ชอบบอกหอม ... ไม่ชอบบอกเหม็น

หมวดหมู่ของบล็อก: 

     จั่วหัวของบล็อกที่แล้ว“อดีต ภาพจำ  ... ปัจจุบัน ภาพจริง”  ข้าพเจ้านำเอาร้อยกรองไพเราะ ซึ่งประพันธ์โดยอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ฯ ท่านหนึ่ง ท่านประพันธ์ไว้กว่า 50 ปี ก่อนนู้น.... โดยสัจธรรม “อนิจจา วตฺสังขารา” แล้วจะเห็นได้ว่า  ท่าดินแดง เคียนซา ไม่มีบ่อถ่านหินอีกแล้ว  กระแดะ ดงลางสาดที่แทบไม่เหลือ  ในบาง ปาล์มกำลังมาแทนจาก และถนนกำลังคืบคลานเข้าไปรุกรานคลอง  ท่าฉาง ต้นตาลถูกกลืนโดยนากุ้งไปเกือบสูญพันธุ์  อ่าวบ้านดอน ฟาร์มหอยนางรม เข้ามาแทนที่ ปลา  ไชยา  แทนที่ข้าวด้วยไข่เค็ม และมะพร้าว ที่ เกาะสมุย ก็ถูกรุกรานโดยโรงแรม และรีสอร์ท

     ทุเรียน หวานมัน ไม่ใช่พระแสงแห่งเดียวอีกแล้ว สามารถหาทานได้โดยง่าย ทั่ว ๆไป  มีพันธุ์หมอนทอง เป็นพื้นฐาน ตามความต้องการของตลาด

     แล้วก็ออกแปลก ๆ อยู่ที่ของอย่างเดียวกัน  บางคนบอก “หอม” แต่บางคนบอก “เหม็น” ที่แปลกกว่าคือคนที่บอกไม่ชอบทุเรียน เหม็น แต่ตอนที่เราแงะ เขานั่งจ้อง ไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ พอทุเรียนแบะออก เห็นเนื้อในเท่านั้นแหละ เรายังไม่ทันวางมีดเลย ทุเรียนก็ไปอยู่ในมือเขา 1 เม็ดเรียบร้อยแล้ว ฮึ ๆ ๆ ....

      ข้าพเจ้าก็ซื้อต้นทุเรียนถุงมาปลูกไว้ดูเล่น เล็กน้อย มีทั้ง กบ ชะนี  ก้านยาว  หมอนทอง แบบบูรณาการ ว่างั้นเหอะ ตั้งใจว่าจะได้มีทานในฤดู  ไม่ต้องรบกวนคนอื่นที่เขาทำเป็นธุรกิจ แต่ปรากฏว่าช่วงหลัง เจ้าหมอนทองมีปัญหาตัน และ ผลเน่า ด้วยโรคที่ชาวสวนรู้จักกันว่า เป็น “TOP” ตายไปจำนวนไม่น้อย ข้าพเจ้าจึงคิดลองผิด ลองถูกอีกสักเรื่อง

 

 

 

 

     จากประสบการณ์ ข้าพเจ้าเห็นว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ไม่เคยมีโรคใดเบียดเบียน

      อยู่ยง คงทน ต้นโต และแข็งแรง อย่างที่เห็นนี่ ไม่ต้องวุ่นวาย เรื่องน้ำ เรื่องปุ๋ย

 


 

 



   อยู่จน “สูงลิ่ว ละลานนัย-  นพ้น ประมาณหมาย “ ดังนี้แล

 


 

 

 

 

 

 

 

 

    นี่ผลทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ต้องแหงนคอตั้งบ่า จะได้ทานก็เมื่อเขาสมยอม เต็มใจร่วงลงมาสู่ดินนู่นแน่ะ

 

 


 

 

 

 

 

 

    นี่หมอนทอง  ที่ยังอยู่รอดปลอดภัยจาก “TOP” ไม่ต้องดูภาพเนื้อใน ก็รู้ ๆ กันอยู่ เพราะเป็นทุเรียนตลาดนิยม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    ส่วนนี่ ชะนีขอรับ กระผม อันว่าชะนี ต้องเคาะตัดครับ จึงจะอร่อย

 


 

 

 

 

 

 

 

      หากปล่อยให้ร่วงเองแล้วไซร้ .... ต้องมาเข้ากระบวนการแปรรูปอย่างนี้ ครับ คือกวน ใครอยากทราบว่ากวนแล้วออกมาอย่างไร ก็ไปหาดูในบล็อก ทุเรียนกวน 100 % ของผู้ใหญ่โส นะครับ น่าทานมาก ๆ


 

 

 

 

 

 

     เอาครับต่อจากนี้ มาดูการลองผิด ลองถูกของข้าพเจ้าในการ ซ่อมเสริม ทุเรียนที่มีอันเป็นไปนะครับ

