เล่าเรื่องข้าว (ตอนจบ)

หมวดหมู่ของบล็อก: 

สวัสดีปีใหม่เพื่อน พี่ น้องสมาชิกทุกท่านนะคะ  ปีที่แล้วดีจังเล่าเรื่องข้าวนาโยนไปแล้ว 3 ตอน ตั้งแต่การเตรียมแปลง การโยนข้าว           ข้าวตอนที่โต ออกรวง  ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายจะเล่าถึงช่วงเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว

ที่ไร่สวนฝัน เราแบ่งนาออกเป็น 2 แปลง คือ แปลงขาวหอมมะลิ และแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่ รวม 2 แปลงประมาณ 1.5 ไร่  เริ่มปลูกข้าวหอมมะลิก่อน ปลายเดือน มิย และปลูกไรซ์เบอร์รี่ในเดือน สค ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ข้าวออกรวงพร้อมกัน เพื่อป้องกันการผสมเกสรของข้าวสองสายพันธุ์

ข้าวหอมมะลิเริ่มเก็บเกี่ยวในต้นเดือน พย

ในขณะที่ไรซ์เบอร์รี่ ได้เก็บเกี่ยวในปลายเดือน พย

ข้าวหอมมะลิล้ม เพราะต้นค่อนข้างสูง และมีน้ำขังที่โคนต้นบ้างทำให้โคนต้นข้าวไม่แข็งแรง ประกอบกับโดนน้ำท่วมข้าวหลายรอบก่อนเก็บเกี่ยว เลยทำให้ต้นข้าวล้มในที่สุด พอข้าวล้มการเก็บเกี่ยวก็ลำบากมาก และต้องใช้เวลา ในการลุยโคนเพื่อเกี่ยวข้าวทีละรวง คนเเกี่ยวก็สมบุกสมบันกันเลยทีเดียวค่ะ

ส่วนไรซ์เบอร์รี่ต้นไม่สูงมากนัก น้ำไม่ขังแบบข้าวหอมมะลิ เลยทำให้ต้นมีความแข็งแรงกว่า และไม่ล้มการเก็บเกี่ยวก็ง่ายกว่า

อุปกรณ์สำหรับเกี่ยวข้าว เคี่ยวและหมวกจริงต้องมีถุงมือด้วย แต่ไม่ได้ถ่ายมา

เวลาเกี่ยวข้าวเราจะวางข้าวเป็นกองๆ แบบนี้นะคะ เพื่อตาก ส่วนข้าวที่วางขวางก็เพื่อใช้มัดข้าว

ถ้าเหนื่อยเราก็แวะไปพักใต้ต้นไม้ก่อน

หลังตากข้าวไว้ 2-3 วัน พ่อก็จะมามัดข้าวและลำเลียงข้าวไปที่ลานนวดข้าว ด้วยการหาบข้าว หรือขนขึ้นรถกะบะก็มีเหมือนกันค่ะ

จากนั้นก็นวดข้าว หรือตีข้าว ด้วยวิถีธรรมชาติแบบบในภาพนะคะ เพื่อนๆ มาเยี่ยมและลองนวดข้าวกันคนละเล็กน้อย นวดข้าวเสร็จก็แพคใส่กระสอบไปเก็บในยุ้งฉางหรือฝากไว้ที่โรงสี

กระบวนการเก็บเกี่ยวข้าวก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่เรื่องเล่าของข้าวมันยังไม่จบ จริงๆ เรื่องราวมันเริ่มตอนที่เริ่มเกี่ยวข้าวหอมมะลิ

แล้วพบว่าข้าวรวงใหญ่และมีน้ำหนัก ข้าวปีนี้น่าจะได้มากกว่าปีที่แล้วที่โดนนกกินไปเกือบหมด ก็คุยกันในครอบครัวว่าเราจะลองแบ่งขายดูไหม  เพราะเราทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ เราอยากแบ่งข้าวของเราให้คนอื่่นได้กินข้าวปลอดภัยแบบที่เรากิน  เลยเริ่มเล่าเรื่องข้าวที่เราปลูกแบบนาโยน และไม่ใช้สารเคมีในการผลิต ให้คนใกล้ตัวฟัง เช่น เพื่อนที่ทำงาน โพสในเฟสบุค และโพสใน line group ก่อนที่จะเกี่ยวข้าวไรซ์เบอร์รี่  ผลปรากฎกว่า มี order เข้ามาเป็น 100 กิโล และเริ่มเยอะขึ้น ตอนนั้นเริ่มสำรวจข้าวที่เราได้ จริงๆ มันไม่ได้มากมายนัก มันแค่มากกว่าปีที่แล้ว ปริมาณข้าวเปลือกที่ได้ก็ 700 กิโลกรัม จากนา 1.5 ไร่ ถ้าคิดเป็นข้าวสารก็ประมาณ 400 กิโลกรัม ถ้าเราขายมากไปกว่านี้ ข้าวอาจไม่พอกิน

