เปลี่ยนได้ … หากไม่ชอบ !

หมวดหมู่ของบล็อก: 

    แม้ข้าพเจ้าอายุมากแล้ว ... พูดตรง ๆ ก็คือแก่นั้นแหละ และความจำแม้จะเลอะเลือนไปบ้างตามวัย แต่ยังพอจะจำได้ละหนา ว่า เคยเขียนเขียนบล็อกเกี่ยวกับเรื่อง ประเภทนี้ไว้ 2 – 3 เรื่อง อาทิ ... ฝากยอดน้ำดอกไม้ ไว้กับมะม่วงเบา ... ฝากยอด ทำอย่างไร ... 3 in 1 เป็นต้น

     แต่บล็อกเหล่านั้น ไม่สมบูรณ์นัก ด้วยส่วนใหญ่ แค่ เป็นการพรรณนาความ ... ส่วนภาพประกอบเพื่อสร้างความชัดเจน ออกจะพร่องไป ... จึงมี สมช. บางท่าน ต้องการความกระจ่าง แล้วถามไป ทั้งหน้า และ หลังไมค์ ถึงวิธี และขั้นตอนการทำ (ไม่เอ่ยนาม คงไม่ใช้สิทธิพาดพิงนะ) ... แต่ข้าพเจ้าก็ยากที่จะสร้างจินตนาการให้ผู้ถามเห็นภาพ ...

     ครั้น 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ... ข้าพเจ้ามีโอกาสเก็บภาพ ขั้นตอน ที่ข้าพเจ้าลงมือ จัดการกับต้นทุเรียนในสวนของข้าพเจ้าเอง และตั้งใจจะ บอกกล่าว แก่ท่านที่เคยถามไว้ หวังว่าคงคลายกังขาแก่ท่านเหล่านั้นได้ระดับหนึ่ง

     ก่อนจะเพ้อเจ้อต่อ ... ต้องขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่นักวิชาการด้านใด ๆ ทั้งสิ้น ... เพียงใคร่นำประสบการณ์ตรง ที่มีอยู่เล็กน้อย มาเล่าสู่กันฟัง ในฐานะ สมช. บ้านสวน ฯ เพื่อว่าจะได้เกิดประโยชน์กับ สมช. ด้วยกัน ที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ ตามสมควรแก่พื้นฐานของแต่ละท่าน ... ผิดพลาดประการใด ขอท่านผู้รู้ กรุณา ติ ติง ต่อ เติม ให้สมบูรณ์ด้วยนะครับ

     หากสนใจ ก็ตามไปอ่าน และดูได้ครับ

      เรื่องที่จะนำมาบอกเล่ากันต่อไปนี้ ... เป็นกระบวนการเปลี่ยนยอด วิธีหนึ่ง แต่อาจ เรียกแตกต่าง หลากหลายกันไป  เช่น ‘ฝากยอด’ … หรือบางท่านอาจเคยได้ยินมาว่า ‘การเสียบกิ่ง’ ... อย่าง ภาษาที่ใช้กันในกลุ่มเกษตรกรพื้นบ้าน พวกผม เขาเรียกว่า “เหน็บเอว” ...  เอาเป็นว่า ในบล็อกนี้ ตกลงกันว่า จะเรียกอย่างไรก็ช่าง ... แต่มันคือคนละเรื่องเดียวกัน นะครับ ...

     ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นการเปลี่ยนยอด ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ไปเป็น พันธุ์ที่เราอยากได้ ... ซึ่งเมื่อท่าน ทำได้ ... ทำเป็น แล้ว ... ก็สามารถ เปลี่ยนยอดของพืชสวนอื่น ๆ ได้แหละครับ เพราะ หลัก และวิธีการเดียวกัน

        เอา เมื่อเข้าใจตรงกันแล้ว ก็ลงมือกันซะที

 

 ขั้นการเตรียม ...

