ครู..และโรงเรียน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

หมายเลขประจำตัวนักเรียน ม.4 ปี 2532 ของผม คือ 2684 ทั้งห้องมีนักเรียน 25 คน ทั้งโรงเรียนมี ม.ปลายอย่างละห้อง ม.5ประมาณ 18 คน ม.6 16 คน ทั้งม.ปลาย ไม่น่าจะเกิน 75 คน  (ถูกบังคับ) เรียนวิทย์ - คณิต ค่าเทอม 530 บาท ข้อดีคือครูผู้สอนจำหน้าซื่อบื้อของนักเรียนได้แทบทุกคน  ส่วนมากครูที่สอนเป็นครูบรรจุใหม่ไฟแรง บางท่านขนาดนอนหลับยังฝันเป็นภาษาอังกฤษ  อย่างผมแค่ ซายคอตแทนโคเสต เสตคอต ฐาตุ 108 (มั้ง) ก็ไปไม่เป็นแล้วครับ โดนไม้เรียว ชอร์คขว้าง บางคร้้งก็แปรงลบกระดานดำเต็มหลัง แต่ผมไม่เคยโกรธครูที่สอนเลย อายนะอายแต่ก็เข้าใจครูที่ปราถนาดีกับเรา ถ้าเป็นสมัยนี้ถ้าครูทำแบบนั้นไม่รู้ว่ากุมาร-กุมารีจะแสดงปาฏิหารย์อะไรกับครูผู้สอน แถมบิดามารดาคงถล่มครูจนเละนะผมว่า ครูสมัยก่อนขนาดผมเป็นเด็กผมยังรับรู้ถึงความเป็น "ครู" ได้ เวลาเรียนก็จะนั่งแยกหญิง - ชายโดยอัตโนมัติ อายๆกันนะครับ ม.5 เทอมสองนะถึงเริ่มได้คุยกันบ้างเพราะเรียนลีลาส สมัยนี้  ม.4 บางคนอยู่เป็นคู่กันแล้ว ลำบากพ่อ-แม่ส่งลูกไม่พอต้องส่งแฟนของลูกด้วย ไม่รู้ว่าเป็นเพราะยุคสมัย หรือการเลี้ยงดู เกรดเฉลี่ยผมจบ ม.ปลาย 1.9 อายย้อนหลังเป็นสิบปีเลยครับ  ฮ่าาาาาาาาาาาาาาาาฮิ้วววววววววววววว

สุดปลายถนนที่เห็นอยู่ลิบๆนั้นคือที่ตั้งของโรงเรียนประจำอำเภอ ทุ่งนาที่เห็นคือทางลัดในการเดินทางมาเรียนของผมเพราะทางที่เห็นจะค่อนไปทางจังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนจะห่างจากอำเภอประมาณ 2 - 3 กิโลเมตร เลยต้องเดินตามคันนาเพราะใกล้กว่า จากบ้านมาอำเถอ 13 กิโลเมตร ครึ่งหนึ่งของระยะทางเป็นทางดินเหนียว,ดินร่วนปนทรายครึ่งหนึ่งเป็นลูกรัง สมัยก่อนใช้จักรยาน รถประจำทาง หรูสุดก็มอไชค์ ผมใช้พาหนะทั้งสามอย่างบางทีก็เดินเอาดื้อๆนี่แหละครับ ถึงตอนไหนก็ตอนนั้น เผอิญผมเป็นประเภทสุขนิยมเลยไม่ซีเรียสนะครับ  ผลนะหรือครับ โดนไม้เรียว 4-6 ครั้งตามระยะเวลาการสายอยู่ประมาณปีครึ่ง  

ที่เห็นสีฟ้านั้นแหละครับทางลัดที่เดินมาเรียน บางวันในหน้าฝนออกจากบ้านมา 3 กิโลเมตร เสียงเพลงชาติตอนแปดโมงของชาวนาที่ดำนาแถวนั้นก็ดังแล้ว ทำไงต่อหรือครับผมนะไปต่อทั้งที่คอห้อยรองเท้านักเรียน สองแขนแบก ลาก จักรยาน ดึงน้องๆ ประมาณหกคน จากสี่หมู่บ้านเพราะม.ปลายมีผมคนเดียว ใครที่เคยขี่จักรยานแล้วดินเหนียวติดบังโคลนจะรู้ว่ามันติดจริงๆ บางครั้งก็ไต่คันนาชาวบ้านไป วันไหนซวยก็ตกคันนาเปียกน้ำ ที่ถอยเพราะทนไม่ไหวก็เยอะ ถึงโรงเรียนก็ต้องกอดอกหันหลังให้ครูผู้ปกครอง (ครูเด่น  ทรงศิลป์) ลงไม้เรียวอีกตามระยะเวลาที่มาสาย 4- 6 ครั้งบางวันถึง 11 โมงก็ก้นระบม วันไหนนักการและเมีย (น้าชัด บุราคร) เห็นก็จะส่งสัญญาณให้หลบ หรือให้แอบในบ้านสงสารพวกผม วันหนึ่งในหน้าฝนครูปกครองรู้ว่าที่หมู่บ้านผมมีไก่ชนพันธุ์ดีท่านเลยไปดู กลับสี่โมงเย็นเกือบสามทุ่มจึงถึงบ้านเพราะสภาพถนน ถ้าหน้าฝนหลังจากนั้นก่อนเฆี่ยนท่านจะถามว่า "มึงอยู่บ้านไหนวะ" พอบอกชื่อหมู่บ้านผมท่านจะส่ายหน้าและไม่ตีบอกว่า "มึงรีบไปเรียนเถอะ" ถ้าเป็นความผิดอื่นอย่าคิดว่าจะรอดนะครับ

