ปรุงอาหารจากถั่วลูกไก่

หมวดหมู่ของบล็อก: 

อาหารจากถั่วลูกไก่


ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในหลาย ๆ จังหวัดของไทย เลยมัวยุ่ง ๆ กับเตรียมตัวรับสถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่การเก็บบ้าน เทินของให้สูง เผื่อไว้หน่อย ไม่ท่วมถือว่าเป็นการทำความสะอาดบ้าน หากน้ำมาอย่างน้อยก็เสียหายน้อยกว่าที่จะไม่เตรียมตัวกันเลย


พอเหนื่อย เมื่อย ก็หิว ไม่ลืมถั่วลูกไก่ที่มีติดบ้าน ที่แช่ไว้แต่วันก่อน


ถั่วลูกไก่ ๑๕๐ กรัม(โดยประมาณ)



เพาะงอก ๒๔ ชั่วโมง ด้วยการแช่น้ำกลางวัน ตกกลางคืนรินน้ำออก เช้ารุ่งขึ้นจะงอกเห็นตุ่มรากเล็ก ๆ ขณะที่เมล็ดถั่วลูกไก่พองโตขึ้น



เติมน้ำเท่าตัว ปั่น



กรองน้ำถั่วลูกไก่ไว้ทำน้ำนมถั่วลูกไก่


(หรือหากชอบน้ำใสให้เติมน้ำเพิ่มได้ ต้มไฟอ่อน เติมขิงแก่สักสองแว่น และน้ำตาลอ้อย ปรุงรสหวานตามชอบ)



ส่วนของกาก ผสมแป้งหมี่โดยประมาณห้าช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน



ตามด้วยมาซาล่า (ผงเครื่องเทศชาวอินเดีย) สามช้อนโต๊ะ


หรือแล้วแต่ชอบ และเกลือชิมรสให้ได้ตามชอบ


คนให้เข้ากัน



ตั้งกระทะพออุ่น เอาส่วนผสมของถั่วกับแป้งตั้งไฟอ่อน ๆ (ใช้กระทะเคลือบ) คนจนกะว่าสุก หากว่าแห้งไปให้เติมน้ำ(หรือใช้น้ำต้มถั่วลูกไก่เพาะงอก)คอยคนอย่าให้ติดก้นกระทะ



แต่แห้งงวดจับเป็นก้อนน้อย  ๆ ตักขึ้น



ตักเนยเล็กน้อย(หรือน้ำมัน)แตะรองก้นกระทะเคลือบ แล้วตักถั่วลูกไก่ผสมแป้งที่ปรุงแล้วปิ้งในกระทะ



ใช้ไฟอ่อน ๆ ปิ้งพอเกรียมหรือกรอบตามชอบ


กินกับน้ำต้มถั่วเพาะงอก และผักสด ๆ


มื้อนี้ก็จะได้อาหารกันครบห้าหมู่กันเลยทีเดียว  


วันนี้มีจังหวะเหมาะ ๆ เลยค้นข้อมูลถั่วลูกไก่มาแบ่งปันกันด้วย ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากเวป http://www.ejobeasy.com/kmdetail.php?n=100621120953


"นางเกษมศรี   หอมชื่น   ผู้ว่าการ วว.  กล่าวชี้แจงว่า    ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำนมถั่วชิกพี” หรือ Chickpea milk เพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและเป็นการส่งเสริมให้มีการปลูกถั่วชิกพีภายในประเทศ  ถั่วชิกพีในปริมาณ 100 กรัมเมล็ดแห้ง จะมีคุณค่าทางโภชนาการประกอบด้วย โปรตีน 20-30 กรัม  กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย 5 ชนิด ได้แก่  methionine, cystine, threonine, tryptophane และ valine  มีปริมาณไขมันต่ำประมาณ 4 กรัม ซึ่งต่ำกว่าปริมาณไขมันในถั่วลิสงและถั่วเหลือง  มีเส้นใย  5 กรัม   แคลเซียม 0.2 กรัม   ฟอสฟอรัส 0.3 กรัม  คาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย  58  กรัม  และพลังงาน 1,520 กิโลจูลแคลอรี่"


       "นางจิตตา   สาตร์เพ็ชร์     นักวิชาการ   ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว.  กล่าวเพิ่มเติมว่า ถั่วหัวช้าง (chickpea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cicer arietinum L. จัดอยู่ในวงศ์ Leguminosae เป็นถั่วประเภทมีฝักมีลักษณะเป็นทรงกลมและมีจะงอยแหลมเหมือนปากไก่  สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก Desi type เป็นพันธุ์ที่มีดอกสีม่วง เมล็ดเล็กและผิวขรุขระ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม  และประเภทที่สองคือ Kabuli type เมล็ดใหญ่กว่าผิวค่อนข้างเรียบ สีเปลือกหุ้มเมล็ดมีสีครีม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตะวันออกกลาง และมีการปลูกเป็นการค้าอย่างแพร่หลายในประเทศอินเดีย ปากีสถาน เอธิโอเปีย ตุรกี เม็กซิโก ในทั่วโลกจะมีการปลูกถั่วชิกพีเป็นอันดับ 5 รองจากถั่วเหลือง ถั่วลิสง  ถั่วแขกและถั่วลันเตา มีการผลิตประมาณ 15% ของการผลิตถั่วเมล็ดแห้งทั่วโลก  อย่างไรก็ตามการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลกเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น อินเดีย ยังมีการนำเข้าถึงปีละประมาณ 204,400 ตัน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการนำเข้าปีละ 271,300 ตัน"


 

ความเห็น

เพิ่งได้ชิมเป็นเรื่องเป็นราวติด ๆ กันก็สองวันนี้ล่ะค่ะ ความว่ามีโปรตีนมากเทียบเท่าเนื้อวัว เหมาะกับคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์น่ะคะ ไม่ทราบว่าคุณพริกหอม สนใจรับไปลองเพาะดูสักหน่อยไหมคะ เท่าที่ทราบมาว่าจะให้ผลเก็บเกี่ยวได้เมื่อปลูกในที่สูงและอุณหภูมิต่ำในหน้าหนาว ...

