การจัดการร้าน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หมวดหมู่ของบล็อก: 

การจัดการร้าน

ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

        หลายท่านคงเคยเห็นและศึกษาหลักปรัชญาดังกล่าวมาบ้างไม่มากก็น้อย และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ คงไม่เพียงแต่ใช้ได้กับภาคการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว ยังสามารถปรับใช้ได้กับภาคอื่นๆ ได้อีก เช่น ธุรกิจส่วนตัว หรือการจัดการร้านค้า ซึ่งผมเองก็นำเอาหลักการนี้ มาจัดการร้านของตนเองตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน อยากให้กัลยาณมิตร เพื่อนๆ ลองอ่าน และพิจารณาดูว่า มีความเหมาะสมหรือสมควรแก้ไขปรับปรุงอะไร ตรงไหน อย่างไรบ้าง

        สำหรับผมเองซึ่งเป็นเจ้าของกิจการหรือ มีกิจการส่วนตัวเล็ก ๆ ที่ต้องคอยดูแลและปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เป็นร้านค้าเล็ก ๆ ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า “อยากให้เป็นศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและนำพาความรู้สู่ชุมชน”   ซึ่งภายในร้านเล็ก ๆ ของผมนั้นประกอบไปด้วยเครื่องเขียนจำนวนหนึ่ง  เครื่องคอมพร้อมด้วยอุปกรณ์เสริมจำนวนหนึ่ง  เครื่องใช้สำนักงาน  ปริ้นเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟ็กซ์ เครื่องเคลือบบัตร   และเครื่องมือติดต่อสื่อสาร คือโทรศัพท์ ซิม(เลขหมาย) บัตรเติมเงิน เติมเงินแบบออนไลน์และแบบหยอดตู้ 3 เครือข่าย (A.T.D) อีกจำนวนหนึ่ง

        ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็มีอยู่อย่างละไม่มากนัก เพียงต้องการให้มีครบทุกอย่าง  โดยเน้นการจัดการร้านตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ว่า " 3 ห่วง(หลัก) 2 เงื่อนไข(ความรู้,คุณธรรม) นำไปสู่ 4 มิติ(เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม)" แต่ผมคงไม่ลงลึกในรายละเอียดอะไรมากนักและมิติต่าง ๆ ก็คงไม่ต้องพูดถึงเช่นกัน

 

หลักความพอประมาณ

        1.สินค้าที่นำมามาขายต้องเป็นที่ “ต้องการ” และ “จำเป็น” จริง ๆ

          โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก เช่น โทรศัพท์ผมก็เน้นพื้นฐานของชุมชนซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนา คือ โทรศัพท์ที่นำมาขายต้องทน  ราคาต้องถูก  การโทร(โปร)ซิม ก็ต้องถูก และที่สำคัญสัญญาณต้องดีตามด้วย(คุณค่าแท้)  ส่วนอุปกรณ์เสริมเครื่องโทรศัพท์ เช่นปลอกใส่ หูฟัง แผ่นเคลือบหน้าจอ เป็นต้น ผมถือว่าไม่มีความจำเป็นและไม่เป็นที่ต้องการอย่างแท้จริง (คุณค่าเทียม) จึงนำมาขายเพียงนิดหน่อย

        เครื่องเขียนเช่น กระดาษ สมุด ดินสอ ปากกา ของบริษัทไหนดี ราคาเป็นอย่างไร คุณภาพของบริษัทไหนดีกว่ากัน ต้องพิจารณาเปรียบเทียบหลาย ๆ ด้าน ก่อนที่จะนำมาขายและที่สำคัญราคาต้องไม่แพงจนเกินไปนัก ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนพอรับไหว

        2.สิ่งใด “ทำได้” ไม่ต้องหาซื้อ

        สิ่งที่เราสามารถทำเองได้ ประหยัดเงินด้วย เช่น โต๊ะวางคอมพิวเตอร์ ชั้นวางของ ชั้นวางกระดาษเครื่องเขียน เป็นต้น ผมจะเน้นที่ความทน  สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย ทำเองได้  เพราะโต๊ะคอมที่หาซื้อตามตลาดหนึ่งปีก็เริ่มพังแล้ว ทำเองด้วยเหล็กกล่อง ได้ความทนและอายุการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นหลายปี ถึงแม้ไม้อัดที่ใช้ปูจะเสื่อมหรือเริ่มผุกร่อนแล้ว แต่โครงเหล็กก็ยังอยู่ สามารถเปลี่ยนเอาไม้ใหม่มาใส่แทนของเก่าได้  โดยดัดแปลงและหาข้อมูลการทำจากเว็บ  ICT.in.th  เพิ่มเติม หรือท่านใดสนใจอาจหาข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมได้เช่นกัน ชั้นวางของชั้นวางกระดาษ โฟมก็ทำเองด้วยเหล็กกล่องและปูด้วยไม้อัดเช่นกัน ใส่ล้อเคลื่อยย้ายได้สะดวก พื้นไม่เสีย

