ตอนที่หนึ่ง แรงบันดาลใจและความตั้งใจครั้งใหญ่

หมวดหมู่ของบล็อก: 

บทนำ

ก่อนอื่นผมต้องขอบคุณน้ำใจจากพี่น้องชาวบ้านสวนทุกคนที่ให้การต้อนรับผมเป็นสมาชิกใหม่เมื่อสามเดือนที่แล้ว จริงๆแล้วผมเข้ามาอ่านเวปนี้แบบเงียบๆเกือบปีแล้วแต่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก จนเข้ามาเป็นสมาขิกจริงๆ แล้วก็ได้เขียนคอมเมนท์บ้าง และผมก็ต้องขอบคุณ ผู้ใหญ่โสทร ที่ให้โอกาสผมได้เขียนบทความนี้ถึงแม้ว่าผมไม่ได้มีความรู้การเกษตรอะไรเลย แต่เรื่องราวเป็นตอนๆที่จะเขียนนี้ เป็นประสบการณ์จริงในชีวิต

ที่อาจมีประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรที่ต้องอยู่ในไร่นาทำการเกษตร จะได้ป้องกันอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บที่ผมจะนำเสนอนี้ และต้องขอขอบคุณพี่หยอย ปราชญ์ของหมู่บ้านที่ให้กำลังใจและให้ข้อคิดอยู่ห่างๆ จนทำให้ผมอยากเขียนเรื่องราวของตัวเองออกมา ผมเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น อาจจะไปงอกไกลซักหน่อย แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่งอกได้ สุดท้ายนี้ผมขอฝากบทความเหล่านี้ไว้ที่เวปบ้านสวนแห่งนี้ที่แรกและที่เดียว

ด้วยความปรารถนาดี
ลุงแอ้ด คนสงขลา

ตอนที่หนึ่ง แรงบันดาลใจและความตั้งใจครั้งใหญ่

เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ตอนที่ผมเพิ่งกลับมาจากศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษทางด้านจุลชีววิทยาการแพทย์ ผมก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และที่นี่เองที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรมากมาย มากกว่าที่ๆมีอยู่ในตำรา ตอนนั้นอายุสามสิบปีเศษๆ มีไฟแรงมาก เป็นหนุ่มนักเรียนนอก มีดีกรีถึงดอกเตอร์จากอังกฤษ และแล้ววันหนึ่งก็มาถึง วันที่ทำให้ผมมีวันนี้และมีความตั้งใจทุ่มเทชีวิตเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง วันนั้นวันที่ผมต้องพานักศึกษาต่างชาติไปดูงานโรงพยาบาลและการวินิจฉัยโรคในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ในขณะนั้นโรคฉี่หนู (Leptospirosis) กำลังระบาดอยู่มากเลยทีเดียว เลยร่วมกับอาจารย์หมอหลายๆคน พานักศึกษาเหล่านี้ไปจังหวัดๆหนึ่งในภาคอีสาน ไปศึกษาดูงานทางการแพทย์และเรียนรู้วัฒนธรรม พบปะชาวบ้านไปในตัว ผมและคณะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลและสาธารณะสุขจังหวัด นักศึกษาที่พามาด้วยทุกคนเป็นหมออยู่แล้วประมาณยี่สิบกว่าคน มีคนไทยสองคน นอกนั้นมาจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงนักศึกษาจากอัฟริกา และยุโรป ที่ต้องการมาเรียนเพิ่มเติมด้านโรคเขตร้อน (Tropical Medicine) ด้วยเหตุที่ผมไม่ได้เป็นหมอ และยังใหม่กับโรคเขตร้อน ก็เลยเดินตามอาจารย์หมอที่มาด้วย ทำหน้าที่ผู้ช่วยและเป็นล่ามเมื่อนักศึกษาเหล่านี้ต้องการสนทนากับผู้ป่วย ทุกอย่างที่นี่ผมไม่เคยเห็นในห้องเรียน ความเจ็บป่วยของชาวบ้านเหล่านี้ทำให้ต้องคิดถีงว่าความรู้ที่เราให้กับประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ ให้ปลอดจากโรคภัยไช้เจ็บ มันยังไม่ดีพอ ก็ได้แต่ภาวนาว่าวันหนึ่งเราจะช่วยอะไรได้บ้าง

