วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ด้วยประสบการณ์เดียวกัน!
ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ด้วยประสบการณ์เดียวกัน!
เช้าวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่อากาศดีมาก ผมตื่นแต่เช้าเหมือนเช่นเคย หลังจากนั้นก็จัดแจงทำธุระส่วนตัว หลังจากทำธุระส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว ก็มานั่งจิบกาแฟหอมๆ ที่บริเวณหน้าบ้าน ก่อนที่จะลงไปเรียกเหงื่อในสวนหลังบ้าน กาแฟหนึ่งแก้ว ขนมหนึ่งชิ้นเป็นการรองท้องก่อนที่จะออกไปลุยสวนตอนเช้า เช้าวันนั้นหลังจากที่ผมลงไปตะลุยสวน จนได้เหงื่อเป็นที่พอใจแล้ว ก็กลับมานั่งพักที่หน้าบ้าน เมื่อกลับมาถึงผมก็พบกับบรรดาเพื่อนๆ ของแม่ที่มักจะมานั่งคุยกันถึงเรื่องจิปาฐะ ตามประสา ชมรมผู้มีอายุ
เมื่อผมมาถึงบริเวณที่แม่และเพื่อนๆ ของแม่กำลังนั่งสนทนากันอยู่นั้น ก็มีเพื่อนของแม่คนหนึ่งถามขึ้นว่า “ปูขยันจริงๆ! มาบ้านนี้กี่ครั้ง ก็เห็นปูทำสวนทุกทีเลย... แล้วไม่คิดจะกลับไปทำงานที่กรุงเทพแล้วเหรอ?” ผมยิ้มนิดๆ เมื่อได้ยินคำชม! แต่ทว่าผมยังไม่ทันได้หุบยิ้มหรือแม้แต่ตอบคำถาม! น้าคนเดิมก็ถามคำถามที่สองอีก คราวนี้ผมถึงกับต้องอึ้ง! น้าถามผมว่า “แล้วไม่เสียดายความรู้....ไม่เสียดายประสบการณ์ที่มีหรอกเหรอ? อุตสาไปร่ำเรียนมาตั้งหลายปี!” คำถามนี้ทำเอาผมยิ้มไม่ออก!! เพราะมัน ”จริง!” อย่างที่เขาพูด
“จริง!” ในที่นี้ ไม่ใช่ ผมเสียดายความรู้หรือเสียดายประสบการณ์ที่สั่งสมมาตอนที่ยังทำงานให้กับบริษัทนะครับ! แต่ “จริง!” ในความหมายของผม คือ ผมรู้สึกว่าคนรอบข้างเขารู้สึกเสียดายความรู้เสียดายประสบการณ์ที่เรามีมากกว่า เพราะก่อนหน้าที่ผมจะกลับมาทำเกษตร คนในละแวกบ้านเกือบทุกคนต่างก็รู้ว่า ผมเรียนจบปริญญาแถมยังทำงานเป็นวิศวกรอีก ถือได้ว่า เป็นความภาคภูมิใจของญาติๆ เลยก็ว่าได้ แต่มาถึงตอนนี้ผมกลับรู้สึกว่า ความภาคภูมิใจที่เคยมี มันลดหายไปหมดแล้ว ด้วยภาพลักษณ์ของผมที่เปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยก่อนหน้านี้เวลาที่ผมกลับมาบ้านช่วงเทศการ ทุกคนมักจะชินตากับภาพลักษณ์ที่ผมแต่งตัวดูดี ผิวพรรณดีดูสะอาดสะอ้าน แต่ในตอนนี้มันกลับกัน!! แทบทุกวันภาพชินตาที่ทุกคนเห็น คือ ผมอยู่ในชุดทำสวนเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ สวมรองเท้าบูช หน้าตาเนื้อตัวมอมแมม (ผมหมายถึงเวลาทำงานนะครับ!) มีอยู่หลายครั้งที่ถูกแซวว่า เดี๋ยวนี้แยกไม่ค่อยออกแล้วว่าผมเป็นคนไทยหรือพม่ากันแน่!! หลายๆ ครั้งที่ผมนั่งคิดและถามตัวเองว่า....”คนที่มีความรู้!…จะทำสวนไม่ได้หรอกเหรอ?” ก็เพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า “คนมีความรู้ต้องทำงานดีๆ มีหน้ามีตา พ่อแม่พี่น้องจะได้ภูมิใจ!” จึงปลูกฝังให้ลูกหลานที่มีความรู้ออกไปหางานทำในเมืองกันหมด! จะเหลือก็แต่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ทำไร่ทำสวนกับบ้าน