         3.ร้านเล็กคอมที่ใช้ต้องไม่เกิน ๑๐ เครื่อง

          ที่ร้านมุ่งเน้นให้เยาวชนและชาวบ้านใช้คอมเพื่อการศึกษาไม่ได้เน้นให้เล่นเกม คอมที่ให้บริการมีเพียง 7 เครื่องเท่านั้น ใช้โปรแกรมแฮนดีคาเฟ่คุมการคิดเงินและการเข้าเว็บของผู้ใช้บริการ  และแต่ละเครื่องสามารถปริ้นงานออกปริ้นเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสารผ่านเครื่องแม่ที่ใช้คุมได้ทุกเครื่อง ไม่ลงเกมไม่สนับสนุนให้เล่นเกม  แต่ก็อนุโลมให้เล่นได้บ้างตามความเหมาะสมของวัย  ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นเด็กโต นักเรียนระดับมัธยมและอุดมศึกษาเป็นหลัก  อุปกรณ์เสริมคอมเช่น คีย์บอร์ด เม้าส์ หูฟัง ซีดีรอม เพาเวอร์ซัพพลาย ก็ไม่เกินอย่างละ 3 ชิ้นนอกจากพอประมาณแล้วยังสร้างภูมิคุ้มกันไปในตัวด้วย

        4.ปิดไฟเครื่องคอม เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้ง ที่ไม่ได้ใช้งาน

        สำหรับผมแล้วเห็นว่าความพอประมาณกับการประหยัดจะอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน เราประหยัดได้มากเราก็มีความประมาณได้มากเช่นกัน  ไม่มองข้ามสิ่งเล็กน้อย  บางท่านอาจมองว่าการเปิดหน้าจอทิ้งไว้ เปิดเครื่องคอมทิ้งไว้  เครื่องถ่ายเอกสารหรือปริ้นเตอร์ทิ้งไว้  ขณะที่ไม่มีผู้ใช้งานไม่มีความสำคัญ นั่นคือการมองข้ามสิ่งเล็กน้อย  หยดน้ำฝนเพียงเล็กน้อยก่อให้เกิดเป็นแม่น้ำในมหาสมุทรได้  สิ่งเล็กน้อยทำให้เราสิ้นเปลืองแบบมองไม่เห็นได้ เศรษฐีหลายท่านยกเอาความประหยัดมาเป็นนโยบายก็มาก  หากเราประมาทสิ่งเล็กน้อยก็ไม่อาจทำให้เกิดความประมาณได้ ดังนั้น “ประมาณ” กับ “ประหยัด” จึงเปรียบเสมือนเป็นพี่น้องกัน ทิ้งกันไม่ได้

     5.ใช้กระดาษถ่ายเอกสารทั้งสองด้าน ไม่ซื้อของมากักตุนเกิน 3 โหล

        ทางร้านต้องบริหารเงินลงทุนในหลายด้าน การซื้อของมาเก็บกักตุนเอาไว้เกินความจำเป็นจึงไม่เข้าหลักความพอประมาณ  ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร  ของที่ตุนได้ต้องอยู่ใน 20:80 ของสินค้าที่ขายดีมาก  เช่น สมุด กระดาษA4  แพ็คละ 20 เป็นต้น กระดาษถ่ายเอกสารก็ไม่ซื้อมาเกิน 2+2 กล่อง(20 รีม บาง 2 หนา 2) กระดาษถ่ายเอกสารที่ถ่ายเสียแล้ว ผมจะแยกออกเป็นกล่องเก็บ  2 กล่อง คือ กล่องที่ถ่ายเสียหน้าเดียว และกล่องที่ถ่ายเสีย 2 หน้า เพื่อสามารถคัดแยก นำกลับเอาหน้าดีไปใช้อีกครั้งหนึ่ง เช่น  การปริ้นตัวหนังสือเพื่อเอามาแปะตัดสติ๊กเกอร์  การนำเอาไปเขียนรายการสั่งซื้อของ  การนำไปเขียนหนังสือหรือเขียนงานต่าง ๆ เอาไปทำเป็นสมุดโน๊ตเล่มเล็ก ๆ ให้เด็กจดบันทึกหน้าคอม  เอาไปทำสมุดบัญชีรับ-จ่าย ประจำวัน ส่วนที่เสีย 2 หน้าก็จะนำไปตัดใช้เขียนติดราคาเอาไว้ตรงที่ใช้ม้วนกระดาษนั้น ถ้าเสียหรือเลอะมาก ๆ ก็ให้แม่เอาไปฝากคนรับซื้อของเก่า เป็นต้น

 

หลักความมีเหตุผล

        1.ตรวจเช็คคอม เครื่องใช้สำนักงาน อยู่เสมอ 

         การสังเกตดูเครื่องคอม เครื่องใช้สำนักงานว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง  เช่น อาการบลูสกรีนของคอมบางเครื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ว่าสาเหตุมาจากอะไร  ควรแก้ไขอย่างไร เป็นต้น  ก่อนที่ผมจะเปิดร้านครั้งแรก ต้องลงทุนเสียสละเวลาไปเรียนเพิ่มในหลักสูตรการซ่อมและประกอบคอมพิวเตอร์ และการติดตั้งระบบปฏิบัติการ  โปรแกรมใช้งานต่างๆ ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอุตรดิตถ์  60 ชั่วโมงในวันเสาร์อาทิตย์  และที่วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์หลักสูตรระยะสั้น 1 เดือนอีก  75 ชั่วโมง เพื่อรองรับกับการแก้ไขปัญหาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน  หากเราต้องจ้างเขามาแก้ไขปัญหาให้ทุกครั้งคงไม่ทันการ สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  เราใช้คอมเป็นเราต้องซ่อมเป็นบ้าง โดยเฉพาะเราอยู่ชนบทไกลความเจริญมากหาช่างก็ยาก กว่าเขาจะมาซ่อมให้เราได้

