การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในถึ่วพู พริก มะเขือเทศ คื่นฉ่าย ผักชีจีน และผักหวานบ้าน
ตามที่ได้รับปากไว้ว่า จะเขียนบล็อคในเรื่องนี้ โดยใช้ภาษาง่ายๆ จากการทำจริงมาต่อเนื่องยาวนาน เพื่อให้ง่าย และสั้นๆ จึงเลือกมาเล่าเพียงสองพืช คือ พริก(เรียน และทำมาโดยตรงต่อเนื่อง) และถั่วพู(หนึ่งในพืช สำคัญยิ่งของสวนในอนาคต)
อนึ่ง ได้ตัดสินใจเพิ่ม พืชอีก สี่ชนิด เพราะว่า จะได้นำรูปการจัดการองค์รวม มาอธิบาย ร่วมกับ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ได้เข้าใจง่าย และมีประโยชน์ยิ่งขึ้น คือ มะเขือเทศ( อยู่กันมาตั้งแต่เรียน และมีทุกวันนี้ เพราะเขา และคงจะอยู่กันไปจน ...) คื่นฉ่าย(พืชที่ทำรายได้มากที่สุดของสวน) ผักชีจีน( มือขวาของคื่นฉ่าย) และผักหวานบ้าน(พืชเงินพัน เงินหมื่น แต่แทบไม่มีความเสี่ยง ไม่มีต้นทุน และปลูกได้ในดินความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อย่างภาคอิสาณ(เช่นถั่วพู )แต่คนภาคอิสาณ ยังกิน ผักหวานบ้านไม่ค่อยเป็น ...ชอบแต่ ผักหวานป่า )
สำหรับรูป ทะยอยตามมาประกอบเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเวลาตอบคำถามนะครับ
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ในพริกหวาน และถั่วพู
มีเป้าหมายอันดับแรกคือ ป้องกันศัตรูพืชให้คุ้มค่า และส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยใช้หลักการผสมผสาน ของวิธีเขตกรรม กายภาพ ชีวภาพ และวิธีทางเคมี เพื่อปลูกพืชโดยใช้สารเคมีให้น้อยที่สุด
หาวิธีการกดดันไม่ให้ศัตรูพืชทำความเสียหายระดับเศรษฐกิจ เป็นการจัดการศัตรูพืชให้อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ใช่การทำลายล้าง คือ เป้าหมาย การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน นั้นเรียบง่าย ปฎิบัติได้ และสำคัญที่สุดคือ เป็นวิธีที่ปรับใช้ได้ไม่ตายตัวในการจัดการศัตรูพืช
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ในพริก และถั่วพู มีเทคนิค ดังนี้
- การจับตา และสุ่มตัวอย่าง
- การตรวจพืชรายต้น (ยังใช้อยู่)
- การใช้กับดักกาวเหนียว(ไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน)
- การสุ่มนับแมลงทุก ๗วัน(ไม่ได้ใช้ในปัจจุบัน)
- การจำแนกชนิดของแมลงและช่วงชีวิต (ยังใช้อยู่)
- การเก็บข้อมูลเพื่อดูทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง (ยังใช้อยู่)
- การป้องกันศัตรูพืชไม่ให้เข้าสู่บริเวณปลูกพืช
- การป้องกันเพลี้ยอ่อน และเพลี้ยไฟ โดยการปลูกพืชบังลม หรือวัสดุบังลมตามทิศทางที่ลมพัดผ่าน (ยังใช้อยู่)
- วิธีเขตกรรม
- การปรับปรุงดิน (เน้นหนักเป็นพิเศษ)
- การใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม (เน้นหนักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ ปุ๋ยหมักตื่นตัว)
