รับสมัคร สว.ตรวจสอบคุณสมบัติได้ครับ

หมวดหมู่ของบล็อก: 

วันนี้เข้าสวนเพื่อจัดการกับหญ้าและวัชพืชที่เจริญงอกงามรวดเร็วในช่วงฤดูฝน ทั้งยังเป็นการออกกำลังไปในตัวไปด้วย ทำมาได้ ๓-๔ วัน เสร็จเฉพาะด้านหน้าสวน พักวันสองวันค่อยไปจัดการด้านหลังสวนต่อ เสร็จจากการตัดหญ้าก็ไปหาผลไม้ที่ปลูกไว้เพื่อกินชลอความแก่ วันนี้ได้เฉพาะน้อยหน่าที่แก่เต็มอีก ๓-๔วันคงได้ลิ้มรส กลับถึงบ้านก็ร่างข้อความที่ค้นมาจากเน็ตเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เขียนบล็อกให้ สมช.ได้ชมผลงาน และ อ่านข้อมูลถึงอาการและสิ่งที่พวกเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในชาตินี้ คือการเป็น ผู้สูงอายุ เพื่อจะได้เตรียมตัว – ทำใจกับสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นกับตัวเราในอนาคต ชมและอ่านครับ


  


  


       


     ข้อมูลจาก  สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและสำนักการแพทย์ทางเลือก


 ผู้สูงอายุ


     ความหมายของผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ได้ให้ความหมายไว้ คือ บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 


     ความแก่ ย่อมเป็นธรรมดาของทุกชีวิต และแม้ว่าร่างกายของเราในวัยสูงอายุจะเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมมากกว่าเติบโตก็ตาม แต่ก็พบว่าร่างกายแต่ละคนมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง สิ่งสำคัญนั้นคือ พฤติกรรมของเราในการดูแลสุขภาพอย่างไรนั่นเอง


  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในภาพรวม มีดังนี้


1.  โครงร่าง


-   รูปร่าง จะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้แก่ หลังโก่งงอขึ้น หัวเข่าและสะโพกงอเล็กน้อย ทำให้ส่วนสูงลดลง ไหล่จะแคบลง ทรวงอกลึกขึ้น กระดูกบริเวณสะโพกกว้างขึ้น น้ำหนักตัวลดลง เกิดรอยย่นที่ใบหน้า หนังตาตก จมูกกว้างขึ้น หูยาว


-  กระดูกสันหลัง ของผู้หญิงจะเกิดการโก่งงอได้เร็วกว่าชายประมาณครึ่งหนึ่ง พบมากในสตรีวัยหมดประจำเดือน อายุประมาณ 45 – 55 ปี ฮอร์โมนที่ลดลงไป มีส่วนให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก และเป็นเหตุให้กระดูกขาท่อนบน และส่วนปลายของกระดูกแขนหักง่าย อีกทั้งเกิดภาวะกระดูกพรุนได้ 


-  ผิวหนังบางลง ผิวจะแตกง่าย เหงื่อออกน้อย การดูดซึมสิ่งต่างๆ ทางผิวหนังลดลง การควบคุม อุณหภูมิของร่างกายทำได้ไม่ดี กลิ่นตัวลดลง เส้นผมบนศรีษะลดลง หงอกขาว


-  กล้ามเนื้อ มีการใช้งานน้อยลงและพบการขาดโปแตสเซียมในกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุ ร่วมกับความเสื่อมของโปรตีนในกล้ามเนื้อและการขาดน้ำ ทำให้กำลังการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อลดลง ผู้สูงอายุจึงเหนื่อยได้ง่ายและไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุออกกำลังกาย เพื่อช่วยคืนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมทั้งเพิ่มการกินอาหารที่มีโปรแตสเซียม และดื่มน้ำมากๆ


  2.  สมองและระบบประสาท


-  สมอง มีน้ำหนักลดลง หลงลืมง่ายขึ้น ความสามารถด้านการพูดจะลดลง


-  ประสาทสัมผัส ปลายประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวด และรับรู้อุณหภูมิ ลดจำนวนลง ทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า จึงเป็นเหตุให้เกิดแผลได้ง่าย การรับกลิ่นรับรสลดลงไป


-  ความสามารถในการทรงตัวลดลง มีอาการไม่สมดุลระหว่างที่เดิน จึงต้องเดินกางขาไว้เพื่อกันล้ม มีอาการวิงเวียนศีรษะเมื่อเปลี่ยนท่าทางอิริยาบถ


