ความวิเศษของถั่วพู

หมวดหมู่ของบล็อก: 

เห็นสมาชิกหลายท่านปลูกถั่วพูกันก็เลยเอาข้อมูลมาฝากครับ

    ถั่วพูเป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่คนไทยรู้จักดีโดยการนำฝักอ่อนมารับประทาน ภายหลังที่ได้พบว่าถั่วพูมีความสามารถพิเศษ ในการตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศ และเปลี่ยนเป็นโปรตีนของส่วนต่าง ๆ ทำให้ส่วนเหล่านั้นมีคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้น

    ถั่วพูมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแอฟริกาและได้ถูกนำมายังเอเชียอาคเนย์และปาปัว นิวกินีในคริสตศตวรรษที่ 17 และยังคงมีปลูกเป็นพืชสวนครัวหลังบ้านอยู่ในแถบนี้จนถึงปัจจุบันโดยมิได้มี การปลูกเป็นการค้าเลยนอกจากในพม่าและปาปัวนิวกินี ถั่วพูสามารถขึ้นได้ในความสูงถึง 2000 ม. ชอบอากาศร้อนที่ชุ่มชื้น เป็นพืชที่มีข้อดีต่าง ๆ คือ

    (1) ใช้รับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น ตั้งแต่ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก ฝักอ่อน เมล็ดอ่อน  เมล็ดแก่ และหัว และแต่ละส่วนก็มีโปรตีนอยู่ในปริมาณมากกว่าพืชอื่น ๆ
    (2) ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี
    (3) ช่วยบำรุงดิน
    (4) ช่วยอนุรักษ์ดิน
    (5) ปลูกง่ายและขึ้นได้ดีในทุกภาค
    (6) ให้ผลประโยชน์ตลอดระยะเวลาปลูก
    (7) ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และมีลู่ทางที่จะปลูกเป็นการค้าได้

    ปัญหา ที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความไม่เคยชินของคนไทยในการนำส่วนต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ในแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะในการใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันพืช อาหารคน และอาหารสัตว์ นอกจากนั้นก็มีปัญหาทางด้านเมล็ดพันธุ์และการปรับปรุงพันธุ์

ลักษณะของถั่วพู

    ถั่วพูเป็นไม้เลื้อย จัดอยู่ในประเภท herbaceous perennial คือส่วนเหนือดินเป็นพืชล้มลุก มีอายุเพียงไม่กี่เดือนก็จะตาย แต่ ส่วนใต้ดินจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป (ถ้าดินชื้นพอ) ถ้าหากมีค้าง จะขึ้นสูงได้ถึง 3-4 เมตร ดอกมีสีฟ้า ขาว หรือม่วง (แล้วแต่พันธุ์) เป็นดอกสมบูรณ์เพศและผสมตัวเอง ฝักรูปร่างยาว มีสี่ด้าน ลักษณะเป็นปีกกางออกไปตามเส้นทแยงมุมของรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (มองจากภาค ตัดขวาง) ขนาดของฝักยาวตั้งแต่ 6-36 ซ.ม. และมีเมล็ดตั้งแต่ 5-20 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างกลมหรือทรงกระบอก (oblong) (แต่ไม่ยาวนัก) ผิวเป็นมัน มีสีหลายสีตั้งแต่สีขาว ครีม เหลือง น้ำตาล ดำ และลวดลายด่างต่าง ๆ กัน มีน้ำหนัก 0.06-0.40 กรัม/เมล็ด

    การเจริญเติบโต ของฝักแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ซึ่งกินเวลาประมาณ 20 วัน ฝักจะโตถึงขนาดใหญ่ที่สุด ระยะที่สองซึ่งใช้เวลาประมาณ 44 วัน เมล็ดจะแก่ ฝักจะแห้งเหี่ยวลง