แต่ก็ใช่ว่าผมจะไม่ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ออกไปหางานทำในเมืองหลวงนะครับ! ผมเพียงอยากจะบอกว่า “สำหรับใครที่กำลังมองว่าคนที่มีความรู้ คือคนที่มีการศึกษาดี ได้ทำงานดีๆ แต่งตัวดีๆ มีฐานะดีนั้น! มันไม่เสมอไปหรอกนะครับ!” คนมีความรู้ควรจะปรับตัวเข้าได้กับทุกงานที่ต้องทำ! ทุกงานที่ต้องรับผิดชอบ! เพื่อให้งานนั้นๆ สัมฤทธิ์ผล! นี่ต่างหากถึงจะเรียกได้ว่า “เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่แท้จริง!!” ซึ่งตัวผมเองก็ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอกนะครับ เพราะด้วยสถานการณ์และงานที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้ก็ถือได้ว่า “กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบ และมันเป็นข้อสอบภาคปฏิบัติที่ยากพอสมควร!” และเมื่อผมผ่านบทเรียนนี้ไปได้เมื่อไหร่ ผมจะบอกกับตัวเองว่า “ผมก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ก็เพียงรู้ในสิ่งที่ทำ รู้ในสิ่งที่ได้ลงมือปฏิบัติลงไปแล้ว” เพียงเท่านั้น!!! แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่รอให้เราเข้าไปเรียนรู้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด!!
ผมคิดเสมอว่าที่คนรอบข้างเขาเสียดายความรู้เสียดายประสบการณ์ของเรานั้นก็เพราะ เขายึดติดที่ภาพลักษณ์ของเรา ไม่ได้ยึดติดกับงานหรือกิจกรรมที่เราทำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลกอะไรมากนัก! เราทำอะไร เราเป็นอะไร เราทำตัวอย่างไร คนรอบข้างเขาก็เห็นอย่างนั้น! เขาเห็นอย่างไร เขาก็รู้สึกกับเราอย่างนั้น! เขารู้สึกกับเราอย่างไร เขาก็พูดออกมาอย่างนั้น! แต่ทว่า เราคิดอย่างไร่กับสิ่งที่เราทำ กับสิ่งที่เราเป็นอยู่นี่สิ!! ไม่มีใครรู้ดีกว่าตัวของเราเอง! เช่นที่หลายๆ ครั้งที่ผมก็มักจะไม่เข้าใจว่า ทำไม? คนรอบข้างเราบางคนถึงทำแบบนั้น! ทำไม? เขาถึงทำแบบนี้! เพราะฉะนั้นผมจึงเชื่อเสมอว่า สักวันหนึ่งคนรอบข้างผม จะเขาใจในสิ่งที่ผมทำ แต่นั้นก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร ให้เวลาเป็นตัวอธิบายการกระทำ เวลาและการกระทำของเราจะบอกคนรอบข้างของเราได้เอง ว่าทำไมเราถึงมาเป็นชาวสวน เชื่อเถิดครับว่า คำอธิบายเป็นพันๆ คำในตอนนี้ ก็ไม่ดีเท่ากับการลงมือทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างแน่นอน ถึงตอนนั้นแล้วค่อยอธิบายโดยใช้ตัวอย่างต่างๆ ที่เราได้ลงมือทำไปแล้ว และให้ผลสัมฤทธิ์แล้ว ผมว่าถึงตอนนั้นคงไม่ต้องใช้ถ้อยคำเป็นพันๆ คำแน่นอนครับ!!
