“จำปา” นี้ ... มิใช่มีไว้ดม ? ...

หมวดหมู่ของบล็อก: 

     เมื่อ สอง – สาม วันที่ผ่านมา ... ได้นำภาพ เด็กกำลังฝึกเดิน ด้วย “กระแตเวียน” มาเติมความสมบูรณ์ให้กับบล็อก ที่ได้เขียนไว้ก่อนหน้านู้น

     ในบล็อกเติมเต็มที่ว่า ... มีการพาดพิง ถึง “จำปา” ... และ ชันชี (รับปาก) ไว้ว่า ... “ไว้มีเวลา จะเอามาให้ดู”

     วันนี้ ... มีเวลาแล้ว ครับ ... กอปรเนิ่นไป ... คนแก่จะลืมเอาซะง่าย ๆ นะน้า ... เดี๋ยวจะหาว่า “หลอกตั้งตะยังไม่ตาย) ... จึงเอา “จำปา” มาเล่า

            “มังคุด” ...

     อ้าว ... เห็นจั่วหัว  “จำปา” ... ซ้ำบอกว่า เล่าเรื่อง “จำปา” ... แล้วไหง ? ... มากลายเป็น มังคุด ซะดือ ๆ งั้นแหละ ...

         ใจร่ม ๆ นา ... ขอปรารภให้เห็น ที่ไป - ที่มา ก่อนดี !

     กำลัง จะบอกว่า “มังคุด” ... เป็นผลไม้ ที่ดูเหมือนจะมีเปลือกค่อนข้างแข็ง ... ไม่น่ามีปัญหา ในขั้นตอนการเก็บ ... อืมมมม ...

         ใช่ ... แต่ ไม่ใช่ ทั้งหมด ? ...

     งง ! อีก ... ละซี ... เอ้า ... โปรดสดับ ...

         ที่ว่า ... “ใช่” ... ก็ในกรณี เก็บ เพื่อกินเอง โดยเฉพาะกินขณะนั้น ... หรือ ไม่เกิน 2 – 3 วัน กรณีนี้ ไม่อินังขังขอบนัก จะตก ... จะร่วง ... จะกระทบ กระแทก กิ่งก้าน พื้นดินแข็งบ้าง นุ่มบ้าง ... ก็ช่างมัน ... โอ๊ะ ! ผิดอีกแล้ว ... ขอแก้เป็น ... “ช่างมังคุด”

         ที่ว่า ... “ไม่ใช่” ... คือ กรณี เก็บเพื่อเข้าสู่ตลาด

     ด้วยว่า มังคุด ที่เข้าสู่ตลาด จะถูก “คัดเกรด” ... จนชาวเกษตร  เจ้าของผลิตผล ลุ้นระทึกเชียวหละ ...

         อ้าว ... จริง จริ้ง ... ไม่ได้โม้ ...

     แม้ข้าพเจ้า จะไม่เคยสนใจดู การประกวด Miss อะไร ต่อมิ อะไร ระดับไหน ต่อไหน ... จนถึงระดับจักรวาล ที่ให้ชวนสงสัยว่า ... งานนี้ มี Alien มาร่วมประกวดด้วยหรือ ...

     เฮ้ .... ดื่น ๆ ๆ ... เพ้อเจ้อไปไหนล่ะนี่ ... แก่แล้วก็งี้แหละ ... เลอะเลือน แต่ขออีกนิดนะ ... ไม่งั้นมันค้างอยู่ ปวดหัวข้างเดียวอีก

     ก็เคยเห็น เขาลุ้น กัน ... ขนาดใจจดใจจ่อ แม้กับ เวลาที่จะถ่ายทอดใน TV ไง .... จริงป่ะ

     เฮอ ... ไม่ค้างไว้ ให้ปวดหัวละ ... ก็มาว่าเรื่อง กรรมการ เอ้ย ... ผู้รับซื้อ เขาคัดมังคุด กันต่อ

 

 

 

    ท่านที่เคยซื้อ มังคุด ที่ขาย ตามแผง ... หรือ ตามห้าง คงคุ้นชินตา กับ มังคุด “เปลือกผิวลุง” ... ก็ดำ ไงครับ และ “ขั้วลุง” ก็เหี่ยว ไง ... อย่างภาพเห็นนี่ ใช่ไหมครับ

    แต่ข้างใน ยัง ... ต๊ะติ้งโหน่ง ... เนาะ

 

 

 

 

 

     แต่ ... ตอนที่เกษตรกรเขาเก็บจากต้น ... ก่อนรอนแรมมาถึงสถานี ที่ท่านเห็น ...