- การรักษาความสะอาดแปลงปลูก (เน้นหนักเป็นพิเศษ แต่ทำได้ค่อนข้างยากในหน้าฝน)
- การฉีดน้ำฝอยแรง(เน้นหนักเป็นพิเศษ)
- การป้องกันศัตรูพืชโดยชีววิธี(การใช้สิ่งมีชีวิตควบคุมศัตรูพืช)
- การปล่อย ด้วงเต่า แมลงช้างปีกใส แตนเบียน ควบคุมเพลี้ย และไรต่างๆ(ตามความจำเป็น)
- การปล่อย มวนพิฆาต แตนเบียน การใช้เชื้อแบคทีเรีย และไส้เดือยฝอย ควบคุม หนอนกระทู้ต่างๆ(ตามความจำเป็น)
- การใช้ไตรโคเดอร์มา ไมโครไรซ่า และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ (เป็นครั้งคราว ร่วมกับปุ๋ยหมักตื่นตัว)
- การใช้สายพันธุ์ต้านทานโรค (เน้นหนักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะต้านทานโรคไวรัส และแอนแทรคโนสในพริก)
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรงสมบูรณ์ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพราะเรามองไม่เห็นโรคพืช
- การใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ฤดูกาล และปุ๋ย วิธีปลูกที่ใช้ (เน้นหนักเป็นพิเศษ)
- การใช้สารเคมี
- แม้เราจะไม่ได้ใช้สารฯใดๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เวลา ซื้อเมล็ดพันธุ์ พันธุ์ดีมา จะเป็นแตงค้าง ผักชีจีน มะเขือเทศ และพริก จะเห็นสีแดงที่เมล็ดพันธุ์ นั้นแหละทางบริษัทคลุกสารเคมีป้องกันโรคพืชที่เมล็ดพันธุ์ มาแล้ว
การรู้จักแมลง โรค วงจรชีวิตและพฤติกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการวางกลยุทธ์ที่มีประสิทธืภาพ การรู้จักจุดอ่อนของแมลงทำให้ผู้ปลูก พวกเราเอาชนะ ควบคุมแมลงได้ไม่ยากเย็นนัก
แมลงศัตรูหลักในพริก มีดังนี้
หนอนกระทู้หอม (Spodoptera exigua)
หนอนเจาะสมอฝ้าย (Helicoverpa armigera)
หนอนกระทู้ผัก (Spodoptera litura)
เพลี้ยไฟ (Thrips tabasi)
เพลี้ยอ่อนฝ้าย(Aphis gossypii)
ลืม แมลงศัตรูหลัก ที่สำคัญ ไปหนึ่งชนิด คือ ไรขาวพริก(Polyphagotarsonemus latus) ที่พวกเรามองข้ามไป และส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จัก ทั้งๆที่ เขาเข้าทำลายรวดเร็วมากก่อนเพลี้ยอ่อนอีก อาการใบเปลี่ยนรูป เรียวยาว และมีสีน้ำตาลแดง ถ้าสังเกต ดีๆ ซึ่ง เพลี้ยอ่อน หรือ เพลี้ยอื่นๆ เข้าทำลาย จะไม่เหมือน ไรขาว
ส่วน ถั่วพู มีแมลงศัตรูหลัก คือ เพลี้ยอ่อนฝ้าย ตัวเดียว
**********************************
จบตอนแรก มีเวลาตอนดึก ในวันหยุด ค่อยเพิ่มเติมรูปภาพ และต่อด้วย แมลงศัตรู และวงจรชีวิต
- บล็อกของ 2s
- อ่าน 23979 ครั้ง
ความเห็น
2s
5 ธันวาคม, 2010 - 11:41
Permalink
มีคำคมภาษาอังกฤษ ที่ว่า เกษตรกร เจ็บป่วยไม่เป็น
ขอบคุณมาก พวกเราเกษตรกร หาเช้ากินค่ำ นอกจาก อดทน มีความเพียร ประหยัด พอเพียง ก็ยังจะเจ็บป่วยไม่เป็นด้วยนะครับ
