ซีรีย์..ความพอเพียง..เพื่อเพียงพอ # 17 หาบข้าวเข้าลาน

หมวดหมู่ของบล็อก: 

บล็อกนี้ใกล้จะจบขั้นตอนการทำนาปีนี้แล้ว วันนี้ก็เช่นเคยลงแขกกันหาบข้าว คนเยอะงานก็เสร็จไวยิ่งขึ้น แม้จะหนักและเหนื่อย ชาวนาจำเป็นแบบผมก็ต้องทน ปีนี้รู้ซึ้งกับคำว่า "หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน" แล้วว่ามันหนัก มันเหนื่อย แค่ไหนกับการทำนา แต่ก็ดีใจที่ได้ทำครับ


ภาพการหาบด้วยไม้คานหลาว เดี๋ยวนี้หาดูยากมาก ๆ ครับ ปีนี้ได้ใช้เพราะที่นามีน้ำรถลงขนไม่ได้ ย้อนยุคเลยครับ



ไม้คานหลาว เป็นไม้ไผ่ที่เหลาให้มีปลายแหลม ๆ 2 ด้านเพื่อใช้หาบข้าวจากในแปลงนาขึ้นมาไว้ที่ลาน ของแบบนี้เริ่มเลือนหายไปกับกาลเวลาแล้วครับ แต่ที่นายังได้ใช้อยู่


ผมจัดการดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ใช่เทคโนโลยีเข้าช่วยไม่ให้เจ็บบ่า ฮ่า ๆๆๆ รองเท้าแตะรองกันเจ็บบ่าได้อย่างดีเยี่ยมครับ


ลานข้าวสมัยใหม่ ใช้ตาข่ายสีฟ้าแทน เมื่อก่อนลานจะเป็นพื้นดินที่ทาด้วยขี้ควายเพื่อให้เรียบ ๆ  เปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน


คนงานเยอะ 2 คนช่วยกันเสียบมัดข้าวใม้คานหลาว ถ้าคนงานน้อย ๆ จะใช้ไม้ 3 ขาวางคานหลาวแทน เดี๋ยวนี้ไม้ 3 ขาก็เริ่มหาดูยากแล้วครับ


หาบ ๆ ทั้งไม้คานได้ประมาณ 20 มัดสำหรับผมสบาย ๆ เพราะมีตัวช่วยรองบ่า เวลาหาบข้าวมีข้อแม้ห้ามวางโดยเด็ดขาด ไม่งั้นข้าวจะร่วงออกจากรวง ฉนั้นคนที่หาบต้องคำนึงถึงกำลังและระยะทางที่จะหาบไปถึงลานด้วยไม่งั้นไหล่ทรุดกว่าจะถึง ฮ่า ๆๆๆ


อีกแบบ แบบนี้เรียกว่าแบกครับ วางมัดข้าวแล้วแบกใส่บ่าครับ ถนัดใครถนัดมัน


หลาน ๆ ก็มาช่วยเอาตามกำลัง ข้างละ 4-5 มัดก็หนักแล้วครับ


สุดท้ายหาบข้าวเหนียวดำพี่หยอย ไปไว้ที่เถียงนา (กระท่อม) เพื่อตีครับ สรุปได้ทั้งหมด 12 มัด


ไม่นานข้าวทั้งหมดก็ขึ้นมาอยู่บนลาน ปีนี้ได้ไม่มากครับข้าวล้มไม่ได้เต็มที่ งามเกินเหตุ




รวงข้าวสีทอง ปลอดสารพิษจากนาข้าวที่ทำมากับมือ สะท้อนแสงแดดยามเย็น


มือน้อย ๆ ของลูกสาวยื่นมือมาถามว่า เขาเรียกว่าข้าวอะไร พ่อตอบว่า "ข้าวเปลือกลูก"แล้วลองแกะดูซิลูก


