ทุนการศึกษา

หมวดหมู่ของบล็อก: 

     เมื่อครั้งข้าพเจ้า ต้องจากถิ่นมาตุภูมิ เดินทางไปพำนัก ณ ต่างแดน เพื่อศึกษาศิลปะวิทยาการ (สำนวนหนังตะลุง ... น่ะขะรับ )  ที่จริงก็ไปเข้าเรียน ปวช. นี่ละ แต่ข้าพเจ้าภูมิใจในสถานศึกษานี้ .... มาาาาก  เพราะเป็นจุดเริ่มต้น ในการเปลี่ยนวิถีชีวิต ของข้าพเจ้า จากหลังเท้า เป็น หน้ามือ จากผู้ที่มีผลการเรียน 50.01 % (ผ่านเกณฑ์ หวุดหวิด) ซึ่งอยู่ในอันดับ โหล่ รองโหล่ หรือ เกือบรองโหล่ เสมอมา ขณะเรียนอยู่ระดับมัธยม ให้ขึ้นมายืนอยู่ในระดับผู้เรียนที่มีผลการเรียน อันดับนำในคณะ ....

     ไว้ว่าง ๆ จะเอามุมความไม่เอาไหนของข้าพเจ้า มาเล่าไว้เป็นอุทาหรณ์ (ไม่อายครับ ก็เรื่องจริง เพียงไม่ผ่านจอเท่านั้น) หากไม่เบื่อกันเสียก่อน ...

     วันนี้ ขอเล่าเรื่องทุนการศึกษา ก่อนครับ

     ครั้งเมื่อข้าพเจ้ากำลังศึกษา อยู่ในระดับ ปวช. - ปวส. ทุนการศึกษาหลัก ของข้าพเจ้า ก็รับจากคุณพ่อ แต่ละเดือน ไม่เกิน 300.- บาท ซึ่งทุนจำนวนนี้ เป็นค่าใช้จ่ายทุก ๆ หมวดงบประมาณ ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน(รวมถึงค่าเรียนพิเศษ A.U.A.ด้วย) ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าอาหาร ค่าเครื่องนุ่งห่ม และรักษาโรค (หากเจ็บป่วย) รวมทั้งค่านันทนาการด้วย (หากอยากร่วม) จากงบ ฯ แค่นี้ จึงต้องรัดเข็มขัดจนเอวแทบขาดเชียวล่ะ อาหารเช้า ข้าวต้มกุ๊ย หรือไม่ก็ข้าวยำ กลางวัน ส่วนมากก็อาหารว่าง (นั่งห้องสมุด อ่านหนังสือ) ตอนค่ำ ขนมดู หรือขนมขี้มอด ตามด้วยน้ำหลาย ๆ แก้ว ... ก็อิ่มครับ

     กระบวนการหาทุนการศึกษาเสริม จึงเกิดขึ้น หากได้ทุนมาโดย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ข้าพเจ้า ทำได้ ไม่ว่า ปั่นสามล้อ ต่อยมวย ตักส้วม .... และ หนึ่งในที่มาของทุนพิเศษ คือ ขับรถเครื่องรับจ้าง ระหว่างปิดภาคเรียนปลายปี

     การหาทุนโดยขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีเรื่องประทับใจ หลายเรื่อง มักเป็นเรื่องระหว่างผู้ว่าจ้าง กับผู้รับจ้าง

     รถที่ข้าพเจ้าใช้ เป็นรถขนาดเล็ก ความจุเพียง 50 ซี.ซี. ซึ่งผู้ที่ใช้รถขนาดนี้ มีไม่กี่คัน ส่วนใหญ่ จะใช้รถขนาด 90 ซี.ซี. ขึ้นไป ซึ่งเขาบรรทุกผู้โดยสาร ได้ถึงเที่ยวละ 5 คน (ผู้โดยสารส่วนมากเป็นกรรมกรเหมืองแร่)

     วันหนึ่ง ขณะพวกเรารวมกลุ่มรอผู้ว่าจ้าง อยู่หลังสถานีรถไฟ ชายสูงวัยคนหนึ่ง เดินตรงมาหากลุ่มเรา ... หลาย ๆ คน เริ่มเตรียมรถ ส่วนข้าพเจ้ายืนพิงรถ อยู่ในกลุ่มที่ไม่กระตือรือร้นนัก เพราะประสบการณ์ สอนว่า ลูกค้าจะเลือกรถคันใหม่ และใหญ่ก่อน

     ลูกค้า เดินมาหยุดใกล้ ข้าพเจ้า แต่ ...  มองข้ามไหล่ข้าพเจ้าไปที่กลุ่มเราคนหนึ่ง ที่นั่งคร่อมรถ 125 ซี.ซี. แล้วส่งคำถามตามไปว่า

     “เหมืองทวด  ไปไหม?”

        “ไป” ... ผู้ถูกถาม ตอบสั้น ๆ

     “แล้ว สู เคยล้ม ไหม?” คำถามที่สอง ถูกส่งตามไปจากคนถามคนเดิม

        “เชื่อได้เลย .... ตั้งแต่รับจ้างมา ไม่เคยล้ม เลย”  ตอบ พร้อมบอกคุณภาพ

     ชายคนนั้นพะยักหน้า สีหน้าเฉย ๆ ลดสายตาลงมองข้าพเจ้าที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วหลุดคำถามสั้น ๆ ออกมา

     “แล้ว สู ละบ่าว เคยล้มไหม?”

