เรื่องเล่า ดร. ประมวล เพ็งจันทร์

หมวดหมู่ของบล็อก: 

ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ : 66 วันเดิน 1,000 กิโลเมตร 


 

     ดร. ประมวล เพ็งจันทร์  มีใครเคยรู้จักผู้ชายคนนี้มั้ยคะ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน นุสิตา ได้ Serch หาบทความดีๆ อ่าน แล้วก็ได้เจอ เรื่องราวของชายคนนี้โดยบังเอิญ อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจสนุก น่าติดตาม อีกทั้งแนวทางดำเนินชีวิตน่าสนใจมากเลยค่ะ Smile

     บทความมีการใช้ถ้อยคำสุภาพ สละสลวย อ่านแล้วก็อยากอ่านจนจบ มีเนื้อหาที่อ่านแล้วน่าติดตาม ตัวหนังสืออาจยาวไปซักหน่อย ลองอ่านดูนะคะ บทความนี้สอนให้เรารู้ซึ้งถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดี

...................................................

     1 ปีก่อน ผู้ชายธรรมดา ๆ คนหนึ่งได้ตัดสินใจยุติบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยในวันคล้ายวันเกิดปีที่ 51 เพื่อออกเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับสู่บ้านเกิดที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ด้วยเงื่อนไข ไม่พกเงินติดตัว-ไม่เดินไปหาคนรู้จักหากคนรู้จักอยู่ที่ไหนก็จะหลีก เลี่ยง-ไม่ร้องขออาหาร เว้นแต่จะมีผู้หยิบยื่นให้เองโดยไม่เดือดร้อน-ไม่เบียดเบียนใครหรือสิ่ง ใด-ไม่กำหนดเวลา-ไม่วางแผนการเดินทาง หรือกำหนดเส้นทางที่แน่ชัด

      66 วันผ่านไป อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญาฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนเดิมเดินกลับมาเหมือนปาฏิหาริย์ นำมาซึ่งการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านระยะทางกว่า 1,000 ก.ม.ในหนังสือ "เดินสู่อิสรภาพ"แทนจดหมายขอบคุณผู้ให้ชีวิตใหม่แก่เขาตลอดเส้นทางกว่า 166 คน และบอกเล่าความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ตลอดการก้าวย่างทั้งภายนอกและการเดินทางภายใน..

       

      ฉากชีวิตของ ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ริ่มต้นบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ผ่านชีวิตเด็กรับจ้างกรีดยางที่เรียนจบเพียงชั้นป.4 ไฟไหม้สวนยางทั้งแปลงของตนเมื่ออายุ 15 ปี การตัดสินใจบวชเณรเพื่อก้าวให้พ้นจากความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2514 จนเรียนจบเปรียญ 5 เข้าเรียนมหาจุฬาฯ ย้ายไปเรียนมหามกุฏฯ และตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตอีกครั้งเพราะสะเทือนใจกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดีย จนจบปริญญาตรี-โท-เอก สาขาปรัชญา ซึมซับอารยธรรมอินเดียเป็นเวลานานถึง 10 ปีเศษ ก่อนกลับมาช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และสอบบรรจุเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นานกว่า 16 ปี

     "ผมคิดว่าเวลาที่จะมีชีวิตอยู่มันเหลือไม่มากนักและผมได้รับอิทธิพลจากวัฒธรรมอินเดียที่เคยอยู่มา เมื่อถึงวัยหนึ่งที่สำนึกรู้ว่าตนมีเวลาเหลืออยู่ในโลกไม่มากแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวที่จะละโลกนี้ไป หรือไม่ยึดติดในสภาวะที่มีอยู่ ผมเลยใช้การเดินเพื่อออกจากสภาวะที่มีอยู่"

          

       การฝึกเดินครั้งแรก  ค่อนข้างทุลักทุเล เพราะเมื่อเดินลงจากดอยสุเทพแล้วกลับบ้านไม่ได้เนื่องจากรถเยอะมากจนไม่สามารถข้ามถนนได้ต้องโบกรถโดยสารให้ไปส่งที่บ้านโดยภรรยาถึงกับต้องอุ้มเข้าบ้านและนวดให้ทั้งคืน รุ่งเช้าจึงเป็นไข้และเว้นไป 1 วันจึงตั้งต้นฝึกเดินต่อจนกระทั่งเดินได้พอสมควรและเชื่อว่าจะเดินได้ภรรยาจึงอนุญาตให้เดินออกจากบ้านในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548

