เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
แตงกวาจากผู้อาศัยที่ทำกิน
ปฐมเหตุมาจากการวางแผนก่อนลาออกจากงานประจำว่าเมื่อลาออกมาเราจะทำอะไรนอกจากอ่านหนังสือ ทำงานฝีมือ ทำขนมทำอาหารที่ได้สูตรมาใหม่ๆแล้วแจกเชิงบังคับให้คนใกล้ชิดต้องชิม ปลูกผลหมากรากไม้รอบๆบ้าน เที่ยวตามวาระและโอกาส แค่นี้คงไม่พออีกอย่างอยากเอาใจคนเคียงข้าง เมื่อหลายปีที่แล้วได้ไปเยี่ยมป้าที่หาดไข่เต่า พัทลุง ป้ากับลุงทำไร่นาสวนผสมแบบชาวบ้าน มีบ่อปลา นาข้าว พืชผักพร้อม ก็เลยมีความฝันเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ว่า อยากให้รอบบ้านมีผลไม้ พืชผักกินได้ กลายเป็นอยากมีสวนสมรม(มีต้นไม้ที่อยากปลูก อยากกิน ดั้งเดิมและพันธุ์ไม้หายากเก็บไว้ให้ลูกหลานดู ไม่ต้องมากอย่างละต้นสองต้นก็พอ)ขอให้พรรคพวกช่วยหาที่ให้สัก 3 ไร่ ก็ได้ตกลงซื้อเรียบร้อยเจ้าของบอกว่า 3 ไร่กว่า พอวัดเข้าจริง กลายเป็นเกือบ 7 ไร่ เอาก็เอาใช้แรงรถละที่นี้ขุดร่องน้ำ ขุดคูล้อมรอบตัดปัญหา วัว คน และไฟ ปลูกไปปลูกมาเอาไม่ทันบางส่วนรกจ้างคนมาตัดก็ตัดเอาต้นไม้ที่ปลูกไป ส่วนไหนยังไม่ปลูกก็เลยทิ้งไว้ไม่ตัดหญ้าเสีย ก็มีชาวบ้านใกล้สวนซึ่งไม่มีที่เขามาขอปลูกผักในส่วนตรงกลางร่องก็ให้ไปเพราะเขาก็ไม่มีที่ทำกินรายได้หลักคือกรีดยางจ้าง ให้แล้วเราก็ไม่ได้เสียหายอะไร เงื่อนไขคือห้ามใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงให้ใช้สมุนไพรเท่านั้น ซึ่งแต่ละครอบครัวก็ปฏิบัติตามข้อตกลงเป็นอย่างดี
ครอบครัวที่ 1 ปลูกถั่วฝักยาว ถั่วพู ผักบุ้ง ผักกาด มะเขือ พริก
แถวหน้าเป็นร่องผักบุ้ง(ผักบุ้งนี่เดิมทีจะปลูกที่บ้านเราเองฝากคุณผู้ชายซื้อเมล็ดพันธุ์ที่สหกรณ์เขามีแบบถุงละ 1 กิโล ท่านก็ซื้อมาให้ทั้งถุง ก็เลยแบ่งไว้ 3 ขีดปลูกที่บ้านที่เหลือ 7 ขีดเอามาให้เขาปลูก-ฟรีเช่นเดิมถือเป็นการช่วยเหลือดูแลกัน) ผักกาดเพิ่งเริ่มเพาะ มะเขือต้นเล็กต้นน้อย
ทุกคนจะมีร่องใครร่องมันเนื่องจากดินแต่ละแปลงมีร่องน้ำคั่นกลาง ใครเอา1 ร่องก็เอา 2 ร่องก็เอา เจ้าของที่ขอไว้ 3 ร่องกับส่วนสระน้ำใหญ่ที่ทำหนำและปลูกบัวไว้กิน
หนุ่มน้อยคนนี้รู้จักสวนนี้ตั้งแต่อายุประมาณ 4 ขวบกว่าๆเริ่มขุดดินก็ตามมาดูแมคโค มาปลูกต้นไม้ก็ตามมาดูเกือบทุกวันจนเข้าโรงเรียน เสาร์อาทิตย์ก็มาเที่ยวเล่นเป็นเด็กน่ารักมาก บอกว่ามาถ่ายรูปไปลงเวปก็รีบมายืนตรงทันที
ที่เขียวชอุ่มในร่องน้ำนั่นผักกะเฉด ตอนขุดร่องใหม่ๆดูแล้วเห็นแต่น้ำเลยเอาบัวสายและผักกะเฉดลงโตเร็วมาก(ผักกะเฉด)บัวสายยอมแพ้ที่ไกลออกไปคือต้นยาสูบ สูงๆ นั่นต้นหว้าดั้งเดิมไม่ให้ขุดออกจะเก็บไว้