    ถั่วพูเป็นพืชที่มีระบบการสร้างปมรากที่กว้างขวางมาก ที่สุดในบรรดาพืชตระกูลถั่วทั้งหลาย ต้นหนึ่ง ๆ อาจมีปมมากถึง 440 ปม.และแต่ละปมก็จะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ปมใหญ่ ๆ ปมหนึ่งจะมีน้ำหนักสดถึง 0.6 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1.2 ซ.ม. การเกิดปมเกิดโดยธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อไรโซเบียม ทั้งนี้เพราะดินทั่วไปมีเชื้อไรโซเบียม ที่จัดอยู่ในกลุ่มถั่วกระด้างอยู่มาก ตามธรรมชาติอยู่แล้ว

นิเวศวิทยา

    ถั่วพูสามารถขึ้นได้ในสถานที่ตั้งแต่ ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 2000 เมตร และระหว่างเส้นขนาน 20 ํ เหนือ และ 10 ํ ใต้ ซึ่งอยู่ในเขตเอเชียเขตร้อน เชื่อกันว่าถั่วพูต้องการสภาพวันสั้นในการกระตุ้นให้เกิดดอก ทั้งนี้เพราะเมื่อนำไปปลูกในเขตอบอุ่น (เส้นขนานสูง ๆ) ถั่วพูมักจะไม่ออกดอก ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอุณหภูมิแต่ประการใด ถั่วพูเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงขึ้นได้ดีในเขตร้อนที่ชุ่มชื้น แต่ถ้ามีน้ำก็ขึ้นได้ในเขตร้อนทุกแห่ง แม้ว่าจะมีระบบรากที่มากมายและมีหัวใต้ดิน แต่ถ้าประสบกับภาวะแห้งแล้งเป็นเวลานาน ก็จะตายได้เหมือนกัน

ข้อดีของถั่วพู
    เป็นพืชที่รับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น
    ในบรรดาพืชที่มนุษย์ปลูกเพื่อใช้รับประทานผลผลิตนั้น มีอยู่น้อยชนิดเหลือเกินที่เราสามารถนำเอาส่วนต่าง ๆ มาใช้รับประทานได้ทั้งหมด ถั่วพู เป็นพืชชนิดหนึ่งที่แทบทุกส่วนของต้นใช้รับประทานได้ ส่วนต่าง ๆ ของถั่วพู ที่รับประทานได้มีดังต่อไปนี้

    ก. ยอดอ่อน เมื่อต้นถั่วพูเจริญจากเมล็ดหรือหัวใต้ดินไต่ขึ้นร้านหรือเสาค้ำแล้ว ถ้าหากเด็ดยอดอ่อนออกบ้าง ก็จะช่วยให้ต้นแตกกิ่งก้านสาขามากยิ่งขึ้น ยอดอ่อนเหล่านี้อุดมไปด้วยโปรตีนและแร่ธาตุ และมีรสชาติอร่อย จึงใช้เป็นผักรับประทานได้โดยทำเป็นผักต้มจิ้มน้ำพริก ผัด ใส่ในแกงจือ (เช่นเดียวกับยอดตำลึง)

    ข. ใบอ่อน เมื่อเด็ดยอดอ่อนออกแล้ว ถั่วพูจะแตกกิ่งก้านสาขามาก (และมียอดอ่อนให้เด็ดมากขึ้นอีก) แต่ใบที่ติดอยู่กับยอดที่เหลือก็จะเจริญขึ้น ก่อนที่ใบเหล่านี้จะแก่ เราจะเด็ดมารับประทานได้โดยทำเป็นแกงจืด ผักต้ม ผัด ฯลฯ

    ค. ดอก เมื่อต้นมีอายุพอสมควรแล้ว ถั่วพูจะออกดอกเป็นช่อประมาณ 2-6 ดอก (ระยะเวลาแล้วแต่พันธุ์ ตั้งแต่ประมาณ 2-4 เดือน) ช่อดอกเหล่านี้หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะติดฝัก ซึ่งถ้าปล่อยให้ติดฝักมากเกินไป ต้นอาจโทรมเร็ว จึงควรเด็ดออกมารับประทานเสียบ้าง อาจนำไปทำเป็นผักสลัด ทอดกับน้ำมัน (รสชาติคล้ายเห็ด) ชุบแป้งทอด (แบบดอกโสน) หรือชุบไข่ทอดก็ได้

