เอาเรื่องหนักๆมาให้อ่านเล่นกันมั่ง

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ไปอ่านบทความย้อนหลัง จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 24 พค. 2552 http://www.thaipost.net/sunday/240509/5144 เลยนำมาให้อ่านเป็นตอนๆ

(ทำ Link ไว้ให้ด้วย บอก Url ของที่มาเอาไว้ด้วย ไม่ทราบว่าพอเพียงไหมครับ ท่านผู้ใหญ่ เพราะอยากให้ได้อ่านกันตรงนี้)

 

ความทรงจำนอกมิติ

24 พฤษภาคม 2552

  ระบบศึกษาสอนให้เราก้าวร้าวเห็นแก่ตัว

     ถ้าถามครูหรือนักเรียน   หรือนักการศึกษาที่เป็นนักจิตวิทยาและนักศาสนปรัชญา   ว่าเราทั่วทั้งโลกต้องการให้ระบบการศึกษาของลูกหลานของเรามีเป้าหมายเช่น ไร?  ระหว่างสติปัญญาความฉลาดเป็นหลักที่เราใช้การสอบแข่งขันเช่นในปัจจุบัน?  หรือว่าจะเอาทักษะหรือพรสวรรค์ที่เด็กทุกคนย่อมจะมีศักยภาพแตกต่างกันไป?  หรือว่าต้องการให้สังคมได้คนดีมีคุณธรรมในวันหน้าดี?  ผู้เขียนคิดว่าถึงเถียงกันให้ตายไปข้างหนึ่งก็ยังสรุปไม่ได้เพราะถูก ทั้งหมด   และนั่นคือระบบการศึกษาของเราในปัจจุบัน   ที่มีแต่การปฏิรูปกับการปฏิรูปวนเวียนกันไป   แล้วแต่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลกับครูคนไหนเป็นใหญ่ในระบบการเรียนรู้ของเรา   จริงๆ  แล้วน่าจะเอาทั้งสามประการเป็นหลักเท่าๆ  กัน   การเรียนรู้จากภายนอก  (สองอย่างแรก)  กับภายใน  (อย่างหลัง)  นั้นย่อมจะดีที่สุด   ประเด็นก็คือ   เราจะหามาตรฐานระดับชาติหรือระดับโลกอย่างไร?  หรือพูดง่ายๆ  เราจะชี้วัดทั้งสามหลักว่าเท่าๆ  กันด้วยวิธีไหน?  บทความนี้เป็นการสะท้อนความคิดของผู้เขียนที่เอาธรรมชาติ  (ทั้งกายและจิต)  กับความไม่เที่ยงหรืออนิจจตาของมนุษย์และสังคมของมนุษย์เป็นฐาน