         สิ่งที่ต้องเตรียม

     - ต้นตอพันธุ์เดิม ที่เราไม่ปรารถนาจะเลี้ยงดูอีกแล้ว (แต่ยังไม่ตายนะ ตอตายทำไม่ได้) ... สิ่งนี้ ต้องเตรียมข้ามปี ... แต่หากมีอยู่แล้ว แต่เบื่อของเก่า ... อยากได้ของใหม่ ... ใช้ได้เลย ใช้ได้

  

 

 

 

     อย่างของข้าพเจ้า เป็นต้นทุเรียนพื้นเมือง โยนเมล็ด (โยนจริง ๆ ครับ ไม่ได้หยดลงหลุม) ลงในในตำแหน่งที่ต้องการปลูก ขึ่นใกล้ ๆ กันกี่ต้น ก็ทาบต้นเสริมรากไว้ 2 ปีแล้ว

 

 

 

 

 

        - กิ่งพันธุ์ใหม่ ที่ใจปรารถนา อยากได้มาแทนพันธุ์เดิม ... อันนี้ ต้องพิถีพิถัน กันหน่อย เพราะเดี๋ยวออกมาไม่ได้ดั่งใจ จะเกิดทุกข์ซะเปล่า ๆ คือ ต้องเลือกยอดที่สมบูรณ์ ที่ไม่แก่ หรือ อ่อนจนเกินไป ... ปลายยอดพร้อมที่จะแตกยอดอ่อนมาให้เราชื่นใจ ภายในไม่เกินสองเดือน ... มีตา (ก้านใบ) เยอะหน่อย ซึ่งหากตาเยอะ ๆ เขาคงแตกยอดใหม่ให้ซักยอดซีน่า ... เจอแล้วใช้อาวุธคม ๆ ตัดให้ยาวไว้หน่อย แต่ไม่ต้องเอาทั้งกิ่งนะ เดี๋ยวบรรจุลงถุงไม่ได้ ...

 

 

 

 

     นี่ ... ประมาณนี้

 

 

 

 

 

 

     หากไปเสาะหากิ่งพันธุ์จากส่วนที่ห่างออกไป ... ให้เตรียมถุงพลาสติก หรือถุงก๊อบแก๊บ ไปด้วย หรือจะไปขอจากเจ้าของสวนก็สุดแต่จะสะดวก ... เลือก ตัดได้แล้ว ใส่ลงถุง ... ผูกปากเอาไว้ กันคายน้ำ

     - มีด หรือกรรไกรคม ๆ ทั้งสองอย่าง หรือใช้มีด เพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะต้องใช้ในขั้นตอนการเสียบด้วย แต่ขอย้ำว่า "ต้องคม"

     - แถบพลาสติก สำหรับพัน (มีขายเป็นม้วน)

 

วิธีปรุง .... ก็ขั้นตอนในการทำนั่นแหละ

     - เตรียมคลี่เทปพลาสติกไว้ให้ยาวพอควร แต่ถ้าไม่มีลูกมือ อย่าคลี่ให้ยาวมากนัก มันจะพันกันเอง เวลาพันแผลจะลำบาก ... พลาสติก จะมีสองชั้น หากใช้กับงานเล็ก ๆ ควรลอกออก เพี่อจะได้ประหยัดวัสดุ

     - กำหนดตำแหน่งของต้นตอที่เราต้องการฝากยอด คือด้านที่ไม่โดนแสงแดงโดยตรงมากนัก กะความสูงให้สูงจากพื้นประมาณ แนวสะดือ หรือยอดอก (ของผู้ที่มีความสูงปกติ) เพราะหากเตี้ย ๆ โตขึ้น ก็ต้องตัด แต่งกิ่ง ทิ้งอยู่ดี ... ทั้งอาจติดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

     เลือกตำแหน่ง แห่งที่ได้พึงใจแล้ว

 

 

 

     กรีดเปลือกลงมาตามแนวลำต้น สองรอยขนานกัน ห่างกันพอที่จะสอดกิ่งพันธุ์ลงไปได้ประมาณ 1 – 1.5 ซม. (อย่าให้กว้างมาก) ... กดมีดให้ลึกถึงเนื้อไม้ กรีดลงมายาวประมาณ 5 – 7 ซ.ม. ... ยาวกว่าเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แล้วกรีดด้านบนของรอยกรีดแนวตั้งให้เชื่อมติดกันแงะเปลือกเปิดรอยกรีด ... แง้มไว้เล็กน้อย พักไว้

 

 

 

 

 

 

 

   - นำกิ่งพันธุ์ออกมาเตรียม โดยตัดใบทิ้งให้หมด และตัดส่วนโคนกิ่งออก เหลือส่วนยอดไว้ตามต้องการ