       สัมภาระมีเพียงเป้หนึ่งใบที่บรรจุยาขวดน้ำหมวกเสื้อผ้าหนึ่งชุดสมุดบันทึกปากกา และไปรษณียบัตรที่เขียนถึงภรรยาทุก ๆ วันเพื่อสื่อสารว่ายังมีชีวิตอยู่

      


ความหมายของอาหารมื้อแรก

        วันแรกของการออกเดิน อ.ประมวล พบบทเรียนแรกจากการอดเมื่อถึงเขตอำเภอสันป่าตอง เกิดอาการอ่อนล้าขณะที่น้ำในกระบอกก็หมดตนรู้สึกหน้ามืดเหมือนจะเป็นลมคอแห้ง น้ำลายขม และหูอื้อไม่ได้ยินเสียงอะไรขณะนั้นเขาพบเพิงขายก๋วยเตี๋ยวซึ่งมีม้าหินขัดตั้งอยู่จึงขออนุญาตเจ้าของเพิงขายก๋วยเตี๋ยวนั่งพักตรงนั้นและได้รับไมตรีจิตจากเจ้าของเพิงทำก๋วยเตี๋ยวให้ทานเมื่อทราบว่าเขาเดินเพื่ออะไร

        "ผมรู้ว่าก๋วยเตี๋ยวชามนั้นเขาเต็มใจทำจริง ๆเพราะมันเต็มชามเลย ทั้งเส้นก๋วยเตี๋ยว ทั้งลูกชิ้นทั้งอะไรที่มีอยู่เขาใส่มาจนเต็มแล้วผมก็ได้รู้ว่าการได้ทานก๋วยเตี๋ยวชามนั้นมันมหัศจรรย์และวิเศษที่สุดเพราะก่อนหน้านั้นผมรู้สึกว่าเพียงแค่วันแรกชีวิตของผมก็กำลังจะมอดดับสลายเสียแล้วแต่พอได้ทานก๋วยเตี๋ยวเท่านั้นเองสิ่งที่มันเฉาไป มันก็ค่อย ๆ พื้นคืนมา"

        "ผมขอบคุณคนให้ก๋วยเตี๋ยวที่ช่วยต่อชีวิตให้ผมยังได้มีต่อไปการทานอาหารเพียงแค่มื้อแรกก็สุดแสนมหัศจรรย์กับการที่มีชีวิตอยู่เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราตระหนักรู้ว่าอาหารที่ทานเข้าไปนั้นมันมีความหมายมากกว่าที่เราเคยทานมาไม่รู้สักเท่าไรและอาหารแต่ละมื้อที่ทานไปมีมิติแห่งความหมายทั้งนั้นจนผมรู้สึกเสียดายว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมากินอาหารไม่รู้กี่ร้อยกี่พันมื้อแล้วทำไมจึงไม่ได้ความรู้สึกไม่ได้อารมณ์ประเภทนี้เลย"


 เฉียดตายเพิ่มความหมายชีวิต

         ครั้งแรก ของประสบการณ์เฉียดตายระหว่างการก้าวเดินของอ.ประมวล คือขาขึ้นดอยอินทนนท์ ซึ่งเขาเล่าว่าเหมือนชีวิตกำลังจะขาดรอนๆเขาใช้คำว่าเกือบปลงชีวิตเสียแล้ว เพราะทั้งใจสั่น หน้ามืดจะเป็นลมต้องล้มตัวลงนอนที่ข้างถนนปรากฎว่าไม่ตายเพราะมีรถปิคอัพทะเบียนชลบุรีคันหนึ่งจอดรับเขาเพื่อไปส่งถึงยอดดอยในระยะทางอีกเพียง 2 ก.ม.เท่านั้น ซึ่งนั่นทำให้เขาได้เรียนรู้ความสุขจากขาลงดอยที่เปรียบได้กับขาลงของชีวิตเพราะไม่ต้องแบกน้ำหนักจากสิ่งใดๆ เท่ากับขาขึ้น

    
        ครั้งที่สอง
คือเมื่อเดินถึงจังหวัดราชบุรีเนื่องจากวันนั้นอดข้าวมาทั้งวัน และยังต้องเดินบนถนนใหญ่ที่อากาศร้อนจัดและเต็มไปด้วยควันพิษทำให้รู้สึกวิงเวียนหูอื้อตาลาย ไม่สามารถทรงตัวได้ เขาคิดว่าตัวเองจะตายอีกครั้ง แต่ก็ยังมีคนมาพบและนำตัวขึ้นรถกระบะโดยที่อ.ประมวลพยายามพูดได้แค่เพียงคำว่าเพชรบุรีอยู่หลายครั้งก่อนหมดสติไป..