    ง. ฝักอ่อน เมื่อดอกบานและเกิดการผสมพันธุ์แล้ว ฝักก็จะเริ่มเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทั่ว ๆ ไป จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ฝักก็จะใหญ่ที่สุดที่เหมาะสำหรับนำไปบริโภค แต่อาจเก็บฝักขนาดเล็กกว่านี้ไปบริโภคได้ ฝัก เหล่านี้อาจใช้รับประทานแบบต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น หรือจะดัดแปลงวิธีการอย่างใดก็ได้ เช่น ชุบไข่ทอด (แบบมะเขือยักษ์ ชะอม) ชุบแป้งทอด ฯลฯ

    จ. เมล็ดอ่อน ฝักที่มีอายุเกิน 2 สัปดาห์นั้น จะเริ่มมีเสี้ยนมากจนไม่เหมาะที่จะรับประทาน แต่เมล็ดภายในฝักยังอ่อนพอที่จะนำไปรับประทานได้ โดยการนำไปทำเป็นผักต้ม ผัด ฯลฯ แบบเดียวกับถั่ว pea ของต่างประเทศ

    ฉ. เมล็ดแก่ เมื่อฝักแก่และแห้งเหี่ยวแล้ว เมล็ดที่อยู่ภายในจะยังไม่แตกออก หากมีมาก เมล็ดเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ 2 ทาง คือ
              (1) สกัดน้ำมัน - ได้น้ำมัน 17% เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดี เพราะมีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acids)  จึงไม่เป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดเส้นเลือด ดังเช่นน้ำมันบางประเภท น้ำมันเมล็ดถั่วพู จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นน้ำมันหุงต้ม
              (2) น้ำมันสกัด-ได้ โปรตีน - มีอยู่ถึง 34% เป็นโปรตีนที่มีคุณค่าทางอาหารไล่เลี่ยกับเมล็ดถั่วเหลือง ซึ่งจัดว่าเป็นโปรตีนจากพืชที่ดีเยี่ยม ใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารได้ดีเช่นเดียวกับเมล็ดถั่วเหลือง และดีกว่าตรงที่ไม่มีกลิ่นเต้าหู้  เมล็ดถั่วพูมีเปลือกแข็งจึงต้องใช้เวลานานในการหุงต้มหรือคั่ว โดยปรกติจะใช้เวลาต้มถึง 2-3 ชั่วโมง
         นอกจากน้ำมันและโปรตีนแล้ว เมล็ดแก่ของถั่วพูยังมีสาร tocopherol ในปริมาณสูง สารนี้เป็น antioxidant ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการไปต่อต้านตัวทำลายไวตามินเอ ดังนั้นจึงทำให้การใช้ประโยชน์ของไวตามินเอ ในร่างกาย จากอาหารได้ผลดียิ่งขึ้น

    ช. หัว หัวถั่วพูมีโปรตีนอยู่สูงในบรรดาพืชหัวทั้งหลาย กล่าวคือในสภาพสด มี 12-15% แต่ในสภาพแห้งมีมากกว่า 20%  เปรียบเทียบกับมันสำปะหลัง 1% มันฝรั่งและมันเทศ 2% ใช้รับประทานแบบหัวมันฝรั่งและมันเทศ เช่น นึ่ง ต้ม เผา เชื่อม  นอกจากมีคุณค่าทางอาหารแล้ว หัวถั่วพูยังมีรสชาติอร่อยอีกด้วย
      
ถั่วพูเป็นพืชที่เป็นอาหารสัตว์ได้ดี

    นอกจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าและอร่อยของ มนุษย์แล้ว ส่วนต่าง ๆ ของถั่วพูดังกล่าวข้างต้น ก็สามารถใช้เป็นอาหารปศุสัตว์ได้เป็นอย่างดี เพราะมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าพืชอื่น ๆ (ส่วนเหนือดินมีโปรตีน 25.5%-นน.แห้ง) ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนที่มนุษย์รับประทานไม่ได้คือลำต้น ก็เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ในกรณีที่ปลูกถั่วพูเพื่อเอาเมล็ดแห้ง หลังจากเก็บฝักแก่เพื่อนำไปกระเทาะเมล็ดแล้ว ต้นแห้งทั้งต้นก็นำไปเลี้ยงปศุสัตว์ได้ โดยนำไปตากแห้งแล้วป่นเป็นอาหารผสมหรือทำอาหารหมัก (silage) เก็บไว้ให้สัตว์กินตอนอาหารขาดแคลนก็ได้