     ได้พูดได้เขียนมาหลายหนแล้วว่า   ระบบการศึกษาของบ้านเรา-ที่เราลอกเลียนมาจากทางประเทศตะวันตกทั้งแผง   ตั้งแต่ชั้นอนุบาลและขั้นประถม   จนกระทั่งถึงมหาวิทยาลัยทั้งที่เป็นของรัฐหรือเป็นอิสระ   แต่ในนามรวมโรงเรียนและวิทยาลัยเอกชนแทบจะทั้งหมด-ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของ หลักการกาย-วัตถุนิยมและแยกส่วน   หรือกระบวนทัศน์เก่าที่ล้าสมัยของโลกตะวันตก  ซึ่งอาจเหมาะสมกับช่วงเวลาเมื่อ  150-200  ปีก่อน   ซึ่งมองเห็นว่า  "ทุกสิ่งทุกอย่างมีคุณค่า  (หรือราคา)  และความหมายอยูที่ว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างนั้น  'มนุษย์'  สามารถเอามาใช้ได้หรือเป็นประโยชน์หรือไม่เท่านั้น"  กระบวนทัศน์เก่าจึงหมดสมัยทั้งผิดธรรมชาติอย่างแรง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่สามารถที่จะแก้ใขหรือปฏิรูปอย่างหนึ่งอย่างใดได้  นอกจากการปฏิวัติถอนทิ้งทั้งรากทั้งโคน   แล้วเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดสู่กระบวนทัศน์ใหม่   กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงที่จะให้วิถีชีวิตสำหรับปัจเจกชนวิถีใหม่ และสังคมโดยรวมสังคมใหม่  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดทั้งสิ้นที่ไม่ใช่เป็นการสมยอมประนีประนอมกัน  (transformation  not  accommodation)  แต่ก็ไม่มีผู้ใดในวงการศึกษา  ในที่นี้บ้านเราจะฟังแล้วเอาไปคิด   ฉะนั้น  ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนหรือใครที่มาครองเมือง-ซึ่งบ้านเราเปลี่ยนกันบ่อย เหลือเกิน-มันจึงได้มีแต่การปฏิรูป  ปฏิรูปซ้ำแล้วซ้ำอีกจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร   เพราะว่าทั้งหมดนั้นมีครูมีอาจารย์  นักการศึกษาที่ไปเรียนมาจากที่ต่างๆ  ที่เมืองนอกหรือประเทศตะวันตกมากมาย   และบางคนได้ถูกนักการเมืองเรียกมาปรึกษาในช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล   แต่ละคนก็จะรู้จักอยู่แต่กับการปฏิรูประบบการศึกษา   เพราะคิดว่ารูปแบบและเนื้อหาของการศึกษาที่เป็นอยู่-ก็เช่นเดียวกันกับระบบ เศรษฐกิจทุนนิยม-ที่คิดว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ที่ต้องเห็นแก่ ตัว  "กูก่อน"  จึงเปลี่ยนไม่ได้  เพราะว่าประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าตำรับเหล่านั้นเองล้วนรู้จักแต่แค่นั้น   คือรู้จักแต่กับการปฏิรูป  ฉะนั้น  แม้ว่าจะรู้ว่าระบบการศึกษาของตนมีปัญหาที่ต้องแก้   แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร?  เพราะพื้นฐานที่ระบบการศึกษาของตนและทั้งโลกตั้งอยู่   ล้วนแล้วแต่ตั้งบนหลักการกาย-วัตถุนิยมและแยกส่วน   ซึ่งผิดธรรมชาติแห่งองค์รวม   ซ้อนองค์รวม   ซ้อนๆ  องค์รวม...ที่มีใยเยื่อประสานกันให้เป็นหนึ่งเดียว-ในรายละเอียด    เราต้องลงไปหลังหลักการกาย-วัตถุนิยมแยกส่วน  ถึงจะเห็นว่าระบบการศึกษาของโลก   รวมทั้งที่บ้านเรา-ในปัจจุบันนี้   มันผิดธรรมชาติอย่างแรงถึงสี่ประการ   คือหนึ่ง-มีศูนย์กลางที่มนุษย์  (anthropocentric)  สอง-ขาดความพอเพียงพอดีและยั่งยืน  (unsus-tainable)  สาม-วัตถุประสงค์อยู่ที่เงินไม่ใช่เพื่อความรู้ (money-based  education)  ซึ่งเงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมุ่งสร้างความเห็นแก่ตัว  และผิดธรรมชาติยิ่งกว่าระบบการศึกษาเสียอีก   สุดท้ายข้อที่สี่-ส่งเสริมอุ้มชูความฉลาดทางอารมณ์ (emotional  intelligence)  ผิดทาง-โดยครูหรือโรงเรียนจะเน้นแต่   วิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพเพียงอย่างเดียว   เด็กจึงคงความเป็นสัตว์   แยกพรรคแยกพวกและความก้าวร้าว - เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าเป้าหมายของการศึกษาของเราคือ   สนับสนุนความรุนแรงและเห็นแก่ตัวหรือการเอาตัวรอดโดยไม่รู้ตัว   ที่มีพื้นฐานตั้งบนวิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพและจิตรู้เท่านั้น