ในขณะที่ทุกคนวุ่นอยู่กับการสัมภาษณ์คนไช้โรคฉี่หนูและก็มีผมช่วยแปลภาษาให้บ้างบางครั้ง แต่ก็มีบางช่วงที่ตัวผมเองก็ต้องแสวงหาความรู้เหมือนกัน ตาก็เหลือบไปมองผู้ป่วยคนหนึ่งมีรอยแผลเป็นตุ่มๆตามขาและลำตัว แผ่นเอ็กซ์เรย์บอกว่ามีการติดเชื้อที่ปอดเป็นปื้นๆขาวๆทั้งสองข้าง มีอาการปอดบวมอย่างรุนแรง มีอุณหภูมิสูง ผมก็ได้ถามอาจารย์หมอที่มาด้วยกันว่า ผู้ป่วยเป็นโรคอะไรทำไมถึงมีปุ่มๆตามขาเป็นแผลเรื้อรัง และมีอาการปอดบวม อาจารย์หมอที่มาด้วย ท่านก็แก่แล้ว ท่านก็คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วก็เอ่ยออกมาว่า ผู้ป่วยคนนี้น่าจะเป็น “โรคเมลิออยด์” (Melioidosis) ผมก็ฟังไม่ถนัด ก็เลยถามอีก อาจารย์ก็ตอบแบบดุๆว่า “ไม่เคยได้ยินเหรอ โรคเมลิออยด์ ที่ลิเวอร์พูลเค้าไม่สอนมาเหรอ” ฟังอาจารย์แล้วก็มีความรู้สึกว่าเราไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโรคนี้ ตอนนั่งรถกลับมากรุงเทพฯก็นั่งคุยกับอาจารย์เกี่ยวกับโรคนี้มาเรื่อยๆ อาจารย์บอกว่าโรคนี้เป็นโรคที่วินิจยากมาก หมอเมืองไทยถ้าไม่ได้เรียนทางโรคเขตร้อนก็จะไม่ทราบ คนตรวจโรคก็ไม่มีความชำนาญ หมอรายงานได้แต่เพียงว่าเป็นปอดบวมฉับพลัน แล้วติดเชื้อในกระแสเลือด ผมจำได้ว่าพอกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ผมเสาะหาข้อมูลอย่างมากเกี่ยวกับโรคนี้ มีหนังสือภาษาไทยเขียนไว้เพียงเล่มเดียว จากอาจารย์หมอในมหาวิทยาลัยที่ภาคอีสาน อ่านแล้วก็รู้ว่าโรคนี้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ที่อาศัยอยู่ในดินทางภาคอีสานของประเทศไทย มีบ้างทางภาคเหนือ และภาคใต้ ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณไม่ต่ำกว่า หนึ่งพันรายต่อปี 40-50% เสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง เป็นปอดบวม ส่วนใหญ่เป็นชาวนา และชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีเชื้ออันตรายอยู่ในดิน เช้าสู่ร่างกายทางบาดแผล และหายใจเอาฝุ่นที่ติดเชื้อเข้าไป ด้วยแรงบันดาลใจที่จะทุ่มเทความรู้ความสามารถเพื่อจะได้ช่วยเหลือคนไทย เมื่อ ปี2544 ผมเลยตัดสินใจลาออกจากราชการ แล้วไปทำวิจัยเกี่ยวกับโรคนี้ที่ประเทศแคนาดา เพื่อจะได้หาโอกาส ศึกษาโรคนี้อย่างลึกซึ้ง แล้วพยามผลิตวัคซีนให้ได้ ตอนนี้ผมเป็นนักวิจัยเต็มตัวแล้ว ทำงานให้กับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้มาเกือบสิบปีเต็ม ผมมีความเชื่อว่าแรงบันดาลใจเมื่อครั้งนั้น ผมยังมีอยู่เต็มร้อย วันหนึ่งผมต้องทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้ให้สำเร็จ มาดูนะครับว่าลุงแอ้ดทำอะไรมาบ้างเกือบสิบปีที่ผ่านมา โปรดติดตามเรื่องราวของลุงแอ้ดตอนต่อไปนะครับ มีคร่าวๆเป็นตอนๆดังนี้
ตอนที่สอง: ตามล่าหาความจริงของเชื้อเมลิออยด์ในดินทุ่งนาที่ภาคอีสาน
ตอนที่สาม: ลุงแอ้ดกับการสืบหาการระบาดของโรคเมลิออยด์ในฟาร์มแพะที่เมืองดาร์วิน (Darwin) ทางเหนือของออสเตรเลีย และทำไมลุงแอ้ดต้องไปที่นั่นทุกปี
ตอนที่สี่: เมลิออยด์และมหันตภัยร้าย ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และงานของลุงแอ้ดที่ร่วมกับ เอฟบีไอ
ตอนที่ห้า: คนไทยคนนี้กับงานพัฒนาวัคซีน
ตอนที่หก: วันนี้ที่รอคอย วันที่ลุงแอ้ดได้กลับมาบรรยายและให้ความรู้โรคเมลิออยด์ที่เมืองไทย ด้วยภาษาไทย

