอง ขวดซ้ายมือ ใสแจ๋วเหมือนขวดขวามือ

น้ำมันมะกอก(virgin) และน้ำมันปาล์ม(ไม่ virgin)

ขวดฝาเขียวใส่โซดาไฟ ฝาเหลือง วาสลิน ใช้ทาถาดทำพิม จุกแดง น้ำหอม แก้วกาแฟ ใช้ตวง

ถาดเป็นพิม ไม้บรรทัด และโพย โลหะต้องเป็น สแตนเลส ครับ ห้ามใช้อลูมิเนียม

ถ้วยใส่น้ำผสมด่าง ต้องใช้แก้วทนความร้อน เพราะปฏิกริยาตอนด่างละลายน้ำจะร้อนมาก

และที่สำคัญ ต้องเทด่างลงในน้ำ เท่านั้น

เมื่อก่อนใช้ทำขนม เดี๋ยวนี้โดนยึดมาทำสบู่แล้วครับ

เทคนิกการปั่น ใช้ความเร็วต่ำในตอนแรกสักสองนาที แล้วปรับความเร็วให้สูงขึ้น ระดับที่ สองและสาม การปั่นใช้เวลา 5 นาที หยุด 5 นาที(เพราะเมื่อยมือ) ทำไปเรื่อยๆ จนส่วนผสมข้น แล้วเทใส่พิม

เวลาทั้งหมดในการปั่นจนข้น ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมัน น้ำมันมะพร้าวใช้เวลาน้อย แต่ถ้าเป็นน้ำมันผสมจะใช้เวลานานกว่า แต่อย่างน้อยก็เกือบ ชั่วโมง

ข้อควรระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ ใส่ถุงมือ เสื้อแขนยาว กางเกงด้วย หรือผูกเอี๊ยม (ผ้ากันเปื้อนที่เป็นพลาสติก) สวมแว่นด้วย หาน้ำส้มสายชูสักขวด มาวางไว้ใกล้ๆมือ (เอาแบบสายชูกลั่น อสร ก็พอ) ไว้ล้างมือเมื่อโดนด่าง

เวลผ่านไปไวเหมือนโกหก พอข้นได้ที่ ก็เทใส่พิม ต้องทาพิมด้วยวาสลีนก่อน

อย่าลืม เดี๋ยวสบู่จะไม่เป็นก้อน ถาดนี้ความจุเยอะหน่อย ได้ไม่เต็มพิม

ถาดนี้ เต็มพิม พอดี

ตั้งไว้ในถาดนี้อีกวันหรือสองวัน จนก้อนแข็ง จึงค่อยเคาะออจากพิม แต่ถ้าขี้เกียจเคาะก็เอาไปแช่แข็งสักครึ่งวัน ก็จะเคาะออกได้ง่าย หลังจากนั้นก็เอามาตัดเป็นก้อนๆ ขนาดเหมาะมือ แล้วห่อด้วยกระดาษขาว กระดาษห่อไก่ปิ้ง ไก่ทอด ที่ซับน้ำมันได้ ทิ้งไว้อีก (ไม่ใช่ทิ้ง) ตั้งไว้อีก เดือนนึง แล้วค่อยเอามาใช้

ลืมใส่น้ำหอม ถ้าใช้แต่น้ำมันมะพร้าวก็ไม่มีกลิ่นอะไร เอาไปถวายพระได้ ใช้แล้วไม่อาบัติ แต่ถ้าพวกน้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันปาล์ม ต้องดับกลิ่นก่อน การดับกลิ่นน้ำมันก็ใช้กลิ่นหอมที่คนใช้(สบู่)ชอบ ผสมลงไปก่อนเทสบู่ลงพิม 

ก้อนสบู่ที่ตัดแล้ว ห่อกระดาษแล้ว ไม่ได้นำมาให้ดูเพราะตอนถ่ายรูป ยังไม่ได้ตัดครับ

รายละเอียดวิธีการ ก็ดูตาม ลิ้งค์ที่ให้มาครับ หรือถามอากู๋ และ Youtube ตามที่บอก แต่ถ้าติดขัดไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามมาในบล๊อกนี้ได้ครับ

ความเห็น

สบู่นี้ทำไม่ยากครับ ระวังความปลอดภัยจากด่างได้ดีแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้  แต่ตอนนี้อยากได้ ๒ ก้อน เอาชนิดเป็นด่างแก่ๆ ให้เจ้านนท์ ๑ ก้อน และผม ๑ ก้อน (ใช้ไม่เปลืองเพราะไม่ค่อยอาบน้ำ)  Laughing