    เนื่องจากถั่วพูเป็นพืชที่มี โปรตีนสูง และสามารถขึ้นได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง เราอาจปลูกถั่วพูเป็นพืชอาหารสัตว์ แบบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ (pasture) โดยไม่ต้องทำค้าง แต่ปล่อยให้เลื้อยคลุมดินเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่วที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ อื่น ๆ แล้วปล่อยให้ปศุสัตว์เข้าไปแทะเล็มกินเอาเอง หรืออาจเก็บเกี่ยวมาเลี้ยงสัตว์ก็ได้

ถั่วพูเป็นพืชบำรุงดิน

    ถั่วพู มีความสามารถเป็นเยี่ยมในการตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศ ดังนั้นจึงไม่เป็นที่ประหลาดใจเลยที่ถั่วพูสามารถสร้างโปรตีนให้แก่ส่วนต่าง ๆ ได้มากเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้นการเกิดปมที่รากก็เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องเพาะเชื้อไรโซเบียมดังเช่นถั่วเหลือง ทั้งนี้ก็เพราะเชื้อที่ขึ้นกับถั่วพู ไม่ใช่ประเภทเจาะจงเหมือนเชื้อที่ขึ้นกับถั่วเหลือง   เชื้อนี้มีอยู่มากมายในดินทั่วไป ปมรากที่เกิดขึ้นก็มีจำนวนมาก แต่ละปมมีขนาดใหญ่ และเกิดขึ้นตลอดระยะเวลา ที่ต้นเจริญเติบโต ไม่ใช่แต่เพียงในระยะแรกระยะเดียว ไนโตรเจนที่ถูกตรึงจากอากาศโดยเชื้อแบคทีเรียปมรากถั่วนี้  ส่วนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นโปรตีนไปสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของต้น แต่จะยังมีเหลืออยู่ในตัวแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปมราก และเมื่อแบคทีเรียเหล่านี้ตายลง ไนโตรเจนก็จะถูกปลดปล่อยออกมา จึงเป็นการเพิ่มธาตุไนโตรเจนให้แก่ดินบริเวณนั้น  ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น มีรายงานว่าในประเทศพม่าการปลูกอ้อยภายหลังถั่วพูนั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 50% ดังนั้น ถั่วพูจึงเป็นพืชที่ดีเยี่ยมในระบบการปลูกพืชหมุนเวียน หรือการปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดินโดยตรงแต่อย่างเดียว ในบางกรณีก็อาจใช้ถั่วพูเป็นพืชแซมของพืชประธานอื่น ๆ ดังเช่นในประเทศปาปัวนิวกินี ใช้ถั่วพูปลูกแซมมันเทศ อ้อย เผือก กล้วย ผัก หรือถั่วอื่น ๆ ส่วนในประเทศอินโดนีเซียนั้นนิยมปลูกถั่วพูตามคันนา