แต่ order ก็ยังเขามาเรื่อย และมาจากคนใกล้ชิด ที่จะเอาไปกินเอง และเป็นของฝากเนื่องในวันปีใหม่ จากจุดเริ่มต้นที่แค่จะแบ่งข้าวขาย กลายเป็นต้องขายข้าวจริงจัง แต่ก็กำหนดโควต้าไว้ที่ 200 กก

เราเลยต้องทำโลโก้ คิดแพคเกีจ ทำสลาก หาสถานที่สีข้าวกล้อง และซีลสูญญากาศ ทั้งหมดนี้ทำให้เสร็จโดยใช้เวลา 1 เดือน คือ กลาง พย - กลาง ธค ในลอตแรก และเสร็จภายในวันหยุดปีใหม่ เพื่อส่งลอตที่สอง หลังปีใหม่

แต่ละขั้นตอนล้วนหวุดหวิดทั้งเลยกำหนดบ้าง ร้านสติกเกอร์เกือบปิดบ้าง โรงสีข้าวติดคิวยาวบ้าง ต้องไปซีลข้าวเองบ้างเพราะติดวันหยุด ไม่มีคนทำ เราต้องไปทำเอง ทุกปัญหาสารพันที่เข้ามา ไม่ได้ทำให้ท้อ แต่ทำให้เข้าใจกระบวนการเริ่มขายข้าวถุงมากขึ้น แต่ไม่ว่าขั้นตอนการดำเนินงานของเราจะมีปัญหาอุปสรรคแต่ไหน ก็พยายามให้กระทบลูกค้าน้อยที่สุด โดยต้องเช็คลูกค้าก่อนว่าใครต้องรับก่อนและรับหลังได้ ทะยอยส่งข้าวเป็นล็อต ทั้งก่อนปีใหม่และหลังปีใหม่  และได้พบน้ำใจของใครหลายคนที่หยิบยื่น ช่วยเหลือกันมาในภาวะขับขัน ตั้งแต่น้องที่ทำออกแบบโลโก้ แม้ต้องจ้างแต่เขาก็มีคิวแน่นมาก เขาก็พยายามลัดคิวให้ก่อน แม้จะเลยกำหนดการมาบ้างแต่ก็ยังพอบริหารจัดการได้ นานาคำแนะนำจากเพื่อนๆ และแฟนเพจในการเลือกออกแบบโลโก้ การออกแบบสลากที่ได้เพื่อนของน้องมาช่วยทำให้ภายในเวลาที่จำกัด การหาโรงสีข้าวกล้องที่ได้มาตรฐาน ที่พ่อแม่ ไปหามา ซึ่งก็เป็นโรงสีของอาจารย์ที่นับถือ และเป็นปราชญ์ด้านการเกตร ที่ท่านเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ และความมีน้ำใจของท่านที่มาสอนเราซีลถุงข้าว เพราะติดวันหยุดไม่มีคนทำงาน ให้เราใช้สถานที่ฝึกปรือความชำนาญตามสะดวกและคิดค่าใช้จ่ายตามต้นทุนถุงและไฟเท่านั้น เพื่อนๆ และลูกค้าที่น่ารักทุกคน มีการสั่งซื้อซ้ำ และรอแม้บางครั้งจะส่งช้าไปบ้างก็ไม่ว่ากัน

 

 

 

จากจุดเริ่มต้นที่ว่าจะแบ่งข้าวขาย กลายเป็นต้องขายจริงจัง จนข้าวเกือบหมด ทำให้เราปรึกษากันในบ้านว่า สงสัยต้องทำนานอกฤดูเพิ่มเพื่อกินเอง

แต่จะเป็นการทำนาในไร่ ไม่ใช่การทำนาในแปลงนา และจะทดลองปลูกข้าวอย่างอื่นเพิ่มอีก ซึ่งถ้ามีโอกาสและเกิดขึ้นจริงก็คงจะมาเล่าสู่กันฟังในครั้งต่อๆ ไป แต่ที่แน่ๆ ในการทำนาปี ในปีหน้าจะมีการเลี้ยงปลาในนาข้าว และใช้จุลินทรีย์ช่วยมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลลิตให้ได้ 1 ตัน ต่อ 1 ไร่ เรื่องเล่าเกี่ยวกับข้าวก็จบด้วยประการฉะนี้ค่ะ

https://www.facebook.com/dreamforestfarm/

@dreamforestfarm

@ไร่สวนฝัน

 

ความเห็น

ขอบคุณค่ะ :)

ต้นข้าว รวงข้าว บรรจุหีบห่อ สวยงาม น่ารับประทาน .... ยินดีกับครอบครัว น้องดีจัง ด้วยนะ

ขอบคุณค่ะ ขั้นแรกค่ะ คงเหลืออีกหลายขั้นในอนาคต

มีออร์เดอร์จัดเป็นกระเช้าด้วยค่ะ

หน้า