ไม่นานลูกสาวตัวน้อยก็จดจ้องกับเมล็ดข้าวเปลือกแล้วบรรจงแกะ เมล็ดข้าวเปลือกอย่างตั้งใจ


แล้วมือน้อย ๆ ข้างเดิมก็ยื่นมาตามว่า "แบบนี้ใช่ไหมพ่อที่เขาเรียกข้าวสารนะพ่อ" พ่อตอบ "ใช้แล้วลูก"
แล้วคำตอบก็ปรากฎขึ้นในเด็กตัวเล็ก ๆ"แบบนี้ใช่ไหมพ่อที่เขาเอาไปหุงแล้วมาเป็นข้าวสวยในจานเมล็ดสี
ขาว" ๆ "ใช่แล้วลูก" พ่อตอบ

                    ปีนี้การทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน ก็เป็นจุดประสงค์หลัก แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ผมตั้งใจที่สุดก็คือการทำนาให้ลูกสาวได้เห็นถึงข้นตอนการทำ เห็นถึงความยากลำบากที่กว่าจะมาเป็นเมล็ดข้าวสีขาว ๆ สิ่งนี้เป็นผลพลอยได้ ที่แอบซึมซับความลำบากของอาชีพชาวนา ซึ่งเป็นบทเรียนที่ผมได้สอนลูกสาวตัวน้อย  ของผมผ่านการปฏิบัติจริง ถ้าทุกคนสังเกตุ การทำนาแทบทุกบล็อกที่ผมนำเสนอไปนั้น ลูกสาวก็จะได้เห็น ได้ลงมือทำไปด้วย แม้จะไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย (อาจจะยุ่งเสียมากกว่า) แต่ผมว่าสิ่งนี้ต่างหากคือความคุ้มค่าของการทำนาในปีนี้ของผม

                   การจะสอนเด็กด้วยวิธีการบอกเล่า ไม่เห็นภาพ ให้เด็ก ๆ จินตนาการ เอาเอง ยังไงก็ไม่เท่ากับการปฏิบัติจริง โรงเรียนชีวิตแบบความพอเพียงห้องใหญ่แห่งนี้ที่มี พ่อ-แม่ เป็นครู เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็น ผมเองก็แอบคาดหวังไว้ว่าอย่างน้อย ๆ สิ่งเหล่านี้จะซึมซับเข้าไปในตัวลูกสาวของผมบ้างไม่มากก็น้อย แต่สิ่งที่เป็นผลตอบแทนได้จริง ๆ ซึ่งจับต้องได้ครอบครัวเราก็มีผลผลิตที่มาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน กินข้าวแต่ละคำก็มาจากความภูมิใจ ในสิ่งที่ได้ลงมือทำทั้งครอบครัว แม้ผลผลิตที่ได้มาจะไม่มากมายอะไร แต่ก็เพียงพอที่ไว้กินได้ตลอดทั้งปี นี้แหละครับความสุขเล็ก ๆ ของผมกับคำว่า "ชาวนา"

จะพอเพียง....เพื่อเพียงพอ...ให้ได้ในสักวัน

โปรดติดตามตอนต่อไป...wisit_photo@hotmail.com

ความเห็น

น้องศิษฐ์ ทำนาอินทรีย์ได้ข้าวกินแล้ว
น้องโฟกัสได้เรียนรู้สิ่งดีๆ จากประสบการณ์ตรงเลยนะคะ

เข้ามาชื่นชมความขยัน ความอดทน ความตั้งใจ ค่ะ


หลังจากนี้ อีกหลายเดือน ก็ว่างน่ะสิคะ พี่ศิษฐ์จะทำอะไรต่อ รอติดตามอยู่เด้อ ...