 บทเรียนจากเงิน 200 บาท

         บทเรียนที่ดีมากอีกครั้งหนึ่งคือเหตุการณ์ที่จ.กำแพงเพชรเมื่อชายหนุ่มคนหนึ่งจอดรถรับเขาขึ้นรถและเมื่อรู้เจตนาที่แท้จริงในการเดินก่อนจากกันจึงรีบซุกเงิน200 บาทให้ในซอกเป้ แล้วขับรถหนีไป

         "ผมพบว่าสตางค์ 200 บาทนี้เข้ามาเป็นตัวแทรกในชีวิตผมที่มหัศจรรย์มาก เพราะเมื่อเดินมาจนถึงสี่แยกสลกบาตร จ.กำแพงเพชร ผมเกือบยอมจำนนต่อความหิวกระหายและนำเงิน 200 บาทที่ได้มานั้นไปซื้อน้ำดื่มแต่เผอิญโชคดีที่ไฟเขียวตรงสี่แยกนั้นขึ้นมาก่อน ผมเลยรีบวิ่งออกไปจากตรงนั้นคนขับมอเตอร์ไซค์คงนึกว่าผมรีบวิ่งข้ามถนนแต่ความจริงผมรีบวิ่งหนีอารมณ์ตัวเองที่อ่อนแอมากเพียงแค่มีเงิน200 บาทอยู่ในกระเป๋าทำให้ผมเกือบพ่ายต่อปฏิญญาที่ตัวเองวางไว้"


  คืนดินสู่ผืนดินเกิด

        วินาทีที่ถึงจุดหมายปลายทางเกาะสมุย อ.ประมวลเคยเล่าว่าไปถึงเรือข้ามฟากบ้านดอน-เกาะสมุยในวันที่ 24 ม.ค.2549 ขณะนั้นมีความรู้สึกดีใจเป็นล้นพ้น เมื่อเดินจากสะพานไปเหยียบแผ่นดินเกาะสมุ ย ตนก้มลงสัมผัสแผ่นดินที่เกาะสมุยด้วยความรู้สึกดีที่สุด วันนั้นเป็นวันที่ฝนตก ก้มศีรษะลงไปไม่ถนัด ต้องใช้มือจับแผ่นดินแล้วเอามาวางที่กระหม่อมตัวเอง มือเปียกน้ำที่เอามาสัมผัสกับศีรษะสะดุ้งด้วยความรู้สึกที่มหัศจรรย์ จากนั้นจึงเดินกลับบ้าน คุกเข่าลงในที่ที่เป็นบันไดบ้านเดิม และนำดินที่เก็บมาจากไต้ถุนบ้านเมื่อตอนออกจากบ้านอายุ18ปี มาคืนยังที่เดิม ตนรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูกและร้องไห้ เป็นอารมณ์ที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต เสียงป้าที่เรียกให้ไปอาบน้ำแล้วมากินข้าวก็ทำให้ตนรู้สึกถึงการกลับบ้าน จริง ๆ อีกครั้ง

   รับมือกับความท้อแท้

        เมื่อถามถึงความท้อแท้ที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง เขาตอบว่าความท้อเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะตนมีหลักเกณฑ์ในการกำจัดความท้อแท้อยู่แล้ว เนื่องจากก่อนออกเดินทางตนทราบว่าอะไรคืออุปสรรคที่จะมารบกวน ซึ่งได้แก่ ความรู้สึกท้อแท้ หวาดกลัวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเขาจึงเตรียมจิตให้ไม่ว่อกแว่กกับเรื่องในอดีตซึ่งจะทำให้เกิดความห่วงใยผูกพันและไม่ปรุงแต่งเรื่องในอนาคตที่ทำให้รู้สึกคาดหวัง และกดดันท้อแท้ พร้อมตั้งจิตเป็นเชิงอธิษฐานว่าจะ ก้าวทีละก้าวด้วยจิตใจที่เบิกบาน กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน Smile