เลือกเดินทางนี้แล้ว ต่อให้ขวากหนาม ทางรก ลำบาก ก็คงจะถอยหลังไม่ได้ ครับ
ลำบากกาย ทุกข์กายแล้ว จะทุกข์ใจด้วย ก็คงจะเซ่อมากจริงๆ
ขอบพระคุณ และรักษาสุขภาพนะครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
กิ่ง_พม่าคอนศรี
5 ธันวาคม, 2010 - 10:08
Permalink
2s
ขอบคุณสิ่งดีๆ ที่นำมาฝากกันค่ะ วันหลังคงต้องไปดูงานที่สวนบ้างแล้ว
2s
5 ธันวาคม, 2010 - 11:43
Permalink
สวนผักปลอดภัยยินดีต้อนรับ แต่มีแต่งานธรรมดาๆ ง่ายๆนะครับ
สวน สองโสก หรือ สวน2S เป็นเพียงสวนผักปลอดภัยเล็กๆ ระดับหมู่บ้าน มีทีมงานเพียง ๕-๑๐ครอบครัว และมีความรู้สูงสุดเพียง ป.๖ อาจจะไม่สามารถให้ความรู้ได้มากนัก เพียงแต่ เราผลิตผักปลอดภัย มากกว่า ๒๕ชนิด ๓๖๕วัน ยินดีต้อนรับทุกท่าน แต่กลัวแต่ว่า จะไม่สามารถอธิบาย หรือตอบปัญหาต่างๆได้ตามที่ต้องการนะครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
กิ่ง_พม่าคอนศรี
5 ธันวาคม, 2010 - 11:52
Permalink
2s คะ
ทำสวนความรู้สูงสุดไม่มีหรอกค่ะ ความรู้ที่ 2s ทำอยู่สุดยอดแล้วค่ะ นี่คือความสุขที่แท้จริง
ที่กิ่งก็อยากเริ่มแบบนี้ สวนอยู่ที่ไหนคะ เผื่อกลับไปเมืองไทย อาจจะได้ไปชมมั่ง
oddzy
5 ธันวาคม, 2010 - 12:00
Permalink
ถั่วพลูตายแล้ว
ถั่วพลูเราตายแล้ว หนาวจัดเกิน ตอนที่ขึ้นก็สูงแค่หัวเข่า แล้วก็หนาวตายจ้อยยยย ไปไม่รอด ต้องกลับไปปลูกกินที่เมืองไทยแล้วค่ะ
2s
5 ธันวาคม, 2010 - 16:27
Permalink
โซนหนาว เลือกสายพันธุ์ และเริ่มในถุงในโรงเรือนก่อน
หยอดเมล็ด ในถุง หรือกระถางค่อนข้างใหญ่สักนิด (5 แกลลอน ยิ่งดี )เริ่มใน Hot frame หรือ โรงเรือนก็ได้ครับ แล้วค่อยย้ายออกปลูกข้างนอก ต้องแต่งใบช่วยเป็นระยะ เพราะอากาศหนาวเย็น จะเฝือใบมาก และหลายๆครั้ง วันสั้นเกินไป ที่จะให้ออกดอกติดผล แต่ไม่เกินความสามารถ ถ้าอากาศไม่หนาว มาก และยาวเกินไปในปีนั้น
ขอให้โขคดี สีดอกถั่วพู มีความหมายมากสำหรับคนไทย เป็นสีที่เป็นมิ่งมงคล ต่อเกษตรกรรายย่อย ชนบท อย่าง 2S จริงๆ ค่อยๆอ่าน เรื่อง ถั่วพู ต่อๆไปนะครับ
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
2s
5 ธันวาคม, 2010 - 16:15
Permalink
การจัดการเพลี้ยอ่อนแบบผสมผสาน
การจัดการเพลี้ยอ่อนแบบผสมผสาน
รูปเพลี้ยอ่อนจากเว็ปฯ ช่วยให้การนำเสนอได้เร็ว ง่ายกว่าการ อัปโหลดจาก รูปถ่ายเอง
ไดอะแฟรม ส่วนปากดูด ของเพลี้ยอ่อน
ตัวเต็มวัย ไม่มีปีก
ตัวเต็มวัยมีปีก เมื่ออาหารเริ่มไม่พอ เพื่อเตรียมอพยพไปหาแหล่งอาหารใหม่
เพลี้ยอ่อนทำลายพืชโดยดูดน้ำเลี้ยงตามใต้ใบยอด กิ่ง ช่อดอก และส่วนต่างๆของพืช โดยใช้ปากเจาะแทงเข้าไปในเนื้อเยื่อและดูดน้ำเลี้ยงจากพืชเป็นอาหาร ส่วนของพืชที่ถูกเพลี้ยอ่อนทำลายจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนในที่สุดจะร่วงหลุด ทำให้การเจริญเติบโตของพืชหยุดชะงัก