คนทำงานส่วนใหญ่ต่างมุ่งหวังให้ตัวเองประสบความสำเร็จกับงานที่ทำด้วยกันทั้งนั้น หรือที่เรียกว่า มีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ความสำเร็จกับสิ่งที่ทำ” แต่ทว่า ขั้นตอนที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จนั้น มันต่างกัน บางคนเลือกที่จะทำสิ่งที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เขาก็ไม่ต้องลงมือลงแรงมาก และไม่ต้องเสี่ยงที่จะพบกับความผิดหวัง บางคนก็ไม่ได้ลงมือทำสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเอง เพียงแต่ออกความคิดและเงินทุน ในขณะที่ยังมีอีกหลายคนที่ต้องลงมือลงแรง ทั้งแรงกาย แรงสมอง เพื่อหวังให้งานที่ทำนั้นประสบความสำเร็จ! ซึ่งผมเองคงอยู่ในคนกลุ่มนี้ ด้วยเหตุผลที่ไม่มีเงินทุนจะว่าจ้างใคร และด้วยอีกเหตุผลหนึ่ง คือ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้สามารถสร้างความมั่นคงให้กับผมได้ในอนาคต แต่กระนั้น! ถึงจะไม่มีเงินทุน ผมก็มีอีก “ทุน” ที่เป็นข้อได้เปรียบ นั่นก็คือ “ทุนความรู้และทุนประสบการณ์” ซึ่งผมเชื่อว่าทั้งสองทุนที่กล่าวมานี้ มีอยู่ในตัวเราทุกคน อาจจะมากบ้าง น้อยบ้าง แตกต่างกันออกไป ตามวิถีชีวิตของแต่ละบุคคล แต่ทว่า! ใครเล่าที่จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาปรับใช้ให้เหมาะกับงานที่ทำหรือกับสถานการณ์หรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่...นี้ต่างหาก! เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า คนที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าย่อมมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า คนที่ไม่มีความรู้ไม่มีประสบการณ์ เมื่อพูดถึงความรู้นั้น เราทุกคนสามารถศึกษาเพิ่มเติมกันได้ อยู่ที่ว่าคนคนนั้นจะมีความใฝ่รู้มากแค่ไหน ซึ่งจะต่างจากประสบการณ์ เพราะประสบการณ์ต้องอาศัยการลงมือทำจริง ปฏิบัติจริง แก้ไขปัญหาจริง อยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์นั้นจริงๆ จึงจะเกิดการสะสมประสบการณ์ หรือที่เรียกว่า “ความเก๋า!” ใครมีความเก๋า (เก๋าประสบการณ์) มากย่อมมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย เช่นหัวหน้างานหลายๆ คนที่ผมรู้จัก เขาสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดกับสายการผลิตได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีประสบการณ์ในงานที่ทำมาเป็นเวลานาน แต่สวนใหญ่ก็จะเป็นประสบการเพียงด้านเดียว นั้นเพราะเขาเหล่านั้นทำงานเพียงหน้าเดียว ซึ่งจะต่างจากคนที่รับผิดชอบงานหลายอย่าง เพราะเขาเหล่านั้นจะมีโอกาสสั่งสมประสบการณ์ที่หลากหลายมากกว่าคนที่ทำงานเพียงหน้าเดียว! จนอาจกล่าวได้ว่า! บุคคลใดปฏิบัติงานหลากหลายหน้าที่ ย่อมมีประสบการณ์ที่หลากหลายกว่าบุคคลที่ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นหากใครที่ต้องการสั่งสมประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ควรที่จะลองทำสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ดูบ้างนะครับ! ชีวิตจะได้มีสีสันต์!