ความเห็น

..ดีใจมากค่ะ สำหรับความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่สำคัญฝีมือคนไทย...จะติดตามตอนต่อไปน่ะค่ะ:.:cheer3:

ขอบคุณมากครับที่ให้ความสนใจ แล้วจะเขียนมาอีกครับ

แรงบันดาลใจมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เรา อยากทำ อยากพัฒนา

ขอบคุณลุงแอ๊ดมากครับ ที่นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร และทุกๆคน

ใช่ครับแรงบันดาลใจ ทำให้หลายอย่างเกิดขึ้นได้ ขอบคุณมากครับที่มาให้กำลังใจ จะเป็นกำลังใจให้กันและกันครับ

ข้าเจ้าอ่านแล้วเกิดแรงฮึกเหิมไปด้วยเลย  ทำให้คิดถึงตัวเองเมื่อครั้งวัยเยาว์ ได้อ่านหนังสือเรื่อง ปุลากง  พอเรียนจบออกมาก็เลยใช้วิถีชีวิตอย่างนั้นอยู่พักหนึ่ง .. มีความสุขมากค่ะ   :admire2:

จะรอฟังตอนที่สองนะเจ้าคะ...

.................

ขอบคุณครับน้องกายส์ หนังสือมีส่วนสร้างเสริมหลายอย่าง ให้เรารู้จักคิด บางทีก็อาจเป็นแบบให้เราเดินตามได้ ตอนนี้ลุงแอ้ดสนใจอ่านหนังสือธรรมะมาก อ่านกี่ครั้งต่อกี่ครั้งเล่มเดิม ก็ได้อะไรใหม่ทุกครั้ง

สำหรับข้อมูล และความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเกตรกรไทย จะคอยติดตามอ่านทุก ๆ ตอนค่ะ และดีใจที่ได้รู้จักถึงแม้จะเพียงในโลกออนไลน์ ดีใจที่มีคนสงขลา ยอมทุ่มเท เพื่อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ................. :admire2:

 

 

msn:lekonshore@hotmail.com

ชีวิตคนเรานั้นสั้นนัก จงมีความสุข สนุกกับชีวิต อย่ามัวคิดอิจฉาใคร

ขอบคุณครับคุณเล็ก ผมออกจากบ้านมานานมากแล้วครับ กลับไปสงขลาแต่ละครั้งก็อยู่ได้ไม่กี่วัน ดีใจเช่นกันครับที่ได้รู้จักกัน กรกฎานี้อาจจะได้กลับครับ ไปทำโครงการด้านวัฒนธรรมและดนตรีไทยที่บ้านให้พ่อครับ

ขอบคุณครับ ...จะรอติดตามอ่าน ตอนต่อ ๆ ไปครับ .....

เมื่อรู้สึกว่ากำลังแย่ จงให้กำลังใจตัวเอง ด้วยการคิดว่า "ยังมีคนอื่นที่แย่กว่าเราอีก"

ขอบคุณครับ กำลังเขียนตอนที่สองอยู่ครับ

หน้า