     ความคิดของมนุษย์เราที่เห็นว่ามนุษย์มีความสำคัญเหนือสรรพสิ่งใดๆ  รวมทั้งชีวิตที่หลากหลายนับเป็นล้านๆ  เผ่าพันธุ์สปีชีส์   พูดกันจริงๆ  คนส่วนใหญ่มากๆ  อาจจะคิดว่าแม้ว่าโลกทั้งโลกเป็นดุจยานที่ท่องเที่ยวไปในอวกาศ   โดยมีแต่มนุษย์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวท่ามกลางเทคโนโลยี   ท่อไอและหลอดยางต่างๆ  ดังที่เอดเวิร์ด  โอ.วิสสัน  เขียนกระแนะกระแหนคนที่ไม่เห็นความหมาย-ไม่เข้าใจความสำคัญของระบบนิเวศน์ และชีวิตอื่น  เผ่าพันธุ์อื่นๆ  ไว้ก็ได้   มนุษย์จึงสำคัญตนว่าใหญ่ยิ่งกว่าฟ้า   หรือหัวเราะเยาะเย้ยเหวยๆ  ฟ้าเสียอีก  นั่นคือ  เทพ-กษัตริย์  (god-king)  นั่นคือจักพรรดิ  คือซีซาร์ส  คือ  ปโตเลมีส์-คอนซีต (Ptolemies conceit  หรือ  anthropocentric)

     ความยิ่งใหญ่ของเด็กวัยรุ่นในระยะต้นๆ  (หรือ  idea  of  Grander)  ในช่วงแห่งการเจริญเติบโตของเด็กวัยรุ่นที่ว่านั้น   ซึ่งตรงกันกับวิวัฒนาการของมนุษย์ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งของปัจจุบันวัน นี้   ซึ่งนักจิตวิทยาแทบจะทุกคนต่างเชื่อและกล่าวเช่นนั้น  ในความเห็นของผู้เขียน   วิวัฒนาการของจิตไม่ได้มีมูลเหตุจากกามารมณ์ในเด็กทั้งหมด   แล้วก่อเป็นปมด้อยปมเด่นในวันหลังที่ซิกมันด์  ฟรอยด์  เชื่อ  แม้แต่อีดีปัสคอมเปลกซ์  (Edepus  complex)  ที่ฆ่าพ่อแล้วเอาแม่ทำเมียเพราะไม่รู้   ก็ไม่ใช่ปมด้อยปมเด่นอะไรดังที่ฟรอยด์คิด   แต่เป็นเรื่องวิวัฒนาการทางจิตจากระดับมีทธิค (mythic)  สู่ระดับตัวตนกับเหตุผล  (self  egouc  rational)  ที่สูงกว่า  (ดู เคน  วิลเบอร์)

     ระบบการศึกษาทั่วทั้งโลกในปัจจุบันนั้น   มีแต่การปฏิรูปและปฏิรูป   หรือการปะโน่นปะนี่โดยฐานรากของระบบยังเป็นเช่นเดิม   การเอาเด็กที่อยู่กับป่าฝนและภูเขามาให้เห็นป่าโกงกางและทะเล   หรือในทางกลับกันไม่ได้ช่วยให้เด็กเข้าใจระบบนิเวศน์หรือธรรมชาติมากนัก   หากเราไม่ได้คิดถึงความสัมพันธ์และพึ่งพากันของทุกสิ่งทุกอย่าง   นั่นคือการศึกษาในปัจจุบันนี้ที่เราไม่ได้คิดถึงความยั่งยืนของธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม  "อย่างเป็นระบบ"  ทั้งยังเป็นระบบที่ทั้งหมดเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างที่แยกจากกันไม่ได้เสีย ด้วย   ผู้เขียนเชื่อว่าธรรมะในศาสนาที่อุบัติขึ้นที่อินเดียรวมทั้งพุทธศาสนา   มีความหมายส่วนหนึ่งอยู่ที่ธรรมชาติที่เราสัมผัสและรับรู้มันในทุกเมื่อ เชื่อวัน   อันมีเรื่องของระบบนิเวศน์ของไบโอสเฟียร์เป็นหัวใจ  (ecology)  ซึ่งมีมนุษย์และสังคมของมนุษย์เป็นส่วนเสี้ยวของข่ายใยแห่งชีวิต  ซึ่งเป็นองค์รวมที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกัน   กระบวนการเรียนรู้ที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน   และมีระบบนิเวศน์ของโลกทั้งหมดเป็นหัวใจนี้   ย่อมชักนำให้การศึกษาของเด็กไทยและเด็กทั่วทั้งโลกเปลี่ยนแปลง   ทั้งมนุษย์โดยปัจเจกกับสังคมโดยรวม   ไปสู่สิ่งใหม่วิถีใหม่ที่ลึกล้ำ   พอเพียงพอดีและยั่งยืน

