เตรียมตัวซื้อตั๋วไปตาย (บันทึกการเดินทางไกลสู่ภายใน ตอนที่2)
วันที่สอง
จากหน้าต่างหัองพักเบอร์17ที่ผมพักอยู่ ผมสามารถมองเห็นทางเข้าออกที่เป็นประตูของศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ไม่มีประตูเปิดปิด มีเพียงเชือกพลาสติกเส้นเล็กขึงอยู่ ห้อยป้ายแผ่นเล็กเขียนว่า “เขตปฎิบัติธรรม ห้ามบุคคลภายนอกเข้าอย่างเด็ดขาด”
ผมมองดูเชือกเล็กเส้นนั้น เพียงแค่ก้าวข้ามแล้วเดินจากไป อิสรภาพ....อิสรภาพ และความทุกข์ทรมานทางจิตใจก็จะยุติลง .....เหมือนง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายเลย ดูเหมือนภายในจิตใจของเราเองก็มีเชือกเส้นบางเบาอยู่เช่นกัน เส้นที่กั้นแบ่งระหว่างผิดและถูก ระหว่างควรไม่ควร จะทำหรือไม่ทำ ดูมันง่ายๆก็จริง แต่หลังจากนั้นหละ เราจะตอบจิตใจตนเองว่าอย่างไร ....ด้วยอานุภาพของอะไรบางอย่าง อาจเป็นหิริโอตะปะมั้ง ทำให้ผมเลือกวิธีที่อารยะกว่านั้น ผมรอจนระฆังตีตอน หกโมงครึ่งซึ่งเป็นเวลาอาหารเช้า ผมเดินตัวเปล่าไปบอกธรรมบริกรที่ประจำอยู่ที่ห้องอาหาร ผมเดินตรงเข้าไปยืนมองหน้าเขาแล้วผมก้มตัวลงพูดเสียงไม่ดังนัก แต่เน้นชัดถ้อยชัดคำ “ผมจะไปแล้วนะครับ” เขาดูท่าทางตื่นเล็กน้อย คงไม่คิดว่าท่าทางอย่างผมจะยุติการปฏิบัติตั้งแต่ต้นผมคิดเองนะครับ เขาหันไปมองหน้าธรรมบริกรอีกคนที่ยืนอยู่ข้างๆ แล้วบอกผมว่า
“มีเรื่องอะไรหรือครับพี่” เขาถามผม
“จะให้ผมตอบจริงๆหรือนี่ คงต้องอธิบายยาว” ผมตอบเขาไป
“รอเดี๋ยวนะพี่ ผมต้องไปบอกอาจารย์ก่อน”
“ก็ดีเหมือนกัน ผมรออยู่นี่นะ”
ผมคิดอยู่ในขณะนั้น อาจารย์รับรู้ก็ดีเหมือนกัน เมื่อเราเผชิญกับสิ่งที่เป็นปัญหา ไม่มีอะไรที่ดีไปกว่าการเผชิญกับความเป็นจริงอย่างซึ่งหน้า ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรเราพร้อมรับผลของมันอย่างไม่ลังเล เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง ลึกๆแล้วผมรู้สึกมาตลอดว่าคนเรากลัวว่าเมื่อย้อนคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่ผ่านไปแล้วรู้สึกละอายและรู้ว่าการกระทำในอดีตที่ผ่านมาไม่สง่างาม
เขาเดินกลับมาแล้วบอกว่าอาจารย์ขอพบ
เขาเดินนำผมไปยังบ้านพักอาจารย์ พอไปถึงอาจารย์ สุทธี ชโยดมเชิญผมนั่งเก้าอี้ เป็นเก้าอี้ตัวเตี้ยกว่าของอาจารย์ มีอาจารย์ นิรันด์ ชโยดมนั่งอยู่ด้วย ด้านข้าง คุณ ภาวิณี บุญเกษมสันติ ผู้จัดการศูนย์นั่งพับเพียบอยู่ข้างๆ
การสนทนาของวิปัสสนาจารย์มักจะกระชับ ตรงประเด็น และเต็มไปด้วยความสงบเย็น