เพลี้ยอ่อน เข้าทำลายใน คื่นฉ่าย ตั้งแต่ ช่วงย้ายปลูกใหม่ๆ
ชีววิทยา
เพลี้ยอ่อนในโลกนี้มีมากกว่า 4,000 สายพันธุ์ และมีพืชอาหารหลายชนิด เพลี้ยอ่อนที่สำคัญในประเทศไทยคือ เพลี้ยอ่อนฝ้าย (Aphis gossypii)
การจัดการเพลี้ยอ่อนจะต้องเข้าใจว่าเพลี้ยอ่อนสามารถขยายพันธุ์โดยไม่ต้องผสมพันธุ์ มักจะออกลูกเป็นตัวมากกว่าวางไข่ ซึ่งทำให้แพร่พันธุ์ได้รวดเร็วและทำให้ต้านทานสารเคมีได้รวดเร็ว
เมื่อแหล่งอาหารหมด หรือเริ่มไม่พอเพียง เพลี้ยอ่อนจะพัฒนาตัวเต็มวัยแบบมีปีกขึ้นมาเพื่ออพยพเคลื่อนย้ายหาแหล่งอาหารใหม่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้ไกลๆโดยอาศัยแรงลมช่วย
มดเป็นอีกปัจจัยช่วยให้การแพร่กระจายของเพลี้ยอ่อนเป็นไปได้รวดเร็วเนื่องจากมดและเพลี้ยอ่อนมีพฤติกรรมแบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยมดจะอาศัยน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนขับถ่ายออกมาเป็นอาหารและยังช่วยปกป้องเพลี้ยอ่อนจากศัตรูธรรมชาติ(แมลงดี มีประโยชน์)
มด(ทางซ้าย) ช่วยพาตัวอ่อนเพลี้ยอ่อน ไปแหล่งอาหารใหม่ ส่วนตัวเด็มวัย ด้วงเต่า ตัวห้ำ หากินเพลี้ยอ่อน
วงจรชีวิตของเพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก โดยเพลี้ยอ่อนตัวเต็มวัยสามารถออกลูกได้ระหว่าง 15-450 ตัว และตัวอ่อนใช้ระยะเวลา 4-5 วัน โดยลอกคราบ 4 ครั้ง จึงเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีทั้งแบบมีปีก และไม่มีปีก ตัวเต็มวัยมีชีวิตอยู่ได้ 5-41 วัน สีของเพลี้ยอ่อนจะแตกต่างกันไปตามสีของพืชอาหาร ตั้งแต่สีเหลือง สีน้ำตาล สีเขียว หรือสีเข้มเกือบดำ
การป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อนโดยชีววิธี
มีแมลงห้ำหลายชนิดที่กินเพลี้ยอ่อนเป็นอาหาร เช่น ตัวอ่อนแมลงช้างปีกใส ด้วงเต่า แมลงวันดอกไม้ และแตนเบียนเช่น แตนเบียน Aphidius spp.
แมลงช้างปีกใส
ตัวเต็มวัย ด้วงเต่า
ตัวเต็มวัย ด้วงเต่าในคื่นฉ่ายที่ปลูกในถุง(ข้างขอบถุงบน)
ตัวอ่อนด้วงเต่าระยะท้ายๆ (คาดว่าเป็นระยะที่ ๓) ในพริก
ตัวแก่ด้วงเต่า ระยะแรกๆ ในถั่ว
ตัวเต็มวัย แมลงวันดอกไม้(ถ้าไม่สังเกตดีๆ ก็จะนึกว่า เป็น ผึ้ง)
***********************************
Biorational Pesticides (ขอโทษคิดชื่อเป็นภาษาไทยไม่ออก)
เชื้อรา Beauveria bassiana สามารถใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อนอย่างได้ผลโดยสปอร์ของเชื้อราจะติดที่ผนังลำตัวของเพลี้ยอ่อนแล้วเจริญทะลุสู่ภายในลำตัวของเพลี้ยอ่อน แต่ประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับสภาวะเหมาะสมเท่านั้น และเชื้อรามีประสิทธิภาพหลังผลิตแล้ว 7 วัน