ถั่วพู เป็นพืชอนุรักษ์ดิน

    นอก จากจะบำรุงดินแล้ว ถั่วพูยังช่วยอนุรักษ์ดินไม่ให้เสื่อมโทรมลงไปโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ลาดเอียง มาก ๆ การปลูกถั่วพูบนพื้นที่เหล่านี้ แล้วปล่อยให้เป็นพืชคลุมดินจะช่วยลดการพังทลายของดินได้เป็นอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปลูกไปแล้วครั้งหนึ่ง หากไม่เก็บเกี่ยวเอาหัวขึ้นมาใช้ประโยชน์และอากาศไม่แห้งแล้งจนเกินไปแล้ว เมื่อถึงฤดูถัดไป ถั่วพูก็จะแทงหน่อขึ้นมาจากหัวและเจริญเติบโตเป็นพืชคลุม ดินต่อไปโดยไม่ต้องปลูกใหม่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเตรียมดิน ซึ่งจะมีผลดีในการอนุรักษ์ดินสำหรับพื้นที่ลาดเอียง เช่น บนดอยต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเมล็ดพันธุ์ และค่าใช้จ่ายในการปลูกอีกด้วย นอกจากนั้น ต้นที่เจริญขึ้นมาจากหัวจะโตเร็วกว่าต้นที่งอกจากเมล็ด ทำให้ลดอันตรายจากการชะล้างพังทลายของดินในตอนต้นฤดูฝนไปได้มาก

ถั่วพู เป็นพืชที่ปลูกง่ายและขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย

    ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ถั่วพูสามารถขึ้นได้บนที่ที่มีความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงที่สูง 2,000 เมตร แต่บางคนก็อ้างว่าสามารถปลูกถั่วพูในที่สูง 2,300 เมตรได้ดี (Khan et al 1976) ส่วนในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์นั้น ทุกหนทุกแห่งในประเทศไทยสามารถปลูกถั่วพูให้ออกดอกได้ (เพราะอยู่ในระหว่างเส้นขนาน 20 ํ เหนือ และ 10 ํ ใต้) แม้ว่าถั่วพูจะชอบความชุ่มชื้น แต่ก็สามารถทนแล้งได้พอสมควร และสามารถจะปลูกได้ตลอดปี ถ้ามีน้ำชลประทานช่วยในฤดูแล้ง ในเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของดินนั้น ถั่วพูสามารถขึ้นได้แม้ในดินเลวที่ขาดธาตุไนโตรเจน ซึ่งเป็นดินที่พบโดยทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบนดอยในภาคเหนือของ ประเทศไทย

ถั่วพูเป็นพืชที่ให้ผลประโยชน์ตลอดระยะเวลาการปลูก

    นับตั้งแต่เริ่มปลูกถั่วพู พอตั้งตัวเริ่มแตกกิ่งก้านเลื้อยขึ้นร้านหรือไม้ค้ำแล้ว ถั่วพูก็จะให้ผลผลิตที่นำไปใช้ประโยชน์ อย่างใดอย่างหนึ่งตลอดเวลา แม้กระทั่งเมื่อต้นตายแล้ว หัวใต้ดินก็ยังคงอยู่ และรอการขุดขึ้นมานำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งก็เป็นจังหวะที่เหมาะสมตามสภาพของฤดูกาลแล้ว ต้นถั่วจะตายเมื่อเข้าฤดูแล้ง ซึ่งกสิกรว่างงานและขาดแคลนอาหาร ดังนั้นถั่วพูจึงเหมาะสมที่จะปลูกไว้ตามที่ว่างภายในบริเวณบ้านและนำเอาผล ผลิตมาใช้รับประทานในครัวเรือน

ถั่วพู เป็นพืชที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง

    เนื่องจากยังไม่มีการปลูกกันอย่างเป็น การค้า ณ ที่ใด ๆ ในโลกนี้ ตัวเลขเกี่ยวกับผลผลิตของถั่วพูจึงได้มาจาก  การทดลองในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับสภาพการปลูกเป็นการค้า Dr. Hymowitz แห่งแผนกพืชไร่ มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ได้ให้สัมภาษณ์ Janc E. Brody (1975) แห่งหนังสือพิมพ์  “New York Times” เกี่ยวกับความวิเศษของถั่วพู และในตอนสุดท้ายได้เปรียบเทียบถั่วพูเสมือน “ไอส์ครีมโคน”  ที่ทุกส่วนรับประทานได้หมด เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า พืชที่ทุกส่วนนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น นับว่าเหมาะกับสภาพการเกษตร แบบโบราณ ที่เป็นการปลูกพืชเพื่อการยังชีพของตนเอง (subsistence agriculture)  ซึ่งถั่วพูเป็นพืชเช่นว่านี้

