ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
สวัสดีเพื่อนสมาชิกบ้านสวนพอเพียงทุกท่านครับ วันนี้มีเวลาว่างเลยนั่งเขียน Blog มานำเสนอการติดตั้งปั้มน้ำเพื่อใช้รดน้ำต้นไม้ ที่ผ่านมาผมยังใช้ถังตักน้ำและหิ้วรดน้ำต้นไม้ตลอดมาตั้งแต่เริ่มทำไร่สุโขทัยนี้ดีมา (กินแรงงานและใช้เวลามาก ๆ แต่ก็ได้เดินดูต้นไม้ไปในตัว) ทั้งบ้านไร่สุโขทัยนี้ดีและ Farm Cafe ไร่สุโขทัยนี้ดี เพราะฉะนั้นต้นไม้ผมก็ได้น้ำอาทิตย์หรือสองอาทิตย์ต่อครั้งหรือไม่ได้เลยอาศัยเทวดารด (ต้นไม้ผมก็ต้องอึดในระดับหนึ่งครับ) อาจจะมีบางคนสงสัยเพราะรู้ ๆ อยู่ว่าระบบน้ำคือหัวใจของการทำการเกษตรทำไมถึงไม่ลงมือทำก่อน? ก็ขอตอบคร่าว ๆ ถ้าเป็นบ้านไร่สุโขทัยนี้ดี (ไร่ใน) ก็ต้องบอกว่าไม่มีคนอยู่ครับ คงจะทราบว่าประเทศไทยเราถ้าลับตาเมื่อไรของเป็นหายครับก็เลยไม่อยากเสี่ยง สำหรับที่ Farm Cafe ไร่สุโขทัยนี้ดี ต้องบอกว่าก่อนหน้าไฟฟ้าที่ใช้มีปัญหาเรื่องไฟตกบ่อยมากและร้านกาแฟจำเป็นต้องใช้เครื่องชงกาแฟที่กินกระแสไฟค่อนข้างมาก ดังนั้นผมไม่อยากให้มีปัญหากับเครื่องชงกาแฟจึงชะลอการติดมอเตอร์หรืออุปกรณ์ที่จะโหลดกระแสไฟ จนเมื่อดำเนินการเรื่องไฟฟ้าเสร็จ (ขอหม้อแปลงใหม่ 3 เฟส 50 KVA -กระเป๋าเบาไปอีกพักใหญ่ ๆ หึ ๆ) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้จึงเริ่มโครงการติดมอเตอร์ปั้มน้ำครับ
เนื่องด้วยพื้นที่ ๆ ต้องการรดน้ำไม่ใหญ่มากเพียงแต่กระจายไปแต่ละส่วน ผมจึงเลือกมอเตอร์ปั้มน้ำแค่ 1/2 แรงม้าชนิดให้ปริมาณน้ำมากและจะใช้ท่อกระจายออกไป 3 ทิศทางโดยอาศัยวาวล์ปิดเปิดเลือกให้น้ำไหลไปเฉพาะทาง การเลือกมอเตอร์ปั้มน้ำมีขั้นตอนวิธีคิดจากปริมาณน้ำที่ต้องการเพื่อมาเลือกมอเตอร์ ทุกท่านที่เป็นเกษตรกรตัวจริงก็คงทราบอยู่หรือนั่งดูเกษตร Youtube แบบผมก็พอจะได้หลักเกณฑ์คร่าว ๆ มาเลือกมอเตอร์ปั้มน้ำ ค่า Q (ปริมาณน้ำ หน่วยเป็นลิตรต่อวินาที) กับค่า H (ระยะส่งความสูง หน่วยเป็นเมตร ประมาณ 10 เมตรเท่ากับ 1 บาร์ ถ้าเป็นแนวนอนในระดับมอเตอร์ก็คูณด้วย 10 เป็นระยะส่งได้ไกลสุด) ถ้าย้อนกลับไปดู Blog เก่าตอนผมเลือกซื้อปั้มน้ำบาดาลก็มีลักษณะเดียวกันครับ แต่ถึงเวลาไปเลือกซื้อผมเดินดูพวกห้างใหญ่ ๆ เช่น ไทวัสดุ โกลบอลเฮ้าส์ กลับไม่มีมอเตอร์ดี ๆ ให้เลือกซื้อที่เห็นเป็นของผลิตในจีนเสียส่วนใหญ่ เลยต้องไปซื้อกับตัวแทนจำหน่าย (แต่ปัจจุบันสั่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตจะถูกกว่าไปซื้อที่หน้าร้านอีกครับ แต่ต้องอาศัยร้านที่มีการขายทาง online ครับ ถ้าท่านไม่มีปัญหาทางการเงินผมแนะนำให้ใช้ของดีมีคุณภาพถึงราคาแพงกว่าแต่ลดปัญหากวนใจได้เยอะครับ)
