ฝันร้าย...เมื่อคืนนี้ที่ฉันกลายเป็นเพลี้ย
ฝันร้าย...เมื่อคืนนี้ที่ฉันกลายเป็นเพลี้ย
ข่าวเรื่องเมื่อผลผลิตเริ่มเบ่งบานหมู่มารก็มาผจญ ของ หนุ่ม “ชัย” สมช.บ้านสวนฯ ผู้ผันอาชีพเสริมตัวเองใช้ที่ดินว่างเปล่าเป็นพืชผักงามๆที่กำลังจะได้ผลเร็วๆนี้แต่ก็เจอกับศัตรูนับแต่เดิมเป็นหอยทาก เพิ่มมาเป็นเพลี้ย แมลงต่างๆ เวลาเดินผ่านต้นที่สำคัญว่าเป็นถั่วมะแฮะ ก็จะคอยชำเลืองว่ามีเพื่อนร่วมโลกมาขอแบ่งกินบ้างหรือเปล่า แล้วก็เจอเข้าจริง
เพลี้ยที่มีคล้ายขนปุยเริ่มเกาะตามลำต้นเล็กๆและใบ กับมีบางใบที่หดขยุกตัวหรือเรียกง่ายๆเห็นภาพชัดๆว่าใบหงิก พอเขม้นตามองก็เห็นได้ว่ามีเพลี้ยอีกชนิดที่ตัวเล็กกว่ากับมดที่เกาะอยู่ตามใบและตามผล
ลังเลใจมาหลายวัน ว่าจะเอาอย่างไรดี ฝักถั่วที่เห็นก็ยังเล็ก แต่ว่าเขาก็หนึ่งชีวิต เราก็หนึ่งชีวิต...คิดได้ก็ตัดใจเดินผ่านแต่ลึกลงไปในใจเหมือนไม่ยอมยกให้...ทักท้วงตัวเองอีกว่าก็ไหนว่าจะแบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียงไง แค่เจ้าตัวน้อยยังไม่ยอม แล้วจะไปแบ่งปันใครได้ ก็ต้องอาศัยคำคมๆของคุณแดง อุบล สมช.บ้านสวนฯอีกท่านมาเป็นคาถาคุ้มใจไม่ให้ใจเป๋ไป ว่า “ได้แค่ไหน เอาแค่นั้น” ได้มาแค่นั้น ก็กินใช้ให้ประหยัดให้ได้ประโยชน์...ยิ่งจะทำให้เห็นคุณค่าพืชผักที่เป็นอาหารว่ากว่าจะได้มายากลำบากแค่ไหน ต้องสู้กับใจตัวเองแค่ไหน...ท่องคาถาเสร็จ...เดินผ่านแล้วกลับเหลียวหลังมามอง...ก็ “ไม่ยอมนะ ยิ่งมีน้อยๆอยู่ด้วย” คิดอีกทีก็ว่าไว้ก่อน นี่ก็ฟ้ามืดแล้ว พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน
แล้วฝันร้ายก็มาถึง ใจที่ยังไม่ลงตัว พอหลับแล้วก็ “ฝัน” ในฝันเห็นว่าอยู่ท่ามกลางใบเขียวๆของต้นถั่ว ที่ไปตั้งชื่อให้เขาว่าเป็นถั่วมะแฮะ แต่ใบนี้ใหญ่มาก ใหญ่เท่าหลังคาบ้านก็ว่าได้ โอ้โฮ ยังฝักเขียวๆ ฝักอ่อนๆอีก สูงใหญ่ขนาดเสาบ้าน แขวนอยู่กับก้านต้น ซึ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะใหญ่กว่ากันเท่าใด