        การตรวจเช็คเครื่องคอม เครื่องใช้สำนักงานอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ควรทำยามว่าง เป็นการไม่ประมาท ไม่ทำให้เสียเวลาขาดรายได้ที่เราควรจะได้

       2.ใช้งานเครื่องคอม เครื่องใช้สำนักงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

        เครื่องใช้สำนักงานเครื่องคอมมีอายุการใช้งานกำกับมาแล้วจากผู้ผลิต  หากเราไม่คำนึงถืงการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เครื่องของเราก็จะไม่คุ้มกับค่าเงินที่เราต้องลงทุนซื้อหามาด้วยราคาที่สุดแสนจะแพงเอามาก ๆ ผมถ่ายเอกสารแผ่นละ 2 บาท (A4 หน้า-หลัง) ใครจะว่าแพงก็ไม่ว่ากัน เพราะผมต้องลงทุนซื้อเครื่องถ่ายมาราคา 5 หมื่น 5 พันบาท  เพื่อมาให้บริการและก็คิดว่าอีกไม่นานมันก็จะเสียแต่ก่อนจะเสียเราจะต้องได้ทุนคืนและกำไรนิดหน่อย  เน็ตผมก็เก็บค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท(ปัจจุบัน 15) ใครว่าแพงไม่เล่นเราก็ไม่ว่ากัน ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการเล่นเกม  ส่วนหนึ่งก็เพื่อค่าใช้จ่ายรายเดือน และค่าความเสื่อมของเครื่องคอมที่เราลงทุนไป การเก็บชั่วโมงละ 15 บาทสำหรับร้านผมคงไม่แพงจนเกินไปสำหรับคนที่เข้าใจ

        รับแฟ๊กซ์ คิดแผ่นละ 20 บาท ส่งแฟ็กซ์ทางไกลแผ่นแรกคิด 25 ต่อไปแผ่นละ 10 บาท ส่งใกล้ แผ่นแรก 20 ต่อไป แผ่นละ 10 บาท นี่ถือว่าเป็นราคากลางที่ถือว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะเราก็ต้องเสียค่าโทรศัพท์ประจำทุกเดือนเช่นกัน

        3.ใช้งานเครื่องใช้สำนักงานตามคู่มือแนะนำ 

         ปัจจุบันเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้สำนักงานต่างก็มีคู่มือติดมาให้ทุกเครื่อง  แต่เราในฐานะคนใช้ ต่างก็ไม่ค่อยจะสนใจเปิดอ่านกันก่อนที่จะใช้งาน  มีปัญหาอะไรนิดหน่อยก็แก้ไขไม่ได้  ส่งช่างอย่างเดียว โดยเฉพาะเครื่องถ่ายเอกสารที่มีวิธีการถ่ายที่หลากหลายรูปแบบมาก ถ้าหากคนใช้งานไม่อ่านไม่ศึกษาวิธีการใช้ให้ละเอียดแล้ว  ย่อมน่าเสียดายว่าคุณยังไม่รู้และไม่เข้าใจวิธีถ่ายเอกสารอีกหลายอย่างมาก ๆ เลยทีเดียว

        เครื่องเคลือบบัตร ไม่ควรหมุนวอลุมให้สูงขึ้น ก่อนเปิดสวิชไฟ และเวลาใช้งานแล้วก็ไม่ควรรีบปิดสวิชไฟ  ควรปิดวอลุมระดับไฟลงให้สุดก่อน นี่ก็อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นใช้งานกันผิดและสามารถเกิดอันตรายต่อเครื่องได้ หรืออาจลืมปิดไฟจนเกิดแสงไฟแดงๆ ร้อนระอุ จนทำให้เกิดไฟไหม้ได้ เราจึงควรศึกษาการใช้งานให้เข้าใจให้ดีก่อน

        4.สินค้า อุปกรณ์ต่าง ๆ คำนึงถึง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” 

        อาจใช้คำว่า “คุณภาพ” แทนคำว่า “คุณค่า” ก็ได้  ของบางอย่างราคา(มูลค่า) ถูก แต่คุณภาพหรือคุณค่าสูง  บางอย่างราคาถูกและคุณค่าก็ต่ำด้วย  ของบางอย่างราคาแพง แต่คุณภาพของสินค้าไม่ได้เรื่องก็มี  เช่นของที่วางขายกันตามตลาดนัดซึ่งมีราคาที่ไม่ต่างจากร้านในเมืองสักเท่าไหร่ แต่คุณภาพหรือคุณค่าของสิ่งนั้น กลับด้อยเอามาก ๆ  ก็มี  หลายท่านอาจเคยเดินเลือกซื้อและนำเอามาใช้กัน อยู่ต่อมาอีกไม่กี่วันก็พังใช้ไม่ได้เสียแล้วยกตัวอย่าง ใบมีดโกนขนนก ที่ผมซื้อมาใช้งาน ทั้งกล่องปลอมขึ้นสนิมทุกใบ  การคัดเลือกสิ่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่นำมาขายจึงพิถีพิถันกันมากสักหน่อย การซื้อของส่วนใหญ่ผมจะไปคัดเลือกหาซื้อมาจากในเมืองด้วยตนเอง  จนบางครั้งหรือหลายครั้งที่เด็กขายของและคนคิดเงินในร้านต้องหัวเสียหรือเสียอารมณ์ไปกับผม (คงคิดว่า “ตาบ้าขี้ถี่” เป็นแน่..ฮา) 