    ในปัจจุบันการปลูกถั่วพูได้ลดน้อยลงไปทุกที ทั้ง ๆ ที่เป็นพืชปลูกที่เก่าแก่พืชหนึ่งของมนุษย์ชาติ และจะมีหลงเหลืออยู่บ้าง ก็เฉพาะในสวนหลังบ้านในประเทศไทยและอีกไม่กี่ประเทศ ในเอเชียอาคเนย์เท่านั้น มีเพียง 2 ประเทศที่มีการปลูกถั่วพู เป็นการค้า คือ พม่าและปาปัวนิวกินี แต่ก็ไม่ใหญ่โตนัก และกำลังจะสูญสิ้นไปเช่นกัน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะถั่วพู เป็นพืชที่ต้องใช้แรงงานมากในการทำค้าง หรือร้าน เพราะในปัจจุบันพันธุ์ถั่วพูยังเป็นพันธุ์เลื้อยอยู่

Ref:http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=4297.0


ความเห็น

เสร็จเรา   ต่อไปเก็บกิน   ตอนนี้ที่กำลังจะเก็บฝักแห้ง ก่อนหน้านี้ สิ่งที่ได้ทำคือ  ต้องเด็ดยอดทิ้ง  แล้วถั่วพูจะออกดอก  ออกฝัก

พี่วิทย์ปลูกถั่วพูแล้วก็ยำถั่วพูมาให้ชิมมั่งซิหนูอยากกิน

ขอบคุณข้อมูล...จากพี่วิทย์

กินยอดอ่อนได้ด้วย ความรู้ใหม่....

....ความสุขอย่างแท้จริง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง....

มาอ่านเรื่องถั่วพูค่ะ...ประโยชน์เยอะกว่าที่เคยรู้มานะค่ะ...ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะค่ะ..^_^..

MSN/MAIL/HI5 : Tongau_oomsin[at]hotmail[dot]com

ถั่วพูสด เฉยๆ ยายอิ๊ดกินไม่ได้เลย แต่พอเอาไปยำ กินได้ มันเหียน ไม่รู้เป็นไร นำลายจะออกมาแล้ว จะอ๊วก ไม่เข้าใจเหมือนกัน แพ้สารอะไรในถั่วพู

#แตกต่าง.แต่.ไม่แตกแยก#

มาให้กำลังใจ และข้อมูลเพิ่มเติมจากการทำจริง และให้ความสำคัญ ถั่วพูเป็นพืชสำคัญมากๆของสวน


คำแนะนำ: ข้อที่ควรพิจารณา และระมัดระวัง ในการปลูกที่ภาคอิสาณ



  1. ถั่วพูไม่ทนต่อน้ำขัง การระบายน้ำที่ไม่ดีในระยะแรกๆของการเจริญเติบโต

  2. ถั่วพูมีปัญหาแมลงที่สำคัญ คือ เพลี้ยอ่อน

  3. ถั่วพูต้องการแสงแดดเต็มที่ ตั้งแต่ ๘๕% ขึ้นไป และมีหลายๆสายพันธุ์ต้องการวันยาวในการออกดอก ออกฝัก

  4. ค้าง เสา สูงประมาณ ๔เมตร จะเหมาะมากสำหรับการผลิตเป็นการค้า และต้องการเก็บเมล็ดพันธุ์เอง

  5. ดอกถั่วพูมี สีน้ำเงินม่วง แต่ก็มีดอกที่มีสีตั้งแต่ ขาว น้ำเงิน ไปถึงม่วงเข้ม ในฤดูนี้ดอกบานช่วงเช้ามืด และหุบประมาณ ๙นาฬิกา และที่น่าประหลาดใจมากคือ เมล็ดจะเกิดเองในอิสาณในช่วงฤดูฝน และเริ่มออกดอก ติดผล ในทุกๆปี ช่วงวันแม่ และดอกของถั่วพู มีสีคล้ายคลึงกับสัญญลักษณ์ประจำพระองค์ของ พระเทพฯ