“มีปัญหาอะไรถึงคิดจะกลับ” อาจารย์สุทธีถาม
“ผมนั่งไม่ได้ครับ ทันทีที่ผมรู้สึกถูกกดดันและรู้สึกว่าไม่มีทางออก ผมจะไม่สามารถทนอยู่ในสภาวะนั้นได้และต้องผละออกจากสถานการณ์นั้นทันที ผมเป็นไม่บ่อยครับ และไม่เคยคิดว่าจะเป็นปัญหาก็เลยไม่ได้กรอกไว้ในรายละเอียดของทะเบียนประวัติ แต่มันเกิดขึ้นครับ และอาการค่อนข้างรุนแรง เมื่อคืนไม่ได้นอนเลย คิดตัดสินใจจนตัดสินใจว่าจะไปครับ”
“อาจเป็น Claustrophobia แล้วมีเหตุผลอื่นอีกไหม “ อาจารย์ถามต่อ
“ผมมาปฏิบัติครั้งแรกเมื่อประมาณ10ปีที่แล้วที่ศูนย์ปราจีน ขณะนั้นที่นี่ยังไม่ได้สร้าง ผมได้อะไรบางอย่างจากการอบรมการปฏิบัติครั้งนั้น หลังจากกลับไปตลอด10ปีมานี้ ผมได้ศึกษาแนวทางและวิธีปฏิบัติอีกหลายสาย จนขณะนี้ผมรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อวิธีการในการปฏิบัติของที่นี่ และที่มานี่เพราะลูกชายขอให้มา เขามาปฏิบัติสองครั้งแล้วครับ”
“ที่ว่าไม่เชื่อมั่นต่อวิธีการปฏิบัติของที่นี่เป็นอย่างไร” อาจารย์ถามอีก
“ผมรู้สึกว่าวิธีการปฏิบัติของที่นี่ตึงเกินไปครับ”
“อาจเป็นเพราะจริตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน” อาจารย์พูดสั้นๆ ท่าทางเต็มไปด้วยความปราณี
“เอาละ...ถ้าเธอจะกลับเราก็คงห้ามไม่ได้” อาจารย์สุทธีพูดพลางหันหน้าไปทางอาจารย์นิรันดร์ที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ
“ครับ...แล้วอาจารย์จะชี้แนะอะไรเพิ่มเติมไหมครับ” ผมถามต่อ
“ความเห็นอาจารย์ถ้าเธอกลับเธอจะเสียมากกว่าได้ ประการแรกตอนที่มาที่นี่เธอได้เซ็นสัญญาไว้ ว่าจะทำตามกฎและระเบียบของที่นี่อย่างเคร่งครัด และจะต้องอยู่ให้ครบตลอดระยะเวลา10วัน การกลับไปก่อนเป็นการผิดสัญญา” อาจารย์ทบทวนความจำ
“ครับ...ข้อนี้ผมผิดเองครับ”
“ประการต่อมา เมื่อเธอกลับไป เธอจะไปบอกลูกชายว่าอย่างไร” อาจารย์พูดจี้ใจตรงเผงเลย
โอ้....ผมได้ยินแบบนี้ แทบทรุดลงไปกองกับพื้น ดีที่นั่งอยู่บนเก้าอี้
“เอาอย่างนี้ดีไหม ให้เธอลองอยู่ต่อสักวัน ดูซิว่าจะอยู่ได้หรือไม่ อาจารย์จะให้เก้าอี้เธอไปตัวหนึ่ง เห็นว่าเธอมีปัญหาในการนั่งขัดสมาธิแล้วเกิดอาการ” อาจารย์สุทธีพยายามเสนอทางออกให้
เรื่องเก้าอี้นี่เขาจะไม่ให้ใครง่ายๆ นอกจากคนนั้นจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจริง ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุมากๆ หรือไม่ก็พวกฝรั่งที่ไม่คุ้นเคยกับการนั่งขัดสมาธิ นี่ท่านคงเห็นว่าผมถือว่าเข้าขั้นเป็นคนป่วยกระมัง ผมคิดในใจ
“เธอลองตัดสินใจดู” อาจารย์เหมือนให้โอกาส
“ครับ....ผมตัดสินใจแล้วครับ ผมขออยู่ต่อจนครบกำหนดครับ” ผมตัดสินใจทันทีในขณะนั้น ทั้งๆที่รู้ว่าการตัดสินใจนี้หมายถึงว่าเราจะพบกับอะไรในวันเวลาที่เหลืออยู่
“หวังว่าเมื่อถึงวันที่สิบ อาจารย์จะเห็นเธอ”
“เมื่อถึงวันที่สิบ อาจารย์จะเห็นผมยังอยู่ แน่นอนครับ ผมจะขออยู่ต่อเพื่อต่อสู้กับปมปัญหาในจิตใจ ผมจะเอาชนะมันให้ได้ ....เอาชนะโดยการพัฒนาจิตที่เป็นอุเบกขา..ผมจะพัฒนาจิตที่เป็นอุเบกขา”
อาจารย์มองหน้าผม และผมก็มองหน้าอาจารย์ ไม่มีคำพูดใดๆต่อจากนั้น มีแต่การสื่อสารผ่านแววตาที่เต็มไปด้วยความปราณี ผมยกมือไหว้ทุกคนและเดินจากไปตามหลังธรรมบริกรที่รออยู่ข้างล่าง โดยไม่ได้ปริปากใดๆ
หลังจากที่ผมตัดสินใจที่จะอยู่ต่อ จิตใจผมก็หันไปมุ่งสู่การปฏิบัติ ไม่มีใครรู้ว่าเช้านี้ได้เกิดอะไรขึ้นกับผม มีสิ่งผิดปกติอย่างเดียวคือเก้าอี้ อยู่ๆก็มีคนยกเก้าอี้มาไว้ที่หลังผม หลังที่นั่งหมายเลข7 ที่เป็นที่นั่งประจำของผมในห้องปฏิบัติรวม
แม้ว่าเก้าอี้จะช่วยได้มาก แต่ผมตั้งใจไว้ว่าจะไม่นั่งมัน แม้จะรู้สึกนั่งขัดสมาธิแล้วจะทรมานอย่างไรก็ตาม จะมียกเว้นก็แต่ชั่วโมงธรรมบรรยาย เวลากลางคืนทุกคืนจะมีชั่วโมงบรรยายธรรมะซึ่งผมคิดว่าในชั่วโมงดังกล่าวไม่ใช่การนั่งปฏิบัติ คิดว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าถ้าผมนั่งฟังธรรมบนเก้าอี้
เข้าสู่ชั่วโมงปฏิบัติของเช้าวันนั้น ผมได้ความคิดใหม่ในการทำสมาธิ ตามกำหนดตารางการปฏิบัติของที่นี่ สามวันครึ่งแรกจะเป็นการฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ เพื่อเป็นการเตรียมการเข้าสู่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่บ่ายวันที่สามเป็นต้นไป การทำอานาปานสติของที่นี่จะเริ่มจากการมีสมาธิตามดูลมหายใจเข้าออก เข้าก็ให้รู้ว่าเข้า ออกก็ให้รู้ว่าออก หลังจากนั้นก็ให้มีสมาธิสังเกตุอยู่ที่ความรู้สึกภายในรูจมูกทั้งสองข้างบ้างว่าเมื่อลมเข้ารู้สึกอย่างไร เมื่อลมออกรู้สึกอย่างไร บางครั้งก็ให้ดูความรู้สึกบริเวณสามเหลี่ยมที่มีฐานตั้งแต่ริมฝีปากบนจนกระทั่งจุดยอดที่อยู่บริเวณดั้งจมูก บางครั้งก็ให้จับเฉพาะความรู้สึกเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมเล็กๆที่มีฐานที่อยู่เหนือริมฝีปากบนจนถึงยอดที่อยู่ใต้กึ่งกลางตอนล่างของรูจมูก ให้ฝึกจนคล่องตลอดสามวันครึ่งแรกหรือประมาณเวลาได้หนึ่งในสามของกำหนดการปฏิบัติของโปรแกรมสิบวัน
วิธีเดิมที่ใช้ในการทำสมาธิคือพยายามให้จิตเรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ซึ่งในที่นี้คือลมหายใจและความรู้สึกของบริเวณบนผิวกายที่เกิดจากลมหายใจ หากจิตเราแวบออกไปเป็นอย่างอื่นเมื่อใด เรารู้ตัวด้วยสติเมื่อใดเราก็จะดึงกลับเพื่อให้เข้าสู่สิ่งที่เราต้องการให้เกิดสมาธิ ดึงไปดึงกลับอย่างนี้เรื่อยไป วิธีการใหม่ของผมก็คือเริ่มจากการยอมรับในธรรมชาติของจิตที่มีการไหลเลื่อน ผมจะให้เกิดสายใยของสิ่งที่เราต้องการให้เกิดสมาธิกับสิ่งที่จิตไหลเลื่อนออกไป เหมือนการถ่ายน้ำหนักจากของสองสิ่ง สมมุติว่าสิ่งที่เราต้องการให้เป็นสมาธิอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่จิตไหลเลื่อนออกไปอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราเพิ่มสมาธิในส่วนที่เราต้องการเป็น 60 ส่วนที่จิตไหลเลื่อนจะอยู่ที่ 40 แม้บางเวลาสิ่งที่จิตไหลเลื่อนอาจอยู่ที่ 90 เราก็ยังเหลือสิ่งที่ต้องการเป็นสมาธิอยู่ที่ 10 สิ่งที่เราต้องทำคือการยอมรับธรรมชาติของการไหลเลื่อนออกไปแล้วพยายามเพิ่มกำลังสมาธิให้กล้าแข็งขึ้น เป้าหมายอยู่ที่ 100 หรือเกือบ 100 ความต่างที่สำคัญคือเพียงแค่ยอมรับในธรรมชาติที่เป็นจริงของการไหลเลื่อนไปของจิต .... เปลี่ยนจากการหักหาญเป็นการยอมรับในธรรมชาติที่เป็นจริง....ผลของการปฏิบัติแบบใหม่นี้ในชั่วโมงแรกของการทำสมาธิ เป็นเรื่องอัศจรรย์สำหรับผม เพราะตลอดชั่วโมงนั้นผมสามารถมีสมาธิอยู่กับลมหายใจผมอย่างต่อเนื่องตลอดเกือบทั้งชั่วโมง ซึ่งผมไม่เคยทำได้มาก่อน จำได้ว่าตลอดชั่วโมงนั้นมีเพียงครั้งเดียวที่สมาธิหลุดหายออกไปจากลมหายใจ เมื่อมีสติผมก็ค่อยกลับมาสู่ลมหายใจดังเดิม จะมากจะน้อยอย่างไรสายใยของจิตยังคงยึดโยงอยู่กับลมหายใจอย่างมีสมาธิ และที่น่าแปลกซึ่งผมยังหาเหตุผลไม่ได้ในขณะนั้นก็คือสิ่งที่จิตไหลเลื่อนออกไปในชั่วโมงนั้นล้วนเต็มไปด้วยสิ่งที่ดีๆ ซึ่งผิดธรรมชาติที่เคยปฏิบัติซึ่งโดยธรรมชาติเราเป็นคนระแวดระวังช่างคิดช่างวางแผนช่างคาดการณ์ เป็นธรรมดาและธรรมชาติภายในจิตของเรามักมีสิ่งร้ายๆมากมาย สิ่งที่จิตนำพาไปจึงมีทั้งดีและร้าย อาจหนักไปทางร้ายด้วยซ้ำไป แต่ครั้งนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่ดีๆ เป็นชั่วโมงการนั่งทำสมาธิที่เต็มไปด้วยความสุขและเบิกบานจริงๆ
สำหรับผมแล้วการค้นพบวิธีปฏิบัติเช่นนี้ถือว่ามีค่าจริงๆ.................
จากความคิดเดิมที่จะเล่าประสบการณ์ในการเข้ารับการอบรมวิปัสสนาที่ศูนย์ธรรมกาญจนาแต่บังเอิญได้ไปอ่านพบบันทึกฉบับนี้เข้าให้ น่าสนใจและละเอียดดีมาก เลยขอโอกาสนำมาให้เพื่อนๆสมาชิกฯผู้สนใจได้อ่านกันเลยดีกว่า เป็นบันทึกในการเข้าปฏิบัติธรรมครั้งที่สองของคุณชัยพงษ์ กิตตินราดร ณ.ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของท่านที่ http://www.bwfoto.net ด้วยความเป็นศิลปินของคุณชัยพงษ์เอง การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆจึงมีทั้งสาระและอรรถรสในเชิงวรรณกรรม อีกทั้งยังมีภาพวาดบันทึกความทรงจำเหล่านั้นอีกด้วยจึงทำให้บันทึกฉบับนี้มีคุณค่าและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะที่ข้าพเจ้าส่งอีเมลล์ไปเพื่อขออนุญาตินำบทความไปลงในวารสารทางหลวง โดยที่ไม่ทราบมาก่อนว่าคุณชัยพงษ์ได้อำลาโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบและสง่างามสมกับสภาวะธรรมของท่าน แต่ก็ได้รับคำตอบจากคุณชิตพงษ์ลูกชายว่าทางครอบครัวมีความยินดีในการเผยแพร่บทความนี้ในวันถัดมา กุศลและผลบุญใดๆที่เกิดขึ้นจากธรรมทานของบันทึกนี้ อุทิศให้แด่ดวงวิญญาณของคุณชัยพงษ์ กิตตินราดร
- บล็อกของ ลุงพี
- อ่าน 3730 ครั้ง
ความเห็น
ยายอิ๊ด
8 พฤศจิกายน, 2010 - 13:56
Permalink
อ่านจบตอน2
อ่านจบตอนแรกไม่กล้าที่จะเม้นท์ เพราะมีความรู้สึกว่า ยังอ่านไม่จบค่ะ และไม่สุด... แต่สิ่งที่ได้ จากการอ่านสรุปตน....ได้ค่ะ
#แตกต่าง.แต่.ไม่แตกแยก#
lekonshore
8 พฤศจิกายน, 2010 - 13:57
Permalink
ยายอี๊ด
เหมือนกันเลย รออ่านเสร็จรวบยอดเลย
msn:lekonshore@hotmail.com
ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก จงมีความสุข สนุกกับชีวิต อย่ามัวคิดอิจฉาใคร
ตั้ม
8 พฤศจิกายน, 2010 - 19:31
Permalink
ถึงขั้นนี้..ผมก็ยังยืนยัน
ผมว่ามันยากนะ..การกำหนดสมาธิกับจิตเลื่อนไหล..ของผมแค่เพียงตั้งใจในระยะ 10 นาทีแรก สัดส่วนของสมาธิกับจิตเลื่อนไหล อาจอยู่ที่ 60:40 แต่เมื่อเวลายิ่งผ่านไปสัดส่วนมันยิ่งลดลง ผมว่าบังคับใจและความคิดให้มันนิ่ง (ไม่ใช่กายนิ่งอย่างเดียวนะ) ยากมาก..สำหรับผม..ยากมากๆ..เคยคิดจะไปฝึกวิปัสนา..แต่กลัวจะทนไม่ได้เข้าข่ายทำร้ายตัวเอง..เลยขอฝึกอยู่กับบ้าน..บางครั้งใช้เสียงสวดมนต์ช่วย (หลับตาใส่หูฟัง) ยังทำไม่ได้เลย..ควบคมจิตและสมองไม่ได้..มันไฮเปอร์..
แสวงหาชีวิตที่สงบ..หลบลี้หนีความวุ่นวาย