ถั่วฝักยาวที่ครอบครัวที่ 1 ปลูก แม่เป็นคนขยันมาก อยู่กับลูกชาย 2 คน ตอนเช้ากรีดยาง 2คนลูกชาย สายแม่ปลูกผักลูกชายเก็บยางแล้วมาช่วยแม่จากนั้นก็ไปรับจ้างซ่อมรถต่อ
ครอบครัวที่ 2 ปลูกต้นยาสูบ
ก็เพิ่งเคยเห็นต้นยาสูบจริงๆ ต้นเป็นๆ ก็มีเรื่องขำๆ คนปลูกยาสูบมาฟ้องว่ากลัวยาสูบจะไม่เมาเพราะอีกคนปลูกถั่วใกล้ๆ ไอ้เราก็สงสัย ก็ถั่วเขาปลูกก่อน ที่ตั้งเยอะแยะตัวเองมาปลูกใกล้เขาแล้วจะทำยังไง ฤาจะให้เขาขุดแปลงถั่วย้ายไปร่องอื่น(ได้แต่นึกนะ จริงก็แค่ยิ้มๆ ...คืองานนี้ขอเป็นใบ้ชั่วคราวค่ะ) 555
นี่เป็นต้นยาสูบเมื่อโตแล้ว ใกล้เก็บมาบ่ม หากมีคุณภาพดี(ชาวบ้านเรียกว่าเมา)ราคาก็จะดีด้วยกิโลละประมาณ 2,400-2,500บาท
ด้านหลังเป็นมะม่วงหิมพานต์ปลูกไว้ 3-4 ปีแล้วเริ่มเก็บกินยอดได้แล้ว อันนี้เป็นของเจ้าของที่ดิน
ครอบครัวที่ 3 ปลูกแตงกวา
ถามว่า 1 ร่องได้กี่หลุมเขาว่าประมาณ 500 หลุม เริ่มด้วยมูลวัวรองหลุมเคล้าดิน หยอดเมล็ด พองอกประมาณที่เห็นก็จะใช้ปุ๋ยยูเรียโรยรอบโคนต้นเพื่อเร่งใบและรากจากนั้นก็กลบหลุม รดน้ำทุกวัน ยกเว้นวันไหนฝนตก อีก 15 วันใส่ปุ๋ยอีกครั้ง บางคนว่าที่นี่มีน้ำพร้อม ดินก็ไม่ต้องเช่า ที่อื่นต้องสูบน้ำต้องจ่ายค่าน้ำมัน ค่าเช่าที่ ที่นี่จ่ายแต่ค่าพันธุ์ผักกับค่าปุ๋ย แถมบางครั้งเจ้าของที่มีการแจกพันธุ์ผักฟรีด้วย 555
45 วันจากวันเริ่มหยอดเมล็ดก็เริ่มเก็บได้ วันละ ประมาณ 180-200 กิโล ใหม่ ๆ ต้องเก็บเข้าเย็น แตงกวาโตเร็วมาก
มาแอบดูแตงกวาเขาไม่กล้าเข้าไปลึกๆกลัวเหยียบเถาแตงด้วยความเราเป็นคนเรียบร้อยแบบ "เหยียบมดไม่ตาย เหยียบควายคอหัก "
ผลผลิตที่เขาได้เก็บมากองๆไว้แล้วเอาไปล้างน้ำสะอาดแพ็คใส่ถุงถุงละ 10 กิโล แม่ค้ามารับถึงที่ยกเว้นส่วนที่ส่งโรงเรียนต้องเอาไปส่งเองไม่ห่างมาก 1 กม.กว่าๆเอง
สิ่งทีได้จากการแบ่งแผ่นดิน
เขาเหล่านั้นไม่มีที่ทำกินเพื่อเสริมรายได้ ตอนนี้เขามีแล้วรายได้เพิ่มอยู่ที่เขาจะเอาเท่าไหร่ เมื่อมีเงินเพิ่มคุณภาพชีวิตเขาย่อมดีขึ้น
ติดต่อที่ทำงานเก่าส่งผักให้โรงอาหาร นักเรียน บุคลากรได้รับอาหารที่ปลอดสารพิษถึงน้อยนิดก็ยังดี
เราเองมีความสุขที่เห็นเขายิ้ม ลูกหลานเขาสนุกสนานมาเล่นที่สวนเพราะอยู่ใกล้บ้านเขา " เด็กๆรู้ที่จะอยู่กับดิน"
เราเองเปลืองช็อคโกแล็ต เปลืองขนมนมเนย เพราะเอาไปฝากสาวน้อย หนุ่มน้อยที่รีบวิ่งออกมาบ๊ายบายจุ๊บทุกครั้งที่รถผ่านเป็นกิจวัตรทำอะไรอยู่หยุดหมดมาบ๊ายบายจุ๊บก่อนเป็นภาพที่อิ่มจริง ๆ ยิ่งกว่ากินช็อคโกแล็ตกินขนมอีกเป็นร้อยๆเท่า
ขอบคุณผู้ใหญ่บ้านสวนพอเพียงที่สร้างบ้านหลังนี้และมีวันนี้ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ
- บล็อกของ คนบำนาญ
- อ่าน 11312 ครั้ง
ความเห็น
preecha Yenboonthem
26 มิถุนายน, 2013 - 16:15