    ระบบการศึกษาของเรา    มีเป้าหมายที่เงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับสมัยที่นิวตัน  จอห์น  ล็อก  และจอห์น  สจวต  มิลล์   ซึ่งมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นใหญ่   ทรัพยสินที่เป็น  "ของโลก"  กลับกลายเป็น  "ของกู"  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบการศึกษาของโลกจึงกลายเป็นระบบที่รับใช้ทุนนิยม  หรือทรัพย์สินกับความมั่งคั่ง   การศึกษาจึงเป็นไปเพื่อหางานทำหรือเงิน   ส่วนความรู้จะเป็นแต่ผลพลอยได้เพื่อหลอกให้เด็กนักเรียนแข่งขันกันเพื่อสอบ ผ่านให้ได้หรือเป็นแชมเปียน   การแข่งขันกันดังกล่าวจะเป็นประหนึ่ง "สุกเอาเผากิน"  ที่ทำให้เด็กรู้เฉพาะเวลาใกล้สอบ   โดยที่ความรู้ที่เรียนมาตั้งหลายปีนั้น   ส่วนใหญ่มากๆ  ไม่ได้เป็นความรู้ที่เด็กต้องรู้   หรือเป็นประโยชน์ที่เด็กสามารถจะนำไปใช้ได้ชั่วชีวิต

     เรื่องของอารมณ์ทางด้านลบ  เช่น  ความก้าวร้าว  และความขัดแย้งแตกแยกจนเป็นความรุนแรง   หรือสงครามที่ไม่ได้แตกต่างกันโดยหลักการ   ล้วนเป็นเรื่องที่เราทุกๆ  คนได้ยินได้ฟัง  หรือได้เห็นกันในทุกๆ  วันก็ว่าได้   อย่างน้อยก็จากโทรทัศน์ซึ่งมีส่วนที่ไม่เหมาะสมกับเด็กในวัย   ที่ยังมีการเจริญเติบโตมากกว่าส่วนที่เหมาะสมยิ่งนัก   แม้แต่กับผู้ใหญ่เองสำหรับระดับจิตที่มนุษย์ส่วนใหญ่มีอยู่ในปัจจุบัน   ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น   ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยโดยเฉพาะกับเด็กๆ  ในวัยต่ำกว่า  11  ขวบ   ทุกวันนี้มีการวิจัยมากมาย   โดยเฉพาะการปฏิบัติสมาธิในเด็กกับความฉลาดทางอารมณ์  (EI  or  emotional  intelligence)  หลังจากที่แดเนียล  โกลแมน   ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด   ได้เขียนหนังสือเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ขึ้นมาในปี  1995  ที่ขายดีมากๆ  ตามที่ผู้เขียนได้เล่าเมื่อวันอาทิตย์ก่อน   แดเนียล  โกลแมน  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า   ครูและโรงเรียนสามารถสอนให้เด็ก-หากว่าเป็นหลักสูตรสำคัญของสาขาวิชาในทุก วิชาของการศึกษาของประเทศ-มีความฉลาดทางอารมณ์ได้  และได้ดีเสียด้วย    ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถจะเผชิญหน้ากับ ภยันตรายต่างๆ ความรุนแรงกระทั่งวิกฤติที่เลวร้าย  เป็นต้นว่าเป็นผู้มีสติได้ในทุกเวลา  สามารถควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา   มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น   และเป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์กับใครต่อใครในสังคมได้ดี  พูดง่ายๆ  โกลแมนบอกว่า   การศึกษาความฉลาดทางอารมณ์มีแต่จะผลิตสร้างคนดีที่มีคุณธรรม   รวมทั้งยังเป็นผู้ที่รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม   หน้าที่นั้นมีสองอย่าง  คือหน้าต่อส่วนรวมที่ตนได้รับการมอบหมายมา   ซึ่งมักมีเงินหรือผลประโยนช์ตอบแทน  เช่น  ตำรวจ  (legal duty)  กับหน้าที่ทางคุณธรรมหรือจิตใจที่ไม่มีอะไรตอบแทน  แต่มักเต็มใจทำยิ่งกว่า  เช่น  หน้าที่ต่อพ่อแม่  (moral duty)  ซึ่งทุกวันนี้อย่างแรกยังพอหาได้  แต่หาผู้รับผิดชอบจริงๆ  ได้ยากมาก 