 

 

 

 

 

 

 

 

     ที่โคนกิ่งใช้มีดปาดให้เป็นรูปลิ่ม แต่ไม่เท่ากัน คือ ด้านที่ ‘แนบลำต้น’ ปาดพอถึงเนื้อไม้ เป็นแผลยาวหน่อย … ส่วนด้านที่ ‘แนบกับเปลือก’ ปาดประมาณ ครึ่งเซนต์ ฯ ก็พอ

 

 

 

 

 

 

 

    - เปิดเปลือกต้นตอ ที่แงะแง้มไว้ ... ลอกลงไปจนสุดรอยกรีด ต้องมั่นใจว่าเปลือกถูกลอกออกมาหมด เปิดเยื่อเจริญเต็มที่ ...

    นำยอดกิ่งพันธุ์สอดลงไประหว่างเปลือกกับลำต้น ดันลงไปเล็กน้อย กดเปลือกปิดกลับลงไปทับยอดกิ่งพันธุ์ไว้ ... 

 

 

 

 

 

 

 

     ตัดปลายเปลือกด้านบนทิ้งออกไปสักประมาณ 1 – 1.5 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งพันธุ์ หัก เมื่อเรากดเปลือกกลับลงไป

 

 

 

 

 

 

 

   - พันเทปพลาสติก จากล่างขึ้นบน โดยเริ่มต้นพันให้ค่อนข้างแน่นหน่อย ... พอถึงบริเวณแผล ผ่อนแรงลงหน่อย เป็นการป้องกันตากิ่งช้ำ ... เลยแผลแล้วเพิ่มแรงดิงอีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

 

 

        พันขึ้นไปให้เลยแผลไม่น้อยกว่า 3 นิ้ว แล้วผูกได้เลย

 

 

 

 

 

 

 

 

    เพื่อป้องกัน ไม่ให้กิ่งพันธุ์ โดนแดด หรือแสงโดยตรง มากเกินไป ... ก็จัดหาร่มให้ซะหน่อย

    แต่ไม่ต้องถึงขั้นหาร่มมากางให้หรอกนะ ... เอาอย่างที่เห็นนี่ก็พอ ... ฮึ ๆ ๆ ๆ ...

 

 

 

 

     เป็นอันเสร็จภารกิจ ... เครื่องมือ ของใคร ใครก็เก็บกันเอาเอง ข้าพเจ้ากลับล่ะ ...

        อ้อ....ลืมบอกไป ต้องทำในช่วงเย็น ๆ และ ...

            อย่า ... ทำ เมื่อฝนตก หรือต้นชื้น ... เดี๋ยวผิดหวังไม่รู้ด้วนนา

 

    แต่ ....! .... เอ ... ?

       เรามัวแต่ อยาก ... ปรับ ... ปรุง ... เปลี่ยน ... แปลง สิ่งภายนอก ....เพราะเห็นว่าตุณภาพต่ำ

           แล้ว ... สิ่งภายใน ...  ตัวเราล่ะ  ...ได้ดูบ้างไหม ว่า

จะต้อง ... ปรับ ... ปรุง ... เปลี่ยน ... แปลง อะไร บ้าง  ... อย่างไร

ความเห็น

ขอบคุณครับสำหรับความรู้ในการเปลี่ยนยอดทุเรียน ไว้ผมจะลองทำดูบ้างนะครับ

ขอบคุณค่ะ

จะลองพยายามทั้ง นอก และ ใน ค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับความรู้ดี ๆ

ไร่สุโขทัยนี้ดี ไร่นี้มีแต่ความสุข

คงได้ลองทำ ขอบคุณความรู้ดีๆ Smileครับ

“นานุวัฒน์ ทำเกษตรให้สนุกและมีความสุข”

เสียบต้นใหญ่พันนี้ไม่กี่วันก็ได้ลูก กี่วันจะรู้ผลละลุง ว่าติดไม่ติด

..โอกาสไม่ได้มีทุกวัน..

 

ก่อนจะคุยเรื่องผล ขออนุญาตตอบคำถามก่อนเนาะ ...