ทุกวันนี้ผมเฝ้าบอกตัวเองเสมอๆ ว่าตอนนี้เรากำลังทำงาน และงานนี้เป็น Project (โครงการ) ที่ใหญ่มาก อีกทั้งมีความยากและท้าทายมาก ซึ่งเป็นอีกบททดสอบที่เราต้องผ่านไปให้ได้ ในขณะที่ช่วง 5 ปี ก่อนหน้านี้ เราทำ Project ต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรมมามากมาย ทำเพื่อปรับปรุงพัฒนาสายการผลิตบ้าง คลังสินค้าบ้าง หรือแม้แต่การปรับปรุงระบบการผลิตทั้งระบบ เราก็ผ่านมาแล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานเพื่อบริษัท แต่ในครั้งนี้! เราจะได้มีโอกาสทำ Project เพื่อตัวเราเองบ้าง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องนำความรู้ที่ล่ำเรียนมา ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดช่วงระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ผ่านมา นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด! ถึงแม้ว่าการทำ Project ในครั้งนี้อาจจะมีความแตกต่างจากการทำ Project อื่นๆ ก่อนหน้านี้ค่อนข้างมากก็ตาม แต่สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่ปัญหา เพราะผมมองว่างานที่ทำในครั้งนี้ “ต่างกันแค่เพียงรายละเอียดวิธีการ! ยังคงใช้ประสบการณ์ที่มีอยู่ในการทำงานมาปรับใช้ด้วยกันได้! แต่ทั้งนี้เราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานที่จะทำกันเสียก่อน โดยให้ “มองที่ความสำเร็จของงานเป็นเรื่องสำคัญ อันดับหนึ่ง!! ส่วนเรื่องของขั้นตอนวิธีการนั้น ไม่ต้องไปยึดติดกับวิธีการเดิมๆ แนวคิดแบบเดิมๆ มากนัก!!”
การมองด้วยแนวคิดนี้ ทำให้เราเปิดโอกาสให้กับตัวเอง ให้ตัวเองได้ลองผิดลองถูก เปิดโอกาสให้ตัวเองยอมรับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน เปิดโอกาสให้เราได้แก้ไขปัญหาต่างๆ เพราะ ยิ่งเราผิดพลาดหรือเจอปัญหามากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นเรื่องดี! เพราะนั่นแสดงว่าเราได้ลงมือทำงานแล้ว! ยิ่งเราเจอปัญหามาก ยิ่งแสดงว่าเราทำงานมาก และงานนั้นใกล้จะประสบความสำเร็จแล้ว! ซึ่งคงมีแต่คนที่ไม่ทำอะไรเลยเท่านั้น ที่ไม่เจอกับปัญหา!!
โดยมากแล้วปัญหาหลักของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น มักจะมีสาเหตุมาจากการที่เราไปมุ่งสนใจที่ขั้นตอนการทำงาน มากกว่าที่จะให้ความสำคัญกับ ผลของการปฏิบัติงาน มากจนเกินไป ดังจะขอยกตัวอย่างต่อไปนี้
ณ โรงงานแห่งหนึ่ง ผู้บริหารต้องการให้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อต้องการเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมรองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตและการสำรวจสภาพปัจจุบันของโรงงาน วิศวกรจึงเสนอให้มีการปรับปรุงโดยการปรับสายการผลิตใหม่ เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิต เพื่อให้การทำงานของพนักงานมีความสะดวก สามารถทำงานได้ง่ายและทำงานได้เร็วมากขึ้น ยังผลให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น! แต่เมื่อครั้งเสนอเรื่องไปแล้วมักจะมีการโต้แย้งจากผู้บริหารที่สนใจขั้นตอนวิธีการมากกว่าผลของงาน ด้วยคำพูดง่ายๆ เช่น “ทำแบบนั้นไม่ได้นะ! ถ้าทำแบบนั้นแล้วเดี๋ยวต้องเดินระบบไฟ! ระบบท่อลมใหม่! หรือ ไม่ได้นะ! ถ้าทำแบบนั้นต้องใช้พื้นที่เพิ่ม ตอนนี้ก็ไม่มีที่ว่างเหลือแล้ว!” สุดยอดครับ!! เป้าหมายคือ เพิ่มผลผลิต! แต่กลับไปสนใจที่ขั้นตอนวิธีการมากจนเกินไป ทำให้การทำงานยากและสูญเสียเวลามากขึ้น งานก็ไม่เสร็จ พนักงานก็ทำงานไม่สะดวก ลูกค้าก็ไม่พอใจเพราะส่งของไม่ทันตามกำหนด!