สบู่นี้ ทำเสร็จแล้วต้องเก็บไว้นานเป็นเดือน เพื่อให้ด่างทำปฏิกริยากับสบู่ให้หมด ด่างจะได้ไม่มากัดหน้า กัดตัวคนใช้ครับ ยิ่งเก็บไว้นาน ก้อนสบู่ก็จะแข็งขึ้น เพราะน้ำที่ใส่ลงไปจะระเหยออกมา รอให้ราคากะทิลงมาอีกหน่อย จะทำน้ำมันมะพร้าวแล้วเอามาทำสบู่แจกกันครับ

ลุงพูนคะ ถ้าแจกสบู่เมื่อไหร่ ให้น้องดูสักก้อนนะคะ ยังไม่เคยเห็นสบู่ที่เขาทำเองเลยค่ะ เคยแต่ซื้อที่เขาทำขายและใส่แพคเกจสวยๆแล้วค่ะ กรุณาด้วยนะคะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

ดีใจจัง  ขอบ้างนะคะ  อยากลองใช้สบู่จากน้ำมันมะพร้าวบ้างน่ะค่ะลุงพูน  ฝากที่อยู่ไว้ให้ก่อนเลยนะคะ   ขอบคุณล่วงหน้านะคะ

ขอถามลุงพูน เรื่องสูตร หน่อยครับ ไม่รู้มาช้าไปหรือเปล่าพอดีพึ่งเปิดเจอ

ผมสงสัยว่า จากสูตร น้ำที่ใช้ในการละลายด่าง 36% ของ น้ำหนัก น้ำมัน 

แต่มันขัดกับเวป blog ที่ลุงพูนแนะนำให้ไปอ่าน น่ะครับ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=agrinat&month=07-2007&date=19&g... 

ใน blog นั้น อธิบายอย่างนี้ครับ

ตัวอย่าง 
สมมุติว่ากำหนดสูตรสบู่ ประกอบด้วยน้ำมันชนิดต่าง คือ น้ำมันมะพร้าว 300 กรัม + น้ำมันปาล์ม 300 กรัม + น้ำมันงา 400 กรัม จะคำนวณหาน้ำหนักด่างได้ ดังนี้
• น้ำมันมะพร้าว 300 กรัม ใช้ NaOH = 0.1692 x 300 = 50.76 กรัม
• น้ำมันปาล์ม 300 กรัม ใช้ NaOH = 0.1306 x 300 = 39.18 กรัม
• น้ำมันงา 400 กรัม ใช้ NaOH = 0.1266 x 400 = 50.64 กรัม
ดังนั้นน้ำมันทั้ง 3 ชนิด(มะพร้าว 300 กรัม + ปาล์ม 300 กรัม + งา 400 กรัม)รวมกันเป็นน้ำมันทั้งหมด 1000 กรัม จะต้องใช้โซดาไฟเท่ากับ 50.76 + 39.18 + 50.64 = 140.58 กรัม

3.น้ำและการคำนวณหาปริมาณ
ปริมาณของน้ำที่ใช้ในการละลายด่าง หาได้จากสูตรดังต่อไปนี้
น้ำหนักน้ำ = ( น้ำหนักด่าง x 2.33 ) 
จากตัวอย่าง น้ำหนักด่างที่หาได้ = 140.58 กรัม
น้ำหนักน้ำ = ( 140.58 x 2.33 ) 
= 327.5514 หรือประมาณ 327.55 กรัม

 

เหมือนกับว่า น้ำหนักน้ำ = 2.33 x น้ำหนักด่าง 

* งง ตรงนี้แหละครับ ไม่รู้ว่า 2.33 มาจากไหน

แต่ถ้าคำนวนจาก สูตรของลุงพูน 

ประมาณ 36 % ของน้ำหนักน้ำมัน ก็น่าจะได้ 1000x36%= 360 กรัม ไม่รู้ว่าผม อ่านผ่านตรงไหนไป แล้วก็เลยไม่รู้ จะใช้ ค่าไหน ครับ 

รบกวนลุงพูน ช่วยแนะนำด้วยครับ

ลุงพูนขายน้ำมันมะพร้าวไหมค่ะ หนูอยากซื้อจากลุงพูนจัง เพราะว่าหนูได้เอาสูตรลุงพูนมาทำแล้ว จนตอนนี้ขายได้แล้วน่ะค่ะ แต่น้ำมันมะพร้าวตามห้างก้แพงเหลือเกินค่ะ 

 

หน้า