      การฝากยอดด้วยวิธีนี้ ... ปรติ เราจะทราบผลว่าสำเร็จหรือไม่ ก็ให้เอาใจเข้าไว้ในเงาร่ม ประมาณ 15 - 20 วัน ก็ทราบแล้วครับ โดยดูผ่านเทปพลาสติกใสที่พันไว้

     ทีนี้ ... ก็มาคุยกันนอกประเด็นคำถามกันต่อเนาะ

     เอาล่ะ หากเห็นยอดยังสดอยู่ ก็เริ่มเปิดตาได้ ... ตากิ่งพันธุ์นะ แต่ อ๊ะ ๆ ๆ ... อย่าเปิดโดย แกะเทป ฯ ออกหมดทีเดียวนะ ... ให้ให้ปลายมีด กรีดเทปตรงส่วนที่ตรงตากิ่ง เป็นจุด ๆ และตำแหน่งล่างสุดของรอยแผล เผื่อฝนตกจะไดด้ระบายน้ำไม่ให้ชุ่มแผล

     แล้วรออีก 10 - 20 วัน จะเห็นยอดแย้มออกมา ก็แกะได้ แต่หาเชือกผูกเปลือกที่ปิดทับ พยุงตาไว้ อย่างนั้นแหละ ไม่ต้องตัดออกทิ้ง ... หากเห็นยอดกิ่งพันธุ์เหี่ยว ก็ปล่อยไว้เหอะ เพราะเขาจะแตกยอดใหม่ จากตาอื่น ๆ เองแหละ

     รอพอระบัดยอด ให้ควั่นต้นเดิม สูงจากยอดใหม่ ไม่น้อยกว่า 1 ศอก ... เมื่อยอดแข็งแรงแล้ว ค่อยตัดยอดเดิมตรงตำแหน่งที่ควั่นไว้นั้นทิ้งไป แล้วผูกยอดใหม่ไว้กับปลายตอต้นเดิมพอหลวม ๆ

     อย่าตัดระดับเดียวกับยอดใหม่ ... เป็นการป้องกัน ภัยธรรมชาติที่อาจเกิดกะเขา ... ปล่อยไว้งั้นแหละ คอยปลิดยอดที่ไม่ต้องการทิ้งเอาก็ละกัน ... อีกหน่อย พอยอดพันธุ์แข็งแรง ตอส่วนเกินก็ตาย ผุ ไปเอง

      ลองดูคครับ ลองดู

เมื่อปีก่อนอ้อยลองไป 30-40 ยอด ต้นไม้ทุกต้นที่บ้านจะโดนกันทุกต้นทุกชนิด 30-40 ยอด ติดหนึ่งยอด ตอนนี้เลยมีแอปเปิลพันธ์ดอกที่มี 2 สีในต้นเดียว

ฟังที่เล่ามา ... เข้าใจว่าน่าจะเป็นการเสียบฝาก เพิ่มยอด ซึ่งเป็นการสร้างผลผลิตหลายสายพันธุ์ในต้นเดียวกัน

    ซึ่งก็มีทำกันอยู่ แต่การเสียบลักษณะนี้ ต้องมีวัสดุคลุมยอด และ แผล แล้วผูกไว้ กันการคายน้ำ สัก 2 สัปดาห์ หากเห็นยอดยังสดอยู่ ก็ค่อย ๆ คลาย ขยับเชือกที่ผูกออก สัก 3 - 5 วัน เพื่อให้ยอดใหม่ปรับตัว จึงค่อยถอดถุงออก อัตราการรอดจะเพิ่มขึ้นครับ

     การฝากยอดวิธีนี้ ส่วนมากผมใช้กับมะเขือ โดยใช้มะเขือพวง หรือมะอึก เป็นต้นหลักหาเลี้ยงยอด แล้วเสียบฝาก ยอด มะเขีอเปราะ มะเขือยาว ให้เขาเลี้ยง ... เราก็เลือกเก็บเอาได้จากต้นเดียว

อ้อยทำทั้งสองแบบค่ะ แต่ทำได้ยากกว่าเมืองไทยเพราะสภาพอากาศเพราะทำได้เฉพาะฤดูใบไม้ผลิ คิดว่าจะลองอีกคร้งถ้าไม่ไปเที่ยวไหน อ้อยใช้กรรไกรอันนี้

หน้า