     พุทธศาสนาบอกให้เรารู้ว่า   คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ด้วยหน้าที่  และหน้าที่นั้นหมายถึงจิตใจและคุณธรรม  จริยธรรม  ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ  ซึ่งเราจะต้องมีความรับผิดชอบเป็นสร้อยตามหน้าที่ห้อยท้ายเอาไว้เสมอ   หน้าที่นั้นส่วนหนึ่งจะเป็นเรื่องของการกระทำหรือกรรมในอดีต   ที่เราจำต้องรับผิดหรือรับชอบอย่างไม่มีทางหลบหรือหลีกหนีได้พ้น  เพียงแต่ที่ภพภูมิไหนและเมื่อไรเท่านั้น   เพราะว่าจิตนั้นไม่ได้ตายหรือหายสาบสูญไปพร้อมๆ  กับรูปกายที่เราเพียงยืมมาจากโลก  ซึ่งก็ต้องคืนกลับไปเมี่อไม่ใช้ทำอะไรอีก  ตราบใดที่เรายังไม่ได้หลุดพ้นและยังคงอยู่ในวัฏสงสาร  หรือโลกที่มีสามมิติ (บวกหนึ่ง) แห่งนี้.

ความเห็น

ลุงพูนคะ...ชอบบทความนี้มากค่ะ..แท้จริงแล้วศาสตร์การศึกษาในปัจจุบันถูกตีกรอบโดยมหาอำนาจที่คิดว่าโลกเป็นของเขาจึงสร้างกรอบเพื่อเอาเปรียบประเทศอื่นๆ  สร้างระบบและโครงสร้างที่ดูเหมือนมีคำตอบว่าทำตามระบบนี้แล้วจะมีสุข..แต่ดัชนีความสุขของเด็กไทยกลับหดหาย..พ่อแม่ยืนเข้าคิวรอลูกเรียนพิเศษ..ไม่ได้นึกสงสารเลยว่าสุดท้ายเด็กจะทุกข์เท่าไรแท้จริง..โลกไม่ใช่ของเราโลกเป็นของทุกคนการศึกษาจะต้องเข้าใจโลก เด็ดดอกไม้ดอกหนึ่งสะเทือนถึงดวงดาว..แค่ดอกไม้ดอกเดียวยังทำให้โลกเปลี่ยน..ศาสตร์ของเอเชียต่างหากที่เข้าใจโลก..แต่คงอีกนานเพราะผู้ใหญ่ของเราเชื่อในระบบตะวันตก..ไม่รู้จะอีกนานมั้ยกว่าเราจะเข้าใจแก่นของศาสตร์..

      แฮะๆ  อ่านแล้วอย่าเครียดมากนะคะเพราะยังไงชีวิตก็ต้องเดินไปอยู่ดี

อีกหนึ่งมุมมองค่ะ

"เชื่อในผล แห่งการทำความดี"

ระบบทุนนิยม ก็เหมือนกับระบบทั่วไปที่มีทั้งสองด้าน ด้านดีให้เกิดการแข่งขัน ขวนขวายและไม่หยุดนิ่ง อันเป็นปัจจัยสู่การพัฒนา ด้านลบก่อให้เกิดการโอกาสของความที่แข็งแรงกว่า ฉลาดกว่า เอาเปรียบและริดรอนผู้อ่อนด้อย  หากระบบเดินไปด้วยกติกาและจิตสำนึก ปัญหาคงไม่เกิด ช่องว่างคงไม่มาก แต่ที่เกิดเพราะความโลภและหลงในกระแสวัตถุทุนนิยมจนก้าวข้ามไปสู่การทำลายล้างไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนา 

