ตามล่าหาน้ำบาดาล 4 (Finding Groundwater 4)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

“น้ำไหล ไฟสว่าง ทาง (ยังไม่) สะดวก” แหม่! ยังกับนโยบายหาเสียงเลย  สวัสดีเพื่อนสมาชิกบ้านสวนพอเพียงทุกท่านครับ วันนี้ขออนุญาตมาเล่าเพิ่มเติมจากคราวที่แล้ว หลังจากที่ให้เจ้าแรกขุดเจาะน้ำบาดาลก็ปรากฏว่าพบอุปสรรคตามที่ได้เขียนไว้ใน Blog ที่แล้ว และเจ้าแรกก็ได้ขอถอนตัวไปเนื่องเพราะมีปัญหากับเครื่องขุดเจาะ หลังจากนั่งเก๊กซิม (กลุ้มใจ) อยู่พักหนึ่ง ผมก็ให้พ่อตาติดต่อเจ้าที่สองที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้มาทำการขุดเจาะบาดาลแทนเจ้าแรก

สำหรับการขุดเจาะบ่อบาดาลเจ้าที่สองนี่ เนื่องด้วยผมมิได้อยู่ดูขบวนการขุดเจาะเพียงแต่ได้ได้รับฟังข้อมูลมา จึงอาจจะไม่มีรายละเอียดเท่าที่ควร ผมขอถ่ายทอดตามที่ได้รับฟังมาดังนี้ครับ

ขบวนการขุดเจาะของเจ้าที่สองนี้มาพร้อมกับเครื่องขุดเจาะขนาดใหญ่ ช่างขุดเจาะใช้อุปกรณ์วัดความนำไฟฟ้า (หรือฉนวนไฟฟ้า) ตามที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ หลังจากช่างขุดเจาะทำการวัดทดสอบเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็ชี้ไปยังจุดใหม่ (ห่างจากจุดเดิมไปประมาณ 60 เมตร แต่เป็นระยะแนวจากต้นไม้ใหญ่ เช่นเดียวกัน) เนื่องด้วยไม่ได้ถ่ายรูปไว้แต่ผมคาดว่าเครื่องขุดเจาะไม่น่าจะแตกต่างจากบ่อบาดาลเพื่อนผมที่สวนผึ้ง ลักษณะของเครื่องขุดเจาะน่าจะเป็นดังนี้

รูปประกอบจากสวนปาล์มของเพื่อนที่สวนผึ้ง ราชบุรี

เครื่องขุดเจาะบาดาลสำหรับเจ้าที่สองนี้จะมีส่วนประกอบเพิ่มเติมคือระบบลม (นิวเมตริก) พูดแบบง่าย ๆ ให้เห็นภาพคือแทนที่จะเจาะแบบควงสว่านไปอย่างเดียว ก็จะมีระบบลมเป็นตัวกระแทกหิน ซึ่งเหมาะกับงานขุดเจาะที่มีชั้นหิน โดยไม่จำเป็นต้องมีน้ำสำหรับหล่อเลี้ยงดังเช่นเจ้าแรก

รับฟังมาว่าเจ้าที่สองนี้ใช้ระยะเวลาเพียง 1 วัน สามารถเจาะไปถึง 50 เมตร แต่ข้อมูลที่ให้มาคือพบชั้นน้ำบาดาลที่ความลึก 20-24 เมตร หลังจาก 24 เมตรลงไปก็จะเป็นชั้นหินจนถึง 50 เมตร ช่างขุดเจาะจึงพอเพียงแค่ 50 เมตร จากนั้นจึงวางบ่อกรุ (ตามรูปที่เป็นท่อพีวีซี มีร่องให้น้ำซึมเข้ามาได้) ที่ระยะ 24 เมตรครับ

หลังจากที่ได้ข้อมูลบ่อบาดาลที่ความลึก 24 เมตร ผมก็ทำการเลือกปั้มน้ำบาดาล (Submersible Pump หรือ Borehole Pump) เท่าที่ได้ดูข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตก็พบว่า ยี่ห้อยอดนิยมคือ Franklin (ผมไม่ได้ต้องการโฆษณายี่ห้อนะครับ แต่พบว่าได้รับความนิยมเพราะยี่ห้อเขารักษาคุณภาพก็อยากสนับสนุนของดี –แตกต่างจากอุปกรณ์สมัยใหม่หลาย ๆ ชนิดที่สามารถกำหนดระยะเวลาเสียได้ 55) แต่ปัจจุบันมีความนิยมนำเฉพาะมอเตอร์ Franklin มาประกอบร่วมกับปั้ม (ส่วนใบพัด) ยี่ห้ออื่น อาจจะเรียกว่ารวม ๆ ว่าสินค้า OEM (Original Equipment Manufacturing) อาทิเช่น Hurricane (ผู้ขายให้ข้อมูลว่าปั้มขนาด 1 แรงม้า (HP) ใบพัดของ Franklin แท้ใช้ แบคคาไลด์ หรือเรียกว่าเทอร์โมพลาสติก (พลาสติกพิเศษทนความร้อนสูง) มีจำนวน 10 ใบพัด แต่ Hurricane ใช้วัสดุสเตนเลส (Stainless) จำนวน 12 ใบพัด –จำนวนใบพัดที่มากจะทำให้ประสิทธิภาพในการยกน้ำสูงขึ้น รวมทั้งวัสดุทำใบพัด ส่วนตัวคิดว่า Stainless น่าจะทนทานกว่าเทอร์โมพลาสติก การใช้งานจริงจะต้องพบกับวัสดุต่าง ๆ อาทิ ทราย ซึ่งจะเสียดสีกับใบพัดทำให้เกิดความเสียหายได้) 