      ขั้นแรก ข้าพเจ้าตั้งสมมติฐาน ตามตรรกะ ว่า เหตุดี ผลก็ต้องดี  ดังนั้น หากบรรพบุรุษดี ระบบรากดี ต้น พุ่ม ผล ก็ต้องออกมาดี ด้วย

 

 

 

    ข้าพเจ้าจึงสร้างรากฐาน ด้วยเมล็ดทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน ขุมละ 4 เม็ด  โดยไม่ขุดหลุม แค่เอาดินกลบพอกันแดด ไม่ให้เมล็ดแห้งเกินไป ก็พอ แตกหน่อให้เห็นแล้วไง

 

 

 

 

 

 

 

 

    พอต้นกล้าโตขนาดนี้ กี่ต้นก็ตาม จับมาให้สามัคคีกัน ด้วยการทาบมัดติดด้วยกัน โตขึ้นเขาจะได้มีรากร่วมกันทำมาหากิน (หลายราก ดีกว่ารากเดียว ..ฮุ ๆๆๆ)

    ควรทำเมื่อต้นขนาดนี้ จากประสบการชุดก่อน ไว้โตมากไป พอคลุมถุงชน เขารังเกียจกัน ตั้งแง่ ตั้งงอน ขนาดขันชะเนาะ ทิ้งไว้ 5 - 6 เดือน พอคลายออก ก็ผลักไส ฟ้องหย่าร้าง ต้องไกล่เกลี่ย อีกหนแน่ะ


 

 

 

    ขนาดนี้กำลังดี เห็นไหมเอ่ย ว่านอนสอนง่าย  นี่รักใคร่กันแล้ว แต่ยังไม่กลมเกลียว ต้องผูกมัดไว้อีกระยะ แล้วเลือกตัดยอดที่ไม่ต้องการทิ้งไป เหลือต้นสมบูรณ์ไว้ต้นเดียว

    รอพอต้นที่เลือกไว้ โตประมาณนิ้วโป้ง (จะมือ หรือเท้า ก็ไม่ผิดกติกา) ก็เข้ากระบวนการเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ที่ต้องการ ด้วยเทคนิคการเข้าสะเอว ข้อควรระวังในขั้นตอนนี้ คือ หากเปลี่ยนเป็นหมอนทอง ต้องเลือกยอดพันธุ์จากต้นที่ไม่เป็นโรค TOP

 

 

 

 

 

 

    ต้นนี้ หมอนทองผ่านกระบวนการเปลี่ยนยอดมาแล้ว 18 เดือน

 

 

 

 

 

 

 

    เปรียบเทียบกับ ต้นที่ปลูกจากทุเรียนถุง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    18 เดือนแล้ว แผลผ่าตัดยังไม่หายสนิท

  ตอกล้าที่ตายแล้ว ยังโผล่ให้เห็น อีกหน่อยจะผุไปเองครับ

 

 

 

 

 

 


    นี่ต้นที่เปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ “กบ” (ไม่ใช่นักร้อง หรือนักแสดงนะครับ ฮึ ๆ ๆ ...) 18 เดือน แล้วเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    ที่หามาไว้ ก็เพราะเนื้ออย่างที่เห็นนี้ไง คุณสมบัติ เนื้อแน่น ละเอียด กว่าหมอนฯ หวานน้อยกว่า แต่มันกว่า

 

 

 

 

 

    ต้นนี้ เปลี่ยนยอดเป็น “พวงมณี” พันธุ์ที่ชาวสวนชอบบริโภค ในสวน มีไว้  5 - 6 ต้น

 

 

 

 

 

 

 

    และเขาเลือกบริโภคผลลักษณะนี้ ครับ เพราะเนื้อจะ หนา  เหนียว และ ผลที่หล่นเอง รสจะดีกว่า ผลที่ตัดบ่ม

 

 

 

 

 

 


    แงะออกมาก็อย่างที่เห็นนี่แหละ

       อ้อ .... ไม่มีขายในท้องตลาด นะขอรับ ชาวสวนเท่านั้น มีสิทธิ์ก่อน

 

 

 

 

 

 

    นี่ก้านยาว มีไว้ ราว ๆ 10 ต้น

 

 

 

 

 

 

    เอาผลก้านยาวที่ชาวสวนเลือกรับประทานมาให้ดู ซึ่งให้ประโยชน์ สองต่อ คือ ผลสวย ๆ ตลาดต้องการ และได้ราคา  ส่วนผลลักษณะนี้ ตลาดไม่ชอบ แต่ชาวสวนชอบ อร่อย เนื้อแน่น และหนากว่า ผลกลม ๆ

 

 

 

 

 

 

    เอ้า ... ปิดท้ายด้วยเศษวัสดุที่เหลือ คือเปลือกที่หลังจากแงะเอาเนื้อบริโภค และแปรรูป ก็ขนไปกองไว้บนท่อซีเมนต์ รอย่อยสลาย เป็นปุ๋ย และเพื่อย่นเวลา ข้าพเจ้าเลยราดด้วยน้ำหมักที่หมักไว้ และเหลืออยู่ไม่น้อย .... ลองผิด  ลองถูก อีกแล้ว ครับท่าน




    วิสัชนามา เห็นว่า พอควรแก่เวลา ที่จะยุติบล็อกนี้ ไว้เพียงแค่นี้ ผิดพลาดประการใด หวังว่าจะได้รับการชี้แนะจากผู้รู้ตามควร เพื่อโอกาสหน้าจะได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

           แล้ว วันหลัง เจอกันใหม่ หวัดดี .... ฮุ ๆ ๆ ๆ .....