ต่างกับอีกโรงงานหนึ่งในสถานการณ์เดียวกัน คือ ต้องการเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด จากการวิเคราะห์ข้อมูลการผลิตและการสำรวจสภาพปัจจุบันของโรงงาน วิศวกรจึงเสนอให้มีการปรับปรุงโดยการปรับสายการผลิตใหม่ เพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิต เพื่อให้การทำงานของพนักงานมีความสะดวก สามารถทำงานได้ง่ายและทำงานได้เร็วมากขึ้น ยังผลให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น! และเมื่อครั้งเสนอเรื่องไปแล้ว ผู้บริหาร (ผู้มีวิสัยทัศ) เล็งเห็นแล้วว่า วิธีการดังกล่าวมีความเหมาะสม ก็สั่งให้ทุกฝ่ายประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินการ แล้วสั่งให้เตรียมการต่างๆ ให้พร้อม แล้วบอกให้รีบไปทำแผนงานมานำเสนอเราจะได้เร่งดำเนินงาน แบบนี้สิ! ถึงจะเรียกว่าสุดยอดกว่า! งานก็เดินไปได้ด้วยดี ผลของการปฏิบัติงานก็ได้ตามเป้าหมาย ทันกับช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการสินค้า ทำให้ได้รับคำชมจากลูกค้า พนักงานก็ทำงานได้สะดวกขึ้น จากผลที่ได้รับ ผู้บริหารเลยสั่งให้มีการขยายผลไปยังสายการผลิตอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ส่งผลให้บริษัทเติมโตอย่างรวดเร็ว!!
ไม่เว้นแม้แต่ในภาคการเกษตรก็มักจะเจอสถานการณ์ที่คล้ายๆ กัน เช่น มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมคิดจะหารายได้เสริมให้กับตัวเอง ด้วยการปลูกพืชอะไรก็ได้ในบริเวณพื้นที่ว่างรอบๆ บริเวณบ้าน และต้องเป็นพืชที่คนทั่วไปเขาไม่นิยมปลูก สิ่งสำคัญ ต้องขายได้ มีตลาดลองรับ! หลังจากศึกษาข้อมูลอยู่พักใหญ่ จึงตัดสินใจที่จะปลูกต้นส้มป่อย (ปลูกไว้ตัดยอดขาย) บริเวณพื้นที่ว่างรอบๆ บ้าน เพื่อเป็นรายได้เสริมสัก 100 ต้น (จากการคำนวณ) พอเริ่มเสนอแนวความคิดนี้ให้กับคนรอบข้างเพื่อขอคำปรึกษาถึงโอกาสและความเป็นไปได้ ก็มีเสียงตอบรับมาต่างๆ นาๆ เช่น “ขายไม่ได้หรอก! ใครจะมาซื้อกินได้หนักหนา!” , “ไม่รู้จะปลูกตรงไหนแล้ว ไม่มีที่ว่างเหลือแล้ว!” , “จะไปเอาพันธุ์มาจากไหน ของเรามีแค่สองต้นไม่พอปลูกหรอก!” , “อย่าปลูกเลย! เดี๋ยวมันก็เลื้อยเต็มบ้านหรอก!” , “อย่าปลูกเลย! เก็บยาก กิ่งมีแต่หนามทั้งนั้น!” , “อย่าปลูกเลย! บ้านเราดินไม่ดีปลูกอะไรก็ไม่ได้ผลหรอก!” สุดท้ายตอนนี้พอต้นส้มป่อยที่ผมปลูกเริ่มให้ผลผลิตกลับกลายเป็นว่า มีคนแถวบ้านเริ่มทยอยปลูกตามอย่างเพียบเลย! เพราะเห็นว่ามันสามารถเสริมรายได้ให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดี!
เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งใดที่คุณจะทำ หากคุณคิดว่าคุณได้ศึกษาข้อมูลมาพอสมควรกับการตัดสินใจแล้ว ผมก็ขอแนะนำให้คุณเร่งลงมือทำเลยครับ! ส่วนคำแนะนำหรือคำทักท้วงจากคนรอบข้าง เราก็เอามาเป็นแนวทางในช่วงที่ลงมือปฏิบัติ ถ้าคนทักท้วงมากเราก็เริ่มจากทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเห็นว่ามันไปได้สวยเป็นไปอย่างที่คิด ค่อยขยายเพิ่มที่ละนิดตามกำลังที่เราพอจะทำไหว จุดไหนที่เราเห็นว่าดีก็เอามาปรับใช้ ถ้าทำได้แบบนี้ รับรองเลยครับว่า ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร ก็จะสำเร็จได้ไม่จาก!
บ่อยครั้งทั้งเมื่อก่อนจนถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อมีการพูดคุยกันถึงเรื่องสิ่งแปลกใหม่ที่จะลงมือทำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาหรือลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ มักจะมีข้ออ้างสองสามข้อ ที่ได้ยินอยู่เสมอๆ คือ
ทำไม่ได้หรอก!!..... นี่เป็นเรื่องที่ใหม่มาก!!
ทำไม่ได้หรอก!!..... มีงบให้แค่นี้จะไปพอได้ยังไง?!!
ทำไม่ได้หรอก!!..... ไม่มีกำลังคนทีมงานก็ไม่มี?!!
ทำไม่ได้หรอก!!..... ไม่มีเวลา แค่นี้ก็ทำไม่ทันอยู่แล้ว?!!
ทำไม่ได้หรอก!!..... ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้!!
ไม่ต้องทำหรอก!!.... ของเดิม (วิธีการเดิม) ก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องปรับปรุงเพิ่ม!!
ยังไม่ทันลงมือทำ! ก็ทำไม่ได้เสียแล้ว! แบบนี้เขาเรียกว่า “แค่คิดก็ล้มเหลวแล้ว! ถ้าลงมือทำคงยากที่จะประสบความสำเร็จ!” และเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนา จงจำไว้เสมอว่า………!!!
ยิ่งการปรับปรุงที่จะทำมีความต่างจากงานก่อนหน้ามากเท่าไหร่! ยิ่งมีความท้าทายมากเท่านั้น!
ยิ่งทุนสนับสนุนน้อยเท่าไหร่! ยิ่งต้องใช้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด!
ยิ่งคนช่วยน้อยเท่าไหร่! ยิ่งต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อทำงานด้วยตัวเองให้มากที่สุด!
ยิ่งเวลาน้อยเท่าไหร่! ยิ่งต้องเร่งมือทำให้เร็วที่สุด!
ยิ่งความรู้ในงานน้อยเท่าไหร่! ยิ่งต้องศึกษาหาความรู้ให้มากเท่านั้น!
และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่มีอะไรดีที่สุด!! พยายามตั้งใจปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง!
ยังไม่ทันลงมือทำ! ก็มองเห็นถึงความมุ่งมั่น! แบบนี้เขาเรียกว่า “แค่คิดก็สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว! ถ้าลงมือทำคงสำเร็จได้ไม่ยาก!”
ฉะนั้น! จงจำไว้ว่า “ผลของงาน สำคัญกว่า ขั้นตอนการทำงาน” ขอเพียงแค่ เมื่อมีความผิดพลาดหรือปัญหาเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติงาน จงรีบปรับปรุงแก้ไขและเรียนรู้จากปัญหาและความผิดพลาดนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่สอง ไม่ใช่มานั่งเสียเวลาคิดหาคำแก้ตัว หรือหาตัวคนผิด! แก้ปัญหาด้วยปัญญา แก้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวปัญหาต่างๆ มันต้องหมดหรือลดลง แล้วเราจะพบกับความสำเร็จในงานที่เราทำ!!!!!!
