ผักมะไห่ (ไม่ใช่มะระขี้นก มะห่อย หรือผักไส่)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ผักมะไห่


ผักมะไห่ ไม่ใช่ มะระขี้นกหรือผักไส่ตามที่คนอีสานและคนลาวเรียก หรือผักมะห่อยของคนภาคเหนือตอนบน  และจะเป็นผักชนิดเดียวกันกับผักไห่ในชื่อเพลง “สาวผักไห่” ที่คนอยุธยาเรียกหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบเพราะผมยังไม่เคยเห็นรูปร่างหน้าตาของผักไห่ของชาวอำเภอผักไห่จังหวัดอยุธยาเลย  ผักไห่ที่ผมจะกล่าวถึงนี้เป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนือตอนบน  มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นผักในตระกูลเดียวกันกับมะระขี้นก และมะระจีนที่ไม่มั่นใจเพราะผมค้นใน Google แล้วไม่พบข้อมูล  พบแต่ข้อมูลที่บอกว่าผักไห่ ผักมะไห่ ผักมะห่อย มะระขี้นก และผักไส่เป็นชื่อผักตัวเดียวกันเรียกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นเท่านั้น  ฉะนั้นผมจึงอยากเผยแพร่ข้อมูลนี้เพื่ออาจจะเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าของผู้ที่สนใจจะได้ช่วยทำให้เกิดความถูกต้องของข้อมูลมากที่สุด จากรูปจะแสดงให้เห็นความแตกต่างของผักมะไห่กับมะระขี้นก (ผักไส่ / ผักมะห่อย)ได้อย่างชัดเจน 


ลักษณะใบและผลของมะระขี้นก ผักไส่ (อีสาน) หรือมะห่อย (ภาคเหนือตอนบน) 


  ลักษณะใบและผลของมะระขี้นก                   ลักษณะดอกของมะระขี้นก


  


ใบ ยอดอ่อนและดอกของผักมะไห่                     ลักษณะผลของผักมะไห่


ผักมะไห่ เป็นพืชเถาวัลย์ เจริญเติบโตโดยสามารถเลื้อยไปตามพื้นดิน ขึ้นตามรั้ว ตามร้าน หรือต้นไม้เช่นเดียวกับมะระขี้นก และมะระจีน สามารถปลูกให้เลื้อยไปตามพื้นดินเหมือนผักบุ้ง หรือทำร้านให้ขึ้นเหมือนมะระจีนก็ได้  เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่โล่งกลางแดด แต่ก็สามารถงอกได้ในร่มรำไรใต้ต้นไม้แล้วเลื้อยขึ้นตามตนไม้ที่อยู่ใกล้จนสามารถขึ้นไปรับแสงแดดข้างบนได้  เถาของมะไห่สายพันธุ์พื้นบ้านจะตายเมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง แต่เนื่องจากรากของมะไห่จะเจริญเติบโตเป็นหัวเหมือนมันเทศ (Sweet potato) ในฤดูฝนและพักตัวในหน้าแล้ง ดังนั้นเมื่อถึงหน้าฝนก็จะแทงหน่อขึ้นมาใหม่แล้วเจริญเติบโตเป็นเถาวัลย์ไปจนสิ้นหน้าฝน  การขยายพันธุ์สำหรับมะไห่พันธุ์พื้นบ้านจึงทำได้ ๒ วิธีคือใช้เมล็ด และใช้หัวในดิน


 


อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์โดยหน่วยงานด้านการเกษตรของทางราชการซึ่งชาวบ้านเรียกว่า มะไห่พันธุ์เกษตร ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ใบจะใหญ่ขึ้น แตกแขนงได้ดีและมากกว่าทำให้มียอดอ่อนมากขึ้นรวมทั้งสามารถเจริญเติบโตได้ตลอดปีหากมีความชุ่มชื้นเพียงพอ จึงสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ (เคยอ่านพบในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วว่า มีเกษตรกรรายหนึ่งปลูกมะไห่พันธุ์เกษตรนี้ ๒ ไร่โดยให้เลื้อยบนพื้นดิน สามารถเก็บยอดอ่อนขายได้เดือนละ ๑๐,๐๐๐ กว่าบาท)  แต่พันธุ์เกษตรนี้ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ดเพราะแต่ละผลจะไม่มีเมล็ดเลย แต่เถาที่เลื้อยไปบนพื้นดินถ้าแก่จัดจะมีรากแทงออกมาตามข้อใบเหมือนมันเทศและสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้  ฉะนั้นมะไห่พันธุ์เกษตรจึงขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีใช้หัวในดิน และส่วนของเถาที่แทงรากแล้ว


 


      ใบมะไห่พันธุ์พื้นเมือง                                  ใบมะไห่พันธุ์เกษตร     


 


                                      ผลของมะไห่พันธุ์เกษตร


 


                                ผลของมะไห่พันธุ์พื้น



หัวของผักมะไห่ที่จะพักตัวในหน้าแล้ง และงอกใหม่ตอนต้นฝน


(ปกติหัวของมะไห่จะอยู่ใต้ผิวดิน แต่หัวที่เห็นนี้พอดีอยู่ตรงแนวน้ำฝนตกจากชายคาบ้าน ถูกน้ำฝนเซาะก็เลยโผล่ออกมาให้เห็นดังรูป ซึ่งพอพ้นฝนต้องเอาดินกลบหนาๆไม่เช่นนั้นหัวจะเหี่ยวและเน่า)


ส่วนของผักมะไห่ที่ใช้ประโยชน์ด้านอาหาร


ประโยชน์หลักของผักมะไห่คือใช้เป็นอาหาร  ผักมะไห่จะมีรสขมเล็กน้อย ขมน้อยกว่ามะระขี้นก และกลิ่นของผักสดจะไม่ฉุนมากเหมือนมะระขี้นก  แต่การใช้ประโยชน์จะเหมือนกับมะระขี้นกเลย


๑.      ยอดอ่อนลวกกินกับน้ำพริก  ใส่แกงเห็ดโคนและแกงอ่อมปลาไหล  (ยังไม่เคยกินยอดสดกับน้ำพริก หรือลาบเหมือนมะระขี้นก แต่ความนิยมกินยอดอ่อนของมะระขี้นกมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น)


๒.    ผลอ่อนและแก่กินสด หรือลวกกินกับน้ำพริก  ใส่แกงเห็ดโคนและแกงอ่อมปลาไหล


อย่างไรก็ตามการใช้ยอดอ่อนของมะไห่ประกอบอาหารมีเทคนิคที่สำคัญคือ ถ้าลวกให้ใส่ผักตอนน้ำกำลังเดือดจัดรีบคนแล้วตักออกจากน้ำร้อนใส่กระชอนเลย ถ้าใส่เป็นผักแกงให้ใส่ตอนจะยกหม้อลงจากเตาคือใส่แล้วรีบคนแล้วยกหม้อออกจากเตาไฟเลย (เหมือนกับเราใส่ผักชีต้นหอมในต้มยำ) เพราะว่าผักมะไห่จะสุกเร็ว และถ้าใช้เวลานานในการลวกหรือแกงจะทำให้มีรสขมมากจนไม่อร่อย (รสขมจะเพิ่มขึ้นเป็น ๒ – ๓ เท่า)  ส่วนผลของมะไห่สามารถใช้เวลาในการลวก หรือแกงนานก็ได้ จนกว่าจะสุกหรือเปื่อยก็ไม่มีปัญหาเรื่องรสขม


ส่วนสรรพคุณทางสมุนไพรยังไม่มีข้อมูล

ความเห็น

:sweating:

เมล็ดก็ให้มาแล้ว ลงดินแล้วน้ำก็พาไป

ครูส่งหัวมาให้ เดี๋ยวได้แก้ตัวแน่นอนค่ะ

อยากได้พันธ์ัผัดมะไห่จังเลยคะ หาได้จากที่ใหนคะ 

หน้า