เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ไม่รู้ว่าเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่า แต่เห็นมีเพื่อนสมาชิกหลายท่านที่อยากเป็นเกษตรกร บางคนก็มีพื้นฐานอยู่แล้ว บางคนก็เหมือนผมคือไม่มีพื้นฐานทางด้านการเกษตร ก็ได้อาศัย Internet เป็นแหล่งหาความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมไปพลางๆ เห็นอะไรดีๆ น่าสนใจ ก็เลยเอามาบอกกล่าวกันครับ บางท่านอาจจะรู้แล้ว ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ก็หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับสมาชิกบ้านสวนพอเพียงนะครับ

พืชผักเงินล้าน

การปลูกพืชผัก ใครก็ทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีผักกินตลอดปี และขายได้ตลอดปี ตลาดมีความต้องการและไม่ต้องเก็บไปขายที่ตลาด คนกินผักจะมาซื้อและเก็บเองในแปลงของเรา เพราะผักเราปลอดภัยจากสารเคมีคนกินสบายใจ คนปลูกปลอดภัยผลพลอยได้มีตามมา คือกำไรและภายใต้ตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง และเพียงพอสำหรับครอบครัว

1. การเลือกชนิดพืชผัก ที่จะปลูก ต้องดูฤดูกาลและความต้องการของตลาดด้วย ไม่จำเป็นต้องปลูกผักนอกฤดูกาล เพราะถึงแม้ราคาจะแพง แต่ก็เสี่ยงกับการระบาดของโรค และแมลง ซึ่งจำเป็นต้องให้สารเคมีควบคุมการระบาด การปลูกผักตามฤดูกาลถึงแม้ราคาถูกแต่ถ้าปลูกหมุนเวียนตลอดปี โดยไม่ต้องใช้สารเคมีก็มีเงินได้

2. การเตรียมพื้นที่หว่านกล้าหรือแปลงปลูก ตามภูมิปัญญาชาวบ้านและสำนักงานเกษตรอำเภอเวียงชัย ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและใช้มาตรฐาน(GAP) ตามระบบโรงเรียนเกษตรกรตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาเกษตรกรสามารถนำความรู้ทางด้านวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตผักปลอดภัยจากสารพิษได้เป็นอย่างดีผู้บริโภคมีความเชื่อถือ สรุปได้ดังนี้

- การเตรียมแปลงหว่านกล้า ไถตากดินไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช หลังจากนั้นทำการย่อยดินให้ละเอียดคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอก จำนวน 2 กก./พื้นที่ 1 ตารางเมตร หรือปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จำนวน 2 กก./พื้นที่ 1 ตารางเมตร พร้อมกับโดโลไมท์ จำนวน 1 กก./ตารางเมตร จากนั้นทำการหว่านเมล็ดพันธุ์ผักแล้วแต่ชนิด ตามภูมิปัญญาชาวบ้านหลังจากหว่านเมล็ดผักแล้วจะโรยด้วยแป้งฝุ่นเด็ก สามารถป้องกันมดได้ดีและก่อนหว่านเมล็ดพันธุ์ผักควรห่อเมล็ดพันธุ์ผักในผ้าขาวบางแช่ในน้ำอุ่น อุณหภูมิ 50-55 องศา นาน 10-15 นาที เพื่อกระตุ้นความงอกและฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์

- การเตรียมพื้นที่ปลูก ไถตากดินไว้ประมาณ 7 วันเพื่อกำจัดวัชพืชหลังจากนั้นทำการย่อยดินพร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกจำนวน 1,000-2,000 กก./ไร่ และปูนโคโลไมท์ จำนวน 200-300 กก./ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วทำการย้ายกล้ามาปลูกต่อไป สำหรับพืชตระกูลพริก มะเขือ ควรรองก้นหลุมด้วยเชื้อไตรโดเคอร์มา เพื่อป้องกันโรคเน่าและโรคเหี่ยว