ช่างมีความสุขเสียจริง ค่อยๆลูบไล้บนผิวใบที่แสนทนุถนอมกับฝักสวยใหญ่ราวกับอยู่เมืองยักษ์ปานนั้น ท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ นี่เป็นความรู้สึกเป็นสุขเกินกว่าคำอธิบายใด...จะว่าไปแล้ว ใครบรรยายเมืองสวรรค์ว่าเป็นอย่างไรนี่คงเป็นเมืองสวรรค์ในดินแดนคนยักษ์แน่นอน
กำลังเพลิดเพลินอยู่กับใบอ่อนกับฝักเขียวสวย เหลือบไปเห็นอะไรบางอย่าง โอ...มดยักษ์ สีแดง เดินไปมา อ้าวนั้นตัวขาวๆเหมือนปุยผ้ากองใหญ่ แต่ดูเหมือนกับมีแขนขากำลังเคลื่อนตัวน้อยๆ ทักทายกันกับเจ้ามดยักษ์สีแดง ดูจะสนิทสนมกันหรือเปล่า ...เงาอะไรสีดำกลมๆมากมาย ลอยมาบังทำให้ฟ้าสว่างไสวเมื่อครู่กลับมีความมืดแผ่ไปทั่ว ...เหลือบตาขึ้นไปมองชัดๆ
เต่าทองสีออกแดงจุดดำ บนใบพริกที่ถูกเพลี้ยทำลาย
โอ๊ะ! แมลงเต่าทองยักษ์สีแดงตัวใหญ่มาเป็นฝูง แล้วเขาก็ร่อนลงมารวดเร็วตรงเข้าไปที่เพลี้ยสีขาวที่อยู่ไม่ไกลนัก...แมลงเต่าทองยักษ์อีกตัวขยับมาใกล้ฉัน ด้วยความตกใจ หันเหลียวซ้ายขวาแล้วกลับมามองเนื้อตัวตัวเอง อะไรกันนี่...คุณพระช่วย “ทำไมฉันจึงมีปุยขาวทั่วตัว” แล้วแขนขาฉันล่ะ ...โอ...ก่อนที่อะไรจะเกิดขึ้น...ฉันสะดุ้งสุดตัว ลุกขึ้นนั่งบนที่นอน....เหงื่อแตก...ฝันร้ายเท่านั้นเอง ฝันร้าย...เมื่อฉันกลายเป็นเพลี้ย...
เพลี้ยที่เกาะอยู่ลำต้นถั่ว
ตื่นขึ้นมา ตั้งสติได้ว่าฝันไป ...ใจยังเต้นระรัวราวกับกลอง เหงื่อเม็ดโตอยู่แนวผม อดไม่ได้ที่จะคิดถึง เรื่องราวในพระไตรปิฎก ที่กล่าวถึงเรื่องพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อติสสะเถระที่กรรมใกล้จะตายของท่าน คือห่วงใยในจีวรใหม่ เมื่อตายไปได้เกิดเป็นตัวเล็นที่เกาะติดอยู่กับจีวร ...อ้อ อย่างนี้เอง ใจที่ผูกพันเป็นอย่างนี้เอง หากผูกพันมากไป และบุญมีไม่มากพอเมื่อหมดโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์แรงกรรมก็จะพาส่งให้เกิดในภพภูมิ มีวิบากตามที่เคยก่อไว้...แล้วก็ยังมีอีกเรื่องเล่าว่าหากหวงแหนผืนดินมากอาจได้เกิดเป็นไส้เดือนเฝ้าแผ่นดินด้วย
ฝักถั่วที่โตเต็มที่