ความเห็น

เนื้อเหลืองๆน่ากินยังอยู่ใกล้ๆจะมาขอแบ่งซื้อกินสักหน่อย

    ไม่มีขายสำหรับ สมช. ส่งให้ฟรี ...!

         แต่ต้องปีหน้าโน่น ! ..... ปีปีนี้ .... โหมด เล่ววววว .... !

            ฮุ ๆ ๆ ๆ......

ไม่เคยลิ้มรสทั้งกบและพวงมณี  แค่ชะนีกับหมอนก็หรูแล้ว  เด็กเมื่อก่อน ทุเรียนนี่คือสุดยอด

แต่เด็กเดี๋ยวนี้เห็นทุเรียนนี่ เบะ..ปากใส่  เหม็น...กินไม่เป็น  ก็ดีไปอย่างไม่เปลืองตัง  แต่หัน

ไปกินจั๊งฟู้ด  นี่ซิ  กลุ้ม...

     แต่ลุงพาโลนี่ขยันจัง  ที่ไปรักษาตา ตอนนี้เห็นชัดแจ๋วเลยไหมคะ

 

 


    กบ และ พวงมณี เป็นทุเรียนที่ชาวสวนปลูกไว้ทานเอง รสชาติ สุดยอด ลืมหมอนไปเลย ละครับ

     ตา ลุงลืมไปแล้ว ขี้เกียจไปหาหมอ .... ตั้งใจว่าจะอยู่ไปถึง 80 หรอกครับ .... รสชาติใหม่ของชีวิตน่ะ .... ถือเป็นกำไรชีวิตอีกมุมครับผม

ข้อมูลดีมาก ๆ เลยครับ  แต่ละพันธุ์ที่ลุงเล่ามาผมรู้จัก 2 พันธุ์ ชะนี กับหมอนทอง ยังไงมีเมล็ดพันธุ์อื่น ๆ ก็ขอบริจาคด้วยนะครับ ทุเรียนบ้านผมหายากจริง ๆ ครับ...โหวต ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

 

   ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน ลุงว่ารสชาติเขาจัดจ้านดี โดยเฉพาะคลุกข้าวทาน อย่างอื่นชิดซ้าย

     ส่วนเมล็ด ลุงเพาะลงดินจุดที่ต้องการปลูกเลย ไว้เป็นกล้า โตขึ้นก็เปลี่ยนยอด เอาตามต้องการ เพราะหากเอาต้นที่ขึ้นจากเมล็ดโดยตรงไว้ ก็อาจกลายพันธุ์ (แต่คงไม่ดุร้ายเหมือนในหนัง) ปีนี้ได้เยอะ กว่าร้อย แต่แจกหมดแล้ว ไปถึงพัทลุงโน่น

เป็นสวนที่สมบรูณ์ค่ะ น่าเที่ยว น่ากิน(ทุเรียน) แต่ทุเรียนกวนนี่สิถ้าใช้กะทะทองเหลือง หรือสแตนเลสเนื้อทุเรียนกวนจะสวยเหลืองทำราคาได้อีกค่ะ กะทะใบบัวกวนออกมาแล้วเนื้อจะคล้ำค่ะ ขออภัยที่แนะนำเพราะใช้มาแล้วได้ผลจริงๆค่ะ

    อย่างที่หลานว่า ก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้สีทุเรียนกวนเปลี่ยนไป แต่ต้องอาศัยเทคนิควิธีการด้านไฟ และเวลาช่วยด้วย เมล็ดก็มีส่วน หากใส่รวมลงไปด้วยแล้วค่อยเขี่ยทิ้งตอนล่อนได้ที่ สีจะคล้ำเป็นพิเศษ

    แปรรูปผลไม้ด้วยวิธีกวน "ต้องต้องใจเย็น" นะครับ

      ขอบคุณครับที่ช่วยกันให้ข้อมูล

กวนทุเรียนต้องใจเย็นจริงๆปี่ที่แล้วพอเริ่มกวนตั้งใจจะขายโล 200 พอเริ่มเหนียวจะขาย 300 พอเริ่มแห้ง จะขาย 400 พอเสร็จไม่ขายเลยค่ะแบ่งกันกินเพราะว่าเหนื่อยมาก......ไม่คุ้มค่าแรงแจกกันกินดีหว่าบายใจ

หอมๆ  เวลาสุกห่ามๆ เหม็น ๆเวลาสุกมากไป.... แต่ก็กินทั้ง 2 ค่า:uhuhuh:

ชีวืตที่เพียงพอ..

หน้า