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
อยากมีความสุขแบบนี้เองบ้างค่ะ คงสุขใจไม่น้อยเลย อย่างไรเสีย ก็ขออนุโมทนาบุญด้วยคนนะค้ะ(อยากอยู่ใกล้ๆจังเลยค่ะจะได้จองสัก ๓ ร่อง)
คนบำนาญ
26 มิถุนายน, 2013 - 17:21
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
ขอบคุณค่ะ เป็นความสุขเล็กๆค่ะ มาเลย ให้ 3 ร่องสุดท้ายค่า 555
laddawong
26 มิถุนายน, 2013 - 16:36
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
การรู้จักแบ่งปันและมีน้ำใจกับผู้อื่นยังมีเหลืออยุ่จริงในสังคมไทยค่ะ ขอบคุณที่นำเรื่องราวดี ๆ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ค่ะ
คนบำนาญ
26 มิถุนายน, 2013 - 17:23
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
ขอบคุณค่ะเป็นโรคประจำบ้านค่ะ เชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่คิดเช่นเดียวกันเพียงแต่เขาเหล่านั้นไม่มีพื้นที่แบ่งปันความสุขนี้ แต่พวกเรา สมช มีบ้านสวนไว้ให้แบ่งปันความสุขที่ได้ทำค่ะ
ลุงรัตน์
26 มิถุนายน, 2013 - 17:11
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
คุณคนบำนาญเป็นคนดี มีน้ำใจมากมากเลยค่ะ จะยึดเอาคุณเป็นตัวอย่างนะคะ จะรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ค่ะ
ดีใจที่ได้รู้จักค่ะ
คนบำนาญ
26 มิถุนายน, 2013 - 17:27
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
ขอบคุณค่ะ...ช่วยด้วยค่า ช่วยจับด้วย..ลอยแล้วค่ะ ...ยินดีค่ะ ยึดเอาที่เป็นส่วนดีนะคะ อย่าเอาส่วนไม่ดีจริงๆก็มีเยอะ แต่...ไม่บอกเดี๋ยวเสียภาพพจน์ค่า
วรพจน์ เอียดจันทร์
26 มิถุนายน, 2013 - 17:43
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
ไม่ยึดถือ ไม่ยึดติดกับอะไรมากเกินไปใจเราก็มีความสุข ความสุขกับการให้ ความสุขกับการแบ่งปัน เป็นความสุขโดยธรรมชาติ ได้ฟัง ได้อ่าน ได้เห็นภาพแล้ว ตัวผมเองยังมีความสุขใจเลยครับ
การทำงานต้องรู้จริงทำจริงจึงประสบกับความสำเร็จ
คนบำนาญ
26 มิถุนายน, 2013 - 23:10
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
ขอบคุณค่ะ ดีใจค่ะที่มีส่วนทำให้ผู้อื่นมีความสุขค่ะ คุณผู้หญิงสุขภาพเป็นไงบ้างคะ
เจ๊หนูแหม่ม
26 มิถุนายน, 2013 - 17:46
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
ได้ชม ได้อ่านแล้วมีความสุขมากค่ะ ถ้าสังคมเรามีคนแบ่งปันแบบพี่คนบำนาญเยอะๆ คงมีความสุขมากนะคะ
พออยู่ พอกิน พอใช้ พอใจ = พอเพียง
คนบำนาญ
26 มิถุนายน, 2013 - 22:40
Permalink
Re: เมื่อแบ่งปันแผ่นดิน
เชื่อว่าในสังคมยังมีคนที่อยากแบ่งปันอีกมากมาย เพียงแต่ยังไม่มีโอกาส ความพร้อม ความพอ และปัจจัยอีกหลายๆอย่างค่ะ
หน้า