ฟ้าเริ่มสาง เสียงนกร้องดังจิ๊บๆ ทุกชีวิตออกหากิน เช้านี้ฝักถั่วที่เคยเห็นดอกสีเหลือง บางฝักยังอ่อน บางฝักแก่สีคล้ำ และแห้ง เก็บฝักมาได้เท่านี้ แต่ดูฝักเล็กจัง ท่าจะถั่วมะแฮะแกร็นแน่ ด้วยความสงสัย จึงบิฝักออก ...อ้าว...ถั่วแดงเล็กตัวจริงนี่
ถั่วสามอย่าง ระหว่าง ถั่วแดงเล็ก(ล่างซ้าย) ถั่วมะแฮะ(บนซ้าย) ถั่วแดงใหญ่(บนขวา)
และเทียบขนาดถั่วแดงเล็กกับถั่วแดงใหญ่(ล่างขวา)
...โธ่...หลงคิดว่าดอกสวยๆให้สีเหลืองอร่ามนี้เป็นดอกถั่วมะแฮะ ฝักงามๆเป็นฝักถั่วมะแฮะ คุยกับเธอทุกวันเรียกชื่อเขาว่าถั่วมะแฮะ แต่เธอไม่ยอมกลายเป็นถั่วมะแฮะ...แล้วนี่ก็แนะนำใครต่อใครว่าเธอเป็นถั่วมะแฮะ นี่ละนะ สัญญา(สัญญาที่หมายถึงความจำ)ไม่เที่ยง ย้อนทวนอีกทีนึกได้ว่าในกระถางนี้ปลูกถั่วไว้ทั้งหมดสามอย่าง คือ ถั่วขอ ถั่วแดงเล็ก และถั่วมะแฮะ แต่ถั่วที่ขึ้นมาให้เห็นไม่มีถั่วมะแฮะเลย นี่อีกหนึ่งฝันดี เพราะในถั่วสามอย่างนี้ ถั่วแดงเล็กมีคุณค่าอาหารสูงไม่น้อย มีสีแดงที่เป็นความเชื่อว่าไปบำรุงเลือดได้ และคุณค่าอาหารก็จะมากกว่าถั่วแดงใหญ่ที่มีตามท้องตลาด และหากว่าดูเผินมีอีกถั่วหนึ่งที่เป็นถั่วออกสีแดงทำให้สับสนเข้าใจว่าถั่วแดงเล็กด้วย นั่นน่าจะเป็นถั่วเขียวที่เป็นพันธุ์ให้สีออกน้ำตาลแดง ...
สำคัญผิดเข้าใจพลาดพลั้ง รู้ตัวก็ต้องรีบแก้ไขข้อมูล ...ในชีวิตมีหลายเรื่องเมื่อเวลาผ่านไปเรื่องที่เคยเข้าใจว่าถูกอาจเป็นเรื่องเข้าใจผิดได้ง่ายๆ อย่างอัลเบิร์ตไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ที่เกิดในอีกยุคหนึ่ง ก็ยังมีการทักท้วงกฎเกณฑ์ที่เซอร์ไอแซคนิวตันตั้งไว้
...ดอกถั่วมะแฮะที่เคยหลงเรียกชื่อเมื่อวันก่อนนั้น
วันนี้ขอเรียนว่าไม่ใช่ดอกถั่วมะแฮะ
ต้องขอแก้ไขข้อมูลว่าเป็นดอกถั่วแดงเล็ก ก็ฝักกับเมล็ดที่ปรากฏมายืนยันตัวเองว่าคืออะไรกันแน่...ชัดเจนจริงๆ...
...มาคิดอีกที ข้อคิดที่ได้วันนี้ว่าบางทีผิดพลาด ไม่กล้าพูด เพราะอาจรู้สึกเสียหน้า แต่ถ้าหากไม่พูดเลย เพราะติดตรงเสียหน้า ผู้อื่นได้ข้อมูลผิดพลาด แต่ก็จะไม่ก้าวหน้าทั้งตัวเองและถ้ากลุ่มยังพลอยเข้าใจผิดไปด้วยยิ่งเป็นการพาให้กลุ่มไม่ก้าวหน้าด้วย...