       5.จัดวางสินค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  ติดราคาทุกชิ้นให้เห็นชัดเจน

        การจัดวางสินค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ โดยประยุกต์หลักการ 5 ส.มาใช้ในการจัดวาง “หยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูก็งามตา” ของสิ่งไหนที่กำลังจะหมด หรือหมดแล้วเราก็รู้ก็เห็นได้โดยง่าย ของใหม่จัดไว้ด้านในของเก่าเอาไว้ด้านนอก เพราะของเก่าที่ขายไม่ออกอาจหมดอายุเร็วกว่า และ

        เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเรื่องราคาของสินค้านั้น ต้องติดให้เห็นเด่นชัด ชัดเจน ต่อผู้มาเดินเลือกซื้อของ เราจะมองเห็นตามห้างหรือร้านใหญ่ ๆ ในเมืองต่างก็ติดป้ายราคากำกับแขวนลอยโชว์กันเอาไว้ ว่าลดราคากี่เปอร์เซ็นต์ ราคาเท่าไหร่ ของอื่น ๆ  เช่น ในเซเว่นก็จะมีราคาบอกกำกับเอาไว้บนชั้นทุกอย่าง เพื่อให้ลูกค้าหรือคนซื้อได้ตัดสินใจเลือกเอาตามความเหมาะสม ตามที่เงินในกระเป๋าของเขาจะพอซื้อได้  ร้านผมเองก็มีแนวคิดเดียวกันโดยผมคิดว่า เวลาที่ผมไม่อยู่ไปธุระที่ไหนสักแห่ง เกิดมีคนอื่น(ญาติ)มาเปิดร้านขายแทนหรือทำงานแทนเรา  เขาก็จะได้รู้ราคาว่าสิ้นค้าที่ลูกค้ามาซื้อนั้น เราติดราคาคิดราคาไว้เท่าไหร่  เขาก็ขายแทนให้โดยสะดวกใจและก็ไม่ขาดทุน  การติดราคาเอาไว้อย่างชัดเจนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน

 

หลักการมีภูมิคุ้มกัน

        1.ไม่กู้เงินจากภายนอก “นอกระบบ” มาลงทุน

          การค้าขายเป็นธรรมดาว่าเราต้องลงทุน เมื่อเราเริ่มกิจการหรือธุรกิจใหม่ ๆ  สิ่งสำคัญคือ การบริหารการใช้จ่ายเงิน เมื่อเรากู้เงินมาแล้วต้องนำเงินที่กู้มานั้นไปทำในสิ่งที่เราคิดและมุ่งหวังเอาไว้ตั้งแต่แรกให้ได้  ไม่นำไปใช้จ่ายนอกเหนือจากการค้าขายหรือการลงทุน  หากเรานำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์แล้ว  ความลำบากใจความทุกข์ใจก็จะตามมา  ยิ่งเป็นเงินนอกระบบยิ่งมีความเสี่ยงตามมามาก อาจถึงกับเสียชีวิตได้  ผมกู้เงินกับสหกรณ์ ที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ และกู้เงินกับกองทุนหมู้บ้าน(เงินล้าน) มาเสริมการค้าขายของตนเอง  แต่ก็ไม่ได้กู้จำนวนมากอย่างใครเขา  กู้เพียงเพื่อว่าเป็นการสร้างความสะดวกต่อการหมุนการใช้จ่ายเท่านั้น...

       อิณา ทานํ ทุกฺขํ โลเก   “การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก”  พระพุทธองค์ตรัสเป็นพุทธสุภาษิตไว้แล้ว  ผมก็เชื่อว่าเป็นอย่างนั้น การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่ควรกระทำ หากเรารู้ตัวว่าสุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเงินเกินตัว ไม่มีวินัยทางการเงิน ควบคุมตนเองไม่ได้ ทางที่ดีอย่าสร้างหนี้ดีกว่า  แต่ผมก็สร้างภูมิคุ้มกันไว้แล้ว  โดยทุกวันจะเก็บเป็นเงินฝากออมเอาไว้วันละ 300 บาท ที่เหลือนอกจากนั้น ก็จะเก็บเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนการค้าขายซื้อของในเวลาต่อไป  การเป็นหนี้เพียงหนึ่งหมื่นสองหมื่น จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวจนเกินไปนัก 

