คืนสู่ธรรมชาติ ด้วยเสื้อผ้าธรรมชาติ

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สัปดาห์นี้มีกิจกรรมเผยแพร่คุณค่า ผ้าทอพื้นบ้านสีธรรมชาติ  ขอโอกาสพี่น้องประชาสัมพันธ์ เพื่อข้อมูลความรู้เป็นหลักค่ะ

พูดถึงเส้นใยฝ้ายน้อยคนจะรู้ที่มาค่ะ  ผ้าฝ้ายที่เราใช้กันอยู่ มาจากดอกฝ้ายทั้งหมด แต่กรรมวิธีจากดอกฝ้ายมาเป็นเส้นฝ้ายได้อย่างไรนั้น มีอยู่ ๒ เทคโนโลยี คือระบบเครื่องจักรที่เขาทำได้เร็ว และใช้พลังงานไฟฟ้ามาก ในขณะเดียวกันก็ได้ผสมเส้นใยสังเคราะห์ไปด้วย อีกด้านหนึ่งอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของโลก ซิ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีพื้นบ้านง่ายๆ และที่น่าสังเกตคือ มีลักษณะคล้ายๆกันทั่วโลก โดยไม่ต้องอาศัยไฟฟ้า  เริ่มจากการขั้นตอนการ อีดฝ้าย คือการใช้ปัญญาเอาเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย  ดังภาพ

เมื่อได้ปุยฝ้ายที่แยกเมล็ดออกแล้ว นำไปตากแดดให้ฟู แล้วมา ดีดฝ้าย คือ การตีให้ฟูและเป็นเนื้อเดียวกัน ด้วย คันโฮง คล้ายคันธนู ดังภาพ จากนั้นนำไปปูรีดด้วยมือให้เป็นแผ่น แล้วม้วนไว้เป็นหลอดๆ คือสำลีที่มีขายเป็นหลอดๆทั่วไป  จากนั้นก็นำหลอดฝ้ายไปปั่นตีเกลียวเป็นเส้นใย ดังภาพในบล็อคชาวนา เครื่องปั่นเรียกว่า ไน หรือ หลา 

จากนั้นจึงนำไปย้อมสีจากใบไม้ เปลือกไม้ต่างๆ ที่ได้นำเสนอไปแล้ว (ดูบล๊อคสวนสีธรรมชาติ ๑- ๔)โดยส่วนตัวในช่วงเวลาที่ผ่านมาประมาณ ๑๕ ปีที่พยายามเผยแพร่เรื่องนี้สู่สังคมไทย ทั้งใช้งานวิจัย เขียนบทความ ออกงานนิทรรศการ พบว่ายากมากๆ ด้วยเสื้อผ้าเป็นปัจจัยที่ฟุ่มเฟือย และสังคมไทยส่วนใหญ่บริโภคที่รูปแบบมากกว่าเนื้อหา นักออกแบบคนไทยเองก็ไม่ลุ่มลึกพอ ที่จะยกระดับผ้าพื้นบ้านอย่างรู้จักและเข้าถึงความเป็นธรรมชาติแท้ๆ กระทั่งมาพบกับนักออกแบบชาวญี่ปุ่น ซึ่งเบื่อหน่ายแฟชั่น จึงร่วมกันทำงานมา ๑๐ ปีกว่าแล้ว

คุณลุง Usaato กัลยาณมิตรที่ช่วยให้ชาวบ้านหลายพื้นที่มีงานต่อเนื่อง เพราะช่วยปลดล็อคด้านการแปรรูปเสื้อผ้าธรรมชาติ และส่งออกไปญี่ปุ่น เพราะเมืองไทยตลาดเฉพาะมากๆ 

ชาวญี่ปุ่นนิยมผ้าพื้นบ้านแท้สีธรรมชาติ และที่สำคัญดีไซน์ของคุณลุง ที่เรียบง่ายและเก๋

โดยส่วนตัวพี่หยอยเองเป็นฟันเฟืองหนึ่งในกระบวนทิศทางนี้ รับผิดชอบช่วยงานเทคนิคการทอการย้อมหนุนช่วยชาวบ้าน และเผยแพร่ ในส่วนธุรกิจไม่มีทักษะเลย แต่ก็รับรู้ถึงการนำกำไรที่ได้มาช่วยกลุ่มทอผ้าและกลุ่มพระเณรจากลาวที่เข้ามาเรียนหนังสือในเชียงใหม่

ในภาพคือน้องๆชาวเชียงใหม่พนักงานของบริษัท Usaato Siam อยู่ที่หางดง เชียงใหม่ (พี่เท่งแปลงร่างแล้วนะคะ)

นั้นคือที่มาที่ไปของกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ มิถุนายน นี้  ณ ร้านเลมอนฟาร์ม แจ้งวัฒนะ

๑๑ - ๑๓.๐๐ น ชวนทำการ์ดจากผ้าและเส้นใยธรรมชาติ สาธิตการตีฟูใยฝ้าย และการปั่นฝ้ายด้วยมือ กับช่างทอพื้นบ้าน

๑๓ -๑๔.๐๐  การแสดงดนตรีพิณแก้ว โดย คุณวีระพงศ์ ทวีศักดิ์

Art Performing  โดยคุณฟ้าใส ทวีศักดิ์

๑๔. ๐๐ Slide Show แนะนำงาน Usaato กับผืนผ้าธรรมชาติ แนวคิดการออกแบบ นำธรรมชาติมาสู่การรู้จักตัวเอง

๑๔.๓๐ Usaato Dress Show โดยแขกรับเชิญ

๑๕ -๑๖.๐๐ เสวนา ง่ายและงาม ด้วยผืนผ้ามีชีวิต ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง คุณลุงUssato