ขอบคุณความฝันเรื่องราวเกี่ยวกับเพลี้ย และขอบคุณวันนี้ที่ยังมีโอกาสได้แก้ไขข้อผิดพลาด
- บล็อกของ สายพิน
- อ่าน 9880 ครั้ง
ความเห็น
กระต่ายดำ
29 พฤศจิกายน, 2010 - 13:53
Permalink
เจ๊โส : น้ำนมถั่วมะแฮะ
เคยดูใน TV แนะนำให้ทำน้ำนมถั่วมะแฮะดื่มแทน น้ำนมถั่วเหลือง ไม่ต้องกังวลเรื่อง ถั่วเหลือง GMO
แต่ทำยังไงไม่รู้ ลองถาม อากู๋ คงได้คำตอบนะครับเจ๊
จะปลูกต้นไม้ในใจเธอ
สายพิน
29 พฤศจิกายน, 2010 - 14:09
Permalink
คุณเจ้โส
ยอดเยี่ยมเลย รอบใหม่นี้เริ่มเพาะถั่วมะแฮะ ...โอ ...ขอบคุณมากมายถ่ายภาพส่งต้นมาให้ดูเห็นใบด้วย ครั้งต่อไปพอต้น ใบ โผล่ ก็จะได้รู้กันเลยว่าใช่ถั่วมะแฮะหรือเปล่า อยากรู้จังว่าดอกจะเป็นสีอะไรนะ
อารีย์_กำแพงเพชร
29 พฤศจิกายน, 2010 - 14:35
Permalink
พี่สายพิน
มาให้กำลังใจ ปลูกรอบใหม่กับความตั้งใจปลูกถั่วมะแฮะค่ะ
แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง
สายพิน
29 พฤศจิกายน, 2010 - 15:13
Permalink
คุณอารีย์
ขอบคุณมากค่ะ ที่ให้กำลังใจ เดี๋ยวจะลองดูใหม่ว่าผลเป็นอย่างไร
2s
29 พฤศจิกายน, 2010 - 14:55
Permalink
เพลี้ยอ่อน กับด้วงเต่า และระบบฉีดน้ำฝอยแรง
ขอทำหน้าที่ในส่วนนี้ ในฐานะที่ร่ำเรียนต่อใน เรื่อง การจัดการศัตรูพืชผักผสมผสาน โดยตรง นอกเหนือจากเมล็ดพันธุ์พืชผัก ในส่วนแมลง เรียนเรื่อง เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง และไร และหนอนเจาะผลมะเขือเทศ ส่วนโรค เรียนเรื่อง แบคทีเรียล วิลส์ และสปอตในมะเขือเทศ และพริกหวาน
ภาพแรก ไม่ใช่เต่าแตง แต่เป็นตัวแก่ด้วงเต่า(Lady Beatles) ซึ่งทั้งตัวอ่อน และตัวแก่ เป็น ตัวห้ำ กินเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ครับ ตามธรรมชาติ ช่วงนี้มีมาก แต่เพลี้ยก็มากเช่นกัน และขยายตัวเร็วมา เพราะ เกิดมาได้ก็ออกลูกเป็นตัว ได้เลย โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ ในขณะที่ ด้วงเต่า จะมีระยะพักตัว (รวมถึงแมลงช้างปีกใส)
การที่เราใช้สารเคมี หรือสารสมุนไพร ป้องกัน กำจัด เพลี้ยต่างๆ โอกาสที่จะทำลาย ตัวห้ำ ตัวเบียน ด้วยมีสูงมาก(สูงยิ่งกว่า) เนื่องจาก ตัวห้ำ ตัวเบียน ต้องเดิน/บิน หาอาหารกิน(คือเพลี้ยต่างๆ) และไม่ระวัง จึงมีโอกาสถูกสารฯ ต่างๆ ได้ง่ายกว่า เพลี้ยซึ่งแอบดูดน้ำเลี้ยงตาม ยอด หลังใบ หรือส่วนอื่นๆ และหลบ หลีกเลี่ยงจากสารฯ ที่ฉีด ดังนั้น เกือบทุกครั้งที่ฉีดสารฯ ตัวห้ำ ตัวเบียน จะถูกทำลายไปมากมาย ใน บล็อค 2S จึงพูด ถึง การฉีดน้ำฝอยแรง และการจัดการองค์รวม เสมอ