     มันสด ขออนุญาต ใช้คำว่า มัน เป็นสรรพนามของ มังคุด เนาะ

     ใช่ ... สด อย่างที่เห็นนี่แหละ ถึงจะไม่ ใส ... ก็เหอะ

     เพราะ สีดำ อย่างภาพแรก ผู้รับซื้อ ที่ ชาวบ้านเรียกว่า “คิว” ... เขาคัดออกหมดครับ ... ไม่ใช่ ตกเกรด นะครับ ... หลุดเกรด ไปเลยเชียวล่ะ ...

     นี่ลุงเอง ก็เหอะ ... ผิวขนาดนี้ ... ให้หวั่น ๆ จะหลุดเกรด อยู่นะเนี๊ยะ

     ตัวชี้วัด เกรด ... เบื้องต้น คือ  “ขนาด” ... แต่ต้องประกอบด้วย “สี” ... และ “คุณภาพ” ... เป็นประการสุดท้าย

 

 

 

 

 

    อย่างที่เห็นนี้ กรรมการ ... เอ้ย ... ผู้รับซื้อ

    คัดให้ แค่ ... เกรด B ... ครับ

    สีผ่าน ... แต่ ... ขนาด ไม่ผ่าน

 

 

 

 

     

     คัวกำหนด ด้านคุณภาพ คือ ความ “สด” ... “ใหม่” ... และ “อาการบอบช้ำ” ของผล คือ สดจากต้น และไม่มี แผลเป็น ... อ้อ ... ไม่ใช่ ... เอาเอิน (เอาใหม่) ... ไม่มีรอยขีดข่วน หรือร่องรอยถูกกระแทก

         ทีนี้เชื่อยัง ว่า รายการลุ้นระทึกมีจริง ... ในหนังเรื่องมังคุด ...

     ดังนั้น ... เพื่อเป็นการถนอมหัวใจ ไม่ไห้ทำงานหนัก ขณะส่งเข้าประกวด ... อุปกรณ์ ที่ใช้สอย มังคุด เพื่อรักษาคุณภาพไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่พึงทำได้ ... จึงมีความจำเป็นเบื้องต้น

         เฮอ ! ... มาถึงต้น (ทาง) “จำปา” ซะที ... เดินวน โคนต้นซะนาน

     ปัจจุบัน อุปกรณ์ ที่ว่านี้ ร้านขายวัสดุทางการเกษตรเขามีขาย ครับ ... เขาทำจากท่อ PVC ซื้อไป แล้วหาด้ามมาต่อก็ใช้ได้ ...

     แต่ข้าพเจ้าไม่ถนัดใช้ ... ด้วยว่า เป็นทรงกระบอกขนาดคงที่ ไม่สอดรับกับขนาดของผลมังคุด ประการหนึ่งล่ะ ... อีกประการคือ ยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องซื้อ ... ในเมื่อมีวัสดุใกล้ตัว ให้คว้ามาใช้ได้ ... แค่เอามาเข้ากระบวนการซะหน่อย เท่านั่นเอง ...

     ทั้งยังเป็นการสร้าง “รายได้เพิ่มจำบัง” ให้เราได้อีกโสดหนึ่ง ... และ สิ่งที่แถมมาอีกอย่าง คือ ... สมาธิ และความรู้สึกสงบ ที่ได้ในขณะทำงาน

     ใครจะบอกว่า ที่ว่ามาทั้งหมด ทั้งปวงนั่น เป็นแค่ข้อแก้ตัว เท่านั้น ... จริง ๆ แล้วขี้เหนียว ก็ช่างเหอะ ...

     คุยมาซะนาน จนบางท่านเบื่อ ... ปิดบล็อกไปบ้างแล้วก็มี ... ล้อมวงเข้ามาดู กระบวนการทำไม้สอยมังคุด ของข้าพเจ้า บ้างประไร ... เอ้า ... เชิญ ครับ เชิญ ...

 

 

 

 

 

     เริ่มจากหาไม้ไผ่ ลำโต และยาว ตามชอบ ซึ่งข้าพเจ้า ตัดเอาจากละแวกใกล้สวนนั่นแหละ

    ได้มาแล้ว ก็จัดการ เกลาข้อ ขัดขนคายออก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ผ่าด้านโคนออก เป็น สามแฉก เท่า ๆ กัน

     เซาะขยายรอยผ่าระหว่างแฉก กว้างประมาณ ครึ่งเซนติเมตร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ใช้ลวด หรือเชือก รัดใต้รอยผ่า ... กันฉีก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

         ใช้วัสดุ กลมแข็ง ขนาดโตกว่า รูลำไผ่ ... ซึ่ง ข้าพเจ้าใช้ผลมังคุดของปีกลายซึ่งหล่นอยู่โคนต้น

     อัดลงไประหว่างรอยผ่า ดังรูป ... จะให้แฉกกลีบอ้าออก เป็น Taper ซึ่งสามารถรองรับผลมังคุดได้ทุกขนาด

     ความกว้างของแฉก ขึ้นอยู่กับ ความลึกที่อัด วัสดุลงไป

 

 

 

     ใช้ลวด หรือเชือก ... ผูกกรอง ยึด ตรึง กลีบแต่ละแฉก ให้แน่น ... จำนวนรอบ ขึ้นอยู่กับ “อัตราความขยัน”

 

 

 

 

     แต่งปลาย ให้คล้ายปลายกลีบดอกจำปา ... ซึ่ง ปลายลักษณะนี้ จะช่วยให้การดันสวมเข้ากับ ผลมังคุด ทำได้ง่าย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     แค่นี้ ... ก็มีไม้สอย ที่สามารถช่วยรักษา คุณภาพ ผลมังคุด ไว้ใช้ แล้วละครับ

 

 

 

 

 

 

     ถึงตอนนี้ ... ท่านคงอุทธรณ์ ว่า ... พล่ามเรื่อง มังคุดไม่พอ ... นี่ ... มาพล่ามไม้สอย ต่ออีกแล้ว  ... เมื่อไร จะกล่าวถึงเรื่องที่จั่วหัวไว้สักที

     ก็ใคร่เรียนว่า ... เรื่องไม้สอยที่ นำเสนอไว้ข้างต้นทั้งหมด นั่นแล้ว ... คือ “จำปา” ...

     อะ ... ลองกลับไปดูภาพ ที่ 9 และ 10 อีกครั้ง นะครับ ... อ่านบรรยาย ประกอบภาพที่ 9  .... เป็นไงครับ ลักษณะของ ง่ามแฉก ไม้สอย ... คล้ายกลีบดอกจำปาไหมครับ ...

     คงเช่นนี้กระมัง ... เขาจึงเรียกไม้สอย แบบนี้ ว่า “จำปา” ... รู้งี้แล้ว ... ท่านคงไม่งง หากจะมีใครบอกว่า

     “แบก จำปา ไปสอย มังคุด”  ... ฮึ ๆ ๆ ๆ ...

     ใช่ ... ข้าพเจ้า ยอมรับว่า กำลังแกล้งฝ่าฝืน “มา อาการปริวิตกฺเกน” ใน “เกสปุตตสูตร” ... เพราะข้าพเจ้า ไร้ปัญญาจะอธิบาย ด้วยอรรถอื่น ... ด้วยว่า ... โบราณเขา สื่อ เรียกขานกันมา ก่อนข้าพเจ้าจะรู้ความเสียอีก ... ท่านอาจเห็นต่าง ... แต่คงมิอาจ ตราได้ว่าฝ่ายใดผิด ... ฝ่ายใดถูก

        การได้มาซึ่งคุณภาพ ... "มังคุด" ยังถูกคัดสรรค์โดย "ผู้รับซื้อ" ...

     แล้ว เราจะไม่ลองทำตัวเป็น ผู้รับซื้อ "ชีวิต" ที่สดอยู่ และมีคุณภาพบ้างละหรือ ?