ผู้ชายที่เห็นนะเป็นรุ่นน้องผมสมัยเรียนผมอยู่ ม.5 เขาอยู่ ม.3 ตอนนี้มาเป็นครูที่โรงเรียนนี้แล้ว เท่าที่ทราบมีหลายคนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องมาบรรจุที่นี้แหละที่อื่น ผมจำเขาไม่ได้จริงๆแต่เขาจำผมได้บอกว่าเคยซ้อนจักรยานมาเรียน ( อยู่คนละหมู่บ้านเป็นทางผ่าน) เพือนร่วมห้องผมเกินครึ่งรับราชการหมด สาเหตุหนึ่งผมว่าได้มาจากการปลูกฝั่งจากที่โรงเรียนนี้ ครูไม่เคยบอกว่า พวกผมต้องเป็นคนดีแบบนั้นแบบนี่ เพราะลำพังจะสอนพวกผมให้ผ่านวิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีว คณิต อังกฤษฯลฯ น่าจะยากพอๆกับเข็นครกขึ้นภูเขา อาจจะโชคดีที่สังคมม.ปลายของพวกผมเป็นสังคมเล็กๆ ทำให้การดูแลเป็นไปอย่างทั่วถึง มีการเอื้ออาทรระหว่างครูกับศิษย์ ครูมีความเป็นครูจริงๆ  หนึ่งในนโยบายที่สุดยอดของผู้บริหารสมัยนั้น (นายพรม ดาศรี ตำแหน่ง อาจาร์ใหญ่) คือถ้าท่านเห็นนักเรียนคนไหน คนนั้นต้องถือหนังสือติดตัวตลอดในขณะที่อยู่โรงเรียน ไม่ถือหนังหรือ ก็ โดนไม้เรียวสิครับ เวลาไม่มีอะไรก็เลยเอาหนังสือมาอ่านครับ จนติดเป็นนิสัยที่ติดตัวผมมาตลอด

อาคารที่ผมใช้ชีวิตนักเรียน ม.ปลาย ตลอดสามปี ก็ยังเป็นอาคารเดิมอยู่เพียงแต่ทาสีใหม่ โรงเรียนขยายอาคารสถานที่เพิ่มขึ้นหลายหลัง จำนวนนักเรียนเพิ่มเป็นจำนวนพัน ระบบการเรียนการสอนทันสมัย บุคลากรเฉพาะทางเพียบ มีนักเรียนเก่งๆเยอะมากขึ้น มีจำนวนนักเรียนติดยา มีแฟน เรียนไม่จบ ชกต่อย ก็เพิ่มขึ้นเป็นเพราะครูสอนไม่ดี หรือนักเรียนไม่เอามีนโยบายสารพัดการประเมินคุณภาพการศึกษา สร้างสิ่งต่างๆเพื่อตอบสนองรูปแบบการศึกษา ทำไมนักเรียนนำมาใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ ไม่รู้สิสมัยผมเรียนอดๆอยากๆลำบากขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน แต่เราสัมผัสได้ถึงความเป็นนักเรียนจริงๆ ผิดต้องถูกทำโทษจะดื้อยังไงก็ไม่เคยก้าวร้าวกับครูหรือดูถูกสถานศึกษาตนเอง ภูมิใจที่จะบอกใครว่าจบจากไหน แม้จะบอกไปแล้วคนฟังไม่เคยได้ยินชื่อก็ตาม

หนึ่งในความภูมิใจของครูที่เห็นลูกศิษย์อย่างผมมีงานทำ เพราะสมัยเรียนไม่มีแววอะไรสักอย่าง นักเรียน 25 คน ผมน่าจะอยู่ในลำดับที่ท้ายๆ สัก 23 โน่นละมั้ง  แต่ครู (สุวคนธ์  ทองแม้น) จะรู้ไหมน้อ คณะครูและโรงเรียนเป็นความภูมิใจของผม  เป็นผู้ที่เสียสละและอดทนเคี่ยวเข็ญพวกผมที่แต่ละคนมองไม่เห็นทางไม่เห็นอนาคต 