ตัวอย่าง การจัดการองค์รวม เช่น ปลูกผัก ต้นเดียว ต่อหลุม ดูแลระบบรากให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยง การทำลายระบบราก การตัดแต่งกิ่งใบ การให้ธาตุอาหารให้เพียงพอแต่ละช่วงการเจริญเติบโต(ลองปลูกแตงกวาญี่ปุ่น หรือถั่วฝักยาวสีแดง จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เมื่อผักทั้งสองชนิดได้รับธาตุอาหาร และมีระบบรากแข็งแรง จะสามารถมีใบแทบไม่มีโรค และมีเพลี้ยอ่อนลงน้อยมาก เมื่อจะเก็บผลเสร็จสิ้นแล้ว ...พวกเรา เวลาถ่ายรูป ก็เพียงช่วงติดดอก ติดผลแรกๆ แต่เมื่อเรื่มติดผล พืชทั้งแตง และถั่วจะใช้ธาตุอาหารเพิ่มมากๆขึ้น ต้องไปเรียนรู้เอง) และอีกหลายๆประการ ไม่ว่า จะเรื่องสายพันธุ์ หรือการเข้าใจ โรคแมลง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรา ละเลย มากๆ คือ ทิศทางของแสง ลม มีส่วนมากๆ ในการระบาดของเพลี้ยต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล
ตอบตามที่รู้ และทำมาตลอดยาวนาน แต่จะถูกต้อง ถูกใจ ไม่กล้ารับรองครับ และเคยบอกเสมอว่า การปลูกผัก ๓๖๕วัน ยากมากๆ โดยเฉพาะผักกินผล ถ้าจะไม่ใช้อะไรเลยครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
สายพิน
29 พฤศจิกายน, 2010 - 18:36
Permalink
ความรู้เพิ่ม
ขอขอบคุณคุณ 2S เป็นอย่างมากที่กรุณาให้ความรู้เรื่องศัตรูพืชและการจัดการ ยินดีมากที่ได้รับทราบข้อมูลและความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านที่ศึกษามา เป็นเรื่องที่เรียนให้ทราบเลยว่า ส่วนตัวเองไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ อาศัยเห็น อ่าน เข้าใจ ลองผิดลองถูก เมื่อได้ข้อมูลมาทำให้รู้สึกมีความหวังขึ้นมากกับการที่จะเรียนรู้ต่อในเรื่องการปลูกพืชและทำความเข้าใจกับศัตรูพืช เรียนตรงๆว่าบางทีก็มองใบที่ถูกกินแล้วก็เลยตามเลย
จะจำชื่อเจ้าตัวเล็กในภาพนี้ให้แม่นยำว่าชื่อด้วงเต่า ซึ่งธรรมชาติส่งกันมาเพื่อควบคุมซึ่งกันและกัน (ยังไงจะต้องหาโอกาสศึกษาข้อมูลหน้าตาตัวอ่อนและตัวแก่) ว่าตัวห้ำที่เป็นตัวแก่ หน้าตาเป็นอย่างไร แต่เรียนว่าถือเป็นข้อมูลที่ได้ประโยชน์มากค่ะ เป็นแนวทางรู้จักศัตรูพืช หากเพลี้ยเป็นอันตรายกับพืช เรียนถามว่าด้วงเต่าและตัวห้ำเป็นอันตรายด้วยไหม ยังไปไม่ถึงบล็อค 2S เท่าใดนัก เมื่อทราบข้อมูลอย่างนี้จะไม่ให้พลาดเพื่อได้เรียนรู้จากสิ่งที่คุณ 2S กรุณาถ่ายทอดมาให้
ในการจัดการองค์รวมที่ให้ข้อมูลมานี้ อ่านแล้วเข้าใจอย่างดี เห็นภาพความแข็งแรงของระบบรากพืชและการกลักเลี่ยงการทำลายไม่ว่าราก กิ่ง หรือใบ เช่น ปลูกผัก ต้นเดียว ต่อหลุม ดูแลระบบรากให้แข็งแรง และหลีกเลี่ยง การทำลายระบบราก การตัดแต่งกิ่งใบ และการให้ธาตุอาหารให้เพียงพอ ทำให้รู้สึกมีความหวังมากว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ทีละปัญหา โดยไม่ใช้ยาฉีดหรือเคมี