และมาถึงตอนนี้ (05 ตุลาคม 2554) ผมก็ยังยึดถือแนวคิดแนวปฏิบัติครั้งเมื่อทำงานให้กับบริษัท มาปรับใช้กับการดำเนิน Project ตัวนี้อยู่ตลอด เพื่อหวังว่างานต่างๆ ที่ตั้งเป้าไว้แต่ต้นจะแล้วเสร็จ และ แปลงเกษตรผสมผสานที่ลงมือลงแรงจะเริ่มให้ผลผลิตดังที่ตั้งใจ! ถึงแม้ว่า จะต้องเจอกับปัญหาและอุปสรรคทั้งที่แก้ได้บ้างและแก้ไม่ได้บ้าง แต่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป เพราะประสบการณ์สอนให้ผมรู้ว่า “ไม่มีงานอะไรยากเกินความพยายาม ขอเพียงมีความตั้งใจ ไม่นานงานนั้นต้องสำเร็จ!”
- บล็อกของ R-Boo
- อ่าน 6061 ครั้ง
ความเห็น
sothorn
31 มกราคม, 2012 - 20:41
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
ลืมรหัสผ่านหรือเปล่าครับ
ถ้ายังต้องการ User เดิม จัดการให้ได้ครับ
RBOO Rev.01
31 มกราคม, 2012 - 20:53
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
สงสัยงานนี้คงต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยแล้วครับ!
RBOO Rev.01
2 กุมภาพันธ์, 2012 - 17:41
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
ขอบคุณผู้ใหญ่มากครับที่ทำให้ผมได้ใช้ User เดิม
R-Boo
sunavee21
31 มกราคม, 2012 - 20:52
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
เหมือนผมเลยครับ อยากเลี้ยงเป็ดไว้กินไข่ แค่เสนอความคิดก็เจอเบรค เดี๋ยวคนมาขโมยบ้าง ซื้อเขากินดีกว่าบ้าง แต่ไอ้เรามันคนรั้น ตอนนี้กำลังวางแผนทำแบบเงียบ ๆ :uhuhuh:
สวนจินตนาการ
นำจินตนาการ มาผสานให้เป็นจริง
RBOO Rev.01
2 กุมภาพันธ์, 2012 - 17:44
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
ตอนนี้ผมรับฟังทุกคำคัดค้าน
แต่ทว่า..... ผมยังคงทำทุกอย่างตามที่วางแผนไว้แต่ต้น!
หากเรื่องที่ทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของงานที่ทำครับ
teerapan
31 มกราคม, 2012 - 21:08
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
:good-job: อ่านสนุกดี มั่นใจก็ทำไปเลย
“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison
RBOO Rev.01
2 กุมภาพันธ์, 2012 - 17:45
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
ขอบคุณครับผม!
สมศักดิ์ชาประเสริฐ
31 มกราคม, 2012 - 21:17
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
ถ้าประยุกต์ใช้ร่วมกัน ประสบผลสำเร็จแน่นอนและเป็นตัวอย่างที่ดี
RBOO Rev.01
2 กุมภาพันธ์, 2012 - 17:46
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
ผมก็หวังไว้เช่นนั้นครับ!
worawit6311
31 มกราคม, 2012 - 21:50
Permalink
Re: วิศวกรรม หรือ วิศวกรรมเกษตร ตอนที่ 5 ต่างวิธีการ! ...
สวัสดีครับ
1.หนีจากกรุงเทพฯ มาอยู่ต่างจังหวัด ได้ครบ 10 ปีแล้วครับ
2.มาล่าความฝัน ทำในสิ่งที่อยาก เดิมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ อยู่ 10 ปี ลาออกมาเป็นมือปืนรับจ้างฯ (Consultation ,Contractor) สุขบ้าง ทุกข์บ้าง คนรอบข้างฯ(ญาติ) ก็รุมว่าเหมือนกัน อยู่ดีๆ ไม่ชอบ
3.เหมือนคุณว่า คนเรากลัวการเปลี่ยนแปลง ยังไม่ลองเลย
4.ทุกวันนี้ ผมทำงานที่บริษัทเจ้านายไม่รับเงินเดือน ญาติก็ว่าบ้า พี่ๆเพื่อนๆ ว่าบ้า (เขาไม่รู้ว่าผมได้อะไรมากมาย มากกว่าเงินเดือนจากเจ้านาย)
สวัสดี
บ้านสวนผึ้ง
หน้า