ความวิเศษของถั่วพู

หมวดหมู่ของบล็อก: 

เห็นสมาชิกหลายท่านปลูกถั่วพูกันก็เลยเอาข้อมูลมาฝากครับ

    ถั่วพูเป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่คนไทยรู้จักดีโดยการนำฝักอ่อนมารับประทาน ภายหลังที่ได้พบว่าถั่วพูมีความสามารถพิเศษ ในการตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศ และเปลี่ยนเป็นโปรตีนของส่วนต่าง ๆ ทำให้ส่วนเหล่านั้นมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น

    ถั่วพูมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาและได้ถูกนำมายังเอเชียอาคเนย์และปาปัว นิวกินีในคริสตศตวรรษที่ 17 และยังคงมีปลูกเป็นพืชสวนครัวหลังบ้านอยู่ในแถบนี้จนถึงปัจจุบันโดยมิได้มี การปลูกเป็นการค้าเลยนอกจากในพม่าและปาปัวนิวกินี ถั่วพูสามารถขึ้นได้ในความสูงถึง 2000 ม. ชอบอากาศร้อนที่ชุ่มชื้น เป็นพืชที่มีข้อดีต่าง ๆ คือ

    (1) ใช้รับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น ตั้งแต่ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก ฝักอ่อน เมล็ดอ่อน  เมล็ดแก่ และหัว และแต่ละส่วนก็มีโปรตีนอยู่ในปริมาณมากกว่าพืชอื่น ๆ
    (2) ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี
    (3) ช่วยบำรุงดิน
    (4) ช่วยอนุรักษ์ดิน
    (5) ปลูกง่ายและขึ้นได้ดีในทุกภาค
    (6) ให้ผลประโยชน์ตลอดระยะเวลาปลูก
    (7) ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และมีลู่ทางที่จะปลูกเป็นการค้าได้

    ปัญหา ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความไม่เคยชินของคนไทยในการนำส่วนต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในการใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันพืช อาหารคน และอาหารสัตว์ นอกจากนั้นก็มีปัญหาทางด้านเมล็ดพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์

ลักษณะของถั่วพู

    ถั่วพูเป็นไม้เลื้อย จัดอยู่ในประเภท herbaceous perennial คือส่วนเหนือดินเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงไม่กี่เดือนก็จะตาย แต่ ส่วนใต้ดินจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป (ถ้าดินชื้นพอ) ถ้าหากมีค้าง จะขึ้นสูงได้ถึง 3-4 เมตร ดอกมีสีฟ้า ขาว หรือม่วง (แล้วแต่พันธุ์) เป็นดอกสมบูรณ์เพศและผสมตัวเอง ฝักรูปร่างยาว มีสี่ด้าน ลักษณะเป็นปีกกางออกไปตามเส้นทแยงมุมของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (มองจากภาค ตัดขวาง) ขนาดของฝักยาวตั้งแต่ 6-36 ซ.ม. และมีเมล็ดตั้งแต่ 5-20 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างกลมหรือทรงกระบอก (oblong) (แต่ไม่ยาวนัก) ผิวเป็นมัน มีสีหลายสีตั้งแต่สีขาว ครีม เหลือง น้ำตาล ดำ และลวดลายด่างต่าง ๆ กัน มีน้ำหนัก 0.06-0.40 กรัม/เมล็ด

    การเจริญเติบโต ของฝักแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ซึ่งกินเวลาประมาณ 20 วัน ฝักจะโตถึงขนาดใหญ่ที่สุด ระยะที่สองซึ่งใช้เวลาประมาณ 44 วัน เมล็ดจะแก่ ฝักจะแห้งเหี่ยวลง

    ถั่วพูเป็นพืชที่มีระบบการสร้างปมรากที่กว้างขวางมาก ที่สุดในบรรดาพืชตระกูลถั่วทั้งหลาย ต้นหนึ่ง ๆ อาจมีปมมากถึง 440 ปม.และแต่ละปมก็จะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ปมใหญ่ ๆ ปมหนึ่งจะมีน้ำหนักสดถึง 0.6 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.2 ซ.ม. การเกิดปมเกิดโดยธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อไรโซเบียม ทั้งนี้เพราะดินทั่วไปมีเชื้อไรโซเบียม ที่จัดอยู่ในกลุ่มถั่วกระด้างอยู่มาก ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