เห็นทีจะต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้นในเรื่องสายพันธุ์ หรือการเข้าใจ โรคแมลง รวมถึงทิศทางของแสง ลม ที่มีผลต่อการระบาดของเพลี้ยต่างๆ โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ต้องขอขอบพระคุณคุณ 2S อย่างมาก ที่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจ เป็นเรื่องยากแต่ก็มีความหวังใช่ไหมคะกับการที่จะปลูกผัก แล้วยังพอจะเหลือให้ได้กินผลบ้าง
2s
29 พฤศจิกายน, 2010 - 22:01
Permalink
ด้วงเต่า และตัวห้ำอื่นๆ ไม่ใช่ศัตรูพืชผัก
ด้วงเต่า ไม่ว่า ตัวอ่อน หรือตัวแก่(รวมถึงตัวห้ำ หรือแม้แต่ตัวเบียนทุกชนิด) ไม่ใช่ศัตรูพืช ไม่กินพืชผักที่เราปลูก แต่กินแมลงศัตรูพืชแทน เราเรียกว่าขบวนการเช่นนี้ว่า ชีววิธี หรือแมลงดีมีประโยชน์ควบคุมแมลงศัตรูพืช(ในเว็บฯ มีรูปแมลงมีประโยชน์ หาไม่ยาก แต่จะไปถ่ายจากในสวน ในแปลง ให้ครับ ได้ประโยชน์มากกว่า)
การปลูกผักไม่ได้ใช้อะไร ยากแน่นอน แต่ไม่ยากมากเกินไป สำหรับครอบครัว และญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพราะไม่ต้องกังวลปัจจัยภายนอกหลายๆอย่าง ที่อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่ถ้ามีจุดประสงค์เช่น 2S ที่จะให้ เกษตรกร และผู้เกียวข้องที่ผลิตผัก ทุกระดับ ละเลิก หลีกเลี่ยง ลดการใช้สารจะยากๆๆๆๆ มากๆๆๆๆ เพราะ เราอาจจะไม่ได้เลือกสายพันธุ์ หรือช่วงเวลาปลูกได้ เพราะ ราคา และตลาดเป็นตัวบังคับ และยากขึ้นอีก แม้จะผ่านการผลิตที่ไม่ได้ใช้สารฯ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลผลิต และคุณภาพ เทียบเท่ามืออาชีพที่ใช้สารฯ ที่ส่งตลาดประจำ ต้องใช้ 3-5ต้น เท่ากับ 1ต้นของมืออาชีพ ก็มีแต่ทางขาดทุน ทำให้ไม่สามารถยืนหยัดการผลิตพืชชนิดนั้นได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่ ว่า ผลิตมาก น้อยเท่าไร ก็มีแต่ขาดทุน พืชครู พวกนี้ ก็เช่น คะน้ายอด 2Sใช้เวลา สิบกว่าปี จนสามารถผลิตโดยไม่ต้องใช้อะไรเลย แต่หลังจากนั้นมา จนถึงปัจจุบัน ได้รับการยอมรับดีมาก และมีความต้องการทุกๆวัน แต่ทุกๆหน่วย ทุกๆแปลง ทุกๆต้นที่ผลิตคะน้ายอด ขาดทุนมาตลอด แม้แต่ช่วงราคาสูง แต่ก็ยากต่อการผลิต เพราะต้นคะน้ายอดที่ได้ก็เล็กตามไป ก็ขาดทุนอีก แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ ยังปรับแต่งขบวนการผลิต และหวังว่า จะคุ้มทุนในปีหน้า หรือปีโน้นๆๆๆๆ