-  ประสาทอัตโนมัติและการสั่งการเสื่อมลง ทำให้ตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เชื่องช้าลง เคลื่อนไหวช้าลง ตาจะตอบสนองต่อแสงน้อยลง หนาวสั่นได้ง่าย ตัวเย็นได้แม้จะไม่ได้รับความเย็นใดๆ จากภายนอก 


  3. ต่อมไร้ท่อ


-  ต่อมใต้สมอง เสื่อมหน้าที่ลง การหลั่งฮอร์โมนจึงลดลง เป็นผลให้ผู้สูงอายุเบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย รูปร่างผอมลง ขนในที่ลับบางลง ผู้หญิงจะมีขนาดอวัยวะเพศเล็กลง พื้นผิวช่องคลอดบางลง ในผู้ชาย ความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ


-  ตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่สร้างอินซูลิน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกายให้อยู่ในสภาพสมดุล จะฝ่อลีบลง ทำให้ระดับน้ำตาลในร่างกายของผู้สูงอายุสูงขึ้นกว่าคนหนุ่มสาว จึงพบโรคเบาหวานได้มากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ


  4.  หัวใจและหลอดเลือด


-  หัวใจ มีการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง อัตราการเต้นหัวใจลดลง กำลังสำรองของหัวใจลดลง จึงพบผู้สูงอายุเกิดหัวใจวายได้ง่าย


-  หลอดเลือด เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดแข็งตัวหนาขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง ประกอบกับมีแคลเซียมและไขมันมาเกาะหลอดเลือดมากขึ้น จึงเกิดหลอดเลือดอุดตันได้ง่าย การไหลเวียนเลือดในหลอดเลือดหัวใจก็น้อยลงหัวใจจึงได้รับออกซิเจนน้อยลงไป ร่วมกับการใช้ออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ มีประสิทธิภาพลดลง เราจึงพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในผู้สูงอายุขึ้นได้


  5.  ระบบหายใจ  


  เช่นเดียวกับหัวใจและหลอดเลือด คือปอดจะยืดหยุ่นน้อยลง หลอดลมแข็งตัวและมีผังผืดเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจึงเกิดความรู้สึกว่าหายใจไม่เพียงพอ ต้องชดเชยด้วยการหายใจให้เร็วขึ้น และหายใจแบบตื้นๆ ซึ่งผู้สูงอายุมักจะมีปอดที่ไม่แข็งแรง การหายใจตื้นๆ นี้มีส่วนทำให้ผู้สูงอายุติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย


  6. ช่องปากและระบบบดเคี้ยว


-  ฟัน มีการสึกกร่อนจากการบดเคี้ยว หรือจากการแตกร้าวของฟันที่ใช้งานมานาน หรือจากอุบัติเหตุจากการใช้งาน บริเวณคอฟันและรากฟันผุง่ายจากการดูแลความสะอาดไม่ทั่วถึง


-  เหงือก มีการอักเสบหรือร่นลงจากการใช้งาน คราบหินปูนที่สะสมในปากเป็นเวลานานทำให้เกิดโรคปริทันต์ หรือโรครำมะนาด ทำให้ฟันเกิดการโยกคลอนได้


-  ต่อมน้ำลาย สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเซลล์ การสูบบุหรี่ ยาบางชนิดหรือโรคทางระบบบางอย่าง มีการสร้างและหลั่งน้ำลายลดลง ทำให้เกิดอาการปากแห้งในช่องปาก


-  ข้อต่อขากรรไกร และกล้ามเนื้อบดเคี้ยว เสื่อมสภาพหย่อนยานตามวัย เอ็นข้อต่อขากรรไกรหย่อนยานจากการใช้งานมานาน ทำให้ขากรรไกรเคลื่อนที่ไม่ราบรื่น เกิดขากรรไกรค้างขณะที่เคี้ยวอาหารหรือหาวได้


-   เยื่อเมือกในช่องปาก มีความเสื่อมของเซลล์เหงือก เบ้าฟัน เนื้อเยื่อปริทันต์และส่วนเคลือบรากฟันขาดเลือดมาเลี้ยง และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเส้นใย เซลล์ต่างๆ มีความไวลดลง มีการซ่อมแซมน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น


-   ลิ้นแดงและเลี่ยนจากเซลล์ลดการเผาผลาญอาหาร ประกอบกับความแข็งแรงของเยื่อบุลิ้นลดลง หรือจากการขาดธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 