สารสังเคราะห์ที่มีพิษน้อยที่สุดที่สามารถใช้ป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อน จะมี สารจับใบพิเศษ และน้ำมันปิโตรเลียม Ultrafine SunSpray oil
บทสรุป
ที่สวนเน้นหนักเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิธีทางเขตกรรม ร่วมกับวิธีอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้สารฯ ใด ไม่ว่า จะ การปรับปรุงดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การให้ธาตุอาหารเพียงพอ การไม่ทำลายระบบราก การบังแดด และลม(ในช่วง หรือฤดูกาลที่ เพลี้ยอ่อนระบาด) การตัดแต่งกิ่งแขนง ใบ ยอด และที่เชื่อมั่นว่า เป็นอาวุธสำคัญที่ควบคุมเพลี้ยอ่อนได้อย่างยิ่ง คือ การฉีดน้ำฝอยแรง
การฉีดน้ำฝอยแรง ในถั่วพู ที่บ้าน ถ่ายเช้าวันนี้เอง ในวันมหามิ่งมงคล วันพ่อ ค่อยๆดูต่อ ว่าทำไมจึงรัก และเลือกถั่วพูเป็นพืชที่สำคัญยิ่ง และมาแรงที่สุดของสวน (พักเบรคก่อน ตอนดึกๆนะครับ)
************************************************************
อนึ่งในพืชที่เลือกมารายงาน จะมี มะเขือเทศ ที่ถ้ามีพืชอาหารอื่นๆ จะไม่พบการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อน ยกเว้น กรณีที่ เพลี้ยอ่อนระบาดมากมาย และมีอาหารไม่เพียงพอ (มะเขือเทศ จะมีปัญหาที่ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้งแทน)
************************************************************
(พักเบรคช่วงแรก เจอกันรอบดึก การฉีดน้ำถั่วพู ที่บ้าน และแถม มะละกอ(บักหุง) เพิ่งถ่ายวันมหามงคลวันนี้
ขอจงทรงพระเจริญ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดชั่วกาลนานเทอญ ...ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม สวนสองโสก
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
สายพิน
5 ธันวาคม, 2010 - 16:32
Permalink
ขอขอบคุณข้อมูล
ภาพประกอบเห็นชัดเจน ช่วยให้มีการสังเกตได้มาก ขอขอบคุณมากค่ะ
2s
6 ธันวาคม, 2010 - 12:19
Permalink
การจัดการเพลี้ยอ่อนแบบผสมผสาน(ตอนที่ ๒)
ก่อนจะดูภาพ การฉีดน้ำฝอยแรงในถั่วพูที่บ้าน ขอนำภาพ การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานในมะเขือเทศ มาให้ดูเรียกน้ำย่อย การที่ 2S มีทุกวันนี้ได้ ก็เพราะพืชนี้ แม้ว่า การจะผลิตโดยไม่ใช้อะไรจะยากมาก นอกจากเสี่ยง และยังลงทุนสูงกว่าวิธีอื่นๆ ในแปลงเปิด ต้นทุน ต้นละไม่น้อยกว่า ๑๕บาท ถ้าปลูกปีละ ๒๐๐๐๐ต้น( สามรุ่นต่อปี) ก็จะต้องเสี่ยงลงทุนสูงมาก จึงแบ่งมาปลูกพริกกะเหรี่ยง และมะเขือเปราะ กว่าครึ่ง เพราะแทบจะไม่ต้องเสี่ยง และลงทุนน้อยกว่า ครึ่งต่อครึ่ง จึงพออยู่ได้ มีทั้งสามพืชให้ ชุมชนได้รับประทาน มะเขือ และพริกปลอดภัย ใส่ในส้มตำ ตัมยำ เป็นทางเลือกที่น่าจะพอใจระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้ปลูกมากๆ ก็คงจะไม่ไหว เพราะโอกาสพลาดมีสูงมาก ถ้าดูแล และจัดการไม่ทันเวลา