     หยุดสักนิดเป็นไร ... ไม่ต้องถึงอึดใจก็ได้ ... เพื่อ สงบ ดู ... “ใช่” ... ที่ “ไม่ใช่”

     รึ จะ ก้าวล่วง เข้าไปอีกหน่อย เพื่อดู

     “สรวลเสเฮฮา” ... ที่ซ่อน ... “เศร้าซึม” ไว้คอยเหวี่ยงครอบเรา เมื่อโอกาสมาถึง

 

ความเห็น

ทุกครั้งที่ได้อ่านได้ชมบล็อกของคุณลุง นึกถึงบางอ้อ...ทุกที ประหนึ่งว่า ห้องสมุดเคลื่อนที่ ๆ เมื่อได้พบได้เจอหนังสือที่เราต้องการอยากรู้ เลยถึงบางอ้อ...เข่น อ้อ..มันเป็นอย่างงี้นี่เอง หรือ หาตั้งนาน อ้อ..มันอยู่ตรงนี้นี่เอง  ขอบคุณนะครับลุงสำหรับความรู้ หรือและ หลักพิจารณาก่อนเชื่อ ฯ

 การทำงานต้องรู้จริงทำจริงจึงประสบกับความสำเร็จ

   ขอบคุณครับ ... ขอบคุณ

     ลุงพยายามพกพาไว้ ... จะได้ช่วยพยุงสติของตัวลุงเอง ก่อนจะเชื่อเรื่อง หรือ สิ่งใด ๆ

    ลุงกลัวจะ เดินทื่อเข้าไป แล้วชี้หน้า ด่าฤๅษี ... ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็อัดเต็มอยู่ด้วยอวิชชา

     แม้ สติ ที่ว่า จะมาไม่ทันในทุก ๆ ครั้งก็ตาม

     ได้แค่ 10% - 15% ก็ยังดีกว่าไม่มีปัญญาเอาซะเลย เนาะ ... ฮึ ๆ ๆ ๆ

เคยแบกจำปาขึ้นเขามหาชัย พอมีมังคุดเองเลยจำมาทำแม้ไม่งามก็พอใช้ได้ครับ

ตอนเป็นเด็ก....มีแรง มีเวลา แต่ไม่มีเงิน กลางคน.....มีเงิน มีแรง แต่ไม่มีเวลา ปั้นปลาย.....มีเงิน มีเวลา แต่ไม่มีแรง

     "ประโยชน์" ... ของอุปกรณ์ อยู่ที่ "ใช้สอยได้บรรลุป้าประสงค์" ไม่ใช่เรอะครับ

   ส่วนความสวยงาม เป็นเรื่องของรัดดวง ...

       สมมติ มีรถสักคันแล้วแต่งซะให้ สวยสะหวิ้ม ชิ้ม ... สวยลิ้น ลิ้น ... แตเวลาไปไหน ขับไม่ได้ ... แถมต้อง "รุน" ไปกัน ...

      แล้วยังอิเอาม้ายนิ รถคันนั้น

เป็นคนที่เขียน บล็อคได้ เห็นภาพเลยนะคะ ชอบอ่าน ขอบคุณสำหรับ การแบ่งปันเรื่องราวต่างๆให้ได้เห็นภาพ ความรู้

อยู่แค่ ๆ ให้ลุงทำให้สักดอก  

อยู่นครสวรรค์  กะปลูกมังคุดได้กินกันแหละลุงเหอ  แต่เพิ่งเริ่มเป็นได้สัก 2 ปี แล้วคะ  หวานฉิ้มนิลุง

จำปาของลุงไว้เก็บมังคุด ผมได้ยินเขาเรียกอีก จำปา ไว้ล็อคหรือถอดดอกสว่านมือ ก็มิใช่ไว้ดมเหมือนกันครับลุง

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

หากจะขออนุญาตเรียกขานว่าดุจดั่ง " ปทานุกรม(ฉบับประสบการณ์สมรม)เคลื่อนที่ " คงไม่ถล่มตนไม่ยอมรับก็คงมิได้แล้วมังคะ จำปา 1 ดอกไม่ จำปา 2 ของลุงpaloo คือไม้สอยผลไม้ จำปา 3 ของหลานเสิน คือ อุปกรณ์ไว้ล็อคหรือถอดสว่านมือ จำปา 4 ...... อยู่ที่ใด? ฤๅจะต้องแบกมังคุดไปขายจำปา ......จึงจะหาเจอ

ลุงพาโลนี่เก่งไปซะทุกอย่างเลยนะคะ   สร้างบ้านก็เป็นอีกด้วย

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาออกไป..กลายเป็นจำปา...สุดยอดเลยพี่หลวง...(เวลาสอย..เงยซะเข็ดคอสุดๆนะ. สุดยอดนี่)

หน้า