นิเวศวิทยา

    ถั่วพูสามารถขึ้นได้ในสถานที่ตั้งแต่ ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 2000 เมตร และระหว่างเส้นขนาน 20 ํ เหนือ และ 10 ํ ใต้ ซึ่งอยู่ในเขตเอเชียเขตร้อน เชื่อกันว่าถั่วพูต้องการสภาพวันสั้นในการกระตุ้นให้เกิดดอก ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปปลูกในเขตอบอุ่น (เส้นขนานสูง ๆ) ถั่วพูมักจะไม่ออกดอก ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอุณหภูมิแต่ประการใด ถั่วพูเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงขึ้นได้ดีในเขตร้อนที่ชุ่มชื้น แต่ถ้ามีน้ำก็ขึ้นได้ในเขตร้อนทุกแห่ง แม้ว่าจะมีระบบรากที่มากมายและมีหัวใต้ดิน แต่ถ้าประสบกับภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานาน ก็จะตายได้เหมือนกัน

ข้อดีของถั่วพู
    เป็นพืชที่รับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น
    ในบรรดาพืชที่มนุษย์ปลูกเพื่อใช้รับประทานผลผลิตนั้น มีอยู่น้อยชนิดเหลือเกินที่เราสามารถนำเอาส่วนต่าง ๆ มาใช้รับประทานได้ทั้งหมด ถั่วพู เป็นพืชชนิดหนึ่งที่แทบทุกส่วนของต้นใช้รับประทานได้ ส่วนต่าง ๆ ของถั่วพู ที่รับประทานได้มีดังต่อไปนี้

    ก. ยอดอ่อน เมื่อต้นถั่วพูเจริญจากเมล็ดหรือหัวใต้ดินไต่ขึ้นร้านหรือเสาค้ำแล้ว ถ้าหากเด็ดยอดอ่อนออกบ้าง ก็จะช่วยให้ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากยิ่งขึ้น ยอดอ่อนเหล่านี้อุดมไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ และมีรสชาติอร่อย จึงใช้เป็นผักรับประทานได้โดยทำเป็นผักต้มจิ้มน้ำพริก ผัด ใส่ในแกงจือ (เช่นเดียวกับยอดตำลึง)

    ข. ใบอ่อน เมื่อเด็ดยอดอ่อนออกแล้ว ถั่วพูจะแตกกิ่งก้านสาขามาก (และมียอดอ่อนให้เด็ดมากขึ้นอีก) แต่ใบที่ติดอยู่กับยอดที่เหลือก็จะเจริญขึ้น ก่อนที่ใบเหล่านี้จะแก่ เราจะเด็ดมารับประทานได้โดยทำเป็นแกงจืด ผักต้ม ผัด ฯลฯ

    ค. ดอก เมื่อต้นมีอายุพอสมควรแล้ว ถั่วพูจะออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-6 ดอก (ระยะเวลาแล้วแต่พันธุ์ ตั้งแต่ประมาณ 2-4 เดือน) ช่อดอกเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะติดฝัก ซึ่งถ้าปล่อยให้ติดฝักมากเกินไป ต้นอาจโทรมเร็ว จึงควรเด็ดออกมารับประทานเสียบ้าง อาจนำไปทำเป็นผักสลัด ทอดกับน้ำมัน (รสชาติคล้ายเห็ด) ชุบแป้งทอด (แบบดอกโสน) หรือชุบไข่ทอดก็ได้

    ง. ฝักอ่อน เมื่อดอกบานและเกิดการผสมพันธุ์แล้ว ฝักก็จะเริ่มเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทั่ว ๆ ไป จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ฝักก็จะใหญ่ที่สุดที่เหมาะสำหรับนำไปบริโภค แต่อาจเก็บฝักขนาดเล็กกว่านี้ไปบริโภคได้ ฝัก เหล่านี้อาจใช้รับประทานแบบต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หรือจะดัดแปลงวิธีการอย่างใดก็ได้ เช่น ชุบไข่ทอด (แบบมะเขือยักษ์ ชะอม) ชุบแป้งทอด ฯลฯ

    จ. เมล็ดอ่อน ฝักที่มีอายุเกิน 2 สัปดาห์นั้น จะเริ่มมีเสี้ยนมากจนไม่เหมาะที่จะรับประทาน แต่เมล็ดภายในฝักยังอ่อนพอที่จะนำไปรับประทานได้ โดยการนำไปทำเป็นผักต้ม ผัด ฯลฯ แบบเดียวกับถั่ว pea ของต่างประเทศ