        2.สะสมเงินแบบ “ปลวกสร้างรัง” มั่นคงยั่งยืน

         หลักการนี้ก็คล้ายกับที่ผมเขียนมาข้อแรกนั้นแหละ  เดิมทีผมก็เก็บเป็นเงินฝากเพียงวันละ 100 บาทเท่านั้น  เดือนละ 3 พันบาท ต่อมาจึงมาฝากเพิ่มเป็นค่ากับข้าวอีก 100 บาท เพราะผมกินเก่งกระเพาะใหญ่(ฮา)  ต้องจ่ายค่าข้าวค่ากับข้าวเดือนละหลายร้อยบาท  ตอนนี้เก็บออมวันละ 300 บาท การเก็บเงินเดือนละนิดละหน่อยไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากก็คือ “ทำอย่างไรให้เก็บต่อเนื่องทุกวัน”  ถ้าวันไหนไม่ได้ฝากวันต่อไปก็ต้องฝากเพิ่มขึ้นอีก 300 จนเป็นนิสัย  การทำให้เป็นนิสัยเรียกว่า “วินัย”  การรักษาวินัยนี่แหละยากมากกว่าครับ

        กว่าผมจะก้าวมาได้จนมีบ้านหลังเล็ก ๆ(ร้านค้า)เป็นของตนเอง (ที่เห็นดังภาพ) จากวันนั้นถึงวันนี้  ปีเต็ม ย่างเข้าปี 7 แล้ว) เครื่องเขียน เครื่องคอม และเครื่องมือสื่อสาร เป็นของตนเองได้ขนาดนี้ 

        เริ่มแรกผมขอยืมเงินแม่ซื้อเครื่องคอมและเครื่องปริ้นหนึ่งชุด  โดยมีฐานคิดว่ามีคอมกับเครื่องปริ้นอย่างละหนึ่งตัวทำอะไรได้บ้าง?(บ้านหลังเก่า)... จากนั้นก็เพิ่มเป็นคอม 3 เครื่อง เครื่องปริ้นหนึ่งชุดต่ออินเทอร์เน็ตบริการให้กับเด็กนักเรียน พร้อมกับรับพิมพ์งาน ปริ้นงาน ซ่อมคอม ประกอบคอมขาย ต่อมาถึงได้มากู้เงิน(ครั้งแรก)มาสร้างบ้าน(ร้าน)เป็นของตนเอง  ขยับขยายและเพิ่มเติมวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดทีละหน่อย โดยไม่ได้กู้เงินธนาคารมาลงทุนซื้อของเลย  เก็บเงินจากรายได้และกำไรจากการขายของได้มาเท่าไหร่  ผมก็นำไปซื้อของมาเข้าร้านจนหมดทุ่มจนสุดตัว เป็นไงก็เป็นกัน ไม่กังวลเรื่องความเสี่ยงเลย ลุยอย่างเดียว  เพิ่งมาเริ่มกู้เมื่อสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์การเษตร และจดทะเบียนพาณิชย์ในปี 2553 นี่เอง ได้เงินมาก็นำมาซื้อคอมเพิ่มเติม หมุนเวียนอย่างนี้มาเรื่อย ๆ ตอนนี้ร้านผมเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว และไม่ได้กู้เงินจากสหกรณ์ฯแล้ว  ผมก็ทำธุรกิจแบบ “ปลวกสร้างรัง” ที่พระพุทธเจ้าสอนนั่นแหละ  ป้องกันความเสี่ยง และมั่นคงยั่งยืน  

       3.สินค้าราคาสูงต้องมี “ผู้สั่ง” จึงนำมา “ส่ง” ให้

        การค้าขายอีกอย่างหนึ่งที่ผมป้องกันความเสี่ยงไว้ก็คือ สินค้าที่มีราคาสูงเช่น คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ราคาก็ตกประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาท ผมจะไม่นำคอมที่ประกอบแล้วหรือสำเร็จรูปแล้วมาวางโชว์ขายหน้าร้าน  แต่จะมีการประชาสัมพันธ์บอกกันแบบปากต่อปากว่า..ถ้าคนไหนสนใจอยากซื้อหรืออยากได้คอมตั้งโต๊ะ  โน๊ต บุ๊ก  หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ยิ่งกว่าที่ขายหรือโชว์ไว้หน้าร้าน ก็ขอให้สั่งจองได้  โดยดูราคาตามหน้าเว็บที่ตนเองสั่งของประจำอยู่ บวกกับค่าแรงประกอบและค่าขนส่งประมาณเท่านั้นบาท  เสร็จแล้วก็จะขอเงินมัดจำครึ่งหนึ่งก่อน  เพื่อนำไปซื้อของ  ถ้าไม่จ่ายมัดจำก็จะไม่สั่งของให้ โดยเราป้องกันความเสี่ยงต่อการที่ต้องซื้อของมาแล้วขายไม่ได้  ราคาก็จะตกลงไปเรื่อย ๆ นานวันเข้าก็จำเป็นต้องขายต่ำกว่าราคา จะทำให้เกิดการขาดทุนได้  เพื่อเป็นหลักการมีภูมิคุ้มกันจึงต้องทำแบบนี้  สินค้าเครื่องสื่อสารโทรศัพท์ อื่น ๆ ที่มีราคาสูงมาก ๆ ก็เช่นเดียวกันครับ