  มื้อที่อดสอนมื้อที่อิ่ม

       "เคยอดข้าว นานที่สุดเกือบ 2 วันเต็ม ผมพยายามเรียนรู้อารมณ์ที่เกิดจากการอดว่าเริ่มจากการกระหายหิวซึ่งเป็น เรื่องปรกติเมื่อเราไม่ได้กินอาหาร ทำให้ได้ไคร่ครวญว่าการมีอาหารกินเป็นสิ่งมีค่าประเสริฐมาก เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าได้มีอาหารกินจะต้องรู้ค่าของการกินอาหาร และรู้ค่าของอาหาร นอกจากนั้นความรู้สึกกลัวอันตรายในภาวะที่ไม่ได้กินอาหารยังทำให้ตระหนักรู้ ว่าถ้าร่างกายของเราจะจบลงเพราะไม่มีอาหารกิน ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ากลัวอะไร เพราะเป็นไปตามความปรารถนาของตนที่ต้องการเดินจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว

        อย่างไรก็ตาม วินาทีที่ฝืนเดินจนเหนื่อยแทบขาดใจตายก็ได้สอนให้เขาเรียนรู้อีกครั้งว่าการเดินให้ตายไม่ใช่สิ่งประเสริฐอะไรเลยเพราะ ครั้งหนึ่งเคยเดินด้วยความรู้สึกที่อยากก้าวย่างจนถึงวาระจิตสุดท้าย แต่ปรากฎว่ายังไม่ยอมตาย จึงพบว่าความจริงแล้วตนไม่ควรหยาบคายต่อร่างกายของตัวเอง แต่ควรดูแลและทนุถนอมร่างกาย เพื่อเดินด้วยจิตใจที่เบิกบานจะดีกว่า

        ถ้าร่างกายนี้มีความจำเป็นต้องหยุดพักเราก็ต้องพัก เพราะร่างกายเป็นอุปกรณ์ที่ให้เราใช้เหมือนเราขับรถ ถ้ารถร้อนจัดเราก็ต้องหยุดให้รถคลายความร้อน แต่ถ้ายังฝืนขับไป รถอาจจะร้อนจนน็อกไปซึ่งวิธีทำเช่นนั้นไม่ใช่เป็นวิสัยของคนขับรถที่ฉลาดเลย"


ถูกครหาว่าสุดโต่ง

       “ผมไม่ได้ คิดถึงเรื่องสุดโต่ง เพราะผมไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่มันอยู่ขั้วตรงกันข้าม ผมไม่ได้ปฏิเสธการมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบาย แต่คิดว่าในขณะหนึ่งเราควรเรียนรู้ว่าชีวิตที่มันอยู่คนละขั้วนี่มีความ หมายอย่างไร เช่น เราตระหนักถึงความหิวเพื่อรู้ค่าของความอิ่ม เราเรียนรู้การเหน็ดเหนื่อยเพื่อรู้ค่าของการได้หยุดพัก เพราะฉะนั้นเวลาเดินไปเราจะรู้เลยว่าการได้หยุดพักก็เป็นคุณค่าอันประเสริฐ สำหรับการเดินทางเราจะไม่สามารถเดินทางได้ถึงเป้าหมายเลย ถ้าไม่มีโอกาสหยุดพัก เพราะฉะนั้นการหยุดพักก็เท่ากับการเดิน การเดินเท่ากับการได้หยุดพัก และถ้าเดินถึงเป้าหมายก็ต้องขอบคุณทุก ๆ ก้าว ทั้งที่ขณะก้าวย่างและขณะที่ก้าวหยุดเมื่อผมเดินถึงบ้าน จึงต้องขอบคุณชีวิตของผมที่มีทั้งสุข ทุกข์ สำเร็จ ล้มเหลว

 

 จิตงดงามคือความสุข

        "สิ่งที่ ได้รับจากการก้าวเดินเพียงต้องการบอกทุกคนว่าความจริงแล้วความสุขเป็นสิ่ง ที่ง่ายมาก เพียงแค่เรามีจิตที่งดงาม เพียงแค่เรามีจิตที่ปรารถนาดีต่อผู้อื่นการกระทำของเราก็จะเป็นไปเพื่อความ เกื้อกูลซึ่งการเกื้อกูลเป็นสิ่งที่งดงามมาก

        แม้กระทั่งบางครั้งที่ผมเดินผ่านกลุ่มเด็กวัยรุ่นแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ซิ่ง คิดว่าผมเป็นคนบ้าและอยากจะแกล้งคนบ้าเพื่อความสนุกสนาน ผมก็คิดว่าถ้าผมเป็นคนบ้าแล้วเขาสนุก ผมก็ควรจะเป็นคนบ้า แกล้งทำเป็นบ้าตกใจกลัว เขาก็หัวเราะเอิ๊กอ๊ากแล้วขี่มอร์เตอร์ไซค์ซิ่งไป แน่นอนตรงนี้อาจจะมีคนตำหนิว่าวัยรุ่นเหล่านั้นไม่รู้จักการให้เกียรติผู้ อื่น แต่ผมเข้าใจว่าเขามีอารมณ์อย่างนั้นเพราะอยากสนุก แล้วทำไมล่ะ เราไม่สามารถจะเป็นคนบ้าเพื่อความสนุกของเขาได้หรืออย่างไรมันยากอะไรนักหนา ที่เราจะเป็นคนบ้า แล้วผมก็มีความสุขที่เห็นเขามีความสุขที่ได้แหย่คนบ้าเล่น หรือ บางครั้งเราจะเป็นคนโง่ก็ได้ ถ้าการโง่ของเราทำให้ผู้อื่นเขารู้สึกเขามีค่าขึ้นน่ะครับ"