จากรูปกราฟด้านบนแสดงประสิทธิภาพของปั้มน้ำโดยด้านแนวแกนนอน (X) คืออัตราน้ำที่ไหลผ่าน ส่วนแนวแกนตั้ง (Y) คือระยะความสูง เส้นกราฟทึบแสดงประสิทธิภาพของปั้มน้ำจำนวน 4 ขนาด ( 1 แรงม้า 0.75 KW ถึง 3 แรงม้า 2.2 KW) ประกอบกับข้อมูลบ่อบาดาลที่ขุดเจาะไว้ ผมเลือกปั้มน้ำที่ 1 HP (0.75 KW) ที่ประสิทธิภาพสูงสุด จะได้ 70 ลิตร/ชั่วโมงหรือประมาณ 4 ลูกบาศ์กเมตร/ชั่วโมงที่ความสูง 40 เมตร ผมคิดจากระยะบ่อน้ำที่วางปั้ม 23 เมตร บวกกับระยะทางจนถึงหอวางถังน้ำสูง  (ระยะแนวนอน 30 เมตร + ระยะแนวตั้ง 8 เมตร เทียบกับระยะความสูงจริงน่าจะอยู่ที่ 33 เมตร ระยะแนวนอนที่ 30 เมตรน่าจะเทียบได้กับ 2 เมตรแนวตั้ง)

หลังจากติดตั้งปั้มน้ำเสร็จเรียบร้อยทำการทดสอบ โดยใช้ถังน้ำ 200 ลิตร พร้อมจับเวลาก็ได้ที่ประมาณ 3 นาทีเศษ ๆ สรุปแล้วน่าจะได้น้ำอยู่ที่ 3.2-3.5 ลูกบาศ์เมตรต่อชั่วโมง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากฐานข้อมูลที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ให้ไว้ (ในความคิดผมปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยไปสักเล็กน้อย แต่พอเพียงในการใช้อุปโภคครับ เพราะผมไม่คิดจะสูบน้ำไว้ทำนาแบบเยอะ ๆ ขอให้มีน้ำไว้ใช้อาบน้ำ ล้างจาน รดน้ำต้นไม้บ้างก็เพียงพอ) หลังจากวัดปริมาตรน้ำแล้ว ขั้นถัดไปก็ทดสอบเดินปั้มน้ำระยะยาว 3 วัน 3 คืน พบว่าน้ำไหลตลอดไม่มีขาดก็พอใจครับ

ถัดมาดูที่คุณภาพน้ำได้ทดลองวัดความเป็นกรด-ด่างด้วย pH Meter ค่าที่ได้คือ 5.7 มีความเป็นกรดเล็กน้อย  พืชส่วนมากจะเติบโตได้ดีในดินที่เป็นกรดเล็กน้อย (แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าน้ำเป็นกรดเล็กน้อยจะดีด้วยหรือเปล่า?) ทดลองปล่อยน้ำไว้ในถังประมาณ 3 ชั่วโมงกลับมาดูพบว่าน้ำใสขึ้นมาก (เศษดินตกตะกอน) ทดสอบชิมก็ไม่พบกลิ่นคาร์บอเนต (หินปูน) และจากที่วัดค่า pH ได้ 5.7 น้ำก็ไม่น่าจะกระด้าง นอกจากนี้เท่าที่สังเกตดูด้วยตาไม่น่าจะมีสนิมเหล็กเท่าไร อย่างไรก็ดีผมอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อสังเกตดู (ไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการตรวจวัด) ว่ามีผลของสนิมเหล็ก คาร์บอเนต หรือสารละลายประกอบอื่นอีกหรือไม่ อันจะเป็นข้อมูลให้ต้องเลือกระบบกรองว่าจำเป็นหรือต้องกำจัดสารชนิดใด

สรุปตอนนี้ ไร่สุโขทัยนี้ดีก็มีน้ำบาดาลไว้ใช้แล้วครับ วันนี้ขอแค่นี้ก่อนแล้วกันครับ สวัสดีครับ

ความเห็น

มีน้ำแล้วแล้งนี้คงสบายเลยครับ 

หนทางยังยาวไกลจากฝัน ยังมีอีกหลายเรื่องต้องจัดการอีกครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

ยินดีด้วยครับ

แต่ควรใช้น้ำอย่างประหยัดนะครับ :D

 Meo Meo Farm

http://serameo.wordpress.com

 

แน่นอนครับผม

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

เอาน้ำขึ้นมาใช้ ก็ต้องปลูกต้นไม้เยอะๆ แลกกันๆ ดีใจด้วยคนครับ

"what a wonderful world"

เพื่อนผมไปไร่ฯ ผมยังบังคับให้ทุกคนปลูกต้นไม้คนละ 2 ต้นเลยครับ 55

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

อลังการงานสร้างเลยนะคะนั่น

มีฝันที่ยิ่งใหญ่กับไร่ฯ แต่ต้องทะยอยทำตามกำลังและความสามารถครับผม

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

โฮ  งานใหญ่นะนี้ 

คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก

เรื่องน้ำนี่จำเป็นจริง ๆ ครับ ไฟล์บังคับต้องทำ ไม่งั้นก็ต้องดูต้นไม้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำจริง ๆ ครับ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

หน้า