เห็นด้วยในบทความนี้ ผมเองก็ได้สัมผัสโดยตรงจากประสบการณ์ในงานที่ทำอยู่ ระบบโรงเรียนที่มุ่งแข่งขันเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งทางวิชาการ ไม่ใยดีต่อความเป็นหนึ่งทางจริยธรรม (คงวัดผลง่าย เป็นรูปธรรมและตรงตามตลาด) ไม่คำนึงถึงปัญหาของเด็กที่จะตามมาในภายภาคหน้า หลายโรงเรียนสอนความรู้เกินกว่าระดับชั้นเรียนจริงของเด็ก เช่นเด็กประถมสี่ เอาภาษาอังกฤษของ ม.1 มาสอน หรือเอาคณิตระดับสมการ หรม/ครน.มาสอน โดยคิดเพียงว่าโรงเรียนนี้สอนนำเกินชั้นเรียนไปมากแล้ว โรงเรียนอื่นยังไม่พัฒนา หากลงลึกในรายละเอียดที่สอนกลับพบว่าไม่เป็นไปตามลำดับเนื้อหาขั้นตอนการพัฒนา สอนข้ามขั้นเป็นการจดจำหรือสอนเทคนิคให้เด็กทำได้มากกว่าสอนพื้นความรู้จากความเข้าใจในความเป็นมา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็หลงดีหลงงามคิดว่านี่คือเส้าหลินที่ทำให้ลูกเป็นอรหันต์ทองคำ สุดท้ายผลข้างเคียงจากยาแรงก็มาตกหนักที่เด็ก หลายคนเบื่อและมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียน โรงเรียนในกทม.(โดยเฉพาะรร.เอกชนดังๆ) เป็นอย่างนี้กันมาก แต่รัฐกลับไม่เห็นความสำคัญ

การแข่งขันที่ไม่จำกัดวงเฉพาะธุรกิจโรงเรียนแต่มันซึมลึกเข้าไปยังความคิดของผู้ใหญ่ที่ส่งผ่านไปยังเด็ก มุ่งแต่จะต้องเก่ง(ไม่จำเป็นต้องดี) แข่งขันเหยียบหัวกันขึ้นไป เพียงเพื่อก้าวสู่ความเป็นหนึ่ง ที่ร้ายกว่านั้น ผู้ใหญ่บางคนสอนเด็กว่าที่หนึ่งมีเพียงที่เดียว ถ้าไม่เหยียบคนอื่นจะขึ้นได้อย่างไร ทางขึ้นนอกจากสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเองแล้ว ยังต้องกีดและกันผู้อื่นด้วย ..เฮ้อ..มันเป็นความบัดซบของระบบการศึกษาไทยที่นับวันยิ่งทำให้คนเห็นแก่ตัวขึ้นไปเรื่อยๆ (แม้ว่าผมจะอยู่ในแวดวงนี้ แต่ผมก็มีจุดยืนและกล่าวได้เต็มปากว่าไม่เหมือนใครและกล้าที่จะเป็นกบฏต่อระบบค่านิยมเดิม)

ยังอยากเห็นบ้านเมืองเราพัฒนาก้าวหน้า ไม่ปฏิเสธการเติบโตทาง GDP.แต่ไม่อยากละเลยและอยากเห็นการเติบโตอีกด้านที่เป็น GHP. ประเทศเป็นสังคมใหญ่ก็เหมือนกับบ้านในสังคมเล็ก หากร่ำรวยเงินทองอยู่ดีมีวัตถุสมบูรณ์แต่คนในบ้านไร้น้ำใจ ไร้สึกนึกมุ่งเอาเปรียบพี่น้อง จ้องล้างผลาญไม่ซื่อต่อกัน บ้านจะมีความสุขได้อย่างไร

แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย

ผมเห็นด้วยกับลุงมากเลย

ผมอ่านแล้วยังเครียดเลยครับ

พยามยามหนีออกจากระบบทุนนิยม ออกมาดูแลสวน ด้วยความพอเพียง

แต่พอเจอบทความแบบนี้เข้า ก็อดที่จะนำเสนอไม่ได้


เป็นแง่คิดที่ดีครับ