เที่ยวสวนลุงพี เดือนเมษา

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ปรกติช่วงเดือนเมษาในหน้าร้อน ที่อื่นๆจะแห้งแล้งแต่ที่สวนลุงพีกลับตรงกันข้าม เพราะจะเป็นช่วงที่ชลประทานปล่อยน้ำเข้าที่นา ทำให้สวนของผมจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำ(และหญ้าคา) เลยต้องเข้าไปดูหน่อยว่าจะมีต้นอะไรถูกน้ำท่วมบ้าง เลยมีโอกาสได้เก็บภาพและเมล็ดพันธุ์มาฝากเพื่อนๆสมาชิกบ้านสวนฯด้วย ขอเริ่มต้นด้วย "โด่ไม่รู้ล้ม"


พ่อผมไปได้มาต้นหนึ่งปลูกไว้ในกระถาง เมื่อออกดอกแล้วมีเมล็ด ผมลองเอาไปโปรยเล่นๆตามทางเดิน จนบัดนี้สิบปีผ่านไป มีอยู่กลาดเกลื่อนเต็มพื้นที่


ลองดูลักษณะต้นแบบใกล้ๆ



เวลามีดอก จะเห็นแบบนี้



ดูภาพดอกเค้ากันแบบจะๆ (แถมด้วยผึ้งอีกหนึ่งตัว)


ใครอยากได้โด่ไปปลูกที่บ้าน ส่งชื่อที่อยู่มาที่กล่องข้อความ แต่ผมขอเตือนไว้ก่อนนะครับว่า ถ้าไม่คิดจะเอาไปใช้เป็นสมุนไพร แล้วปล่อยให้โตในที่ดินนานๆ มันจะกลายเป็นวัชพืชที่จะสร้างความรำคาญให้กับท่านอย่างมากมาย เพราะก้านดอกแข็งๆของเค้านั้น โด่ไม่รู้ล้มสมกับชื่อจริงๆ

ความเห็น

ที่บ้านไม่มี...ลองเอามาโด่ซักหน่อยทิ..

คิดให้แตกต่าง...แต่อย่าแตกแยก

ถ้าตั้งชื่อบล็อก ตามชื่อต้นไม้ คนคงวิ่งมาดูกันอย่างรวดเร็วเลย เพราะอยากรู้


นึกแล้วขำ นั่งหัวเราะคนเดียวค่ะ :uhuhuh:

 

ไม่ค่อยเห็นบล้อกลุงพีมีรูป.....ฝีมือขั้นเทพ..เหมือนกันนะคะ...แต่ว่าไม่มีหนุ่มไหนสนใจเลยหรอคะ...แสดงว่าหนุ่มบ้านสวนแข็ง....แรงกันทุกคน

ชีวืตที่เพียงพอ..

ลุงพี่ผมเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่าเป็นโด่ไม่ล้ม นึกว่าไม่มีประโยชน์

ก็เลยไม่สนใจ

แล้ว แล้วได้ผลหรือเปล่าลุง...............

เรื่องแบบนี้ เค้าเรียกลางเนื้อชอบลางยา ต้องลองเองครับ :uhuhuh:

พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง

เหมือนจะเคยเห็นแถวนี้ เอาใปใช้อย่างไรครับ

อ่าน

เรื่องของโด่ไม่รู้ล้ม...แค่ชื่อก็กินขาด
โด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ใครเห็นครั้งเดียวก็จำได้ เพราะใบของโด่ไม่รู้ล้มจะเรียงตัวกันใกล้ผิวดิน ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ที่แปลกคือก้านช่อดอกยาวโด่ ชู ขึ้นมาไม่ยอมล้มลงแม้ต้นจะแห้งตาย ซึ่งด้วยลักษณะเช่นนี้นี่เอง จึงได้ชื่อว่า โด่ไม่รู้ล้ม แต่ดูเหมือนว่าชื่อโด่ไม่รู้ล้มจะเป็นที่นิยมเรียกกันในพ่อหมอยาในแถบภาคกลาง ส่วนพ่อหมอยาแถวๆ อีสานจะเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้คล้ายๆ กันแทบทุกจังหวัดว่า คิงไฟนกคุ่ม ขี้ไฟนกคุ่ม ไกนกคุ่ม เพราะเจ้านกคุ่ม (นกในวงศ์นกกระทา) ชอบมานอนซุกในกอของสมุนไพรชนิดนี้ ส่วนหมอยาที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางเรียกว่า ช้างย่ำปื๊ด หมอยาไทยใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวี หมอยาบางท่านเรียก หญ้าไอ (เพราะแก้ไอได้ดี) ส่วนบางพื้นที่เรียกตามลักษณะของราก กล่าวคือโด่ไม่รู้ล้มจะมีรากมากมายจึงเรียกว่า หญ้าสามสิบสองราก