ถั่วลูกไก่ น่าสนใจ บุ๊คมาร์คไว้ก่อน ขอบคุณค่ะ:bye:

น่าสนใจเลยค่ะ น้องสร ความว่าโปรตีนจากถั่วสูงใกล้เคียงโปรตีนจากเนื้อว้วเลยค่ะ ...

:admire2: เคยกินเมื่อนานมาแล้ว เพิ่งรู้ว่าเขาเรียกว่าถั่วลูกไก่ (คงแปลมาตรงๆจากคำว่า chick) หาซื้อได้ที่ไหนใน กทม. หรอครับพี่สายพิณ? แล้วถ้าปลูกในภาคกลางจะได้ผลผลิตหรืเปล่าครับ? :confused:

“Stupidity is an attempt to iron out all differences, and not to use them or value them creatively.”
― Bill Mollison

คิดว่าผลผลิตหากว่าปลูกในภาคกลางละก้อน่าจะได้น้อยนะคะ อันนี้คาดเดาเอา (ความว่าชอบอากาศเย็นมากกว่า แต่ยังไงหากว่าจะปลูกก็น่าสนใจนะคะ แล้วค่อยว่ากันอีกที) ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดถั่ว พี่ก็ว่าน่าสนใจเนื่องจากข้อมูลบอกไว้ว่ารากถั่วชนิดนี้จะตรึงไนโตรเจนในอากาศไว้ เป็นการบำรุงดินไปด้วย ต้องขออภัยนะคะ เคยอ่านผ่านตาเลยไม่ได้แนบลิ้งค์ที่ว่าให้


อีกเรื่องคือซื้อได้แถว ๆ ตลาดที่มีวัดชาวอินเดียใกล้ ๆ พาหุรัดค่ะ ที่ขายผ้าเยอะ ๆ ใน กทม. บริเวณจะมีชาวอินเดียอยู่กันเยอะค่ะ ไว้วันหลังหากว่าไปอีกอาจขอเบอร์โทรฯร้านไว้ให้นะคะ น้องนึก ... เผื่อจะได้สะดวกกับการซื้อหา

อิอิ อ่านมาตั้งนาน เพิ่งรู้ว่า ถั่วลูกไก่ คือ chick pea น่ะเอง เมนูนี้ดูน่าอร่อยจังค่ะพี่สายพิน

:admire2:

โจ ... พี่ว่าบางทีอาจกินแบบจรเข้อ่ะค่ะ เลยอะไรก็กินได้ไปหมด อิอิ แต่ที่เลือกถั่วแล้วใส่ผงเครื่องเทศก็ด้วยอยากให้มีเครื่องเทศเข้าไปช่วยในการย่อยอาหารจำพวกถั่วด้วย... น่าจะดีกว่ากินแต่ถั่วอย่างเดียวนะคะ

ไม่รู้จักถั่วลูกไก่มาก่อนเลยค่ะ  เพิ่งเคยได้ยินและได้เห็นครั้งแรก..... :admire: พี่สาวกุ้งดัดแปลงเก่งนะคะ  ถั่วลูกไก่ปิ้งน่ากินมาก...มองเผิน ๆ เหมือนคุ๊กกี้เลยค่ะ  วันนี้คุยกันแค่นี้ก่อนนะคะ  พอดีกุ้งรีบค่ะ

มีความสุขกับการที่ได้ให้มากกว่าการที่ได้รับ

ขอบคุณมากน้องกุ้ง ยุ่ง ๆ น้องกุ้งก็ตามเข้ามาส่งข่าวกันด้วย ... ได้ยินชื่อถั่วลูกไก่ครั้งแรกจากป้าเล็กค่ะ เห็นครั้งแรกก็ตอนที่ป้าเล็กฝากให้ชมกัน แต่เป็นแบบเมล็ดเล็กกว่า อันนี้เมล็ดจะใหญ่กว่านะคะ ทราบจากอาจารย์ท่านหนึ่งว่าต้องมีวิธีการปรุงอาหารที่ถูกวิธีถึงจะได้รสชาติ ต้องผ่านขั้นตอนเพาะงอก ต้มให้สุกนิ่ม จากนั้นใส่น้ำมันมะกอกกับเครื่องปรุงอื่น ๆ อาจารย์ว่าจทำไว้แช่ตู้เย็นวันไหนไปเยี่ยมท่านอีกท่านจะแบ่งให้ชิมกัน พี่เลยคิดว่าพลิกแพลงสูตรให้เหมาะกับวิถีชีวิตที่เคยทำก็แล้วกัน ... เลยได้เป็น "ถั่วลุกไก่ปิ้ง" เข้าท่ามากเลยน้องกุ้งคำนี้นะ "ถั่วลูกไก่ปิ้ง" แต่ปิ้งลูกไก่รอบนี้ไม่ผิดกติกาอ่ะค่ะ

เพิ่งเคยเห็นคะ มีประโยชน์เยอะดีจัง

หน้า