ปัญหาหลักก็เช่นเดิม แต่ปีนี้ไม่มากนัก น้อยกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ปัญหาเพลี้ยไฟ พาหะเชื้อไวรัส
หนอนชอนใบมะเขือเทศ
และเพลี้ยแป้ง แต่ก็มีพระเอก ด้วงเต่ามาช่วยดูแลควบคุมให้ต่อจากการจัดการองค์รวม
ผลผลิตที่จะออกตลาดช่วงเทศกาลสำคัญหน้าหนาว ปีนี้ ในเข่ง(ประมาณ ๑๐๐เข่ง ปลูก ๔ต้น ต่อ เข่ง(ยักษ์) ค่อนข้างจะเด่นกว่าในกระถาง( ๑๔นิ้ว) และในแปลง(ถุงดำ ๖x๑๒ นิ้ว) แต่ราคามะเขือเทศดูเหมือนจะไม่สูงเช่นที่ควรเป็นในช่วงนี้ เช่นทุกๆปี
ปลูกแต่สายพันธุ์ เพื่อส้มตำ ต้มยำ เพื่อชนบทอีสาณ ใช้สายพันธุ์ ๒สายพันธุ์ นี้มานาน แทบจะทายได้(ถ้าเป็นคน)ว่า ใฝ ฝา อยู่ตรงส่วนไหนบ้าง
****************************************
มาถึงเรื่องการฉีดน้ำฝอยแรงควบคุมเพลี้ยอ่อนในถั่วพูที่บ้าน
หัวฉีดฝอยแรงที่ใช้อยู่ มีทั้งหมด หก เบอร์ ตั้งแต่ ๐ ๑ ๒ ๓ ๔(เก้ารู) และ ๔(หกรู) (จากซ้ายมาขวา) เนื่องจาก ถั่วพู มีปัญหาสำคัญเพียงอย่างเดียว คือ เพลี้ยอ่อน ถ้าดูแลควบคุมได้ ออกดอก ก็ เก็บฝักขายได้แน่นอน จึงใช้ หัวฉีดที่มีประสิทธิภาพควบคุมสูงสุด คือ เบอร์ ๔ ทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับช่วงอายุถั่วพู และปัญหาเพลี้ยอ่อน (ปั๊มน้ำก็ต้องมีแรงดัน ๒๕๐วัตต์ ขึ้นไป)(ที่บ้านใช้ ๓๕๕วัตต์ เพราะต้องฉีดยอด มะละกอ ที่สูงหลายเมตร(อายุ ๒ปีกว่า)
เนื่องจากรุ่นที่ทำการถ่ายภาพ(ช่วงเช้าวันพ่อ) เป็นรุ่นที่เริ่มติดดอก ติดฝัก และต้นเลื้อยสูงเกือบถึง ส่วนบนโรงเรือน( ๓.๕๐ เมตร) จึงใช้หัวเบอร์ ๔(เก้ารู) เพราะ ดอก และฝักจะไม่ช้ำ และแรงพอจะควบคุมเพลี้ยอ่อนได้ทุกๆส่วนของต้นถั่วพู
สภาพหลังการฉีดน้ำฝอยแรง สังเกตจะเห็นหยดน้ำฝอยที่ใบ ดอก และที่ฝักเล็กๆ
ละอองฝอยน้ำแรง ติดข้างประตูรถ นอกจากใบ และฝักขนาดกำลังจะออกตลาดพรุ่งนี้ (ช่วงนี้ที่บ้านยังเพิ่งเริ่มออกขาย ประมาณ อาทิตย์ละ ๒๐๐-๓๐๐ฝัก) แต่ช่วงเทศกาลสำคัญปีใหม่ ก็คง ประมาณไม่น้อยกว่า ๒๐๐๐ฝักต่ออาทิตย์ ถ้าสามารถควบคุมเพลี้ยอ่อนได้(บ้านคล้ายเป็น โชว์รูม ผักปลอดภัย ตลอด สามปีมานี้)
สังเกตดี (ภาพข้างล่าง) ถั่วพูทุกๆต้น ปลูกในถุงดำวางเรียงกัน สองแถวติดกัน กลบดินที่ก้นถุง(รักษาระบบรากให้สมบูรณ์ และให้ไส้เดือนดินขยายเพิ่มจำนวนให้มากที่สุด)
***********************************************
คงจะไม่ต้องอธิบายมากนัก ใครที่ติดตามบล็อค ถั่วพู 2S ก็เคยพูดไว้ หลายๆครั้งว่า ทำไม ถึงให้น้ำหนัก ถั่วพู ถึงระดับพืชเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน สิ่งแรกสุดคือ สีของดอกนะครับ เหมือนสีสัญญลักษณ์ของพระองค์ท่าน (โดยเฉพาะ สมเด็จพระเทพฯ)