   Credit : http://www.dhammajak.net/dhammabox-2/35.html


ความเห็น

เรื่องแบบนี้  ได้อ่านหลายครั้ง   อ่านจนจบ  ก็ได้ข้อคิดดีๆ   แต่ทุกครั้งที่อ่าน  จะเจอสิ่งแอบแฝงมาเสมอ  และค้นเจอทุกครั้ง 

นุสิไม่ค่อยได้อ่านเรื่องประเภทนี้ เพราะเนื้อหายาว ไม่มีภาพประกอบ จนมาเจอเรื่องนี้ ชอบมาก ส่วนเนื้อหาแอบแฝง ถ้าหมายถึงด้านไม่ดี ยังไม่รู้สึก คงต้องอ่านและศึกษามากกว่านี้ :sweating:

อ่านจบ...หมดทุกตัวอักษร เป็นหนังสือที่น่าอ่านจริง ๆ อย่างที่น้องว่า ถ้ามีโอกาสจะหามาอ่านต่อ ขอบคุณน้องที่นำแต่สิ่งดี ๆ มาแบ่งปัน.

ก่อนจะเอามาลง ตัดสินใจเป็นอาทิตย์เลยนะคะ เพราะเนื้อหายาวมาก กลัวเพื่อนเบื่อ ไม่ชอบอ่าน จึงหาภาพประกอบ เพื่อไม่ให้รู้สึกน่าเบื่อ ที่ลงไว้มีการตัดบางประโยคออก เพื่อให้เนื้อหาสั้นลง นุสิอ่านแล้วชอบมาก ไม่เคยชอบอ่านบทความยาวๆ เลย จนมาเจอบทความนี้ ดีใจที่พี่ชอบค่ะ

ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ เมื่อปี 50 นะครับ อ่านแล้วรู้สึกปิติมากอาจารย์ใช้ภาษาได้สุภาพและอ่อนน้อมมาก


ได้อานเล่มนี้แล้วอาจารย์พูดถึงหนังสือ โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล   หนังสือนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ให้อาจารย์เดินเท้าจากเชียงใหม่ ถึงเกาะสมุย ผมเลยไปหาเล่มนี้มาอ่านด้วย เป็นหนังสือที่ดีมากให้ข้อคิด หลายอย่าง


ในหนังสือ เดินสู่อิสระภาพ มีหลายตอนที่อ่านแล้วประทับใจ  อิริยาบท พื้นๆ ที่เราพบเจอแต่ไม่ค่อยตั้งข้อสังเกต อาจารย์นำเสนอได้น่าทึ่ง มาก


 ขอบคุณ นุสิตาที่เอาเรื่องนี้มานำเสนอ ผมต้องกลับไปอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งเสียแล้ว

นุสิตา เจอคนรู้จริงเข้าแล้ว

นุสิอ่านเจอแค่บทความนี้ แต่ก็ไม่เคยทราบเนื้อหาโดยละเอียด ยังสนใจขนาดนี้ คุณบอกว่าน่าติดตาม ยิ่งเพิ่มความสนใจให้ต้องไปหาอ่านให้ได้เลย

ขอบคุณคุณนุสิตา...นำหนังสือดีๆน่าอ่านค่ะ โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือแนวนี้เหมือนกันค่ะ

ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ จะทำให้ยากทำไม


 

ดีใจที่ชอบนะคะ ขอบคุณที่แวะเข้ามาค่ีะ

 เพียงได้อ่านส่วนหนึ่ง ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ขอบคุณที่นำเสนอ

ขอบคุณที่แวะเข้ามาค่ะ ลุงโรส หวังว่าบทความนี้ คงจะมีบางมุมที่ให้ข้อคิดและมีประโยชน์กับเพื่อนสมาิชิกบ้าง โดยเฉพาะ ผู้ที่รักการอ่าน

หน้า