อะไรที่ไหน อันความงาม มีอยู่ตาม หมู่ซากผี อันความดี อยู่ที่ละ สละยิ่ง ความเป็นพระ อยู่ที่เพียร บวชเรียนจริง นิพพานดิ่ง อยู่ที่ตาย ก่อนตายเอย ฯ

หลานชาย  เหนื่อยยากตรากตรำแต่สิ่งที่ได้ล้ำค่า  ข้าวทุกคำกลืนลงคอด้วยความภูมิใจ

ให้ลูกได้เรียนรู้จากการกระทำ  สอนได้ลึกซึ้งทุกขั้นตอน  ยอดเยี่ยม

ขอบคุณครับย่าตอน ไม่มีวิธีการสอนใดดีเท่าเราเป็นพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง  แล้วให้เด็กเขาทอลองทำดูบ้างแม้ว่าจะไม่ได้ช่วยอะไรแต่ถ้าไม่ลงมือทำ เขาก็ขาดการเรียนรู้นะครับ ผมก็ลุย ๆ มาหลาย ๆ งานตั้งแต่เด็กยิ่งทำยิ่งรู้นะครับย่าตอน

 

 

  :love:     น้องศิษฐ์เว้าอีกกะถูกอีก...แหม่นความเว้าทุกอย่าง...เอื้อยกะให้ลูกเฮ็ดเวียกนำ เฮ็ดได่น่อยได่หลายก็ซ่าง เฮ็ดได้แหน่เสียแหน่กะบ่เป็นหยัง ให้เขารู้จักเฮ็ด สิได้รู้จักว่าพ่อแม่ลำบาก กว่าสิได้เงินมาเลี้ยงให้ใหญ่ หาเงินมาส่งเสียเรียนหนังสือ ลูกเอื้อยก็เลยรู้จักคุณค่าเงิน บ่ไซ่เงินพ่อแม่ ไซ่แต่เงินป้า :uhuhuh:

อีหลีบ่เอื้อย สอนได้ดีจริง ๆ ฮ่าๆๆๆๆ:uhuhuh::uhuhuh:

 

"เปิบข้าวทุกคราวคำ       จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน               จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส                ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน        และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง         ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากรวงเป็นเม็ดพราว      ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด       ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น           จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง          และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูท้งสิ้น          ที่สูชดกำชาบฟัน"


จิตร  ภูมิศักดิ์

:embarrassed: :embarrassed:

คำศัพท์
กำซาบ       ซึมเข้าไป
เขียวคาว    สีเขียวของข้าว  ซึ่งน่าจะหอมสดชื่นกลับมีกลิ่นเหม็นคาว  เพราะข้าวนี้เกิดจากหยาดเหงื่อ  ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความชมชื่นของชาวนา
เปิบ            หรือ  เปิบข้าว  หมายถึง  วิธีการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง
สู             สรรพนามบุรุษที่ 2  เป็นคำโบราณ
อาจิณ        ประจำ

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

  บอกได้คำเดียวว่า...:good-job::good-job::good-job:โหวตให้เลยจ้า

:cheer3:น้ำพักน้ำแรงของแท้เลยค่ะ....เยี่ยม..

โหวต ๆ ๆ ให้กับความขยันและวิธีการสอนลูกของเพื่อนเรา สมัยเรียนเราก็ไปรับจ้างเขาเกี่ยวข้าวแบบนี้แหละ เขาให้หาบด้วย คิดดูสิเราตัวสูงแค่ 145 เซนติเมตร น้ำหนัก 45 กก. หาบคันหลาว ข้าวก็แช่น้ำด้วย หนักสุด ๆ แต่ก็ต้องทำเพราะต้องช่วยพ่อแม่หาเงินมาช่วยครอบครัว หาบจนตอนเย็นเป็นไข้เลยแหละ ตอนนั้นนาของเราทำได้ปีละครั้ง ยังไม่มีคลองชลประทานเหมือนตอนนี้ เสร็จจากนาตัวเองก็ต้องไปรับจ้างเขา 

แบ่งปัน สร้างสรรค์ พอเพียง

 

หน้า