เป็นพืชตระกูลถั่ว เติบโตในสภาพดินความอุดมสมบูรณ์ต่ำในอิสาณได้ดี ไม่กลัวไส้เดือนฝอยรากปม ผลผลิตออกเกือบตลอดปี และมากในช่วงเทศกาลดำนา ยาวไปจนถึงเทศกาลสงกรานต์ ใช้พื้นที่ทุกๆส่วนอย่างคุ้มค่าไม่ว่า เสา ถุงดำที่ใช้ปลูกแล้ว หรือจะนำไปปลูกพืชอื่นต่อ ขายได้ทั้งฝักสด เมล็ดพันธุ์ และพิเศษสำหรับ 2S ขายได้แม้ต้นในถุงดำ(๒๐บาท ต่อถุง) มีปัญหาหลักคือ เพลี้ยอ่อน ควบคุมอยู่ก็เก็บฝักขายได้แน่นอน เก็บได้เร็ว และไม่ยุ่งยาก ตลาดที่นี้ชอบมากๆ ไม่เฉพาะยำถั่วพู แต่กินกับ ส้มตำ กินกับ ข้าวปุ่น แจ่ว น้ำพริก
และที่สำคัญมากๆอีกสองประการ คือ มีอะไรหรือ ที่คุณภาพ รสชาด ความสด จะต่างกับปลูกแบบใช้สารฯ จะมีแต่เท่ากับ กับดีกว่า และได้ราคาพอเหมาะ ไม่กลัวใคร( ไม่ต้องใช้ ๓-๕ ต่อ ๑ อย่าง คะน้ายอด) และเมล็ดที่น้อยคนนักจะคิดคำนึงถึงด้านโภชนาการ ธาตุอาหาร สูงเท่ากับ ถั่วเหลือง หรือมากกว่า ด้วยซ้ำไป
ในปีหน้า ทางสวนมีเป้าหมายจำนวนต้นปลูกไว้ที่ไม่น้อยกว่า ๓๕๐๐๐ต้น โดยใช้เมล็ดพันธุ์คัดจากสวน ๙๐%(๑๐%ยังอยากจะคัดสายพันธุ์ดอกขาว ให้ออกดอก ติดฝักทุกๆฤดูกาล) และมีความฝันว่า สักวันหนึ่ง เกษตรกรรายย่อยจะสามารถส่งออก ถั่วพู ไปเมืองนอก เพราะไม่มีอะไรจะต้องกลัว ไม่มีโรค แมลง สารตกค้างใดๆที่ ฝัก(ไม่ต้องกลัวแมลง โรคติดไปกับรากด้วย)
พอเท่านี้ก่อน เขียนมาก พูดมากก็โม้มาก มาดูพืชผักที่ไม่ได้มีรายชื่อ(ในหัวข้อ) แต่ อิสาณขาดไม่ได้ บักหุง หรือมะละกอ ที่จะนำเสนอคือ ต้นที่บ้านอายุ ๒ปีกว่า ให้เดาดูว่าสูงเท่าไร และฉีดน้ำ ควบคุม เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งได้อย่างไร ต้นแม่เขายังอยู่ อายุ ๔ปีกว่า แล้ว ยังให้ ลูกหลานพันธุ์ดี กรอบ แซ่บ เหมาะกับ ตำบักหุง ครับ
ฉีดน้ำ รูปถ่ายในวันพ่อ นี้เอง ทายเอาเองว่า ต้นสูงเท่าไร
สภาพหลังฉีดน้ำ และต้นพี่น้องกัน(มี ๗ต้น)
*******************************************
อย่าลืมไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน และกราบถวายพระพร พระองค์ท่านนะครับ
*******************************************
เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ การทำปุ๋ยหมักตื่นตัว และสวนผักปลอดภัย
ป้าหน่อย
5 ธันวาคม, 2010 - 23:27
Permalink
ขอบคุณ 2S
เข้ามาขอบคุณ ความจริงเข้ามาอ่าน
ตลอด แอบขโมยก๊อปปี้ ส่งให้น้องๆ
ที่บ้านนอก ก็หลายองค์ความรู้ แต่ไม่เคย
เข้ามาขอบคุณเลยสักครั้ง
อาจมีอีกหลายคนที่เป็นและเห็นแบบนี้
ไม่ล๊อกอิน แต่เข้าอ่านเก็บเกี่ยวเอาความรู้
แต่ขอบอก ว่ามีประโยชน์มากมาย
กับผู้ที่ต้องการข้อมูล ที่ละเอียด
แต่ไม่มีเวลาค้น ขอบคุณที่กรุณาแบ่งปันค่ะ
ลูกอิสานกันดารแท้ แต่บ่อเหี่ยวทางน้ำใจเด้อ
หากแหม่นใหลหลั่งรินปานฝนแต่เมืองฟ้า
มาเด้อพวกพี่น้อง สานสัมพันธ์ให้มันแก่น
ให้ยืนยาวแนบแน่นพอปานปั้นก้อนข้าวเหนียว เด้อพี่น้อง
หน้า