3. การดูแลรักษา หลังจากย้ายกล้าปลูกแล้วควรมีการรดน้ำสม่ำเสมอ มีการกำจัดวัชพืช และให้น้ำหมักชีวภาพอาจจะใช้รดลงดินหรือฉีดพ่น ทุก 5-7 วัน ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดจะทำให้กล้าพืชผักเติบโตแข็งแรง การใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองให้กระจายทั่วแปลงสามารถกำจัดตัวเต็มวัยของผีเสื้อ ศัตรูพืชผักได้ดี ถ้ามีการระบาดของด้วงหมัดผัก อาจใช้กาวเหนียวสีเหลืองทาบนถุงพลาสติกขนาดกว้างประมาณ 50-80 ซม. ติดไม้โบกไปมาบนพืชผักสามารถกำจัดด้วยชนิดผักได้เป็นจำนวนมาก

4. การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ต้องทำแบบผสมผสานไม่ควรใช้สารเคมีเพราะผักเป็นพืชอายุสั้น เช่นการใช้สะเดา น้ำสกัดสมุนไพรไล่แมลง กับดักกาวเหนียวสีเหลือง การให้เชื้อไตรโดเคอร์มา รวมถึงการใช้ปูนโดโลไมท์ในการเตรียมแปลง สามารถสร้างความแข็งแรงให้กับพืชผักได้ดี

 

5. การเก็บเกี่ยว การจัดการด้านตลาด การเก็บเกี่ยวพืชผักแต่ละชนิดให้เก็บเกี่ยวตามอายุและสภาพความสมบูรณ์ของพืชผักที่จะเก็บเกี่ยวพอกับความต้องการของตลาดการทำความสะอาดการบรรจุเป็นสิ่งสำคัญเพราะคนซื้อจะดูที่ความสะอาดการบรรจุที่สวยงามด้วย แต่ถ้าซื้อจากสวนโดยตรงก็ไม่จำเป็นเท่าไหร่

ข้อคิด การปลูกผักให้มีรายได้ตลอดปี ต้องศึกษาตลาดและความต้องการของผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องปลูกผักนอกฤดู ขอให้มีผักขายตลอดปี เรามีกินหรือขายเป็นรายได้

**********************

นายสมศักดิ์ เครือใจยา

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6 .

สำนักงานเกษตรอำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 053-769232

ความเห็น

เป็นประโยชน์มากเลยครับ

น้องกระต่ายดำมาแนวนี้ สุดยอดค่ะ ดีสำหรับผู้ที่คิดจะทำ

แต่โดยส่วนตัวแล้ว พี่คิดว่า (เหมือนพี่ไง) ภาคทฤษฏีปึ๊กๆๆๆ  แต่ภาคปฏิบัติแป๊กๆๆๆ(พี่เองไง)

แต่ว่าเป็นแนวทางให้ได้ทดลอง ลองผิด หรือ ถูก ก็สุดยอดแล้วที่ได้ลองค่ะ

ขอบคุณที่นำเสนอค่ะน้องกระต่ายSmile

พอเพียง และ เพียงพอ บ้านไร่จันทร์เจ้า 

มารับความรู้ดี ๆ จากคุณกระต่ายดำค่ะSmile

....ความสุขอย่างแท้จริง ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง....

จะต้องนำไปประยุกต์ใช้ค่ะ ขอบคุณความรู้ค่ะ

#แตกต่าง.แต่.ไม่แตกแยก#

สำหรับความรู้ ......ที่เผยแพร่ไม่ใช้เป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน  แน่นอนค่ะ   ขอบคุณสำหรับความรู้จะได้นำไปประยุกใช้จ้า

forget me not

ทำให้คนไม่รู้ได้รู้ และ คนที่รู้แล้วก็ยิ่งรู้ขึ้นไปอีก ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณกระต่ายดำ สำหรับข้อมูลดีมากๆ ค่ะ คงไม่เรียกว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรอกค่ะ เรียกว่ามาแบ่งปันซึ่งกันและกันดีกว่าค่ะ

เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณค่ะ

ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

กระต่ายดำ ผู้มาพร้อมกับ ความรู้เชิง แนะนำเพื่อนเสมอดีครับมีประโยชน์ดี

ตามรอยพ่อคิด ด้วยวิถีชีวิต ที่เพียงพอ

เข้ามาเก็บเกี่ยวข้อมูล อย่างเร็วเลยคะ
เก็บ เก็บ ขอบคุณคะ ตอนนี้เป็นช่วง
เก็บเกี่ยวข้อมูล ยินดีรับข้อแนะนำ ทุกประการคะ

หน้า