ซีรีย์..ความพอเพียง..เพื่อเพียงพอ # 17 หาบข้าวเข้าลาน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

บล็อกนี้ใกล้จะจบขั้นตอนการทำนาปีนี้แล้ว วันนี้ก็เช่นเคยลงแขกกันหาบข้าว คนเยอะงานก็เสร็จไวยิ่งขึ้น แม้จะหนักและเหนื่อย ชาวนาจำเป็นแบบผมก็ต้องทน ปีนี้รู้ซึ้งกับคำว่า "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" แล้วว่ามันหนัก มันเหนื่อย แค่ไหนกับการทำนา แต่ก็ดีใจที่ได้ทำครับ


ภาพการหาบด้วยไม้คานหลาว เดี๋ยวนี้หาดูยากมาก ๆ ครับ ปีนี้ได้ใช้เพราะที่นามีน้ำรถลงขนไม่ได้ ย้อนยุคเลยครับ



ไม้คานหลาว เป็นไม้ไผ่ที่เหลาให้มีปลายแหลม ๆ 2 ด้านเพื่อใช้หาบข้าวจากในแปลงนาขึ้นมาไว้ที่ลาน ของแบบนี้เริ่มเลือนหายไปกับกาลเวลาแล้วครับ แต่ที่นายังได้ใช้อยู่


ผมจัดการดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ใช่เทคโนโลยีเข้าช่วยไม่ให้เจ็บบ่า ฮ่า ๆๆๆ รองเท้าแตะรองกันเจ็บบ่าได้อย่างดีเยี่ยมครับ


ลานข้าวสมัยใหม่ ใช้ตาข่ายสีฟ้าแทน เมื่อก่อนลานจะเป็นพื้นดินที่ทาด้วยขี้ควายเพื่อให้เรียบ ๆ  เปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน


คนงานเยอะ 2 คนช่วยกันเสียบมัดข้าวใม้คานหลาว ถ้าคนงานน้อย ๆ จะใช้ไม้ 3 ขาวางคานหลาวแทน เดี๋ยวนี้ไม้ 3 ขาก็เริ่มหาดูยากแล้วครับ


หาบ ๆ ทั้งไม้คานได้ประมาณ 20 มัดสำหรับผมสบาย ๆ เพราะมีตัวช่วยรองบ่า เวลาหาบข้าวมีข้อแม้ห้ามวางโดยเด็ดขาด ไม่งั้นข้าวจะร่วงออกจากรวง ฉนั้นคนที่หาบต้องคำนึงถึงกำลังและระยะทางที่จะหาบไปถึงลานด้วยไม่งั้นไหล่ทรุดกว่าจะถึง ฮ่า ๆๆๆ


อีกแบบ แบบนี้เรียกว่าแบกครับ วางมัดข้าวแล้วแบกใส่บ่าครับ ถนัดใครถนัดมัน


หลาน ๆ ก็มาช่วยเอาตามกำลัง ข้างละ 4-5 มัดก็หนักแล้วครับ


สุดท้ายหาบข้าวเหนียวดำพี่หยอย ไปไว้ที่เถียงนา (กระท่อม) เพื่อตีครับ สรุปได้ทั้งหมด 12 มัด


ไม่นานข้าวทั้งหมดก็ขึ้นมาอยู่บนลาน ปีนี้ได้ไม่มากครับข้าวล้มไม่ได้เต็มที่ งามเกินเหตุ




รวงข้าวสีทอง ปลอดสารพิษจากนาข้าวที่ทำมากับมือ สะท้อนแสงแดดยามเย็น


มือน้อย ๆ ของลูกสาวยื่นมือมาถามว่า เขาเรียกว่าข้าวอะไร พ่อตอบว่า "ข้าวเปลือกลูก"แล้วลองแกะดูซิลูก


ไม่นานลูกสาวตัวน้อยก็จดจ้องกับเมล็ดข้าวเปลือกแล้วบรรจงแกะ เมล็ดข้าวเปลือกอย่างตั้งใจ