เรื่องเขียนเล่า รูปภาพ ภาษาง่ายๆ ไม่ใช่ปัญหาใดๆ ทีมงาน 2S ความรู้สูงสุด ป. หก และอายุน้อยที่สุด สามสิบแปดปี นอกจาก โรคความดัน นิ้วพิการ หูไม่ค่อยได้ยิน สายตาไม่เห็นในระยะใกล้ พวกเราทุกคนยังเป็นโรคเรื้อรัง คู่แข่งโรค เอดส์ คือ โรค อด ใครที่จะมาปลูกผักปลอดภัยระดับใดก็ตาม 2Sยอมรับใจทุกๆคน และไม่เคยว่ากล่าวให้เสียใจ สมัยก่อนที่ยังส่งเสริมปลูกแบบใช้สาร 2Sเคยส่งเสริมเกษตรกรภาคอิสาณ 25,000คน เดินทาง ตรวจแปลงทุกๆวัน เกือบทั้งหมดมีรายได้น้อยๆมาก
สังคมอีกรูปแบบที่ น้อยคนนักจะเข้าใจ และนี้คือส่วนที่ ทำไม 2Sถึงไม่ค่อยเล่น หรือค่อนข้างจริงจังมาก ถ้าต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ผลิตผักปลอดภัยอย่างยั่งยืนโดยเร็ว จะทำเล่นๆนะคงจะไม่มีทางประสบความสำเร็จหรอกครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
สายพิน
30 พฤศจิกายน, 2010 - 06:45
Permalink
คุณ 2s ขอขอบคุณความรู้เพิ่มค่ะ
ขอขอบคุณความรู้ที่คุณ 2S กรุณาให้มาเรื่องด้วงเต่า ตัวห้ำ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ความรู้ ทำให้เกิดความคิดที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจให้มากขึ้น บางทีเจอแมลงแปลกๆก็เลี่ยงไม่ทำร้ายเขาแต่พยายามเอาออกนอกบ้านให้ไปอยู่ไกลๆหน่อย เกรงว่าจำนวนมากขึ้น จะส่งผลต่อพืชที่ปลูก ทราบอย่างนี้จะได้ไม่โยกย้ายที่อยู่เพื่อให้ขบวนการชีววิธี ที่ว่านี้เกิดขึ้นในบ้านให้ได้ อย่างไรก็ต้องขอขอบคุณค่ะที่จะถ่ายภาพจากในสวนให้แปลงให้มีโอกาสได้ชมอีก ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ประโยชน์มากๆได้รู้จักหน้าตามากขึ้นของชีวิตน้อยๆตลอดจนแมลงแต่ละอย่างค่ะ
พอทราบว่าการปลูกผักไม่ได้ใช้อะไร ไม่ยากมากเกินไป สำหรับครอบครัว และญาติพี่น้อง ก็รู้สึกยินดีมาก เหตุผลที่มีอย่างหนึ่งคืออยากเลี่ยงที่จะไม่ทำให้ชีวิตแวดล้อมไม่ว่าทั้งตัวเล็กตัวน้อยหรือตัวบุคคลต้องเดือดร้อน คือ ทำไปแล้วเขาจะเดือดร้อนก็ไม่สบายใจน่ะค่ะ ที่ปลูกก็หวังจะได้กินพืชผักที่ปลูก แม้ว่าไม่สวย ผลผลิตจะเป็นสามถึงห้าต่อหนึ่งต้นของมืออาชีพก็ดีใจมากโขอยู่ค่ะ ส่วนมืออาชีพนั้นเห็นใจมากด้วยในเรื่องที่ไม่อาจควบคุมปัจจัยภายนอกและเป็นเรื่องการอยู่รอดทางเศรษฐกิจในการดำรงชีวิต
การแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลนี้ เป็นการให้โอกาสได้ทราบชัดเจนถึงจุดประสงค์ของคุณ 2S ที่จะให้ เกษตรกร และผู้เกียวข้องที่ผลิตผัก ทุกระดับ ละเลิก หลีกเลี่ยง ลดการใช้สาร ทราบว่า คุณ 2Sใช้เวลานานถึงสิบกว่าปีในการมุ่งมั่นกับอุดมการณ์ความตั้งใจ จนปัจจุบันแม้ว่าได้รับการยอมรับแต่ก็ยังพบกับเรื่องการขาดทุน เช่นผักคะน้า ยินดีที่ได้ทราบถึงกำลังใจที่เข้มแข็งไม่ย่อท้อ เชื่อว่า ความตั้งใจและความพากเพียรอย่างมากนี้ ในวันหนึ่งข้างหน้าผลย่อมออกมาให้ได้ชื่นใจ