  6. เมล็ดมีหลายลักษณะโดย มีขนาดใหญ่เท่ากับถั่วเหลืองญี่ปุ่น แต่มีสีน้ำตาลแดง (ถั่วเหลืองญี่ปุ่น จะใหญ่กว่า ถั่วเหลืองอเมริกา ๑เท่า) ที่สวนยังมีลักษณะเมล็ดลาย สีน้ำตาลอ่อน มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วฝักยาว แต่ใหญ่กว่า ๓-๔เท่า

  7. ฝักมีสีเขียวอ่อน ไปจนถึงสีเขียวเข้ม และเกือบทุกๆสายพันธุ์ถ้าสภาพไม่เหมาะสม ไม่สมบูรณ์ จะมีขอบลายสีม่วงที่ขอบฝักทั้งสี่ด้านของฝัก

  8. ในสภาพดูแลดีจะสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง ๕-๖เดือน แต่โดยเฉลี่ยก็เก็บได้ ๒-๓เดือน ถ้าไม่สามารถควบคุมเพลี้ยอ่อนได้ หนึ่งต้นจะให้ผลผลิตฝักสูง ประมาณ ๕๐-๑๐๐ฝัก ถ้า รู้จักสายพันธุ์ การปลูก การควบคุมเพลี้ยอ่อน และเสาสูง ๔เมตร

  9. รากของถั่วพู และเมล็ดของถั่วพูมีประโยชน์มหาศาล เป็นแหล่งโปรตีน(และแป้ง) เกินกว่าที่พวกเราจะเข้าใจ นอกเหนือจากส่วนต่างๆของต้น และฝัก

  10. สวนสองโสก ได้แจ้งความประสงค์ทางวาจาต่อ ชุมชนโสกตลิ่ง-โสกจาน( ที่มาของชื่อสวนสองโสก) จะขอทำ ถั่วพูเป็นพืชผักเศรษฐกิจของชุมชนให้ได้ภายใน ๓-๕ปี อนึ่งในปีหน้า สวนมีเป้าหมายจะปลูกถั่วพูให้ได้ ๒๐๐๐๐ต้น(จาก ๓๐๐๐ต้นในปีนี้) และได้เริ่มติดต่อหาตลาด และส่งถั่วพูออกจำหน่าย โดยประมาณปลายเดือนตุลาคม เริ่มเกี่ยวข้าว(เบา) จะมีผลผลิต อาทิตย์ละ ๒๕๐๐-๕๐๐๐ฝัก และจะมากกว่า ๕๐๐๐ฝัก ในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวนาปี และเทศกาลสำคัญฤดูหนาว โดยราคาส่ง ๖-๑๐ฝัก ต่อ ๕บาท












เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย

 

 

กำลังคิดว่าจะปลูกอยู่พอดีเลยค่ะ เห็นแบบนี้แล้วก็ต้องรีบไปหามาปลูกบ้างซะแล้ว


*-* ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ นะค๊ะ *-*

ถั่วพูสดๆๆ  เวลานำไปแช่เย็น แล้วนำมาทานกับยำหอยแมลงภู่ดอง อร่อยมากค่ะ ของโปรดนู๋แคทเลย เห็นถั่วพูทีไร นึกถึงอาหารจานนี้ทุกทีเลยค่ะ^_^


 


user posted image

ความจนมีอย่างน้อยสามแบบ
(๑) จนเพราะไม่มี (จนวัตถุเงินทอง)
(๒) จนเพราะไม่พอ (มีวัตถุเงินทองแต่ไม่รู้จักพอ)
(๓) จนเพราะไม่เท่า (มีทุกอย่างแต่ยังเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ มีเหนือกว่า)

เป็นบางส่วนของบทความความวิเศษของถั่วพู ที่ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา เขียนไว้ 30 ปี แล้วคับ

เคยดูในรายการ กินอยู่คือ เมล็ดถั่วพูสามารถนำมาทำเป็นน้ำเหมือนน้ำเต้าหู้ที่ทำจากถั่วเหลืองได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำน้ำมันถั่วพูอีกตะหาก ที่สำคัญคือไม่ต้องกลัวว่าเป็นพืช gmo เหมือนถั่วเหลืองค่ะ

หน้า