พระสันติพงศ์  และคุณสมยศ สุภาพรเหมินทร์ 

เรียนเชิญพี่น้องผองเพื่อนที่สนใจ หรือช่วยบอกต่อผู้สนใจรักงานผ้า ไปร่วมคุยและชมความงาม ความดี ความจริงในวิถีพื้นบ้านอีกปัจจัยหนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตแต่ไม่ค่อยได้พูดกัน นะคะ

 

ความเห็น

ของฝากเป็นที่ชื่นชอบค่ะพี่หยอย โดยเฉพาะผ้าพันคอ เขาบอกว่าไม่เคยเจอผ้าทอที่นุ่มแบบนี้ ชอบมากๆ ฟ้องด้วยภาพค่ะ

 

ผ้าจากแพรกหาโกสวีเดนแล้ว จะไปฉายให้ช่างทอดูสุดปลื้มจ้าๆๆๆ

อยากเห็นวิธีการย้อมผ้ามากกว่าค่ะพี่หยอย วันนั้นที่เอาไปจัดแสดง อ๊อดเข้าไปหยิบจับดูเนื้อผ้า ก็นุ่มดีค่ะ ถือว่าเป็นผ้าทอมือที่ได้มาตรฐารมากๆ 

ขอบคุณมากจ้าน้องรัก ทั้งข้อคิดเห็นหลังไมค์เป็นความเห็นที่รู้เลยว่ามาจากใจจริง กรรมวิธีย้อมลองไปย้อนดูบล๊อคสวนสีธรรมชาติคร่าวๆ ที่จริงพี่มีวีดีโออยู่ ดีไซน์ช่วงนียังออกแนวญี่ปุ่น เพราะคุณลุงยังไม่คุ้นหุ่นคนไทย อย่างไรก็ตามงานนี้เน้นเผยแพร่ และลุกค้าระดับสูงขอยกระดับผ้าทอจากชาวนามือดำเล็บดำหน่อย ว่าคนที่ทำของสวยงามในโลกนี้ และไม่เคยตีตราว่าเป็นของตัวเอง คือศิลปินชาวนา (มีแต่นักวิชาการส่วนใหญ่ไปเอางานชาวบ้านแล้วมาตีตราว่าเป็นของตัว)แม้แต่อ้างถึงยังไม่อยากทำเลย ประเด็นนี้พี่หยอยเคียดหลายและต่อสู้มาตลอด ส่วนคนบ้านเราส่วนใหญ่ยังมีทัศนะมองข้าม ความเป็นศิลปินชาวนาชาวสวนผู้สร้างบ้านแปลงเมืองอย่างพอเพียง เพราะเราวัดค่ากันที่ตัวเลขในธนาคารกันอยู่

แบบนี้ธรรมชาติจริงๆ ทอมือแท้ สนับสนุนครับพี่


ที่แวะมาให้กำลังใจ

ชื่นชมด้วยคนหนึ่งครับ


เดิมทีแล้วภูมิปัญญาชาวบ้านนั้น มีมาอยู่ดั้งเดิม แต่เราไม่เห็นค่า ไม่ยอมพัฒนาต่อยอด อาศัยเอาความสะดวกสบายเข้าว่า ซื้อเอา มันง่ายดี เลยไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา


 


ส่วนนักวิชาการชั้นล่างๆ ก็มักง่าย ก็เอาภูมิปัญญาเหล่านี้มา เป็นงานของตนเอง ซึ่งดูแล้วน่าอนาถใจเหลือเกิน


 


จริงๆ แล้วผมชอบสิ่งที่เป็นของๆ เราเอง เพราะมันเหมาะสมกับสภาพอากาศในบ้านเรา ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เราจะไปแต่งตัวตามเมืองหนาวกันทำไม เพราะอากาศบ้านเรามันร้อนเหลือเกิน แล้วเราก็ต้องมากระพือแอร์ให้มันแรงๆ เพื่ออะไร.....

Grow what you eat; eat what you grow.&

ความสะดวกสบายก็ส่วนหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ ผ้าโรงงานก็มีข้อดี แต่ตอนนี้มันล้นโลกแล้วจ้า ฟุ่มเฟือยจริงๆ ซื้อแล้วไม่ชอบทิ้งไปๆๆ เหมือนถุงพลาสติกก๊อบแก๊บกันแล้ว มันถูกดี(แต่ใช้แล้วไม่ดีและไม่เหมาะสม)


เรื่องเมืองร้อนแล้วใส่สูทอย่างเขานี่ก็....มันไม่สากลนี่ครับทำไงได้ แต่พี่หยอยนุ่งผ้าถุงไปเดินแถวสนามบินและห้างใหญ่ๆบ่อยนะ อยู่บ้านนุ่งแต่ปาเต๊ะ เย็นสบายทำงานคล่องดี

ผ้าสวยมาก ๆครับพี่แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนทำแล้วครับ...เคยหมุนที่อิ้วฝ้ายของยายตอนเด็ก ๆ สนุกครับ..กว่าจะมาเป็นเส้นดายสักเส้นลำบากใช้เวลานานมาก ๆ เลยครับ..

 

และต้องมองในมุมของความภูมิใจในฝีมือ ไม่ได้เป็นความยากลำบากเลย วิถีชาวนาดั้งเดิมปลูกข้าวแล้ว หน้าแล้งมาทอผ้าให้สมาชิกในครอบครัว 


ดีนะเนี่ยพี่หยอยไม่ได้ส่งพันธุ์ฝ้ายมาให้ทำการบ้าน



พันธุ์ฝ้ายตุ่นดั้งเดิมได้มาจากลำปางลองปลูกที่สทิงพระ สงขลา ปีที่แล้วรอด ๕ ต้น เก็บดอกฝ้ายได้ ๗ กิโลกรัมครับ

หน้า