เราจะพบโด่ไม่รู้ล้มได้ตามพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่าในทุกๆ ภาค และเป็นสมุนไพรที่หมอยาส่วนใหญ่รู้จัก ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรพื้นฐานของหมอยาพื้นบ้านทั่วไป แต่สิ่งที่น่าฉงนก็คือมันมีชนิดเล็กกับชนิดใหญ่ ซึ่งคนไทยใหญ่เรียก ชนิดเล็กว่า หญ้าแสนหวีอ้อน ส่วนชนิดใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวีใหญ่ และหมอยาไทยใหญ่เชื่อว่า หญ้าแสนหวีอ้อนจะมีฤทธิ์ดีกว่าชนิดใหญ่ และบางครั้งก็งงๆ เพราะโด่ไม่รู้ล้มมีพี่น้องคล้ายๆ กันอีกต้น ชื่อ กระต่ายขาลา ในตำรับยาของพ่อประกาศ ใจทัศน์ (หมอยาจังหวัดยโสธร) ใช้รากกระต่ายขาลาคู่กับรากคิงไฟนกคุ่ม ต้มกินแก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลังและแก้ไอ


โด่ไม่รู้ล้ม…ยาบำรุงกำลัง ของหมอยาทุกภาค


สรรพคุณเด่นของโด่ไม่รู้ล้มที่หมอยาทุกภาครับรู้ร่วมกันคือ การต้มหรือดองกินเป็นยาบำรุงกำลัง อาจจะเป็นเพราะชื่อ โด่ไม่รู้ล้ม ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมต้มหรือดองร่วมกับยาบำรุงกำลังตัวอื่น เช่น กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง กำลังทรพี เป็นต้น


โด่ไม่รู้ล้ม...ยาแก้ปวดเมื่อย บำรุงเอ็น แก้เอ็นขัด


เมื่อครั้งที่จบจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาทำงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้มีส่วนในการทำงานรณรงค์ ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน และมีโอกาสไปร่วมงานกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (ต่อมาพัฒนาเป็นมูลนิธิสุขภาพไทย) ซึ่งทางโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองได้นำตำรับยาสมุนไพรแก้ปวดเมื่อยนำไปใช้ทดแทนยาชุดแก้ปวดในชุมชน ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งหยุดกินยาชุด ยาซอง ยาสูตรผสมแก้ปวดเมื่อย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลข้างเคียงทั้งนั้น ตำรับยาดังกล่าวประกอบด้วย โคคลาน โด่ไม่รู้ล้ม ทองพันชั่ง ซึ่งตำรับยาดังกล่าวนี้สืบทอดมาจากตระกูลของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม อดีตวุฒิสมาชิกและผู้นำชุมชนที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา


นอกจากนี้แล้วหมอยาไทยใหญ่ยังใช้สมุนไพรชนิดนี้ในการเป็นยา แก้เอ็น แก้เอ็นขัด แก้ปวดเมื่อย เช่นเดียวกัน


โด่ไม่รู้ล้ม…ยาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ


โด่ไม่รู้ล้ม มีชื่ออีกชื่อคือ หญ้าไอ เพราะสรรพคุณที่เด่นมากของสมุนไพรชนิดนี้คือการแก้ไอ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่หมอยาเท่านั้นที่รู้จักใช้โด่ไม่รู้ล้มเป็นยาแก้ไอ แม้แต่แม่บ้านธรรมดาก็รู้และมีประสบการณ์ในการใช้ด้วย โดยจะใช้รากหรือใช้ทั้งห้าก็ได้ ต้มกิน แก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ส่วนตำรับของหมอยาพื้นบ้านเมืองเลยก็มีการใช้คิงไฟนกคุ่มผสมกับง้อบแง็บ แก่นไม้กระบก แก่นไม้อีเลี่ยน แช่น้ำกินแก้ไอเช่นกัน