โรงเรียนในฝันของผมไม่จำเป็นต้องครบครันทันสมัยเป็นเลิศในหลายๆด้าน ประสบความสำเร็จจากการประเมินของหน่วยงานต่างๆในระดับดีเยี่ยม เด็กสอบติดสถานศึกษาดังๆ  ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่โรงเรียนในฝันเป็นสถานที่มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน มีสังคมที่อยู่ด้วยกันตามกฏเกณฑ์ทั่วๆไป ครูเป็นครูจริงๆ แนะแนวทางให้เด็กมีชีวิตตามปกติของสังคม ไม่ต้องดีเลิศแค่ไม่เอาเปรียบสังคมก็พอ 

 

ขอพระขอบคุณ อ.สุทวด แท่นดี อ.วีระพล สายหอม  อ.สมหมาย สุทธิธรรม อ.นิวัติ หัตกล้า คณะครูโรงเรียนสำโรงทาบวิทยาคม ที่ประคับประคองพวกผมจนผ่านพ้นช่วงหนึ่งชีวิตมาได้ ขอบคุณมากครับ

 

ขอบคุณพ่อแม่ที่ให้กำเนิด..บรรพบุรุษที่รักษาแผ่นดินไทยให้อาศัย..กำลังใจจากผู้ปกครอง..สมาชิกบ้านสวน..ผู้ใหญ่โสที่เคารพ..และบ้านสวนพอเพียงของเรา..ลำใย..  

ความเห็น

 หาครูที่มีวิญญาณครูจริง ๆ ในสังคมทุกวันนี้ คงเสมือนงมเข็มในมหาสมุทร  สังคมที่มีแต่การแก่งแย่งแข่งขัน สังคมทีมีเงินตราเป็นตัวตั้งเป็นตัวชี้วัดในแง่มุมต่าง ๆ นึกขึ้นมาแล้วท้อแท้กับสภาพสังคมปัจจุบันเหมือนกัน อยากมีโรงเรียนในฝันดั่งเช่นนายลำใยกล่าวมาข้างต้น แต่ก็คงจะได้แค่ฝัน...........ลม ๆ แล้ง ๆ  หวัดดีนายลำใย..สบายดี ? และมีข่าวดีหรือยัง ?

 การทำงานต้องรู้จริงทำจริงจึงประสบกับความสำเร็จ

สบายดีนะท่าน...เมื่อเดือนก่อนผมไปอุบล...ไป อ.นาจะหลวย เวลามันน้อยมากไม่ได้แวะไปหาท่าน แต่มีโครงการจะไปอีกอยู่  คราวหน้าคงได้เจอ

"จะปลูกทุกอย่างที่กิน จะกินทุกอย่างที่ปลูก"

ปี๒๕๓๒  ลำไยยังอยู่ ม.๔  แสดงว่าปี๒๕๒๔  ลำไยอยู่ป. ๒  ป้ายาสอนอยู่โรงเรียนบ้านบึง อำเภอปรางค์กู่ เดิมมาขึ้นรถสองแถวที่ บ้านเกาะแก้ว มาขึ้นรถไฟกลับบ้านที่สถานีสำโรงทาบทุกวันศุกร์ และลงรถไฟที่สำโรงทาบทุกวันอาทิตย์  กลับโรงเรียน  ทุกวันนี้มีความคิดที่จะกลับไปเยี่ยมยังไม่มีโอกาสได้แต่คิดถึง  ป้ายาลาออกมาบรรจุที่บุรีรัมย์ในปีต่อมาค่ะ  สักวันหนึ่งป้ายาคงได้เจอลำใยค่ะ

สมัยเรียนประถมผมก็เดินไปโรงเรียน แต่ไม่ไกลบ้านมากนัก เดินสบายเพราะมีร่มไม้ตลอดทาง แต่เรื่องครูนี่คล้ายๆกัน โหดน่าดู

ครูเหมือนพ่อแม่คนที่สองค่ะ เย็นกายสบายใจก็โตมากับครอบครัวครู คุณตา คุณยาย พ่อแม่ญาติพี่น้องหลายคนเป็นครูค่ะ

คิดฮอดเด้ออ้าย ดีใจจังที่อ้ายลำใยกลับมาเขียนบล็อกแล้ว อ่านแล้วประทับใจ

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

สมัยเรียนผมก็ไม่ต่างกับที่ลำใยเล่า ชั้นมัธยมเดิน วิ่งไล่รถไฟเกือบทุกวัน

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

อ่านบล็อกนี้แล้วคนเคยเป็นครูยังซึ้งเลยค่ะ

ความลำบาก  ทำให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จดังหวัง

หน้า