     ข้าพเจ้า ไม่ติดใจในคำถาม ว่าเขาถามทำไม  แต่ก็ตอบออกไป

        “ล้มไปเมื่อวานนี่เอง ไปส่งเขาที่คลองปราบ ขากลับ(เที่ยวกลับ) หลบหลุม ลื่นรากยาง คลาน เลย”

     “เหมืองทวดไปไหม?” เขาถามด้วยคำถามที่เคยถามเพื่อนข้าพเจ้ามาเมื่อกี้

     ข้าพเจ้าเปลี่ยนอารมณ์ จากที่เฉย ๆ เป็น งง ๆ ... แหงะหน้าไปดูเพื่อน เห็นเพื่อนพะยักหน้า

     “ไป” ตอบอย่างเลื่อนลอย จับอารมณ์ไม่ติด ก็ งง ... ครับ

        “เท่าไร” เขาถามราคา

     “คนเดียว 6 ถ้า สองคน 10” ข้าพเจ้าบอก ค่าโดยสาร แล้วถามกลับ “ไปกี่คน

        “คนเดียว”  เขาตอบ แล้วบอกต่อ  “เออ ... ไปกับสูนั่นแหละ ... บ่าว ... นู้น ไม่ไป ยังไม่รู้สา (ไม่ประสา หรือ ไม่มีประสบการณ์) สู รู้สาแล้ว เพิ่งล้มมาใหม่ เมื่อวานเอง”

     ข้าพเจ้า ขึ้นคร่อมรถ สตาร์ท รอเขาขึ้นนั่งเรียบร้อย ออกรถ แต่ยัง งง ๆ เขาคิดของเขาได้ไง

     ถนน ที่ไปเหมืองทวด สมัยนั้น เป็นถนน ดิน ถมด้วยหิน และ ทราย จากรางแร่ เหมืองฉีด หลุม บ่อ จึงมีเยอะ  บางแห่ง ก็หล่มลึก และลื่นมาก เพราะเป็นดินเหนียวสีแดง ผู้โดยสาร จึงต้องลงเดินบ่อย ยิ่งถ้าโดยสารรถยนต์ Jeep รับจ้าง ต้องช่วยเข็ญ รถเป็นช่วง ๆ ด้วย ซึ่งผู้โดยสาร ก็ยินยอมพร้อมใจ เป็นอย่างดี น่าจะเรียกว่า รถบรรทุกสัมภาระ มากกว่ารถโดยสาร

     ข้าพเจ้า ขับไปได้ระยะหนึ่ง หลังจากผู้โดยสารท่านนั้นลง เดิน แล้วให้ข้าพเจ้าขับไปรอ ให้เขามานั่งต่อ กี่ครั้ง จำไม่ได้ ก็ได้ยินข้อเสนอ

     “เอาพรรค์นี้ ไหม บ่าว .... เราขับเอง ให้สูนั่งท้าย ค่าจ้างเราให้สูเท่าเดิม”

        “พรือ ..(ทำไม)” ข้าพเจ้าถาม งง ๆ

     “ก็เราเสีย 6 บาท เดินซะมากกว่า สูได้ 6 บาท ขี่รถตลอด”  เขาอธิบาย

     เราเลยสับเปลี่ยนหน้าที่ กันตรงนั้น ข้าพเจ้า นั่งคิดไป ก็ขำไป

              ... เขา คิดของเขาได้ ไง เนียะ ...

ความเห็น

อ่านเรื่องชีวิตลุง แล้ว เพลิน ดีครับ มองย้อนกลับไปถึงพระคุณคุณพ่อของผมเอง คุณพ่อผมก็ เป็นนักเรียนทุน เข้ามาเรียนในกรุงเทพ ท่านเล่า ความลำบากในวัยเรียนให้ฟัง แต่ลูกท่านทุกคนท่านไม่เคยให้ลำบากเรื่องเรียนเลย คิดแล้ว คิดถึงคุณพ่อตัวเอง ครับ


ขอบคุณ ลุงพาโล สำหรับการที่นำสิ่งดีๆ มาแบ่งปันให้ได้ข้อคิดกันครับ

อ่านแล้วเหมือนลุงอยู่แถวๆบ้านส้อง หม้ายคับ

เรื่องสนุกดีครับลุง ลุงนี่เล่าเรื่องเก่งนะครับ เพลินและสนุกตามไปด้วย นึกว่าผู้โดยสารลุงล้มหัวแตกไปซะแล้ว :uhuhuh:

นั่งซ้อน ได้ตัง คนขับ จ่ายตัง

 

มิน่า เวลารับสมัครงานเขาก็คัดเอาเฉพาะคนที่มีแต่ประสบการณ์55555 เขาเลยเลือกลุง

ลุงเล่าซะเห็นภาพเลยค่ะ แรกๆ ก็อินไปตามบทที่ลุงเล่า พักหลังอ่านไปขำไป  :uhuhuh:

ล้มแล้วเจ็บ รู้แล้ว  แล้วจะเจ็บอีกทำไมวันนี้  :uhuhuh: :uhuhuh:

sudjai_waitong@hotmail.com
     0805401058

สองคน สิบบาท ไปสองคนกับสู แล้วทำไมไม่แบ่งคนละครึ่งหว้า..55555

ตะวันลาลับกับขอบฟ้าไกล  แล้วเริ่มต้นใหม่กับขอบฟ้ากว้าง ทุกชีวิตก้าวเดินบนหนทาง ที่ตนได้วาดวางอย่างตั้งใจ

 

อ่านไปยิ้มไป หนุกดีค่ะ ทำให้คิดถึงพ่อเลยค่ะ พ่อชอบเล่าเรื่องแบบนี้ให้ฟังหลังอาหาร

คนซ้อนคิดดีนะเนี่ย อิิอิอ

 

 

"ขอบคุณน้ำใจที่แบ่งปัน ขอบคุณบ้านสวนพอเพียง"

หน้า