       4.มีการจัดทำ ­บัญชี รายรับ – รายจ่าย ในแต่ละวัน แต่ละเดือน และคำนวณรอบปีภาษี

        หลักการมีภูมิคุ้มกันหรือการป้องกันความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการค้าขายคือ.. การทำบัญชี รายรับ รายจ่าย ให้รอบคอบรัดกุม โดยผมจะจดบันทึกรายรับ รายจ่ายในแต่ละวัน นำกระดาษถ่ายเอกสารที่เสียหน้าเดียวมาพิมพ์เป็นสมุดบัญชี ชื่อ “ภูมิปัญญาทางบัญชี สร้างวิถีสู่อนาคต”  เพื่อเช็ครายรับ รายจ่าย และปิดยอดการขายในแต่ละวัน เพื่อให้รู้ว่าวันนี้รับเท่าไหร่ จ่ายเท่าไหร่ เงินทุนเท่าไหร่ และเงินที่รับสุทธิเท่าไหร่  การทำบัญชีไม่เฉพาะแต่ร้านค้าเท่านั้น  ยังมีบัญชีคุมเงินรายรับรายจ่ายทั้งหมดของร้านอีกเล่มหนึ่ง  และบัญชีการใช้จ่ายภายในครัวเรือนของตนเองอีกเล่มหนึ่งด้วย 

        การเขียนบัญชีรายรับ รายจ่าย  หากเราเขียนให้ละเอียดชัดเจนรู้ความเคลื่อนไหวของเงินที่เข้า ออกจากกระเป๋าของเราได้อย่างดีแล้ว  ย่อมทำให้เราเกิดความรอบคอบในการจับจ่าย  รู้ว่าสิ่งไหนซื้อแล้วเกิดประโยชน์ และรู้ว่าสิ่งไหนไม่ควรซื้อไม่เกิดประโยชน์  ทำให้เกิดเป็นคนที่รู้จักเห็นคุณค่าของเงิน เห็นประโยชน์ของการเก็บออมเงิน การจัดทำและจดบันทึกบัญชีรับจ่ายจึงมีประโยชน์และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก..ลองทำดูก็ได้ครับ

        5.ภายในร้าน สะอาด  สว่าง  สงบ

        หลักการมีภูมิคุ้มกันข้อนี้ ก็เพื่อทำให้ลูกค้าเห็นถึงความเจริญของเจ้าของร้าน แม้ว่าร้านจะยังไม่ได้ปูพื้นกระเบื้องก็ตาม(ปูเสื่อน้ำมัน)  ให้เห็นพัฒนาการ อุปนิสัย ความมีระเบียบวินัย เป็นการสอนเยาวชนลูกค้าไปในตัว..   สะอาด คือ ต้องทำความสะอาดสิ่งของที่นำมาขาย ตู้ใส่ของ พื้นบ้าน บริเวณบ้าน ต้องได้รับการทำความสะอาด เช็ดถูอยู่ทุกวัน จนปราศจากฝุ่นและพาหะของเชื้อโรค..  สว่าง คือ มีแสงสว่างเพียงพอต่อการทำงาน  พิมพ์งาน  เปิดหน้าต่างทุกบาน รับลมรับแสงสว่างจากภายนอกรอบด้าน อยู่ด้านนอกสามารถมองเข้ามาเห็นภายในร้านได้ดี..  สงบ คือ ปราศจากเสียงรบกวน ไม่ส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนหรือคนที่นั่งเล่นคอมอยู่ข้าง ๆ  ดังได้คนเดียว คือเจ้าของร้าน ลูกค้าห้ามดัง..(ฮา)

         6.ปลอดบุหรี่  สิ่งเสพติด การพนัน

        ข้อนี้ ก็ถือว่าสำคัญและสำคัญมากเสียด้วย รองรับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังจ้องมองร้านคอมฯอยู่ว่าก่อผลเสียต่อสังคมส่วนใหญ่  มองอะไรด้านเดียวมันก็เสียหมดแหละ  เจ้าของร้านไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ไม่กินยาบ้า กินแต่ “กาบ้า” (เขาว่าบำรุงสมอง) เท่านั้น  จึงเป็นหลักประกันให้ลูกหลานของชาวบ้านที่มาเล่นคอม มาทำงานได้เป็นอย่างดีว่า ร้านนี้ปลอดจากบุหรี่  ยาบ้า และการพนันขันต่อทุกรูปแบบ ขอให้มั่นใจได้   เป็นหลักการมีภูมิคุ้มกันให้กับทางร้านได้ว่า ทางวัฒนธรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาตรวจตอนไหนก็เชิญมาตรวจสอบได้ ไม่กลัว เพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร...

หลักการใหญ่ ๆ ทั้ง 3 ก็ประมาณที่กล่าวมานี้...