แล้วมือน้อย ๆ ข้างเดิมก็ยื่นมาตามว่า "แบบนี้ใช่ไหมพ่อที่เขาเรียกข้าวสารนะพ่อ" พ่อตอบ "ใช้แล้วลูก"
แล้วคำตอบก็ปรากฎขึ้นในเด็กตัวเล็ก ๆ"แบบนี้ใช่ไหมพ่อที่เขาเอาไปหุงแล้วมาเป็นข้าวสวยในจานเมล็ดสี
ขาว" ๆ "ใช่แล้วลูก" พ่อตอบ

                    ปีนี้การทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน ก็เป็นจุดประสงค์หลัก แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมตั้งใจที่สุดก็คือการทำนาให้ลูกสาวได้เห็นถึงข้นตอนการทำ เห็นถึงความยากลำบากที่กว่าจะมาเป็นเมล็ดข้าวสีขาว ๆ สิ่งนี้เป็นผลพลอยได้ ที่แอบซึมซับความลำบากของอาชีพชาวนา ซึ่งเป็นบทเรียนที่ผมได้สอนลูกสาวตัวน้อย  ของผมผ่านการปฏิบัติจริง ถ้าทุกคนสังเกตุ การทำนาแทบทุกบล็อกที่ผมนำเสนอไปนั้น ลูกสาวก็จะได้เห็น ได้ลงมือทำไปด้วย แม้จะไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย (อาจจะยุ่งเสียมากกว่า) แต่ผมว่าสิ่งนี้ต่างหากคือความคุ้มค่าของการทำนาในปีนี้ของผม

                   การจะสอนเด็กด้วยวิธีการบอกเล่า ไม่เห็นภาพ ให้เด็ก ๆ จินตนาการ เอาเอง ยังไงก็ไม่เท่ากับการปฏิบัติจริง โรงเรียนชีวิตแบบความพอเพียงห้องใหญ่แห่งนี้ที่มี พ่อ-แม่ เป็นครู เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น ผมเองก็แอบคาดหวังไว้ว่าอย่างน้อย ๆ สิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้าไปในตัวลูกสาวของผมบ้างไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่เป็นผลตอบแทนได้จริง ๆ ซึ่งจับต้องได้ครอบครัวเราก็มีผลผลิตที่มาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน กินข้าวแต่ละคำก็มาจากความภูมิใจ ในสิ่งที่ได้ลงมือทำทั้งครอบครัว แม้ผลผลิตที่ได้มาจะไม่มากมายอะไร แต่ก็เพียงพอที่ไว้กินได้ตลอดทั้งปี นี้แหละครับความสุขเล็ก ๆ ของผมกับคำว่า "ชาวนา"

จะพอเพียง....เพื่อเพียงพอ...ให้ได้ในสักวัน

โปรดติดตามตอนต่อไป...wisit_photo@hotmail.com

ความเห็น

ใกล้จะได้กินข้าวใหม่แล้วอ้ายดีใจด้วยครับ ไม่ได้หาบมาหลายปีแล้ว

ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงหรือต่ำอยู่ที่ทำตัว


บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

บทเรียนอันแสนวิเศษ....น้องโฟกัส  ต้องจดจำสิ่งเหล่านี้ได้อย่างแน่นนอนแต่จะได้ทำเองหรือไม่ ไม่สำคัญ  เปรียบเทียบตัวป้าเองตอนเด็ก เตี่ยแม่ทำไร่ทำสวน ท่านไม่ได้บังคับให้ลูกๆ ทำแต่ป้าก็ยังจำได้ว่าทำอย่างไร เด็กวัยนี้เห็นแล้วลืมอยาก ทำดีจริงๆ คุณครู

คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก

เห็นภาพแล้ว นึกถึงสมัยตอนเด็ก ที่พ่อเคยพาหาบข้าวครับ พี่วิศิษฐ์

สิ่งไหนที่ยังไม่ทำ อย่าเพิ่งสรุปว่าไม่สำเร็จ

นึกถึงตอนเด็ก ๆ บ้านผมทำนา เล่นเป่าปี่ซังเข้า อ้อ อี้ แอ แต่ตอนนี้ นากลายเป็นสวนยางไปหมดแล้ว อยากจะย้อนกลับไปเหมือนเดิม เงินน้อย แต่ความสุขมาก 

 

อีกอย่างครับ  คุณถ่ายภาพได้สวยมากครับ  ทุกภาพชัดเจน มีชีวิต ขอชื่นชมด้วยใจจริง 

we

รวงข้าวสวยจริง ๆ  ขอชื่นชมคนขยัน และชอบวิธีสอนน้องโฟกัส  สมัยนี้น้อยครอบครัวนะคะที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวันยิ่งชีวิตในเมืองหลวงแล้วด้วย ยากมาก  แบบนี้ต้องโหวต :cheer3:

   พออยู่ พอกิน พอใช้ พอใจ = พอเพียง

ไม้คันหลาวมนก็หัวแต่เคยเห็นตอนเฮ็ดนาปีนี้ละอ้าย  แต่น้อยเท่าใหญ่ อยู่แต่ในเมืองเรียนหนังสือ พ่อกับแม่ก็ บ่ พาเฮ็ดนา เคยเฮ็ดแต่ข้าวไร่ตอนน้อยๆ  ใหญ่ขึ้นมาจักว่าเป็นหยัง  จิตใจมันหันเห มาทางการเกษต  เห็นนาเห็นไร่ แล้วมันหมั่นจ้าวๆ  อยากให้ถึงแต่เสาร์อาทิตย์สิได้ไปสวน  55

แรงกาย+แรงใจ ลงมือทำในวันนี้ เพื่อชีวิตที่พอเพียง

น้องโฟกัสโชคดีมากที่ได้พ่ออย่างคุณเป็นแบบอย่างที่ดีมาก


ซึ่งปัจจุบันใช้สื่อต่างๆช่วยสอนแทนทั้งนั้น

เจ็บบ่าบ่หำ(ภาษาถิ่น)

ประทับใจกับคำตอบของวิศิษฐ์ที่ตอบน้องโฟกัสนะ ตอนที่น้องโฟกัสถามเรื่องข้าวด้วยความสงสัยตามประสาเด็ก

เมื่อตอนที่อ๊อดเป็นเด็กวัยเท่านี้ ก็เคยสงสัยนะว่า "ข้าว" มาจากใหน!!!

เคยถามแม่ว่า แม่ "ข้าวมาจากใหน" แม่ก็ตอบอย่างรวดเร็วว่า มาจาก "หิน" ด้วยความที่เราเป็นเด็ก เราก็คิดเองตอบเองเลยว่า อ๋อ มิน่าล่ะ เวลาที่เรากินข้าวถึงได้เคี้ยวโดนหินบ่อยๆ ใช่ใหมแม่? แม่ก็ตอบอีกว่า "ใช่"

แล้วก็ไม่เคยถามแม่อีกเลยว่า ข้าวมาจากใหน...จนกระทั่งโตพอที่จะเข้าใจอะไรเองได้

พอมาอ่านเจอเรื่องราวที่วิศิษฐ์พยายามถ่ายทอดความเข้าใจให้กับลูก ที่ยังมีความสงสัยอีกหลายอย่างที่อยากถาม และคำตอบที่ได้ก็คือคำตอบที่ถูกต้อง

น่าชมเชยความอดทนของวิศิษฐ์นะ ที่แม้ว่าจะทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน ก็ยังยิ้มสู้ได้ และไม่คิดว่าไร้สาระที่จะตอบคำถามลูกที่ยังไร้เดียงสา เป็นครอบครัวที่น่ารักนะ....


แบบนี้ซิครับของจริงๆ ทั้งแบกทั้งหาบ โหวตครับ


หน้า