    ฉ. เมล็ดแก่ เมื่อฝักแก่และแห้งเหี่ยวแล้ว เมล็ดที่อยู่ภายในจะยังไม่แตกออก หากมีมาก เมล็ดเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง คือ
              (1) สกัดน้ำมัน - ได้น้ำมัน 17% เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี เพราะมีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acids)  จึงไม่เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดเส้นเลือด ดังเช่นน้ำมันบางประเภท น้ำมันเมล็ดถั่วพู จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นน้ำมันหุงต้ม
              (2) น้ำมันสกัด-ได้ โปรตีน - มีอยู่ถึง 34% เป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางอาหารไล่เลี่ยกับเมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งจัดว่าเป็นโปรตีนจากพืชที่ดีเยี่ยม ใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารได้ดีเช่นเดียวกับเมล็ดถั่วเหลือง และดีกว่าตรงที่ไม่มีกลิ่นเต้าหู้  เมล็ดถั่วพูมีเปลือกแข็งจึงต้องใช้เวลานานในการหุงต้มหรือคั่ว โดยปรกติจะใช้เวลาต้มถึง 2-3 ชั่วโมง
         นอกจากน้ำมันและโปรตีนแล้ว เมล็ดแก่ของถั่วพูยังมีสาร tocopherol ในปริมาณสูง สารนี้เป็น antioxidant ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการไปต่อต้านตัวทำลายไวตามินเอ ดังนั้นจึงทำให้การใช้ประโยชน์ของไวตามินเอ ในร่างกาย จากอาหารได้ผลดียิ่งขึ้น

    ช. หัว หัวถั่วพูมีโปรตีนอยู่สูงในบรรดาพืชหัวทั้งหลาย กล่าวคือในสภาพสด มี 12-15% แต่ในสภาพแห้งมีมากกว่า 20%  เปรียบเทียบกับมันสำปะหลัง 1% มันฝรั่งและมันเทศ 2% ใช้รับประทานแบบหัวมันฝรั่งและมันเทศ เช่น นึ่ง ต้ม เผา เชื่อม  นอกจากมีคุณค่าทางอาหารแล้ว หัวถั่วพูยังมีรสชาติอร่อยอีกด้วย
      
ถั่วพูเป็นพืชที่เป็นอาหารสัตว์ได้ดี

    นอกจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าและอร่อยของ มนุษย์แล้ว ส่วนต่าง ๆ ของถั่วพูดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ได้เป็นอย่างดี เพราะมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าพืชอื่น ๆ (ส่วนเหนือดินมีโปรตีน 25.5%-นน.แห้ง) ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนที่มนุษย์รับประทานไม่ได้คือลำต้น ก็เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ในกรณีที่ปลูกถั่วพูเพื่อเอาเมล็ดแห้ง หลังจากเก็บฝักแก่เพื่อนำไปกระเทาะเมล็ดแล้ว ต้นแห้งทั้งต้นก็นำไปเลี้ยงปศุสัตว์ได้ โดยนำไปตากแห้งแล้วป่นเป็นอาหารผสมหรือทำอาหารหมัก (silage) เก็บไว้ให้สัตว์กินตอนอาหารขาดแคลนก็ได้

    เนื่องจากถั่วพูเป็นพืชที่มี โปรตีนสูง และสามารถขึ้นได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง เราอาจปลูกถั่วพูเป็นพืชอาหารสัตว์ แบบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ (pasture) โดยไม่ต้องทำค้าง แต่ปล่อยให้เลื้อยคลุมดินเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่วที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ อื่น ๆ แล้วปล่อยให้ปศุสัตว์เข้าไปแทะเล็มกินเอาเอง หรืออาจเก็บเกี่ยวมาเลี้ยงสัตว์ก็ได้

ถั่วพูเป็นพืชบำรุงดิน

    ถั่วพู มีความสามารถเป็นเยี่ยมในการตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่ประหลาดใจเลยที่ถั่วพูสามารถสร้างโปรตีนให้แก่ส่วนต่าง ๆ ได้มากเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้นการเกิดปมที่รากก็เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อไรโซเบียมดังเช่นถั่วเหลือง ทั้งนี้ก็เพราะเชื้อที่ขึ้นกับถั่วพู ไม่ใช่ประเภทเจาะจงเหมือนเชื้อที่ขึ้นกับถั่วเหลือง   เชื้อนี้มีอยู่มากมายในดินทั่วไป ปมรากที่เกิดขึ้นก็มีจำนวนมาก แต่ละปมมีขนาดใหญ่ และเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ที่ต้นเจริญเติบโต ไม่ใช่แต่เพียงในระยะแรกระยะเดียว ไนโตรเจนที่ถูกตรึงจากอากาศโดยเชื้อแบคทีเรียปมรากถั่วนี้  ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นโปรตีนไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของต้น แต่จะยังมีเหลืออยู่ในตัวแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปมราก และเมื่อแบคทีเรียเหล่านี้ตายลง ไนโตรเจนก็จะถูกปลดปล่อยออกมา จึงเป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่ดินบริเวณนั้น  ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น มีรายงานว่าในประเทศพม่าการปลูกอ้อยภายหลังถั่วพูนั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 50% ดังนั้น ถั่วพูจึงเป็นพืชที่ดีเยี่ยมในระบบการปลูกพืชหมุนเวียน หรือการปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดินโดยตรงแต่อย่างเดียว ในบางกรณีก็อาจใช้ถั่วพูเป็นพืชแซมของพืชประธานอื่น ๆ ดังเช่นในประเทศปาปัวนิวกินี ใช้ถั่วพูปลูกแซมมันเทศ อ้อย เผือก กล้วย ผัก หรือถั่วอื่น ๆ ส่วนในประเทศอินโดนีเซียนั้นนิยมปลูกถั่วพูตามคันนา