เท่าที่ฟังดูว่าทีมงานที่ทำงานมีข้อจำกัดทางด้านสุขภาพนั้น หมายความว่าเป็นผลพวงจากการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่คะ และด้วยอายุที่ว่าน้อยสุดสามสิบแปดปีนี้ ยิ่งทำให้มั่นใจมากว่าโรคอด(โรคอดทน ที่ไม่ต้องรักษาให้หาย แต่ยิ่งต้องรักษาให้อยู่ยาวนานแล้วกระจายให้ผู้อื่นได้เป็นโรคอดทนต่อๆไปด้วยถ้าเป็นกันเป็นส่วนใหญ่ในบ้านเมืองนี้ ดูว่าน่าจะเป็นความสุขมากๆ)
ต้องขอขอบคุณคุณ2Sอย่างมากค่ะกับความคิดเห็นนี้ที่เมื่ออ่านแล้วได้ประโยชน์ทั้งยังก่อให้เกิดใจที่มั่นใจและมีกำลังใจมากขึ้นว่าหากเรียนรู้และทำความเข้าใจ เดินตามต่อ อย่างน้อยได้มีผู้ที่รู้มากกว่า แวะเข้ามาเยี่ยมชมและให้ความคิดเห็นที่มีค่ามากๆอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นกำไรของชีวิตที่จะปลูกพืชผักที่หลีกเลี่ยงการใช้เคมีหรือสารใดๆ ขอบคุณมากกับความตั้งใจ ความอดทน คอยติดตาม และขอเรียกว่าสอดส่อง ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเรื่องที่คุณ2S มีความรู้และความชำนาญโดยตรง ยังทำให้ได้รู้จักรายละเอียดเพิ่มที่เป็นตัวแทนสังคมอีกรูปแบบที่เป็นสังคมผลิตผักปลอดภัยยั่งยืนที่ต้องมีความอดทน
ขอขอบพระคุณมากค่ะ
2s
30 พฤศจิกายน, 2010 - 19:33
Permalink
ขอบคุณมาก ครับ สำหรับ โรคอด(ยาก) ที่ต้องอดทนยิ่ง
ไม่มีอะไรจะกล่าว นอกจากคำว่า ขอบคุณมากครับ
การผลิตผักปลอดภัย ไม่มีเส้นทางลัดนะครับ พยายามทำปุ๋ยหมักตื่นตัว ไว้ใช้เอง แต่ต้องแบ่งไว้ ๑ส่วน เสมอ เป็นพี่เลี้ยงให้กองปุ๋ยรุ่นต่อไป กลับกอง บ่อยๆ ให้ใช้ได้ภายใน ๒เดือน ใช้ฟาง(หม่น) เป็นสำคัญ แม้ว่า จะยุบตัวมาก แต่จุลินทรีย์จะชอบมาก มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อ การผลิตผักปลอดภัยนะครับ และครอบครัวได้ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ร่วมกันครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
สร
29 พฤศจิกายน, 2010 - 15:55
Permalink
คุณสายพิณ คุณ 2s
ขอนุญาต...คุณสายพิณ...อยากให้คุณ 2S เขียนบล๊อกเกี่ยวกับ เรื่องนี้แบบง่าย ๆ (ฉบับชาวบ้าน) มีภาพประกอบด้วยก็ดี...ดูแล้วมีประโยชน์ต่อการปลูกผักมาก ๆ เลย ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับ สมช.นะค๊ะ ไม่ต้องไปค้นหาด้วยตัวเอง...ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
sorn07(แอ๊ด)gmail(ดอท)com
หน้า