ขั้นตอนที่ผมทำก็วางวงบ่อซีเมนต์เพื่อกันไว้เป็นบริเวณที่ใช้สูบน้ำ จากนั้นก็ติดตั้งมอเตอร์บนฐาน (ทำให้สูงหน่อยเพราะล่าสุดน้ำท่วมถึงขอบวงยางด้านบน การต่อท่อด้านสูบน้ำขยายท่อจากขนาด 1 1/2 นิ้ว (หนึ่งนิ้วครึ่ง) เป็น 2 นิ้ว โดยใช้ข้อต่อคางหมู (ควรใช้ข้อต่อคางหมูมากกว่าข้อต่อตรงธรรมดาเพราะช่วยลดอากาศที่อาจจะครั่งอยู่ด้านบนข้อต่ออันจะทำให้มอเตอร์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและเสื่อมไวครับ) ข้อต่อที่ใช้ก็ควรเป็นแบบหนาแนะนำ PVC Class 8.5 ครับ ด้านปลายก็ต่อฟุตวาวล์ในที่นี้ก็เลือกขนาด 2 นิ้วตรงตามขนาดท่อสูบครับ
ทางด้านท่อปล่อยน้ำออกผมไม่ได้ขยายท่อคงใช้ท่อขนาด 1 1/2 นิ้วต่อกรองน้ำการเกษตรป้องกันการอุดตันปลายสปริงเกอร์หรือน้ำหยด แต่ผมคิดไว้ว่าคงจะเดินระบบสปริงเกอร์ครับ ทดลองต่อสายไฟจากนั้นเติมน้ำให้หอยโข่งและทดสอบการทำงานของมอเตอร์ก็ใช้ได้ดีครับ ช่วงแรกน้ำก็จะยังไม่แรงแต่หลังจากไล่อากาศหมดในท่อก็ให้น้ำแรงขึ้นครับ แต่ผมยังไม่มีเวลาเดินระบบท่อต่อเลย ที่วางไว้คงจะเดินท่อประธานเป็นท่อ PE (ท่อดำ) เลือกมาแล้วขนาด 50 มม. จะพอดีกับข้อต่อ PVC 1 1/2 นิ้วครับ ส่วนปลายคงต่อเป็น PVC และติดสปริงเกอร์ครับ จะเห็นว่าเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ครับไม่สลับซับซ้อนแต่อย่างใดเกษตรกรทุกคนก็คงทำได้ครับ สำหรับเกษตรกรสาว ๆ อาจจะไม่ค่อยกล้าเท่าใดแต่ไม่ยากมากลองหาคุณผู้ชายใกล้ ๆ ช่วยออกแรงให้หน่อยก็น่าจะทำได้ครับ
สุดท้ายผมคิดว่าเพื่อนสมาชิกหลาย ๆ ท่านคงได้ทำระบบปั้มน้ำไว้ใช้งานกันแล้วทุกไร่ทุกสวน หากเห็นที่ผมทำและมีข้อแนะนำดี ๆ ให้ผมบ้างก็แนะนำได้เลยนะครับ? (ผมเกษตรกรสมัครเล่นครับ) วันนี้ผมมาเขียนเล่าสู่กันฟังการพัฒนาของไร่สุโขทัยนี้ดีและเก็บไว้เป็นความจำครับ สวัสดีครับ
- บล็อกของ TuayFoo
- เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน เพื่อแสดงความคิดเห็น
- อ่าน 11590 ครั้ง
ความเห็น
ลูกอีสาน
17 กุมภาพันธ์, 2018 - 05:12
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
ว้าวๆๆๆๆสบายเลยครับ ความสบายมาแล้ว ตัวดำๆๆๆทำเผื่ออะรัยครับ
TuayFoo
17 กุมภาพันธ์, 2018 - 14:36
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
ก็น่าจะช่วยลดแรงกายได้เยอะเลยครับ (ผมก็อยากสบายเเหมือนกันนะ) ตัวดำ ๆ นี่หมายถึงตัวหลังท่อปล่อยน้ำของมอเตอร์จะเป็นอุปกรณ์กรองน้ำเกษตร (มีแบบตะแกรงกับแบบแผ่นจาน -ผมเลือกแบบตะแกรงถอดล้างสะดวกดี) จำเป็นมากสำหรับระบบน้ำหยด/สปริงเกอร์ มิฉะนั้นหากแหล่งน้ำมีสิ่งสกปรก เศษตะกรัน ทราย หรืออื่น ๆ จะทำให้อุดตันปลายท่อน้ำหยดหรือสปริงเกอร์ได้โดยง่ายครับ (กันไว้ดีกว่าที่จะต้องไปรื้อระบบท่อน้ำหยด/หัวสปริงเกอร์ครับ)
ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข
sothorn
20 กุมภาพันธ์, 2018 - 05:55
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
ที่บ้านสูบน้ำใช้จากบ่อน้ำลึก 9 เมตร ส่งน้ำขึ้นแทงค์สูงมากกว่า 10 เมตร
ปั๊มตัวเก่าที่เคยใช้งานอยู่เสีย ไปซื้อใหม่ แต่สูบน้ำไม่ขึ้น พอไปดู spec กลายเป็นว่าปั๊มน้ำคนละประเภท
ต้องซื้อใหม่เป็นแบบเดิม ถึงจะสูบน้ำขึ้น
ปั๊มน้ำมีหลายประเภท ไม่ศึกษาดีๆ นี่เสียตังค์เปล่าเลย
TuayFoo
26 กุมภาพันธ์, 2018 - 10:12
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
เห็นด้วยครับถือเป็นข้อสังเกตที่ดีมาก ปั้มซับเมอร์ส (น้ำใต้ดิน-บาดาลลึก) ปั้มหอยโข่ง (น้ำลำคลอง) ปั้มชัก ปั้มไดร์โว่ ปั้มแต่ละชนิดจะเหมาะสมแต่ละงานควรเลือกใช้ให้ถูกประเภทครับ
ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข
ริมสวนยาง
24 กุมภาพันธ์, 2018 - 11:20
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
ดีทีเดียวค่ะ .. พี่บัวไม่รู้เรื่อง แบบนี้เลย(อาศัยว่า ศึกษา ไปเรื่อยๆ) ..แต่ดูลักษณะ แล้ว ทั้งแข็งแรง และสวยงาม จริงๆ ... แหล่งน้ำ สำคัญเป็นอย่างมาก เครื่องสูบน้ำ ต้องสำคัญตามมาติดๆ เพื่อลดเวลา และแรงงาน ในการรดน้ำ
TuayFoo
29 มีนาคม, 2018 - 20:26
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
ก็ทุ่นแรงไปได้เยอะดีครับ
ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข
พี่หนาน
20 มีนาคม, 2018 - 16:47
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
สนใจอยากทำอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีไฟฟ้าและงบประมาณครับ
ตอนนี้ก็ยังต้องใช้ปั๊มเครื่องบิ๊กต่อสายยางลากไปรดเป็นจุดๆ อาทิตย์ละครั้งครับ
เท่าที่อ่านข้อมูลและสังเกตภาพของคุณ TuayFoo สงสัยอยู่ว่า ท่อที่แช่ลงไปในน้ำนั้น
มีการเจาะรูให้น้ำไหลเข้าไปหรือเปล่า หากเราสูบน้ำไปนานๆ
น้ำจะไหลเข้าท่อทันหรือไม่ หรือน้ำในท่อจะแห้งไวไปหรือเปล่าครับ..
ไม่แน่ใจว่ามีการปั๊มน้ำส่งไปไกลแค่ไหน หากแรงดันไม่พอสามารถใช้ "แอร์แว" ช่วยได้
ช่วยทั้งประหยัดพลังงานไฟฟ้าและเพิ่มแรงดันน้ำ ด้วยนะครับ..
TuayFoo
29 มีนาคม, 2018 - 20:32
Permalink
Re: ระบบปั้มน้ำ Water Pump System
วงบ่อซีเมนต์ไม่ได้เจาะรูครับ แต่เท่าที่ทดลองใช้ดูน้ำไหลเข้าทันครับ คงเข้าตามขอบรอยต่อแต่ละวง (ผมเปิดปั้มครั้งหนึ่งก็ไม่เกิน 15 นาทีครับ) หลักการเพิ่มแรงดันโดยใช้ แอร์แว ก็น่าสนใจ บางคนทำได้แรงดันเพิ่มแต่บางคนก็ไม่ได้? พอดีของผมเป็นระบบเล็ก ๆ แรงดันน้อยไปนิดหนึ่งเหมือนกันแต่ปริมาณน้ำก็พอเพียงครับ
ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข