การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในถึ่วพู พริก มะเขือเทศ คื่นฉ่าย ผักชีจีน และผักหวานบ้าน
ตามที่ได้รับปากไว้ว่า จะเขียนบล็อคในเรื่องนี้ โดยใช้ภาษาง่ายๆ จากการทำจริงมาต่อเนื่องยาวนาน เพื่อให้ง่าย และสั้นๆ จึงเลือกมาเล่าเพียงสองพืช คือ พริก(เรียน และทำมาโดยตรงต่อเนื่อง) และถั่วพู(หนึ่งในพืช สำคัญยิ่งของสวนในอนาคต)
อนึ่ง ได้ตัดสินใจเพิ่ม พืชอีก สี่ชนิด เพราะว่า จะได้นำรูปการจัดการองค์รวม มาอธิบาย ร่วมกับ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ได้เข้าใจง่าย และมีประโยชน์ยิ่งขึ้น คือ มะเขือเทศ( อยู่กันมาตั้งแต่เรียน และมีทุกวันนี้ เพราะเขา และคงจะอยู่กันไปจน ...) คื่นฉ่าย(พืชที่ทำรายได้มากที่สุดของสวน) ผักชีจีน( มือขวาของคื่นฉ่าย) และผักหวานบ้าน(พืชเงินพัน เงินหมื่น แต่แทบไม่มีความเสี่ยง ไม่มีต้นทุน และปลูกได้ในดินความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อย่างภาคอิสาณ(เช่นถั่วพู )แต่คนภาคอิสาณ ยังกิน ผักหวานบ้านไม่ค่อยเป็น ...ชอบแต่ ผักหวานป่า )
สำหรับรูป ทะยอยตามมาประกอบเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเวลาตอบคำถามนะครับ
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ในพริกหวาน และถั่วพู
มีเป้าหมายอันดับแรกคือ ป้องกันศัตรูพืชให้คุ้มค่า และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยใช้หลักการผสมผสาน ของวิธีเขตกรรม กายภาพ ชีวภาพ และวิธีทางเคมี เพื่อปลูกพืชโดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด
หาวิธีการกดดันไม่ให้ศัตรูพืชทำความเสียหายระดับเศรษฐกิจ เป็นการจัดการศัตรูพืชให้อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ใช่การทำลายล้าง คือ เป้าหมาย การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน นั้นเรียบง่าย ปฎิบัติได้ และสำคัญที่สุดคือ เป็นวิธีที่ปรับใช้ได้ไม่ตายตัวในการจัดการศัตรูพืช
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ในพริก และถั่วพู มีเทคนิค ดังนี้
- การจับตา และสุ่มตัวอย่าง
- การตรวจพืชรายต้น (ยังใช้อยู่)
- การใช้กับดักกาวเหนียว(ไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน)
- การสุ่มนับแมลงทุก ๗วัน(ไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน)
- การจำแนกชนิดของแมลงและช่วงชีวิต (ยังใช้อยู่)
- การเก็บข้อมูลเพื่อดูทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง (ยังใช้อยู่)
- การป้องกันศัตรูพืชไม่ให้เข้าสู่บริเวณปลูกพืช
- การป้องกันเพลี้ยอ่อน และเพลี้ยไฟ โดยการปลูกพืชบังลม หรือวัสดุบังลมตามทิศทางที่ลมพัดผ่าน (ยังใช้อยู่)
- วิธีเขตกรรม
- การปรับปรุงดิน (เน้นหนักเป็นพิเศษ)
- การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม (เน้นหนักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ปุ๋ยหมักตื่นตัว)
- การรักษาความสะอาดแปลงปลูก (เน้นหนักเป็นพิเศษ แต่ทำได้ค่อนข้างยากในหน้าฝน)
- การฉีดน้ำฝอยแรง(เน้นหนักเป็นพิเศษ)
- การป้องกันศัตรูพืชโดยชีววิธี(การใช้สิ่งมีชีวิตควบคุมศัตรูพืช)
- การปล่อย ด้วงเต่า แมลงช้างปีกใส แตนเบียน ควบคุมเพลี้ย และไรต่างๆ(ตามความจำเป็น)
- การปล่อย มวนพิฆาต แตนเบียน การใช้เชื้อแบคทีเรีย และไส้เดือยฝอย ควบคุม หนอนกระทู้ต่างๆ(ตามความจำเป็น)
- การใช้ไตรโคเดอร์มา ไมโครไรซ่า และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ (เป็นครั้งคราว ร่วมกับปุ๋ยหมักตื่นตัว)
- การใช้สายพันธุ์ต้านทานโรค (เน้นหนักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะต้านทานโรคไวรัส และแอนแทรคโนสในพริก)
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะเรามองไม่เห็นโรคพืช
- การใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ฤดูกาล และปุ๋ย วิธีปลูกที่ใช้ (เน้นหนักเป็นพิเศษ)
- การใช้สารเคมี
- แม้เราจะไม่ได้ใช้สารฯใดๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เวลา ซื้อเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ดีมา จะเป็นแตงค้าง ผักชีจีน มะเขือเทศ และพริก จะเห็นสีแดงที่เมล็ดพันธุ์ นั้นแหละทางบริษัทคลุกสารเคมีป้องกันโรคพืชที่เมล็ดพันธุ์ มาแล้ว
การรู้จักแมลง โรค วงจรชีวิตและพฤติกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการวางกลยุทธ์ที่มีประสิทธืภาพ การรู้จักจุดอ่อนของแมลงทำให้ผู้ปลูก พวกเราเอาชนะ ควบคุมแมลงได้ไม่ยากเย็นนัก
แมลงศัตรูหลักในพริก มีดังนี้
หนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua)
หนอนเจาะสมอฝ้าย (Helicoverpa armigera)
หนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura)
เพลี้ยไฟ (Thrips tabasi)
เพลี้ยอ่อนฝ้าย(Aphis gossypii)
ลืม แมลงศัตรูหลัก ที่สำคัญ ไปหนึ่งชนิด คือ ไรขาวพริก(Polyphagotarsonemus latus) ที่พวกเรามองข้ามไป และส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ทั้งๆที่ เขาเข้าทำลายรวดเร็วมากก่อนเพลี้ยอ่อนอีก อาการใบเปลี่ยนรูป เรียวยาว และมีสีน้ำตาลแดง ถ้าสังเกต ดีๆ ซึ่ง เพลี้ยอ่อน หรือ เพลี้ยอื่นๆ เข้าทำลาย จะไม่เหมือน ไรขาว
ส่วน ถั่วพู มีแมลงศัตรูหลัก คือ เพลี้ยอ่อนฝ้าย ตัวเดียว
**********************************
จบตอนแรก มีเวลาตอนดึก ในวันหยุด ค่อยเพิ่มเติมรูปภาพ และต่อด้วย แมลงศัตรู และวงจรชีวิต
- บล็อกของ 2s
- อ่าน 23973 ครั้ง
ความเห็น
2s
6 ธันวาคม, 2010 - 13:49
Permalink
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานใน ผักหวานบ้าน
ผักหวานบ้าน เป็นพืชที่แม้จะทำรายได้หลักไม่กี่พันบาทในปีที่แล้ว(ประมาณ ๒๐๐ต้น อายุครบ ๑ปี วันพ่อ พอดี ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดจาก สวนที่แม่สรวย เชียงราย ) มีคุณสมบัติทุกๆประการที่จะเติบโตในสภาพอากาศ และดินความอุดมสมบูรณ์ต่ำในภาคอีสาณ ปัญหาแมลงศัตรูหลัก ก็มีเพียง เพลี้ยชนิดต่างๆ ดูดน้ำเลี้ยง ซึ่ง ปลูกร่วมกับ ถั่วพู พริกกะเหรี่ยง ผักอีตู่ลาว-ไทย ได้อย่างดี แม้จะเป็นทางเดิน ทางน้ำไหลในหน้าฝน
ข้อแตกต่างอย่างใหญ่หลวง เมื่อเปรียบเทียบกับถั่วพูคือ ทุกๆวัน คนในชุมชนมาซื้อ ถั่วพูไปกินทุกๆวัน วันละเป็นสิบๆราย แต่น้อยรายจะมาซื้อผักหวานบ้าน แต่ในทางกลับกัน ทุกๆวันศุกร์ ที่ตัดไปส่งตลาดปลอดภัยในเมืองบ้านไผ่ ก็ไม่ต้องขายให้ใคร เพราะทันทีที่วางที่ ว่าการอำเภอ จะมีขาประจำเหมาไปหมด ทันที กล่าวว่า เป็นพืชผักที่ขายหมดเร็วกว่าผักอื่นๆ เพราะคนที่กินเป็น ทำเมนูโปรดเป็น ก็ชอบแตกต่างกันสิ้นเชิง
เบี้ย หรือต้นกล้าที่เกิดขึ้นเมื่อเมล็ดร่วง หรือต้นพี่ที่ไม่สมบูรณ์ กิ่งเสียหาย กิ่งแขนงใหม่ ก็เกิดขึ้นได้
การขยายพันธุ์ไม่ว่า จะปักชำกิ่ง ขยายด้วยเมล็ด ก็ทำได้ไม่ยุ่งยาก แม้จะต้องอาศัยประสบการณ์ และความพิถีพิถันพอสมควร ต้นทุนการผลิตก็ต่ำมากๆ การเสี่ยงแทบไม่มี คล้ายๆกับ ถั่วพู ใช้พื้นที่ วัสดุเหลือจากโครงการอื่น และที่สำคัญที่สุด ก็ยังมองไม่เห็นว่า คุณภาพ รสชาด ความสด จะแตกต่างจากปลูกโดยใช้สารเคมี อย่างไร
ด้วยการจัดการแบบองค์รวม และการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ได้ผักหวานบ้าน ไม่อายใคร ก็มองไม่เห็นว่า ทำไมจะไม่เพิ่มจำนวนต้น เพื่อขยายตลาด และเป็นตัวอย่างพืชผักที่ทำรายได้เลี้ยงโครงการผักปลอดภัย ให้อยู่รอด ยั่งยืน เช่นที่ผลักดัน ถั่วพู
ในปีหน้าวางแผนการปลูกไว้ที่ ๓๐๐๐ต้น แต่ก็ยังต้องอาศัยเมล็ดพันธุ์จากต้นแม่ ทางแม่สรวยด้วย เพราะ บ้านไผ่คงจะได้ต้นกล้า ประมาณ ๑๕๐๐ ต้น (และด้วยเหตุผลบางประการ ยังไม่ได้ใช้วิธีปักชำกิ่งในขณะนี้)
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
2s
7 ธันวาคม, 2010 - 12:33
Permalink
ไม่มีทางลัดในการปลูกผักปลอดภัย
ต้องขอย้ำแนวความเชื่อที่ว่า ไม่มีทางลัดในการปลูกผักปลอดภัย(ซึ่งได้เรียนย้ำ ท่านที่สนใจ ตั้งใจท่านหนึ่งไปในช่วง วันพ่อนี้) แม้ว่าจะเก่ง มีความรู้ในการจัดการศัตรูพืช หรือมีประสบการณ์ใน สายพันธุ์ ในวิธีการปลูกพืชผักเพียงใดก็ตาม เป็นความเชื่อของ 2S เต็มร้อย(แต่ไม่ได้ความว่า จะถูกต้อง และเป็นความจริงทั้งหมด)
2S พูดเสมอว่า หัวใจของโครงการปลูกผักปลอดภัย คือ ปุ๋ยหมักตื่นตัว ยังคงยืนยัน และปฏิบัติต่อเนื่อง 2Sได้ตั้งสัจจะ ถวายในวันพ่อว่า จะทำปุ๋ยหมักตื่นตัว ด้วยตัวเอง ทุกๆอาทิตย์ต่อเนื่องกัน ๙๙อาทิตย์ ตั้งแต่ ๕ธ.ค. ๒๕๕๓ ในการทำผักปลอดภัย เท่ากับบอกใบ้ว่า ผู้ที่จะเริ่มการปลูกผักปลอดภัย ควรจะฝึกทำ และอดออม ทำอะไรก่อนที่จะเป็นทุน ในการปลูกผักปลอดภัยให้สำเร็จ ยั่งยืน
ผู้ที่จะทำปุ๋ยหมักตื่นตัว ที่มีบ้าน ทาวน์เฮาส์ สามารถทำได้อย่างดี(และควรทำจริงๆ) กองปุ๋ยหมักตื่นตัวขนาด กว้าง และสูง หนึ่งเมตร เนื่องจาก ในขั้นต้นมีเป้าหมายเพียง ๓-๔ประการ คือ ต้องมีไม่กลิ่นรบกวนเพื่อนบ้าน ต้องย่อยสลายวัสดุใน ๔-๖อาทิตย์(ไม่เห็นสภาพเศษฟางหม่น และเศษหญ้า) กลับกองอาทิตย์ละสองครั้งด้วยตนเอง(ผู้หญิง กลับกองเฉลี่ยประมาณ ๑ช.ม. ต่อกอง ๑เมตร ใช้คราดเป็นหลักในการกลับกอง)
เพื่อไม่ให้หนักเกินไปในระยะแรกๆ ให้ใช้ฟางหม่น เศษหญ้า เป็นสำคัญกว่าร้อยละ ๗๐-๘๐ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้คราดกลับกอง และควบคุมกลิ่น และให้ย่อยสลายภายใน ๔ อาทิตย์ แต่จะมีข้อเสียคือ กองจะยุบมาก จำเป็น ต้องกอง ๒กอง ให้เหลือ ๑กอง(เมื่อเสร็จสิ้น หรือเมื่อรวมกองรักษาความสูงให้ได้ ๑เมตร) เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นแล้ว ให้เพิ่มแกลบสดเข้าไปในกองปุ๋ยหมัก(ควรนำมากองผสมกับ ปุ๋ยคอก เพื่อควบคุมกลิ่นปุ๋ยคอก ที่เวลาจัดหามาจะอยู่ในถุง ซึ่งมีกลิ่นแรงมาก) ในกรณีที่ผสมแกลบสดเข้าไป ๑ใน๘ หรือ ๑ใน๑๐ส่วน แม้จะต้องแลกด้วยเวลาการย่อยสลายเสร็จสิ้นช้าลงเป็น ๖-๘อาทิตย์(กลับกองอาทิตย์ละ ๒ครั้ง) แต่ เราจะได้ปุ๋ยหมักตื่นตัวเพิ่มขึ้น เช่น เริ่มกอง ๓กอง จะเสร็จสิ้นเหลือ ๒กอง เป็นต้น(จาก ๒เหลือ ๑กอง)
มีข้อที่ควรจะคำนึง และควรทำอย่างยิ่ง คือ ปุ๋ยหมักที่ได้ไม่ควรนำมาใช้หมด ให้แบ่งไว้ครึ่งหนึ่งเสมอ เพื่อ เป็นกำลังใจ เป็นส่วนที่จะทำปุ๋ยหมักพี่เลี้ยง ให้ปุ๋ยหมักตื่นตัวรุ่นต่อๆไป
แล้วนานๆเข้าจะเข้าใจเองว่า ผักปลอดภัยที่ผลิตจากปุ๋ยหมักตื่นตัว มีรสชาด ความกรอบ สด และธาตุอาหารครบถ้วน เป็นประโยชน์ ต่อตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร มากน้อยเพียงไร(ไม่ใช่ความสวย ความใหญ่ของต้นผัก)
******************************************************************************
โชคดี เจริญทั้งทางโลก ทางธรรม และอย่าทำให้พระองค์ท่านเหน็ดเหนื่อย เป็นห่วง พสกนิกรเพิ่มขึ้นนะครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
สายพิน
7 ธันวาคม, 2010 - 16:33
Permalink
ขอขอบคุณข้อมูล
ขอขอบคุณข้อมูลมากค่ะ ได้มีทางออกสำหรับผู้อยู่เทาวน์เฮาส์ และมั่นใจมากขึ้นว่าไม่เป็นอุปสรรคในการทำปุ๋ยหมักตื่นตัว รวมไปถึงการได้ผักปลอดภัยทานอย่างมั่นใจมากขึ้น ขอขอบพระคุณมากค่ะ
แก่
7 ธันวาคม, 2010 - 13:24
Permalink
ขอบคุณครับ
2s ที่ให้ความรู้และประสบการณ์ จากการปฏิบัติจริง ขอให้เป็นตัวอย่างกับเกษตรกรรายอื่นๆที่คิดจะปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ต่อไปครับ
2s
11 ธันวาคม, 2010 - 17:41
Permalink
อากาศเปลี่ยนแปลงมากๆ ... เกษตรกรมีแต่ความเศร้า
ในฐานะเกษตรกรรายย่อย ที่ปลูกผักปลอดภัย เพียงไม่กี่ราย ก็ต้องเจ็บ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ผักกินใบโตไม่ได้มาตรฐาน มะเขือเทศสุกเร็วราคาถูกมาก ต้องดูแลฉีดน้ำมากกว่าปกติ ถั่วพูก็โทรมรวดเร็วกว่าช่วงปกติ ต้องอาศัยรุ่นเดือน กันยายน ตุลาคม ซึ่งมีไม่มาก รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าจ้าง แรงงาน ทีมงาน
