แสงปริศนายามราตรี

หมวดหมู่ของบล็อก: 


แสงปริศนา ยามราตรีอันดึกสงัด (ถ่ายที่พื้นดิน ในสวนที่บ้านปากช่อง)


          กลางดึกของคืนวันศุกร์ที่ 2 ก.ย. 54 ระหว่างที่รอคอยยายสายกลับจากต่างประเทศ ยายสายไม่ได้€เดินทางไปไหนไกล ไม่ได้ข้ามฟ้า ข้ามทะเล เพียงแค่ข้ามลำน้ำโขง (หรือ แม่น้ำของ ตามที่ชาวลาวเรียกขาน) ไปประเทศลาว ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องในการลงพื้นที่ที่จังหวัดอุดรธานี ขณะที่รอไม่มีอะไรทำ ข่าวก็ดูแล้ว สารคดีก็ดูแล้ว ดึกๆอย่างนี้ทำอะไรดีล่ะ ลงไปดูอะไรในสวนดีกว่า (คิดได้ไง) การกระทำตอบสนองความคิดทันที ว่าแล้วก็ลงจากบ้านโดยไม่ลืมคว้าไฟฉายกระบอกจิ๋วติดมือไปด้วย เดินสำรวจไปเรื่อยๆ เปิดไฟฉายบ้าง ปิดบ้างเพราะบางจุดมีแสงสว่างจากไฟทางด้านนอกสาดส่องเข้ามาพอให้เห็นพื้นอยู่บ้าง


         แล้วผมก็มาสะดุดกับแสงวับวาบสีเขียวนวลเหมือนแสงของหิ่งห้อยไม่ผิดเพี้ยน แอ๊ะ...แล้วมันแสงอะไรหว่า ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงย่องเข้าไปหาต้นกำเนิดแสงดังกล่าวทันที เข้าไปจนถึงระยะประชิด



อ๋อ...มาจากเจ้าตัวนี้เอง ด้วยประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเป็นตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่งแน่ๆ จะเรียกว่า หนอน ก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะมีขา 6 ขา ตัวเป็นปล้อง มีหนวด 1 คู่ แต่ถ้าเรียกว่าตัวอ่อน หรือ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า "Larva" ยังไงก็ถูก


       หลายคนคงสงสัยว่าแสงที่ตัวอ่อนของแมลงตัวนี้ปล่อยออกมาจากส่วนไหนของลำตัว คำตอบคือ ส่วนท้าย (ก้น) ของลำตัว ซึ่งมี 2 จุด คำถามที่ตามมา แล้วมันคือ ตัวอ่อนของแมลงชนิดใด คำตอบในใจเบื้องต้น มันน่าจะเป็นตัวอ่อนของหิ่งห้อย ที่มีอยู่ในบริเวณนี้พอสมควร เหตุที่คิดเช่นนั้นเพราะมันมีแสงเหมือนกัน และหลังจากนั้นผมก็ได้สืบค้นในอินเตอร์เน็ต คำตอบที่ได้เป็นอย่างที่คิดแต่แรกจริงๆ เจ้าตัวอ่อนที่เรืองแสงได้นี้คือ ตัวอ่อนหิ่งห้อยจริงๆ คนทั่วไปร้อยละ 99.9999 คงไม่มีใครรู้จักและไม่เคยเห็นตัวอ่อนของหิ่งห้อย หรืออาจจะเคยเห็นแต่ไม่รู้ว่ามันคือตัวอ่อนหิ่งห้อย และคนทั่วไปอีกเช่นกัน รู้เพียงว่าหิ่งห้อยต้องอยู่ใกล้กับน้ำ หิ่งห้อยชอบอยู่ที่ต้นลำพู จึงไม่แปลกเลยที่จะไม่รู้ว่า มีหิ่งห้อยบก อยู่บนโลกใบนี้ ใช่แล้วครับในรูปข้างบนนี้คือตัวอ่อนของหิ่งห้อยบกชนิดหนึ่งของปากช่อง


       เพื่อไม่ให้เกิดอาการสับสน งั้นเราลองมาทำความรู้จักกับหิ่งห้อยกันสักหน่อย จะเป็นไรไป


       หิ่งห้อย หรือ ที่หลายคนรวมทั้งผมด้วย เรียกว่า "ทิ้งถ่วง" เป็นแมลงจำพวกด้วงชนิดหนึ่ง อยู่ในอันดับ (Order) Coleoptera วงศ์ Lampridae (แลมไพริดี้) ทั่วโลกมีประมาณ 2,000 ชนิด ในประเทศไทยพบหิ่งห้อยมากมายหลายชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ


       1. หิ่งห้อยน้ำกร่อย สกุล Pteroptyx


       2. หิ่งห้อยบก สกุล Luciola


       3. หิ่งห้อยน้ำจืด สกุล Luciola


       เห็นไหมครับเป็นหิ่งห้อยน้ำเสีย 2 ใน 3 หิ่งห้อยบกมีเพียง 1 เดียว การแบ่งเป็นหิ่งห้อยน้ำกร่อย นั่นหมายถึงวงจรชีวิตโดยเฉพาะช่วงที่เป็นตัวอ่อน (Larva) จะใช้ชีวิตอยู่ในน้ำกร่อย หิ่งห้อยน้ำจืด ตัวอ่อนก็จะอาศัยในน้ำจืด และหิ่งห้อยบก ตัวอ่อนก็จะอาศัยอยู่บนบกเท่านั้น ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหิ่งห้อยก็คือ บรรดาตัวอ่อนของหิงห้อยน้ำเป็นนักล่าหอยที่สำคัญ โดยเฉพาะหอยที่เป็นสัตว์อาศัยที่เป็นตัวกลาง (intermediate host) ของพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และพยาธิใบไม้ในลำไส้คน และสำหรับตัวอ่อนของหิ่งห้อยบก ก็จะล่าหอยทากเป็นอาหาร การล่าหอยทากนี้ผมเห็นกับตาเลย แต่ถ่ายรูปไม่ได้ นอกจากนี้สารเรืองแสงของหิ่งห้อยที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีของสาร ลูซิเฟอริน (Luciferin) สารชนิดนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง โดยนำมาใช้เป็น marker ในการตัดต่อยีน หรืองานทางด้านพันธุวิศกรรม รวมไปถึงการนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในอนาคต


       เป็นไงครับ หิ่งห้อย แมลงตัวเล็กๆที่ให้ความเพลิดเพลินยามได้พบเห็น แต่ลึกๆแล้วมีประโยชน์มากมายมหาศาล ทั้งต่อระบบนิเวศน์ และชีวิตความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติ เราจึงควรอนุรักษ์แมลงชนิดนี้ไว้คู่กับโลกให้นานที่สุด โดยการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยๆกันนะครับ



นอกจากเจอตัวอ่อนหิ่งห้อยแล้ว ยังเจอพวกนี้ด้วย(ปลวกอะไรไม่รู้) ไม่รู้ออกมาทำอะไรกัน



ปลวกพวกนี้ มีบางตัว ตัวใหญ่ และปลวกพวกนี้เวลาเราเข้าไปใกล้ เขาจะทำเสียงดังๆ เหมือนขู่เราด้วย เสียงที่ดังจากปลวกพวกนี้ ตามที่สังเกตเขาใช้วิธีสั่นหัวกระทบกับใบไม้ ขอบอกว่าทำเสียงได้ดังที่เดียว เสียงที่ได้ยินพอจะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือได้คือ "กราวๆๆๆๆๆ" (จินตนาการเอาหน่อยนะ) 

ความเห็น

เพิ่งเคยเห็นนะเนี่ย  แล้วตัวอ่อนของหิ่งห้อยเขาทานอะไรครับ? กินไม้ใบเหมือนหนอนหรือเปล่าครับ? :confused: :confused: :confused:

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

หิ่งห้อยนี้ในระยะที่เป็นตัวหนอนจะกินหอยเล็กๆ เป็นอาหารค่ะ หิ่งห้อยจึงถูกจัดไว้ในบัญชีของ ตัวห้ำ ที่ช่วยในการควบคุมศัตรูพืชได้ค่ะ จำได้เท่านี้ ถ้าผิดพลาด ต้องขออภัยคุณครูวิชาแมลงด้วยนะก๊าบ :nonono:

สุดมือสอย ก็ปล่อยมันไป^^ ธรรมะ จากท่าน ว.วชิรเมธี

สงสัยสมัยเรียนได้ A กีฏะ แน่ๆ

เขาชอบล่าหอยครับ ทั้งหอยในน้ำ และหอยบนบก(หอนทาก)

โล่งอก.. นึกว่ามนุษย์ต่างดาวมาบุกบ้านลุงโรส

มาก็ดีสิ จะได้ให้พาไปเที่ยวนอกโลกซักหน่อย

ถ้าเห็นเฉพาะส่วนกลาง ลำตัว  เปิดแน่ป  แล้วค่ะ  นึกว่างู :sweating: :sweating:

ฉันจะปลูก ผัก ให้ลูกทาน

ตัวนิดเดียวเอง

หิ่งห้อยนี่เอง...นึกว่าลุงโรสเจอมนุษย์ต่างดาวผุดออกจากดินซะอีก :uhuhuh:  หนูยังไม่เคยเห็นตัวอ่อนของหิ่งห้อยแบบเป็นๆนะคะ เคยเห็นแต่ทางทีวีเป็นแบบนี้เลยค่ะ แต่ความจริงตัวนี้อาจจะเป็นตัวเต็มวัย(adult)ของเพศเมียก็ได้นะคะ มีบางตัวที่ตัวเมียจะไม่มีปีก สงสัยลุงโรสต้องไปพลิกตัวเค้าดูว่ามีที่เรืองแสงปล้องเดียวหรือเปล่าLaughing แถวบ้านนอกหนูเรียกหิ่งห้อยว่า ทิ้งถ่วง ไม่รู้เหมือนกันทำไมถึงชื่อนี้ แต่เค้ามีความเชื่อกันว่าถ้าหิ่งห้อยบินเข้าบ้าน อีกไม่นานจะมีคนที่ไม่ได้พบกันมานานมาเยี่ยม...บ้านหนูเพิ่งจะมีบินเข้ามาเมื่อเร็วๆนี้เอง สงสัย...เจ้าหนี้มาทวงตังค์ :uhuhuh: :uhuhuh: :uhuhuh:

สุดมือสอย ก็ปล่อยมันไป^^ ธรรมะ จากท่าน ว.วชิรเมธี

 บ้านนอกหรือเปล่าไม่รู้ พี่ก็เรียก "ทิ้งถ่วง" เหมือนกัน 555

หน้า