โด่ไม่รู้ล้ม…ยาแก้ไข้ แก้หวัด


นอกจากจะใช้แก้ไอแล้ว โด่ไม่รู้ล้มยังมีสรรพคุณในการแก้ไข้ได้อีกด้วย แม้สรรพคุณในการแก้ไข้จะเป็นที่นิยมรองลงมาจากการแก้ไออยู่บ้าง แต่หมอยาหลายแห่งนิยมใช้โด่ไม่รู้ล้มในสรรพคุณนี้ โดยใช้ทั้งห้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ต้มกิน และยังใช้แก้ตานซางในเด็ก (เด็กที่มีอาการหัวร้อน ก้นเย็น กินไม่ได้และหงุดหงิดง่าย) โดยเอาส่วนรากมาแช่น้ำให้เด็กกิน ตำรับหมอชาตรี ศรีวิชัย


โด่ไม่รู้ล้ม…ยาขับนิ่ว ขับปัสสาวะ


โด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการขับปัสสาวะที่ดีตัวหนึ่ง ซึ่งมักใช้ประกอบกับสมุนไพรตัวอื่นในการเป็นยาขับนิ่ว


โด่ไม่รู้ล้ม…ยารักษาแผล รักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ยาต้มอาบให้แม่หลังคลอด


โด่ไม่รู้ล้มยังเป็นหมอรักษาโรคผิวหนังที่ดีไม่น้อย แม้คนจะไม่นิยมใช้เป็นยาทางผิวหนังเท่ากับกะเม็ง แต่ในพื้นที่ที่ไม่มีกะเม็งหมอยาจะใช้โด่ไม่รู้ล้มเป็นยารักษาแผลมีหนองแทน โดยจะเคี่ยวกับน้ำมันเก็บไว้ใช้ทาหรือใช้การต้มน้ำล้างหรืออาบก็ได้ และใช้ต้มอาบหลังคลอดบุตร


โด่ไม่รู้ล้ม…ยารักษาฟัน


หมอยาในแถบจังหวัดปราจีนบุรีจะใช้รากของโด่ไม่รู้ล้มเป็นยารักษาฟัน โดยจะต้มกับเกลืออมรักษาฟันทำให้ฟันไม่ผุหรืออมแก้ปวดฟันก็ได้ หรือจะใช้รากคั่วแล้วแช่กับเหล้าอมแก้ปวดฟันก็ได้


รายงานการวิจัย
มีรายงานว่าสารสกัดของโด่ไม่รู้ล้มมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งไวรัส ต้านความเป็นพิษต่อตับ ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ แก้ปวด แก้ไข้(แต่ไม่ดีนัก) ต้านการเกิดเนื้องอก ระงับการเกิดพิษที่ตับ ป้องกันไม่ให้ตับอักเสบจากสารพิษ


ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้
ผู้หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน หรือผู้ที่กลัวหนาวแขนขาเย็น คนที่กินแล้วมีอาการปวดมวนท้อง และไม่ควรต้มเข้มข้นเกินไป จะทำให้ปวดมวนท้อง



"ในจีนและฟิลิปปินส์ ใช้โด่ไม่รู้ล้มในการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หวัด ไอ ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อย แผลในกระเพาะอาหาร โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ ช่วยขับปัสสาวะ โรคทางผวิหนัง เช่น แผลมีหนอง ฝี ผดผื่นคัน รักษาอาการอักเสบจากการฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย เป็นต้น"


คัดลอกมาจากเว็บไซท์ของ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเคมีสารสนเทศ แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง

คนที่เป็นภูมิแพ้ก็จะไอแยะมาก  แถมหลอดลมอักเสบประจำอยู่แล้ว  น่าจะปลูกไว้ต้มน้ำกินบ้างนะคะ  ที่อยู่ฝากไว้แล้วนะคะ

ผมไม่เคยเห็น ต้น จริง แบบนี้ เลย ครับ สมุนไพร ขึ้นง่ายๆ แบบนี้ดี เลย

รูปสวยมาก ได้ความรู้มากมายค่ะ


เห็นเป็นแค่หญ้าวัชพืชรกๆ มีอยู่ทั่วไป แต่แท้จริงมีประโยชน์ คุณค่ามหาศาล


ทำให้ได้ข้อคิดว่า แต่ละสรรพสิ่งล้วนมีคุณประโยชน์อยู่ในตัวมากมาย หากแต่เราต้องเรียนรู้ที่จะดึงศักยภาพของเขาออกมาใช้ให้เป็น ขอบคุณลุงพีที่นำความรู้มาให้ หูตาสว่างเลยค่ะ


 


 

หน้า