ถ้าไม่ได้เรียนมาทางนี้ คงจะเลิกไปนานแล้ว แต่ต่อจากนี้คงไม่ขยายงาน ลงทุนอีกแล้ว เพราะ ไม่สามารถเห็นครอบครัวต้องมาเจ็บปวดร่วมกันได้อีก เพียงประคองไว้ ให้เป็นตัวอย่างผู้ที่รักการเกษตร ปลูกผักแบบไม่ได้ใช้อะไรเลยได้เห็นว่าทำได้ แต่ถ้าจะทำเป็นอาชีพคงจะต้องเก่งกว่า พวกเรามากๆ
หวังไว้มาก แต่สภาพอากาศเช่นนี้ ราคาเช่นนี้ มองเห็นแต่การขาดทุนในช่วงนี้ และต่อไปแน่นอน ยิ่งเมื่อผักทุกชนิดออกสู่ตลาด รุ่นปลูกหลังเกี่ยวข้าว ลำพัง ถั่วพู และมะละกอ ไม่สามารถทำรายได้ชดเชยได้ เพราะ พืชอื่นแทบจะไม่สมบูรณ์ ๓-๕ต้น เท่ากับปลูกปกติ ๑ต้น
หนึ่งเสียงเล็กๆ ในสังคมเกษตรกรรายย่อย ปลูกผักปลอดภัย น้อยๆราย ใน หรือแทบจะไม่มีใน บ้านสวนพอเพียง ... น่าเสียดาย... ความเศร้ามาร่วมฉลองปีใหม่อีกเช่นเคย ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า (ยิ่งย้ำการตัดสินที่ไม่น่าจะถูกต้องเหมาะสม ออกจากบริษัท รายได้เดือนละเป็นแสน มาด้วยอุดมการณ์ความหวัง แต่ไม่เคยฉลองปีใหม่อย่างมีความสุขสักปีหนึ่ง หลังการตัดสินใจในครั้งนั้น)
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
2s
12 ธันวาคม, 2010 - 20:52
Permalink
ต้องขอลาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า สามเดือน
เนื่องจากได้ตั้งใจจะทุ่มเทกายใจในการปฏิบัติธรรม โดยได้มีความตั้งใจมานานแล้ว และเห็นว่า คนที่สนใจผักปลอดภัยอย่างจริงจังมีน้อยมาก และตนเองคงจะต้องลดขนาดโครงการลง จึงต้องลาไป ฝึกปฏิบัติธรรม ตามที่ตั้งใจไว้
อนึ่ง งานที่สวนเองก็เพียงประคองไว้ ไม่มีการลงทุนเพิ่มอีกต่อไป ส่วนจะรอดตลอดไปหรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่ทีมงานทั้งหมดว่า จะร่วมใจ สามัคคีอย่างไร เวลาที่ไม่มีผมอยู่ดูแลงาน ก็ต้องอาศัยถั่วพูว่า อีกสองสามเดือนข้างหน้าที่ผมจะกลับมาจะ โตและทำรายได้มากน้อยเพียงใด
ลาก่อนนะครับ และหวังว่า จะมีคนที่เก่งๆ เสียสละ ทำจริง ในโครงการผักปลอดภัยมากขึ้น ส่วน 2S คงจะได้แต่ประคองไว้(ใช้หนี้ให้หมด) และทุ่มเทให้การปฏิบัติธรรมในเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
ลุงพูน
12 ธันวาคม, 2010 - 20:58
Permalink
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาด้วยครับ
ลุงพี
13 ธันวาคม, 2010 - 19:01
Permalink
สาธุ อนุโมทามิ
ขอกุศลผลบุญที่ท่านได้กระทำมาแล้วในอดีตชาติก็ดี ชาตินี้ก็ดี จงส่งผลให้ท่านได้บรรลุธรรมในกาลอันควรด้วยเทอญ หากได้เคยมีกรรมอันใดต่อกันมาในอดีต ข้าพเจ้าให้อโหสิกรรมและขออโหสิกรรมในกรรมทั้งหลายเหล่านั้น หากได้เคยเกื้อกูลใดๆต่อกันมาในอดีต ท่านได้รู้เห็นธรรมอันใดขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เห็นธรรมเหล่านั้นด้วยเทอญ
พอกิน พอใช้ พอใจ คือความหมายของ พอเพียง
หน้า