 

2 เงื่อนไข

“1...เงื่อนไขความรู้”

ประเด็นเกี่ยวกับเงื่อนไขความรู้ ผมคงไม่ต้องชี้แจงแถลงไขอะไรมากหรอกนะครับ

      1.รอบรู้เรื่องสินค้าที่นำมาวางจำหน่าย เช่น โทรศัพท์ อุปกรณ์พ่วง เครื่องเขียน

       2.เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาคอม เครื่องใช้สำนักงาน การสั่งของ รับของ ส่งของ

       3.เรียนรู้วิธีใช้งานโปรแกรมสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้อง เวิร์ด เอ๊กเซล เพาเวอร์พ้อย โฟโต้ช็อฟ โฟโต้สเคฟฯลฯ

       4.เรียนรู้วิธีใช้งานเครื่องใช้สำนักงานอย่างละเอียด การรับ-ส่งข้อมูลให้ลูกค้า

       5.เรียนรู้วิธีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รายวัน เดือน และสรุปรอบปี 

       6.รู้และปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ การแจ้งภาษี พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์..เวลาเปิด ปิดร้าน

 

“2...เงื่อนไขคุณธรรม”

คุณธรรมที่ทางร้านมุ่งเน้นและให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ เลย และจะขาดเสียไม่ได้ คือ

     1.ซื่อสัตย์ สุจริต

       จริงใจต่อลูกค้าและคู่ค้า คิดเงินผิด ลืมของเอาไว้ ทุกอย่างทุกชิ้นจะนำคืนเจ้าของเดิมหมดไม่ยึดหรือถือเอามาเป็นของตัวเอง  สินค้าที่ผมไปหาซื้อมาจากร้านใหญ่ในเมืองบางครั้งก็ขาด บางครั้งก็เกินมา ถ้าไม่ครบผมก็ทวงจะเช็คของทุกครั้งเมื่อมาถึงบ้าน(ร้าน) ถ้าเกินมาผมก็จะโทรบอกทางร้านใหญ่ให้เขาทราบว่ามีอะไรเกินมาบ้าง ราคาเท่าไหร่  วันหน้าเมื่อมีโอกาสเข้าไปซื้อของอีกก็จะนำเงินไปใช้ให้เขา  แต่ของทางเราก็เก็บเอาไว้ไม่เอาไปคืน

     2.ขยัน  ประหยัด  

        ผมเปิดร้านทุกวัน เปิด 7.00 น. ปิด 20.00 น.ทุกวัน วันหนึ่งทำงาน 13 ชั่วโมงแต่งานก็ไม่ลำบากอะไร  ส่วนเรื่องการประหยัดนั้นก็เป็นหลักการมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ใช้เงินไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์   ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ใช้  ไม่สุรุ่ยสุร่าย หรือจ่ายไปกับอบายมุข ก็ประหยัดแล้วครับ

     3.อดทน  อดกลั้น 

        ผมเคยอ่านหนังสือนวนิยายเรื่อง “ร้อยป่า” ที่พระเอกชื่อ “เสือ กลิ่นสัก” เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นเรียนหนังสืออยู่  จดจำคำกล่าวของพระเอกที่พูดว่า  “ความอดทนเป็นสิ่งขมขื่น  แต่ผลของมันหวานชื่นนัก”  นำมาเป็นคติเตือนตนเองมาจนถึงปัจจุบันนี้  คนเราส่วนใหญ่ได้ดีเพราะความอดทน อดกลั้น พ่อค้าก็ต้องอดทนต่อคำพูด คำส่อเสียดของลูกค้า(บางคน)คู่ค้า(ลูกจ้าง) ให้ได้  อดทนหรือรู้จักรอวันที่จะมีเงินมากๆ (เพื่อนำไปลงทุนด้านอื่นๆ) ถ้าอดทนได้ รอได้ ก็จะได้รับแต่ความหวานชื่นเช่นกัน

     4.ใช้สติ ปัญญา มาพิจารณาแก้ไขปัญหา 

        อย่าใช้อารมณ์ในขณะทำงาน  เพราะมันจะทำให้งานออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร  ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้กลุ้ม เวลามีปัญหา คนส่วนใหญ่มักไม่ถามถึงสาเหตุของปัญหา แต่จะทิ้งปัญหาไปหรือโทษนั่นโทษนี่  โดยลืมนึกถามย้อนกลับไปว่า  ทำไมถึงเสีย  เสียเพราะอะไร  เสียแล้วจะแก้ไขอย่างไร  ยกตัวอย่างเช่น เครื่องปริ้นท์ ปริ้นท์สีไม่ออก แล้วก็บอกว่า เครื่องปริ้นท์เสีย โดยลืมตรวจเช็คเรื่องหัวจ่ายหมึก ตลับหมึก หมึกหมด หรือการทำความสะอาดหัวพิมพ์แบบธรรมดาและแบบละเอียด  เหล่านี้เป็นต้น  สติปัญญา จึงสำคัญมากต่อการประกอบอาชีพค้าขายหรือการทำธุรกิจส่วนตัวเป็นอย่างมาก

     5.แบ่งปัน  ช่วยเหลือสังคม 

       บ้านผมเป็นชุมชนบ้านนอก ถึงแม้จะเป็นหมู่บ้านใหญ่ก็ตาม ใครมีเรื่องราวอะไร ทำดี ทำชั่ว รู้ทั่วถึงกันหมด  เข้าไปในตลาดสดก็จะรู้ข่าวการเป็น การตาย การแต่ง การแข่งเลือกตั้งฯลฯ ในเวลาอันรวดเร็วแบบปากต่อปาก 