ถั่วพู เป็นพืชอนุรักษ์ดิน

    นอก จากจะบำรุงดินแล้ว ถั่วพูยังช่วยอนุรักษ์ดินไม่ให้เสื่อมโทรมลงไปโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ลาดเอียง มาก ๆ การปลูกถั่วพูบนพื้นที่เหล่านี้ แล้วปล่อยให้เป็นพืชคลุมดินจะช่วยลดการพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปลูกไปแล้วครั้งหนึ่ง หากไม่เก็บเกี่ยวเอาหัวขึ้นมาใช้ประโยชน์และอากาศไม่แห้งแล้งจนเกินไปแล้ว เมื่อถึงฤดูถัดไป ถั่วพูก็จะแทงหน่อขึ้นมาจากหัวและเจริญเติบโตเป็นพืชคลุม ดินต่อไปโดยไม่ต้องปลูกใหม่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน ซึ่งจะมีผลดีในการอนุรักษ์ดินสำหรับพื้นที่ลาดเอียง เช่น บนดอยต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ และค่าใช้จ่ายในการปลูกอีกด้วย นอกจากนั้น ต้นที่เจริญขึ้นมาจากหัวจะโตเร็วกว่าต้นที่งอกจากเมล็ด ทำให้ลดอันตรายจากการชะล้างพังทลายของดินในตอนต้นฤดูฝนไปได้มาก

ถั่วพู เป็นพืชที่ปลูกง่ายและขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย

    ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ถั่วพูสามารถขึ้นได้บนที่ที่มีความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 2,000 เมตร แต่บางคนก็อ้างว่าสามารถปลูกถั่วพูในที่สูง 2,300 เมตรได้ดี (Khan et al 1976) ส่วนในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นั้น ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทยสามารถปลูกถั่วพูให้ออกดอกได้ (เพราะอยู่ในระหว่างเส้นขนาน 20 ํ เหนือ และ 10 ํ ใต้) แม้ว่าถั่วพูจะชอบความชุ่มชื้น แต่ก็สามารถทนแล้งได้พอสมควร และสามารถจะปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีน้ำชลประทานช่วยในฤดูแล้ง ในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของดินนั้น ถั่วพูสามารถขึ้นได้แม้ในดินเลวที่ขาดธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นดินที่พบโดยทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบนดอยในภาคเหนือของ ประเทศไทย

ถั่วพูเป็นพืชที่ให้ผลประโยชน์ตลอดระยะเวลาการปลูก

    นับตั้งแต่เริ่มปลูกถั่วพู พอตั้งตัวเริ่มแตกกิ่งก้านเลื้อยขึ้นร้านหรือไม้ค้ำแล้ว ถั่วพูก็จะให้ผลผลิตที่นำไปใช้ประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่งตลอดเวลา แม้กระทั่งเมื่อต้นตายแล้ว หัวใต้ดินก็ยังคงอยู่ และรอการขุดขึ้นมานำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งก็เป็นจังหวะที่เหมาะสมตามสภาพของฤดูกาลแล้ว ต้นถั่วจะตายเมื่อเข้าฤดูแล้ง ซึ่งกสิกรว่างงานและขาดแคลนอาหาร ดังนั้นถั่วพูจึงเหมาะสมที่จะปลูกไว้ตามที่ว่างภายในบริเวณบ้านและนำเอาผล ผลิตมาใช้รับประทานในครัวเรือน