  7. ทางเดินอาหาร


-  กระเพาะอาหาร หลั่งน้ำย่อยลดลง ลำไส้เล็กเคลื่อนไหวเพื่อการย่อยและดูดซึมอาหารลดลงทำให้อาหารพวกแป้ง คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามินดี และแคลเซียม ถูกดูดซึมไปใช้ลดลง มีเศษอาหารคั่งค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่นานขึ้น แต่ความไวจากการถูกกระตุ้นด้วยอุจจาระกลับช้าลง จึงท้องผูกง่าย


-  ตับ มีขนาดเล็กลง มีพังผืดเข้ามาแทนที่มากขึ้น เลือดไหลเข้าสู่ตับน้อยลง ความสามารถของตับในการทำลายพิษจึงลดลงไป 


  8.  ทางเดินปัสสาวะ


-  ไต มีหน่วยกรองลดลง การกรองของเสียและการขับยาทางไตลดลง การใช้ยาในผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้อง


รับลดขนาดการใช้ลง (คือปรับลดปริมาณยาหรือมิลลิกรัมของยาให้น้อยลงเนื่องจากประสิทธิภาพในการกำจัดออกของของเสียน้อยลง คือ Creatinine Clearance ลดลง)


-  กระเพาะปัสสาวะ อ่อนกำลังลง และมีความจุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุปัสสาวะบ่อยๆ กล้ามเนื้อหูรูดของ


กระเพาะปัสสาวะและช่องขับถ่ายเสื่อมลง ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้


   9.  ระบบภูมิคุ้มกัน


 - ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทั้งระบบ ทำงานลดลง ผู้สูงอายุจึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย


    สิ่งที่สำคัญที่เราควรตระหนักคือ เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุแล้ว จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และรวดเร็ว ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์ต่อการรับรู้ของผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ ด้วยการถูกมองว่า ด้อยคุณค่าและความสามารถ ผู้สูงอายุจึงอาจเกิดความเครียดขึ้นได้ ดังนั้นถ้ามีการเตรียมตัวก่อนย่างเข้าสู่วัยสูงอายุก็จะสามารถปรับตัวเข้าสู่ชีวิตในช่วงวัยนี้ได้ดี แต่ถ้าไม่มีการเตรียมตัวก็ปรับตัวได้ยาก อาจเกิดความรู้สึกว้าเหว่ เหงา มีอาการหลงลืม วิตกกังวล หรือเกิดอาการซึมเศร้าได้  ในบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เกิดเป็นความเจ็บป่วยของผู้สูงอายุในเวลาต่อมาได้


   ( อ่านแล้ว สมช.ท่านได้  มีคุณสมบัติตามอาการที่   “  สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และ สำนักการแพทย์ทางเลือก “  ได้กล่าวมาข้างต้น แต่อายุยังไม่ถึง 60 ปี  ท่านได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งเป็น สว. อย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วครับ )

ความเห็น

คุณสมบัติยังไม่ครบค่ะ แต่ก็ขอบคุณนะคะสำหรับข้อมูลเพื่อให้พวกเราเตรียม...ทำใจ


 

:bye:คุณสมบัติยังไม่ครบค่ะ ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน จะได้เป็นสว.บ้าง:uhuhuh:

มาแอบดู ลู่ทางไว้ก่อนค่ะ คุณลุง

ไว้อีกหน่อยค่อยย้อนมาสมัครนะคะ

:uhuhuh:

ผมก็ไม่ครับ คุณสมบัติยังไม่ได้เหมือนกัน อิอิ


แต่สวนสวยจังครับ สะอาดสบายตาดี

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

มาศึกษาข้อมูลเตรียมตัวไว้ก่อนค่ะคุณลุง แล้วจะมาสมัครเป็น สว.ด้วยคนค่ะ  แต่ชอบสวนคุณลุงมากเลยค่ะ 

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

ผมยังไม่ สว ครับ แต่อ่านไว้ก่อนก็ดีครับ ขอบคุณมากครับ


ยกมือสมัครเป็นคนแรกค่ะคุณลุง     

  เตรียมพร้อมไว้ก่อนค่ะ   เพื่อสร้างวัคซีนใจไว้ป็นภูมิคุมกัน เมื่อวันนั้นมาถึง   

ลุงครับ มันเป็นไปแล้ว เป็นเอง ไม่ต้องสมัคร  แต่เตรียมต้วก่อนตาย เตรียมกายก่อนแก่ ไว้บ้าง จะได้ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยอยู่ เคยเป็น เคยมี เคยได้ เคยทำได้ และสิ่งที่ไม่เคยทำ

ถูกต้องที่สุดเลย.. คริคริ.. :cheer3:

.................

คุณสมบัติยังไม่ครบค่ะ :uhuhuh: :uhuhuh:

หน้า