        หมู่บ้านมีงานอะไรทางร้านก็จะให้ความช่วยเหลือทุกงาน  ออกพรรษาก็เป็นโฆษกนำหน้าขบวนตักบาตรเทโวบ้าง ช่วยเก็บของบ้าง  เดือนยี่เป็ง(วันเพ็ญเดือนสิบสอง)มอบเงินสมทบกัณฑ์เทศน์  เงินสมทบซื้อของสอยดาวและไปเป็นคนเชียร์รำวงย้อนยุคงานกัณฑ์เทศน์กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน-หนุ่มสาว  ปีใหม่แข่งกีฬาสีก็ร่วมเป็นผู้สนับสนุน  วันเด็กก็มอบเครื่องเขียนเป็นของขวัญให้โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก  แต่งงานก็ไปเป็นพิธีกรและผูกข้อต่อแขนให้  บวชพระก็ไปโกนหัวนาคร่วมถวายขันผ้าไตรเป็นโฆษกให้  งานศพก็ไปเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม ใส่ซองทำบุญกับเจ้าภาพ และไปเป็นพิธีกรงานฌาปนกิจหน้าเมรุให้อีกด้วย   

        สรุปว่ามีส่วนร่วมเกือบทุกงาน ยกเว้น งานเกิดลูกครับ ฮะ ฮะ ฮ่า...

*********

 

แถมท้าย

ข้อความน่าคิด

...

        ในหนังสือวิชาเศรษฐีที่เขียนโดย พังฮยอนชอล  แปลโดย วิทิยา จันทร์พันธ์ หน้าที่ 86-87 กล่าวถึงงานเขียนเรื่อง วิธีสู่ความร่ำรวย ของ  พอล เก็ตตี อดีตมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา  เอาไว้ 10 ประการ คือ

        ข้อหนึ่ง       ควรเริ่มทำธุรกิจในสาขาที่ตัวเองรู้ดี

        ข้อสอง       ต้องผลิตของที่ดี บริการประทับใจลูกค้าและขายถูกกว่าตลาด

        ข้อสาม       รู้จักการประหยัด

        ข้อสี่          อย่าพลาดโอกาสในการขยายธุรกิจ

        ข้อห้า        มีความสนใจต่อคำว่า “ธุรกิจของฉัน”

        ข้อหก       พยายามหาข้อมูล เพื่อปรับปรุงสินค้าและบริการของตนเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

        ข้อเจ็ด       เตรียมหาวิธีลดความเสี่ยง

        ข้อแปด      หาตลาดที่ยังไม่ถูกบุกเบิกเสมอ

        ข้อเก้า        ต้องรักษาชื่อเสียงของสินค้าและความพยายามของตัวเอง

        ข้อสิบ        ไม่เพียงแค่เรียนรู้วิธีการหาเงิน  ทรัพย์สินหรือความร่ำรวย  แต่ต้องรู้วิธีทำให้คนอื่นบนโลก

                        มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นด้วย

        เมื่อนำมาพิจารณาใคร่ครวญดูแล้วเห็นว่าเข้ากันได้กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างลงตัวทีเดียว 

        หวังว่า คงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านบันทึกนี้ และสามารถนำไปพิจารณาปรับใช้กับกิจการส่วนตัวหรือธุรกิจของท่านได้ตามความเหมาะสม นะครับผม

 

...........................................

“พี่หนาน”

เขียนเมื่อ  28/5/2558

แก้ไขปรับปรุงเมื่อ   21/12/2559

 

************************************************************

 

ความเห็น

เยี่ยมครับพี่หนาม หลักการและปฏิบัติแน่นปึ้ก เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับร้านค้าชุมชนครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

ขอบคุณสำหรับคำชมครับ... ตอบช้าไปหน่อยขออภัยด้วยครับ

ยอดเยี่ยมมากเรยค่ะ พี่หนาน หากเรารู้ว่าเรากะลังทำอะไร ทำไปทำไม ด้วยเหตุและผลอย่างไร เชื่อว่าพี่หนานจะมีธุรกิจเป็นของตนเองได้อย่างยั่งยืนแน่นอน เป็นกำลังใจให้ค่ะ^^

ความสุข..อยู่ที่ใจ

ขอบคุณน้องกานต์..ที่ให้ทั้งคำชมและกำลังใจด้วยดีตลอดมามากครับผม

หลักการและวิธีคิดดีมากๆเลยครับพี่หนาน   เคยดูหนังเกาหลีเรื่องหนึ่งเขาบอกว่า ความสำเร็จของการค้า คือการได้มาซึ่งใจคน ประโยชน์ตนและส่วนรวมต้องไปด้วยกัน เอาใจช่วยครับ 

ดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงหรือต่ำอยู่ที่ทำตัว


บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร

"ความสำเร็จของการค้า คือการได้มาซึ่งใจคน ประโยชน์ตนและส่วนรวมต้องไปด้วยกัน" 

จะยึดถือไว้ให้มั่นคง เพื่อตนเองและสังคมตลอดไป

ขอบคุณสำหรับคำคม และคำนิยม มากๆ เลยครับผม

ดีใจมากเลยมีผู้อ่านมากถึง หกพันกว่าท่าน

ขอบคุณจากใจจริงของพี่หนานครับผม