ถั่วพู เป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง

    เนื่องจากยังไม่มีการปลูกกันอย่างเป็น การค้า ณ ที่ใด ๆ ในโลกนี้ ตัวเลขเกี่ยวกับผลผลิตของถั่วพูจึงได้มาจาก  การทดลองในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับสภาพการปลูกเป็นการค้า Dr. Hymowitz แห่งแผนกพืชไร่ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ได้ให้สัมภาษณ์ Janc E. Brody (1975) แห่งหนังสือพิมพ์  “New York Times” เกี่ยวกับความวิเศษของถั่วพู และในตอนสุดท้ายได้เปรียบเทียบถั่วพูเสมือน “ไอส์ครีมโคน”  ที่ทุกส่วนรับประทานได้หมด เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า พืชที่ทุกส่วนนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น นับว่าเหมาะกับสภาพการเกษตร แบบโบราณ ที่เป็นการปลูกพืชเพื่อการยังชีพของตนเอง (subsistence agriculture)  ซึ่งถั่วพูเป็นพืชเช่นว่านี้

    ในปัจจุบันการปลูกถั่วพูได้ลดน้อยลงไปทุกที ทั้ง ๆ ที่เป็นพืชปลูกที่เก่าแก่พืชหนึ่งของมนุษย์ชาติ และจะมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็เฉพาะในสวนหลังบ้านในประเทศไทยและอีกไม่กี่ประเทศ ในเอเชียอาคเนย์เท่านั้น มีเพียง 2 ประเทศที่มีการปลูกถั่วพู เป็นการค้า คือ พม่าและปาปัวนิวกินี แต่ก็ไม่ใหญ่โตนัก และกำลังจะสูญสิ้นไปเช่นกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะถั่วพู เป็นพืชที่ต้องใช้แรงงานมากในการทำค้าง หรือร้าน เพราะในปัจจุบันพันธุ์ถั่วพูยังเป็นพันธุ์เลื้อยอยู่

Ref:http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=4297.0


ความเห็น

อบคุณมากน้องปกติก็ทานแต่ฝัก

ไม่นึกว่าจะทานได้หมดขนาดนี้

ว่าแต่รูปที่ลงนี่จากที่บ้านเหรอค่ะงามจัง

 

 

msn:lekonshore@hotmail.com

ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก จงมีความสุข สนุกกับชีวิต อย่ามัวคิดอิจฉาใคร

ผักงามมาก....

...2553 ปีที่ 1 ที่เริ่มเดินตามรอยพ่อ...

เพิ่งจะมารู้สรรพคุณและก็วิธีการกินอันมากมายก็วันนี้เอง ขอบคุณพี่วิทย์มากนะคะSmile

สุดมือสอย ก็ปล่อยมันไป^^ ธรรมะ จากท่าน ว.วชิรเมธี

ขอบคุณหลายๆเด้อคับ สำหรับข้อมูล ตอนนี้พี่ก็กำลังปลูกอยู่ 

ทำความดีนะครับ จะได้มีความสบายใจ   msn/krawmovie@hotmail.com

งามจังหู้นะครับ

ของผมไม่รู้ปรือมั่ง  เอาไปปลูกไว้ให้แม่กิน  ไม่รู้ว่าไปภึงไหนแล้ว

ไม่ได้โทรไปถาม 2-3 แล้วครับ

แต่ส่วนตัวผม ชอบมากๆ ครับ

 

อิจฉาจังที่ปลูกได้งามจริงๆ

ดีใจด้วยครับ

(ตอน) มา...(ตอน) อยู่...และก

คุณนายผมชอบมาก..แต่เป็นไม้เลื้อยเลยไว้ก่อนรอสวนใหญ่..

แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย

ถั่วพูเลื้อยไม่ไกลค่ะ ปลูกไต่ ก็ได้แล้ว



 

 

ได้เรื่องราวดีๆอีกเรื่องนึงเล่ว....ขอบคุณครับ

เป็นเพียงแค่มดตะนอย ตัวจ้อยจิด  ทีพลัดติดกลางช่อ พอเพียงใหญ่

คือหนึ่งเสียงหนึ่งคิดเห็น ที่เป็นไป อาจถูกใจหรือไม่บ้าง ลองชั่งดู

คุณวิทย์ ขอบคุณความรู้เรื่องถั่วพูมากๆค่ะ ยิ่งรู้สึกเสียดายมากขึ้น กับต้นที่เพิ่งบอกลากันไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ไม่เช่นนั้นคงได้กินถั่วพูในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ไม่เป็นไรค่ะ วันนี้ยิ่งได้อ่านบล็อกนี้แล้วยืนยันว่าจะยังหามาปลูกใหม่ให้ได้ค่ะ


ขอบคุณคุณวิทย์อีกครั้งค่ะ


 

งามมากค่ะ  นึกได้ทันทีเลย ยำถั่วพู เมณูวันหยุดพรุ่งนี้


ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

หน้า